วีรกรรมกองพันทหารไทย ณ สมรภูมิ พ็อคช็อป ฮิลล์ ในสงครามเกาหลี

วีรกรรมกองพันทหารไทย (Little Tiger) ณ สมรภูมิ พ็อคช็อป ฮิลล์ (Pork Chop Hill) ในสงครามเกาหลี
สงคราม เกาหลี เป็นการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างขั้นโลกเสรีที่นำโดยอเมริกา และพันธมิตร กับอีกขั้วคอมมิวนิสต์ที่นำโดยรัสเซีย และจีนแดง โดยการโจมตีกันไปมาผ่านเส้นขนานที่ 38

ไทยซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรได้ส่งทหารไทยเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีในปี พ.ศ. 2495 อันเป็นผลจากการเมืองระหว่างประเทศในสมัยนั้น

"... 3 ปี 1 เดือน กับอีก 2 วันต่อมา พร้อมกับการยุติสงคราม ทหารไทยกองพันหนึ่ง คือ ร.พัน.1 (อิสระ) ได้รับสมญาเรียกขานจากผู้คนที่นั่นว่า "Little Tiger" หรือ "กองพันเสือน้อย"

บริเวณเหนือและใต้เส้นขนานที่ 38 อันคุกรุ่นด้วยไฟสงคราม สภาพภูมิประเทศในบริเวณนี้เต็มไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่ บนแผนที่ทหาร ภูเขาหลายลูกไม่มีชื่อปรากฎในแผนที่ทหาร เพียงมีเส้นรุ้งแวงบอกพิกัดและตัวเลขระบุความสูง

อย่างภูเขาลูกหนึ่งของเขตตำบลชอร์วอน เหนือเส้นขนานที่ 38 ขึ้นไปเล็กน้อย ในแผนที่เรียกว่า เนิน 255

ตามความสูงแท้จริง 255 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

เนินเขาลูกนี้อยู่ในแนวสมรภูมิรบ จะด้วยความคะนองปากของทหารอเมริกัน หรือเพราะรูปลักษณ์ภูเขา หรือเพราะเลือดที่หลั่งชโลมยอดเขา ไม่ผิดอะไรกับเนื้อชุ่มเลือดบนตะแกรงยางสเต๊กก็ตามที ทหารอเมริกันต้องพลีชีวิตถึง 200 นาย แลกกับการปักธงบนยอดเขาที่ได้ชื่อใหม่จากพวกเขาว่า "พอร์คช็อป ฮิลล์"

ยังมีเขาเล็ก ๆ อีกลูกหนึ่งอยู่ไม่ไกลนัก จึงถูกเรียกให้เป็นหมู่เป็นเซ็ตเดียวกับเสียเลยว่า "ที-โบน ฮิลล์" (T-bone Hill)

ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2495 ขณะที่มีข่าวระงมว่า กองกำลังเกาหลีเหนือตระเตรียมที่บุกชิงพอร์คช็อป ฮิลล์คืน กองพันทหารไทย ร.พัน 1 (อิสระ) ก็ได้รับคำสั่งให้ขึ้นไปพิทักษ์เนินแห่งนี้

พอร์คช็อป ฮิลล์ สำคัญแค่ไหน? อย่างไร?

หนังสือ "ประวัติการรบของทหารไทยในสงครามเกาหลี" ที่จัดพิมพ์โดยกรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ.2541 อธิบายว่า

"เขาพ็อคช็อป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองชอร์วอน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งของเกาหลี และอยู่ที่มุมด้านตะวันตกของบริเวณสามเหลี่ยมเหล็ก ลักษณะเป็นสันเขาโดดเดี่ยว ล้อมรอบด้วยหุบเขาซับซ้อน พอร์คช็อปเป็นเนินเขาและชัยภูมิที่หมายปองของทั้งสองฝ่าย ซึ่งต่างต้องการครอบครองพื้นที่บริเวณนี้ เพื่อความได้เปรียบทางยุทธวิธีของตน เพราะเป็นจุดคุมเส้นทางหลักที่จะเจาะเข้าเมืองชอร์วอน เมืองยอนชอนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และพื้นที่สูงข่มบริเวณแม่น้ำอิมจินทางทิศตะวันตกเฉียงใต้"
เพราะพอร์คช็อป ฮิลล์ มีความสำคัญมากเช่นนี้ คำสั่งที่ตามมาจึงระบุชัดว่า การรบบนเขาลูกนี้คือ การสู้ตาย ห้ามถูกจับเป็นเชลย และจะถอนตัวได้ก็เมื่อมีคำสั่งจากผู้บังคับกองพันเพียงคนเดียวเท่านั้น

ในขณะนี้ยุทธภูมิบนภูเขาลูกอื่น ให้ถอนตัวได้ตามดุลยพินิจของผู้บังคับที่มั่น



ในที่สุด สถานการณ์ก็เป็นดังที่หน่วยข่าวกรองเสาะข่าวรายงาน

การรบเพื่อแย่งชิงชัยภูมิพ็อคช็อป ฮิลล์ เกิดขึ้นอย่างดุเดือด ตั้งแต่คืนวันที่ 1 พฤศจิกายน ติดต่อกันไปจนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน กองกำลังทหารจีนและเกาหลีเหนือ ใช้รถถังกรุยทางทางยิงนำ ตามด้วยทหารราบ บุกทีเดียวสามทิศทางเป้าหมายคือ ไปบรรจบกันบนยอดเขา ทหารไทยต่อสู้อย่างทรหด การรบหนักที่สุดในคืนวันที่ 10 ต่อเนื่องถึงรุ่งสางวันที่ 11 ฝ่ายเกาหลีเหนือปูพรมถล่มด้วยกระสุนปืนใหญ่ 2,690 นัด และถึงขั้นตะลุมบอนด้วยดาบปลายปืน

ทหารคนหนึ่งเล่าในเวลาต่อมาว่า

"ไม่รู้ใครเป็นใคร สังเกตว่าเป็นฝ่ายเดียวกันหรือข้าศึกก็จากท่าทางถืออาวุธและเครื่องแบบเท่านั้น"

ทุกอย่างเกิดขึ้นในท่ามกลางหิมะโปรยปราย หนาวเย็น

เช้าวันที่ 11 พฤศจิกายน พล.ท.พอล ดับเบิลยู เคนดอล แม่ทัพน้อยที่ 1 ของสหรัฐฯ พร้อมด้วย พล.ต.ฟราย ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ถึงยอดพอร์คช็อป ฮิลล์ ผลของการรบปรากฎว่า อยู่ตรงหน้าแทนคำอธิบายใด ๆ ตลอด 10 วันนั้น ทหารไทยเสียชีวิตทั้ง สิ้น 25 นาย ทหารจีนและเกาหลีเหนือทิ้งศพไว้บนยอดเขากว่า 160 ศพ (มีการประเมินว่าน่าจะเสียชีวิตทั้งสิ้นราว 264 นาย) และถูกจับเป็นเชลย 5 คน

หนังสือ "ประวัติการรบของทหารไทยในเกาหลี" ถ่ายทอดเหตุการณ์นาทีนั้นว่า

"เมื่อได้เห็นสภาพที่มั่น ภายหลังการต่อสู้และศพข้าศึกที่กลาดเกลื่อนอยู่แล้วนั้น ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 สหรัฐฯ ได้กล่าวกับผู้บังคับกองพันทหารไทยและนายทหารสหรัฐฯ ที่ติดตามว่า ข้าพเจ้าไม่มีอะไรสงสัยในจิตใจแห่งการต่อสู้ของทหารไทยอีกแล้ว"

ชื่อเสียงของ "ลิตเติ้ล ไทเกอร์" หรือ กองพันเสือน้อย จึงเกิดด้วยประการฉะนี้

ผู้ที่ให้สมญาคือ พล.อ.เจมส์ เอ.แวน ฟลีต แม่ทัพที่ 8 ของสหรัฐฯ ผู้บังคับบัญชากองกำลังสหประชาชาติ

สงครามเกาหลียุติลงได้ด้วยการเจรจา ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2496

ผลจากการรบที่พอร์คช็อป ฮิลล์ มีทหารไทยได้รับเหรียญกล้าหาญระดับลีเยียนออฟเมอริต ดีกรีออฟเลยอนแนร์ 1 นาย คือ พ.ท.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บังคับกองพัน ได้รับเหรียญซิลเวอร์สตาร์ 9 นาย และเหรียญบรอนสตาร์อีก 19 นาย            
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...