การจัดตู้ปลา

จัดตู้ปลา  

หลักการจัดตู้ปลา เป็นการจัดสภาพที่อยู่อาศัยของปลาเลียนแบบธรรมชาติภายในตู้ ปลา ซึ่งมีพื้นที่จำกัด และเพื่อให้เกิดความสวยงาม ในการจัดตู้ปลานั้น ควรคำนึงถึงพื้นฐานต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ความกลมกลืน หมายถึง การจัดวัสดุอุปกรณ์ให้เกิดความกลมกลืน เช่น ของที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันทั้งทางด้านขนาด รูปร่าง สีสัน ผิวพรรณและทิศทาง ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ
ความกลมกลืนทางพฤกษศาสตร์ คือ ความกลมกลืนของพันธุ์ไม้ที่นำมาจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
ความกลมกลืนทางวัตถุ เช่น หิน กรวด ที่ใช้ประดับตกแต่งตู้ปลาควรเลือกลักษณะผิว และสีสันที่คล้ายคลึงกัน เมื่อนำมาจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันแล้วย่อมจะมีความกลมกลืนซึ่งกันและกัน

2. จุดเด่น ไม่ว่าจะเป็นหิน พันธุ์ไม้น้ำ เปลือกหอย กรวด หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ควรคำนวณการจัดตำแหน่งให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดจุดเด่นเป็นจุดสนใจสำหรับผู้พบเห็น

3. จุดเน้น คือ การเน้นจุดใดจุดหนึ่ง ภายในตู้ปลาเป็นกรณีพิเศษ เช่น การจัดตู้ปลาโดยการรองพื้นด้วยกรวดก็จะดูเป็นธรรมดา แต่อาจนำสิ่งประดิษฐ์ไปวางเพื่อแสดงความสำคัญของจุดนั้น

4. ความสมดุล มีความสำคัญในการจัดตู้ปลามาก เพราะการจัดตู้ปลาแต่ละครั้ง การวางหิน การปลูกพันธุ์ไม้น้ำ หรือการวางสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ควรวางให้เกิดความสมดุล เช่น การจัดพันธุ์ไม้น้ำเป็นฉากด้านหลังตู้ ก็ไม่ควรเน้นหนักด้านใดด้านเดียว ควรหาหิน หรือสิ่งประดิษฐ์มาจัดไว้หน้าตู้เพื่อให้เกิดความสมดุลจึงจะเหมาะสม

วิธีการจัดตู้ปลา
เมื่อมีความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดตู้ปลาแล้ว ย่อมจะทำให้การจัดตู้ปลานั้นสำเร็จรวดเร็วขึ้น ซึ่งวิธีการจัดตู้ปลาแต่ละครั้งจะสวยงามตามแบบธรรมชาติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้จัด แต่จะต้องคำนึงถึงวิธีการต่าง ๆ ในการจัดตู้ปลา ดังนี้

1. การออกแบบในการจัดตู้ปลา ต้องคำนึงถึงความสมดุลของทัศนียภาพภายในตู้ปลา เลือกสถานที่สำหรับจัดวางตู้ปลาได้สัดส่วน และเหมาะสม โดยที่บริเวณนั้นต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก และรับแสงแดดจากธรรมชาติบ้าง ส่วนฐานรองรับน้ำหนักตู้ปลา เมื่อประกอบเข้าด้วยกันต้องเรียบสนิทไม่คลอนแคลน เพราะเมื่อเติมน้ำลงไปในตู้ปลา น้ำหนักตู้ปลาจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าพื้นที่วางตู้ปลาไม่สม่ำเสมอก็จะทำให้เกิดแรงกดดันของน้ำ ซึ่งอาจทำให้ตู้ปลาแตกได้

2. การประกอบชุดแผ่นกรองน้ำใต้ทราย อาจใส่ใยแก้วใต้แผ่นกรองก็ได้ เพื่อช่วยให้ระบบการกรองน้ำดีขึ้น และยังช่วยให้น้ำใสสะอาดอีกด้วยจากนั้นให้ต่อสายยางลมเข้ากับท่อดันน้ำตาม จำนวนที่ต้องการ โดยจัดไว้มุมใดมุมหนึ่งของตู้ปลา

3. การใส่หินและกรวด เมื่อล้างหินหรือกรวดสะอาดดีแล้ว ให้ใส่กรวดทับลงบนแผ่นกรอง ระวังอย่าให้เม็ดกรวดลอดรูลงไปในแผ่นกรอง เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพการกรองลดลง การใส่กรวดควรให้พื้นที่กรวดหนาประมาณ 2-3 นิ้ว โดยไล่ระดับความสูงจากด้านหลังมาด้านหน้า ซึ่งช่วยให้มองดูคล้ายธรรมชาติ และเป็นที่รวมสิ่งปฏิกูล ง่ายต่อระบบการกรอง สำหรับการวางหินนั้น ควรจัดไปพร้อมกาบการใส่กรวดตามตำแหน่งที่กำหนดไว้

4. การเติมน้ำ เติมน้ำลงไปในตู้ปลาด้วยวิธีดูดน้ำแบบกาลักน้ำ หรือใช้สายยางดูดน้ำเบา ๆ ส่งผ่านกระทบก้อนหิน หรือใช้วัสดุต่าง ๆ มารองรับเพื่อไม่ให้น้ำขุ่น และเม็ดกรวดทรายผิดตำแหน่ง เติมน้ำประมาณ 3 ใน 4 ของตู้ปลาก็พอ

5. การปลูกพันธุ์ไม้น้ำที่เตรียมไว้ ก่อนลงพันธุ์ไม้น้ำ ควรนำไม้กดพื้นกรวดให้เป็นร่องเล็ก ๆ เสียก่อนจึงปลูก การปลูกต้องปลูกให้พันธุ์ไม้น้ำทรงสูงอยู่ด้านหลัง ส่วนพันธุ์ไม้น้ำทรงเตี้ย จัดให้ลดหลั่นกันลงมาจนถึงหน้าตู้ปลา ซึ่งตรงส่วนนี้ควรปล่อยให้โล่งเป็นลานกว้างเพื่อให้ปลาว่ายน้ำเล่นได้อย่าง สบาย

 

                               
     
                                                               
 
#ปลา
moolove2538
เด็กกองถ่าย
28 ก.พ. 54 เวลา 21:16 12,498
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...