ไทยพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก
นักวิจัยในประเทศไทยกำลังพัฒนาวัคซีนต้นแบบป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและรักษาโรคไข้เลือดออกต่อไปในอนาคต
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกดังกล่าวนี้ ได้รับการคิดค้นและพัฒนาร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โดย รศ.นพ.นพพร สิทธิสมบัติ หนึ่งในบรรดานายแพทย์ผู้ทำการวิจัยกล่าวว่า นับเป็นความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนที่ออกฤทธิ์ป้องกันไข้เลือดออกเป็นครั้งแรกของโลก โดยเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกตัวนี้ คือเพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกในเด็ก
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งและมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในเด็กอายุ 5-10 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ นับว่าเป็นโรคที่สร้างความสับสนให้กับทั้งแพทย์และคนไข้เป็นอย่างมาก ด้วยอาการที่เริ่มต้นด้วยลักษณะเช่นเดียวกับไข้หวัดโดยไม่มีการออกอาการเฉพาะใดๆ ในวันแรกๆ
โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุสำคัญจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่มีถึง 4 ชนิด เมื่อคนติดเชื้อไวรัสชนิดใดจะสามารถปกป้องไวรัสเฉพาะชนิดนั้นได้ตลอดชีวิต แต่ไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อซ้ำโดยไวรัสเด็งกี่ชนิดอื่นได้ การพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันไข้เลือดออกไวรัสเด็งกี่ถือเป็นความสำเร็จของทีมนักวิจัยไทยที่ร่วมกันสร้างและทดสอบวัคซีนลูกผสมนี้ได้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมมาใช้ตัดต่อยีนและสร้างไวรัสพันธุ์ผสมขึ้นมา เพื่อให้เชื้อไวรัสเดิมที่มีฤทธิ์รุนแรงเกิดการกลายพันธุ์และอ่อนฤทธิ์ลง ทำให้ได้วัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสเด็งกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ ภายในเข็มเดียว รวมทั้งยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของผู้ป่วยอีกด้วย อีกทั้งทางทีมนักวิทยาศาสตร์ของไทยยังคาดว่าวัคซีนดังกล่าวจะสามารถพัฒนาได้สำเร็จภายใน 10 ปี