ถึงเวลา..รับผิดชอบ ทำท้อง..ต้องรับ กฎหมายบังคับชายไทย
จาก กรณี “ชีวิตเด็ก” ซึ่งเด็กมีสิทธิที่จะมีชีวิต ที่ “เดลินิวส์” โดยทีม “สกู๊ปหน้า 1” เป็นแกนหลัก ได้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอเพื่อให้สังคมไทยตื่นตัวเรื่องนี้ และก็ได้ผลแล้วระดับหนึ่ง ต่อมาปัญหาชีวิตเด็กก็เกิดกรณีครึกโครมขึ้นอีกในประเด็น “ทำแท้งเถื่อน” โดยพบศพเด็กทารกวัยก่อนคลอดที่วัดไผ่เงินโชตนาราม ถึง 2,002 ศพ ซึ่ง “เดลินิวส์” ก็นำเสนอเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อมิให้การแก้ปัญหาเป็นเสมือนไฟไหม้ฟาง เช่นที่ผ่านมา
และล่าสุดก็เริ่มจะมีการแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ
ประเด็น “ลงโทษผู้ชายทำท้องแล้วทิ้ง” ก็ส่วนหนึ่ง.....
ทั้ง นี้ พ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์ ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม กำลังจะมีการขับเคลื่อนออกมา ขณะเดียวกัน ก็มีการจุดพลุเรื่องมาตรการทางกฎหมายเอาผิดผู้ชายที่ทำผู้หญิงท้องแล้วทิ้ง จนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีการทำแท้งเถื่อน ซึ่งส่งผล เกี่ยวพันทั้งชีวิตเด็ก ชีวิตแม่เด็ก ชีวิตคนรอบข้าง และลุกลามเป็นอีกปัญหาสังคม โดยรัฐบาล นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เห็นพ้อง
ในงานสัมมนา “ทำท้องแล้วต้องรับ” เมื่อ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา อิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บอกว่า... เหตุผลที่ต้องมีมาตรการทางกฎหมาย เพราะเด็กหญิงที่ตั้งท้อง โรงเรียนบางแห่งก็ไล่ออก แต่ฝ่ายชายกลับเรียนได้ และอาจไปทำผู้หญิงคนอื่นท้องอีก ซึ่งไม่ยุติธรรมกับผู้หญิง ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนก็บอกว่าหนึ่งในสาเหตุการไปทำแท้งของผู้หญิง ก็เพราะท้องแล้วเรียนหนังสือต่อไม่ได้
รวมไปถึงมีความเห็นจาก อธิบดีอัยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานอัยการสูงสุด นายวิชช์ จีระแพทย์ ที่ว่า จากการระดมความเห็นฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา โดยกำหนดบทลงโทษผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงท้องแล้วไม่รับผิดชอบ ต้องได้รับโทษ อาจจะจำคุก 2-3 ปี รวมทั้งพ่อแม่ผู้ชายก็ต้องได้รับโทษด้วยการถูกปรับ ซึ่งจะเป็นมาตรการป้องปราม หรืออย่างน้อยก็ทำให้ผู้ชายรู้จักป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัย
เมื่อ พลิกประมวลกฎหมายอาญา หมวด 3 ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ก็ดูจะเอาผิดแต่กับผู้หญิง และผู้รับทำแท้งเถื่อนเป็นหลัก เช่น มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 302 ผู้ใดที่ทำให้หญิงแท้งลูก โดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กับการจะมีมาตรการทางกฎหมายเอาผิดกับผู้ชาย ในกรณีทำท้องแล้วไม่รับผิดชอบนั้น วันชัย สอนศิริ เลขาธิการสภาทนายความ บอกว่า... เห็นด้วย เพราะว่าเมื่อท้องแล้วผู้ชายไม่รับ ทอดทิ้ง ไม่รับผิดชอบ ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบเพียงลำพัง แม้ว่าในทางแพ่งจะมีการให้ฟ้องร้องได้ แต่เป็นการเพิ่มภาระให้กับฝ่ายหญิงอีก
“การมีมาตรการกฎหมาย เป็นสิ่งดี เพราะทำให้ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายชาย ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ ระมัดระวังมากขึ้น และกฎหมายคุ้มครองเด็กก็เอาผิดพ่อแม่ผู้ปกครองได้ในกรณีปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลเอาใจใส่ลูก เห็นด้วยที่ต้องมีการรับผิดชอบตรงนี้” ...เลขาฯ สภาทนายความระบุ
ด้าน แอนนี่ บรู๊ค นักแสดงสาวเจ้าของฉายาม่ายดีเอ็นเอ ที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ให้ความเห็นว่า... ก็เห็นด้วยที่จะมีมาตรการเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบ โดยเธอให้เหตุผลเสริมว่า... เพราะผู้หญิง
ฝ่ายเดียวท้องเองไม่ได้ ฝ่ายชายจึงควรจะมีส่วนรับผิดชอบด้วย และการที่ผู้หญิงต้องเลี้ยงดูลูกเองคนเดียว ทั้งลำบากและเหนื่อย ซึ่งควรจะดูสถิติด้วยว่าผู้หญิงวัยใดที่ประสบปัญหานี้ จะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด
นักแสดงสาวรายนี้บอกอีกว่า... ไม่อยากให้สังคมประณามหญิงที่ตั้งท้องในวัยเรียนเป็นผู้หญิงไม่ดี มองด้วยสายตาประณามหยามเหยียดจนไม่มีที่ยืน เพราะคงไม่มีใครอยากผิดพลาด ควรจะให้โอกาสได้แก้ไข เช่น ให้โอกาสในการเรียนหนังสือ มีโรงเรียนพิเศษสำหรับหญิงท้อง หรือมีกรุ๊ปเรียนพิเศษในห้องเหมือนต่างประเทศ
ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิ ปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี ก็ระบุว่า... เห็นด้วยกับการมีกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายชายรับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งจากสถิติร้องทุกข์ของมูลนิธิมีเรื่องข่มขืนแล้วท้องมากที่สุด แม้ว่าจะมีมาตรการทางแพ่งให้ผู้ชายต้องรับผิดชอบ แต่เรื่องก็มักจะเงียบไป หรือรับผิดชอบ เช่น จ่ายค่าเลี้ยงดู ก็จะแค่ตอนแรก ต่อไปก็ไม่มี แบบนี้ฝ่ายหญิงก็จะลำบากมาก ซึ่งก็ทำอะไรฝ่ายชายมากไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายชัดเจน
“อยากให้มีมาตรการทางกฎหมายมานานแล้ว และเมื่อมีจริงก็ต้องปฏิบัติจริงจังด้วย จะได้ลดจำนวนการท้องไม่พร้อม การถูกผู้ชายทอดทิ้ง การทำแท้งผิดกฎหมายที่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งทางที่ดีควรมีการป้องกันแต่ต้นเหตุจะดีกว่า” ...ปวีณากล่าว และก็ยังทิ้งท้ายด้วยว่า... แต่จะอย่างไรเรื่องการ “รักนวลสงวนตัว” “อย่าชิงสุกก่อนห่าม” ก็ยังใช้ได้กับสังคมไทยปัจจุบัน “และต้องเน้นเรื่องสอนเพศศึกษาด้วย”
ณ วันนี้การแก้ปัญหาดังกล่าวนี้เริ่มจะเป็นระบบ-รูปธรรม
“ความรับผิดชอบของผู้ชาย” ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ
พร้อม ๆ ไปกับการต้องดำเนินการให้จริงจัง-รอบด้าน!!.
ขอบคุณ เดลินิวส์
และhttp://www.pooyingnaka.com