เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ช่วยให้ "ข่าวลือ" ทางร้ายในลักษณะ อีเมล์ลูกโซ่ แพร่ระบาดเร็วยิ่งกว่าไฟลามทุ่งเสียอีกนะครับ
ไม่ทราบว่า ช่วงนี้ท่านผู้อ่านได้รับเมล์ลูกโซ่ หรือได้พานพบอ่านข้อมูลเกี่ยว "รุ้งหัวกลับนำโชคร้าย" ตามเว็บบอร์ดต่างๆ กันบ้างหรือไม่
เอาเป็นว่า ถ้าเผื่อได้อ่านและเห็นภาพ "รุ้งหัวกลับ" ไปแล้ว ในวันนี้ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. และผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ ท่านกรุณาให้ความรู้เตือนคนชอบแตกตื่น เอาไว้ว่า
ภาพ "รุ้งกลับหัว" ที่เผยแพร่กันอยู่ตามเว็บบอร์ดและอีเมล์ทั้งหลายนั้น
ไม่ใช่รุ้งกินน้ำที่มีลักษณะหัวกลับแต่อย่างใด
เพราะไม่ได้เกิดจากการที่แสงอาทิตย์ตกกระทบกับผิวของหยดน้ำแล้วหักเหออกมาเป็นแสงสีรุ้งดังเช่นรุ้งกินน้ำทั่วไป
แต่เกิดจากการที่แสงอาทิตย์ตกกระทบไปยัง "ผลึกน้ำแข็งหกเหลี่ยม" ใน "เมฆ" และหักเหผ่านผลึกออกมาจนเกิดเป็นแถบสีรุ้ง ซึ่งเรียกว่า "อาทิตย์ทรงกลด" (solar halo)
โดยภาพเส้นโค้งสีรุ้งที่อยู่เหนือดวงอาทิตย์ในภาพนั้น คือ "อาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล" (CircumZenithal Arc : CZA)
จึงถือเป็นปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ มองแล้วเห็นเป็น "รอยยิ้มบนฟ้า" สวยงามด้วยซ้ำ ไม่เกี่ยวข้องกับการนำไปสู่ความโชคร้ายใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยเท่าไหร่นัก!
ส่วน "ที่มา" ของภาพที่เข้าใจกันผิดๆ ว่าเป็นรุ้งกลัวหัวดังกล่าว ถ่ายโดยนักวิชาการชื่อ "ดร.แจ๊กเกอลีน มิตตอง" นักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งก็ถ่ายภาพได้จากท้องฟ้าบริเวณใกล้ๆ บ้านพักตัวเอง ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนอะไรเลย
สำหรับท่านที่อยากรู้ข้อมูล CZA เพิ่มเติม เข้าไปอ่านได้ที่เว็บไซต์ cloudloverclub.com/pages/halo