“คน” มาจาก “ปลา” ... เมื่อไรกัน?
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
7 ธันวาคม 2553 12:53 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
โฉมหน้าทิกทาลิกที่ส่วนครีบเริ่มวิวัฒนาการเพื่อเตรียมยกพลขึ้นบก
แทนไทกับผลงานแปลเล่มล่าสุด
ลำพังข้อถกเถียงว่า “คน” มาจาก “ลิง” หรือไม่ ก็ทำเอาวงสนทนาร้อนระอุอยู่แล้ว พอมาเจอข้อมูลว่าบรรพบุรุษของเราเคยเป็น “ปลา” มาก่อน อาจทำให้หลายคนช็อคไปเลยก็ได้ เป็นได้อย่างไร? เราเคยเป็นสิ่งมีชีวิตที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำตั้งแต่เมื่อไรกัน?
หลักฐานยืนยันว่า บรรพบุรุษของเราวิวัฒนาการมาจากปลาคือฟอสซิลของ “ทิกทาลิก” (Tiktaalik) สัตว์ที่มีเกล็ดและครีบคล้ายปลา แต่มีหัวแบนและช่วงคอชัดเจนเหมือนสัตว์บกโบราณ ซึ่งถูกค้นพบโดย นีล ชูบิน (Neil Shubin) และเพื่อนร่วมคณะสำรวจอีก 2 คน คือ เท็ด แดชเลอร์ (Ted Daeschler) และ ดร.ฟาริช เอ เจนกินส์ จูเนียร์ (Dr.Farish A. Jenkins,Jr) และฟอสซิลดังกล่าวยังเป็นหลักฐานการยกพลขึ้นบกของบรรพบุรุษจากใต้น้ำเมื่อ 375 ล้านปีก่อนด้วย
ชูบินถ่ายทอดประสบการณ์การสำรวจที่โด่งดังเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อปี พ.ศ.2549 ลงหนังสือ “ในคนมีปลา ในขามีครีบ” (Your inner Fish) ซึ่ง ถอดความเป็นภาษาไทยโดย แทนไท ประเสริฐกุล นักศึกษาชีววิทยาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมหิดล และนอกจากเนื้อหา 30% ที่กล่าวถึงปลาซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสัตว์บกแล้ว เนื้อหาในหนังสือยังกล่าวถึงเรื่องที่ใหญ่กว่า นั่นคือ มนุษย์และสัตว์ต่างมีรากเหง้าประวัติศาสตร์เดียวกัน
“ปลาไม่ได้เป็นแค่บรรพบุรุษของคนอย่างเดียว แต่สัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด ทั้งนก หนู จิ้งจก ซาลาแมนเดอร์ เมื่อสืบเชื้อสายกลับไปจะพบว่ามีบรรพบุรุษร่วมกันเป็นปลาสายพันธุ์หนึ่งที่ ยกพลขึ้นบกเมื่อ 375 ล้านปีก่อน แต่คนก็ไม่ได้มาจากปลาอย่างเดียว หากเป็นเมื่อ 7-8 ล้านปีก่อนก็มาจากลิง ย้อนไปอีกมาจากหนู ย้อนไปอีกเป็นสัตว์เลื้อยคลาน แล้วย้อนไปเป็นปลา และยังย้อนกลับไปได้อีก คนไม่จำเป็นต้องมีบรรพบุรุษเดียว แต่เรามีการสืบทอดและแปรผันไปได้เรื่อย” แทนไทกล่าว
ในฐานะของผู้แปล แทนไทเปรียบเทียบการสืบย้อนกลับไปหาบรรพบุรุษของคนเช่นนี้ เหมือนการไปเที่ยวต่างประเทศเช่น จีน กัมพูชา อินเดีย แล้วเราได้เจอรากเหง้าภาษาหรือวัฒนธรรมบางอย่างคล้ายๆ กัน เช่น เดียวกับทางชีววิทยาซึ่งรากเหง้าบางอย่างของเราอาจพบเห็นได้ในปลาว่ามี ลักษณะอย่างหนึ่งและรากเหง้าบางอย่างเราเห็นได้ในสัตว์เลื้อยคลานอีกอย่าง หนึ่ง
การที่ปลาจำนวนหนึ่งยกพลขึ้นบกนั้นในช่วงแรกๆ เกิดจากแรงผลักหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือในน้ำนั้นมีแต่ปลาที่จ้องจะกินกันเอง แต่ บนบกยังไม่มีสัตว์อะไรที่จะล่าปลา มีแต่แมลง จึงมีปลาบางพวกที่ฉวยโอกาสตรงนี้แล้วขยายเผ่าพันธุ์บนบก เมื่อกาลเวลาผ่านไป สายพันธุ์ของปลาถูกตบไป-ตบมา ไปโพล่เป็นสิ่งชีวิตต่างๆ โดยที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า แต่การกระจายของสายพันธุ์นี้สามารถสืบย้อนกลับไปได้ เช่นเดียวกั้บกรณีที่คนไทยมีบรรพบุรุษที่มาจากแอฟริกา
จากข้อมูลการเปรียบเทียบประวัติศาสตร์โลก 3,500 ล้านปีกับระยะเวลา 1 ปีของแทนไทนั้น วันที่ 1 ม.ค.คือวันกำเนิดโลก และ 31 ธ.ค.คือปัจจุบัน ซึ่งมนุษย์เพิ่งเกิดขึ้นมาบนโลกในชั่วโมงสุดท้ายของปีเท่านั้น แม้แต่ไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ยังเพิ่งเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค.นี้ และปลานั้นเกิดขึ้นมายาวนานกว่านั้นมาก โดยช่วงต้นปีมีสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวได้กำเนิดขึ้นมา และกลางปีจึงเริ่มมีสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์
ความเชื่อมโยงระหว่างคนกับปลาที่สืบทอดกันมากว่า 370 ล้านปีนำไปสู่การอธิบายถึงโรคภัยบางอย่างที่พบในคน เพราะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจากปลาเป็นสัตว์บกทำให้เกิดช่องโหว่หลายอย่าง เหมือนการออกแบบไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะเป็นการออกแบบจากของเดิม ซึ่งแทนไทนเปรียบเหมือนการออกแบบรถคันใหม่โดยใช้โครงสร้างเดิม ทำให้การเปลี่ยนแปลงหลายๆ จุดย้อนกลับมาทำร้ายเราในทุกวันนี้
“เช่น เส้นเลือดขอด แต่ไหนแต่ไรมา ปลา ลิง สัตว์ต่างๆ มีชีวิตที่ไม่หยุดนิ่ง แม้แต่มนุษย์ยุคหินก็ออกล่าสัตว์ตลอด และร่างกายเราก็ออกแบบมาให้ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งเลือดในร่างกายที่ไหลจากล่างขึ้นบนนั้นต้องมีตัวช่วยเพื่อต่อสู้กับแรง โน้มถ่วง โดยมีลิ้นกั้น และจะไหลขึ้นสู่ด้านบนได้โดยอาศัยการบีบตัวของกล้ามเนื้อ แต่การไม่ออกกำลังกายตามวิถีชีวิตในปัจจุบันทำให้เลือดกองอยู่และทำให้เส้น เลือดบวมกลายเป็นเส้นเลือดขอด ถ้าไปออกที่ทวารก็กลายเป็น ริดสีดวง” แทนไทยกตัวอย่างโรคบางประการที่เป็นผลจากวิวัฒนาการอันยาวนาน
ด้าน ดร.วราวุธ สุธีธร นักธรณีวิทยาผู้เชี่ยวชาญฟอสซิลไดโนเสาร์ จากศูนย์ศึกษาและวิจัยบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ความเห็นว่าปัจจุบันวิทยาการได้ก้าวไปถึงการศึกษาระดับดีเอ็นเอ ซึ่งเมื่อนำมารวมกับการศึกษาซากฟอสซิลแล้วจะบอกเล่าถึงการวิวัฒนาการได้ ระดับหนึ่ง พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ว่า การค้นหาฟอสซิลนั้นจำเป็น ต้องรู้จักหิน และลายแทงในการค้นหาฟอสซิลคือชั้นหินที่สะสมในแผ่นดิน ซึ่งโชคดีว่าเมืองไทยมีบริเวณดังกล่าวกว่าครึ่งประเทศ โดยภาคอีสานทั้งหมดมีชั้นหินที่ว่านี้ซึ่งเกิดจากการสะสมของแม่น้ำ
“เวลาเจอแล้วมีความสุขมากๆ ความเหนื่อยหายไป ทำให้มีกำลังใจ และมีความสุข เพราะเรารู้ว่ามีโอกาสที่จะเจออะไร ชิ้นแรกที่เจอเป็นเศษเล็กๆ ของฟันไดโนเสาร์เมื่อปี พ.ศ.2524 ที่ภูเวียง เมื่อเริ่มเจอฟอสซิลมีค่า มีความสำคัญ ก็มาดูต่อว่าชิ้นที่เราเจอนั้นคืออะไร แค่นี้เราก็ต้องศึกษาสรีระสัตว์ทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกแล้ว ซึ่งสัตว์มีกระดูกสันหลังมีจุดร่วมกันบางอย่าง เราเอาความรู้เรื่อง ฟอสซิล ดีเอ็นเอ สัตว์โบราณที่ยังมีชีวิตมารวมกัน เราจึงสามารถย้อนกลับไปหาสัตว์โบราณได้ว่ากว่าจะเป็นแขนขานั้นเป็นอย่างไร” ดร.วราวุธกล่าว
สำหรับความน่าสนใจของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ แทนไทกล่าวว่ามีอยู่ 2 ระดับ ระดับแรกคือเรื่องราวความเป็นมาของเราและความเชื่อมโยงระหว่างเรากับสัตว์ ทั้งหลาย อีกระดับคือสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ในการสืบปะติดปะต่อ ของมนุษยชาติจนค้นพบความเป็นมาทั้งหมดโดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเขาย้ำหนักแน่นว่าเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์มากๆ
“ลองนึกภาพดู ถ้าคุณตื่นขึ้นมากลางถนนในกรุงปักกิ่ง พร้อมทั้งสูญเสียความทรงจำทุกอย่าง ไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นใคร บ้านอยู่ไหน มาอยู่ที่นี่ได้ยังไง จากนั้นภารกิจของคุณก็คือ ต้องค่อยๆ รวบรวมเบาะแสที่ละอย่างสองอย่าง อาจจะเริ่มจากรอยสักรูปกบเคโระที่อยู่บนหน้าผาก จนกระทั่งสามารถสืบย้อนกลับไปค้นพบตัวตนดั้งเดิมได้ในที่สุด คุณคิดว่าทั้งหมดนี้จะเป็นขั้นตอนที่ยากลำบากและน่าทึ่งขนาดไหน?” ข้อความจากแทนไท
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับบรรพบุรุษของคนเรานี้ ชูบินแซะออกมาจากชั้นหินที่บรรจุเรื่องราวประวัติศาสตร์โลกเอาไว้ ซึ่งแต่ละชั้นหินบ่งบอกถึงอายุของโลกและสิ่งมีชีวิตในยุคนั้นที่แตกต่างกัน โดยชั้นหินล่างๆ หรือชั้นหินที่มีอายุมากๆ เราจะพบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าได้ยากอยู่มาก แล้วชั้นหินถัดมาจะพบสิ่งมีชีวิตที่เริ่มมีวิวัฒนาการมากขึ้น จนมาถึงปลาตัวแรก สัตว์เลื้อยคลานตัวแรก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรก แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยพบฟอสซิลสิ่งมีชีวิตที่จัดเรียงอยู่ในชิ้นหินที่ ผิดยุค
ชูบินบอกเล่าในหนังสือว่า หากวันใดถ้าเราขุดหิน 600 ล้านปี แล้วค้นพบซากแมงกะพรุนโบราณรุนแรกอยู่ข้างๆ โครงกระดูกหนูยักษ์ เมื่อนั้นเราต้องโละตำราทุกเล่มทิ้งแล้วเขียนใหม่หมด เพราะนั่น แสดงว่า หนูยักษ์ตัวนั้นปรากฏตัวขึ้นในประวัติศาสตร์ก่อนหน้าที่จะมีสัตว์เลี้ยงลูก ด้วยนมตัวแรก สัตว์เลื้อยคลานตัวแรก หรือปลาตัวแรก และยังเป็นการตีแสกหน้าว่าทุกอย่างที่เราคิดว่ารู้และเข้าใจเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์โลกและความเป็นมาของชีวิตนั้น เป็นเรื่องผิดทั้งหมด แต่ตลอด 150 ปีของการศึกษาฟอสซิลนั้นเรายังไม่เคยพบความวิปริตดังกล่าว
ไม่ว่าจะยอมรับได้หรือไม่ได้ว่าคนเราและสัตว์บกทั้งหลายวิวัฒนาการ ขึ้นมาจากปลา แต่ข้อมูลที่สืบเสาะมาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้ก็ยังไม่มีข้อมูลโต้ แย้ง รอจนกว่าเราจะพบหนูวิปริตที่ว่านั้นจึงจะได้เวลาเขียนตำราแล้วทำความเข้าใจ โลกกับสิ่งมีชีวิตกันใหม่
Credit:
ผุ้จัดการออนไลน์