การโคลนมนุษย์: ปัญหากฎหมายและจริยธรรม
การกำเนิดของลูกแกะ ”ดอลลี่” เมื่อปี ค.ศ 1996 นับเป็นความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของมนุษย์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าถือเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถทำสำเนาพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมได้สำเร็จ ปรากฏการณ์นี้ได้สร้างความหวังแก่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยวิธีการตามธรรมชาติว่า การทำสำเนาพันธุกรรมในลักษณะเช่นนี้อาจสามารถนำมาใช้กับมนุษย์ เพื่อช่วยให้ความต้องการมีบุตรเป็นไปได้ตามความประสงค์ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเห็นว่า เทคนิคที่ใช้ในการทำสำเนาพันธุกรรมของดอลลีสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบำบัดรักษาโรคหรือความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิดได้ แต่ในทางกลับกัน สังคมส่วนหนึ่งกลับมีความเห็นว่า การนำเทคนิคในการทำสำเนาพันธุกรรมของดอลลี่มาใช้กับมนุษย์นั้น เป็นการฝ่าฝืนหลักศาสนาและจริยธรรมอย่างรุนแรง และการทำสำเนาพันธุกรรมมนุษย์จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งต่อมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากกรรมวิธีเช่นว่านี้ ครอบครัวของบุคคลนั้น และต่อสังคมโดยรวม
บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำสำเนาพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะพยายามแยกแยะความแตกต่างระหว่างการทำสำเนาพันธุกรรมมนุษย์ ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในทางจริยธรรมและกฎหมายที่เกิดขึ้น โดยจะนำเสนอทั้งแนวความคิดในการสนับสนุนและคัดค้านการทำสำเนาพันธุกรรมมนุษย์ และจะได้วิเคราะห์ถึงปัญหาในเชิงกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหากการทำสำเนามนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในสิ่งมีชีวิต อันจะนำมาซึ่งบทสรุปในตอนท้ายต่อไป
1. พัฒนาการของการทำสำเนาพันธุกรรม
คำว่า “การโคลน” (cloning) หรือการทำสำเนาพันธุกรรมนั้น เป็นคำศัพท์ที่มาจากภาษากรีกซึ่งหมายความถึง กิ่งก้านหรือสาขา (twig or branch)[1] การทำสำเนาพันธุกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมนุษย์ เพราะในอดีตที่ผ่านมามนุษย์รู้จักการทำสำเนาพันธุกรรมอย่างง่ายๆ เช่น การตอนกิ่งหรือการปักชำในพืชบางชนิด ต้นพืชที่ได้มาจากกรรมวิธีเหล่านี้จะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมือนกับต้นเดิมทุกประการ แต่ความรู้เหล่านี้ก็ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการขยายพันธุ์พืชเท่านั้น ต่อมาเมื่อวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ในระดับโมเลกุลมีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น นักวิทยาศาสตร์มีความต้องการในการเพิ่มปริมาณเซลล์ของพืชเพื่อนำไปใช้ในการทดลอง ความพยายามในการโคลนเซลล์และยีนของพืชจึงมีมากขึ้นด้วย และในที่สุดการโคลนเซลล์ของพืชก็มาประสบความสำเร็จในช่วงปลายคริสตทศวรรษที่ 50 โดยการทำสำเนาพันธุกรรมของพืชนี้ทั้งหมด สามารถเกิดขึ้นได้ในห้องปฏิบัติการ[2]
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการโคลนเซลล์ของสิ่งมีชีวิตจะประสบความสำเร็จด้วยดีในพืช แต่กรรมวิธีดังกล่าวก็ไม่อาจนำไปใช้ได้ดีนักกับสัตว์หรือมนุษย์ เหตุผลหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นอุปสรรคต่อการโคลนเซลล์ของมนุษย์คือ เซลล์ของมนุษย์นั้นมีความสามารถในการแบ่งตัวในช่วงระยะเวลาอันจำกัดเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเซลล์หนึ่งเซลล์ใดได้มีการแปรรูป (differentiation) ไปทำหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใดแล้ว เซลล์นั้นก็ไม่สามารถกลับมาทำงาน (reprogram) ในหน้าที่เดิมได้อีก[3] แต่ในราว ค.ศ. 1960 กลับปรากฏว่า John Gurdon นักสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด สามารถที่จะโคลนสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งคือ “กบ” ได้สำเร็จ โดยการนำนิวเคลียสจากเซลล์ลำไส้เล็ก (intestinal cell) ของกบตัวหนึ่งมาใส่แทนที่นิวเคลียสของไข่อีกใบหนึ่ง จากการทดลองนี้พบว่าไข่ใบดังกล่าวสามารถเจริญเติบโตเป็นลูกกบได้ และมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับต้นแบบทุกประการ[4]
อย่างไรก็ดี ความแตกต่างระหว่างการเจริญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครึ่งบกครึ่งน้ำ (amphibian) กับมนุษย์ก็มีความแตกต่างกัน เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นสามารถเจริญเติบโตได้ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แต่สำหรับมนุษย์การเจริญพันธุ์ต้องอาศัยครรภ์ของมารดาซึ่งมีความสลับซับซ้อนกว่ามาก ความพยายามในการโคลนสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนม (mammal) จึงได้เริ่มต้นอย่างจริงจังนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และในที่สุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 1996 ดร. เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) แห่งสถาบันวิจัยรอสลิน ประเทศสก็อตแลนด์ ก็ได้ทำการโคลนสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรกได้สำเร็จ[5]
“ดอลลี่” เป็นลูกแกะที่เกิดขึ้นมาจากเทคนิคในการโคลนสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “การถ่ายโอนนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย” (somatic cell nuclear transfer) เซลล์ร่างกายนี้เป็นเซลล์ที่มีโครโมโซมสองชุดซึ่งมีความแตกต่างจากเซลล์สืบพันธุ์ (germ cell) ที่จะมีโครโมโซมเพียงชุดเดียว ด้วยเทคนิคดังกล่าวนี้ ดร. เอียน วิลมุต ได้นำเซลล์เต้านมของแกะตัวเมียหน้าขาวตัวหนึ่งมาแยกเป็นเซลล์เดี่ยว หลังจากนั้นได้เลี้ยงเซลล์นี้โดยให้อาหารในปริมาณที่จำกัด กระบวนการนี้ทำให้เซลล์นั้นเข้าสู่สภาวะหนึ่งเรียกว่า “ระยะ GO” หลังจากนั้นจึงได้นำนิวเคลียสของเซลล์ดังกล่าว ใส่เข้าไปในเซลล์ไข่ของแม่แกะอีกตัวหนึ่งที่ได้ถูกนำเอานิวเคลียสออกไปแล้ว เมื่อมีการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า ก็สามารถทำให้นิวเคลียสหลอมรวมกับไข่ดังกล่าว เกิดการแบ่งตัว และสามารถกลับมาทำหน้าที่เดิมได้อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาจึงได้มีการนำเซลล์ไข่นั้นเข้าไปฝากในครรภ์ของแม่แกะเพื่อการเจริญพันธุ์ต่อไป[6] ดังนั้น ดอลลี่จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกที่ถูกโคลนขึ้นมาจากเซลล์ร่างกาย[7]
แม้ว่าในทางทฤษฏีแล้ว ดอลลี่ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกจำลองลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตต้นแบบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดอลลี่มีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตต้นแบบบางประการ กล่าวคือ ประการแรก ดอลลี่กำเนิดมาจากเซลล์ไข่ที่มี cytoplasm และ mitochondrial DNA แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตต้นแบบ ประการที่สอง ในขณะที่มีการรวมตัวระหว่างนิวเคลียสที่มาจากเซลล์ร่างกายกับไข่นั้น อาจมีชิ้นดีเอ็นเอบางส่วนแตกหักทำให้ลักษณะทางพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงไป และประการที่สาม สภาวะในครรภ์อาจมีผลต่อลักษณะทางพันธุกรรมของดอลลี่ได้
ความสำเร็จของดอลลี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามมากกว่า 23 ปีของ ดร. เอียน วิลมุต และไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นโดยง่าย ดังจะเห็นได้จากจำนวนไข่ที่ถูกผสมนั้นมีถึง 277 ฟอง แต่มีไข่เพียง 29 ฟองเท่านั้นที่สามารถพัฒนาไปจนถึงระยะบลาสโตซิส (Blastocyst stage) และมีเพียง “ดอลลี่” เท่านั้นที่มีสภาพสมบูรณ์ ส่วนไข่ที่เหลือกลับพบว่าไม่สามารถเจริญต่อไปได้[8] หรือมีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติหรือผิดรูปร่างไป หลังจากการกำเนิดของดอลลีไม่นานนัก
นอกจากกรณีของแกะดอลลี นักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศก็ได้ประกาศความสำเร็จในการโคลนสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น หนู[9] ลูกวัว[10] หรือแม้กระทั่งตัวอ่อนของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งที่ประกาศว่าพร้อมที่จะทำการโคลนมนุษย์ให้แก่ผู้ที่มีบุตรยาก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการพิจารณาความเหมาะสมในการโคลนมนุษย์ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติในเวลาต่อมา
2. ประเภทของการทำสำเนาพันธุกรรมมนุษย์
โดยทั่วไปแล้ว การโคลนมนุษย์อาจจำแนกได้ตามกระบวนการ (procedure) และตามวัตถุประสงค์ (purpose) ของการโคลนนั้น ซึ่งหากแบ่งประเภทของการโคลนมนุษย์ตามกระบวนการ การโคลนมนุษย์อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ การโคลนโดยใช้ตัวอ่อน (Embryo cloning) การโคลนประเภทนี้เป็นการใช้เซลล์ของตัวอ่อนมนุษย์มาเป็นวัตถุดิบในการโคลน ส่วนการโคลนอีกประเภทหนึ่งคือ การโคลนโดยใช้ดีเอ็นเอของตัวเต็มวัย (Adult DNA cloning) ซึ่งหมายความถึงการนำเอาเซลล์ที่มีการแบ่งตัวจนกลายเป็นตัวเต็มวัยแล้วมาใช้ในการโคลน เทคนิคการถ่ายโอนนิวเคลียสของเซลล์ร่างกายที่ถูกใช้กับแกะดอลลีก็เป็นวิธีการหนึ่งในการโคลนประเภทนี้
การโคลนมนุษย์อาจแบ่งตามวัตถุประสงค์สุดท้ายของการโคลนเช่นกัน ซึ่งหากจำแนกตามวัตถุประสงค์ การโคลนมนุษย์อาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ “การโคลนเพื่อการบำบัดรักษา” (therapeutic cloning) กับ “การโคลนเพื่อการสืบพันธุ์” (reproductive cloning)
การโคลนทั้งสองประเภทนี้จะใช้กรรมวิธีในการโคลนที่เหมือนกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็คือการนำนิวเคลียสของเซลล์ร่างกายมาถ่ายโอนเข้าไปแทนที่นิวเคลียสของไข่ ไข่ที่ถูกผสม (fertilized eggs) นี้จะถูกเลี้ยงไปจนถึงระยะบลาสโตซิส ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 5 วันหลังจากการปฏิสนธิ แต่การโคลนเพื่อการบำบัดรักษานั้นจะไม่มีการนำเอาไข่ดังกล่าวกลับเข้าไปในครรภ์ของมารดาหรือสิ่งมีชีวิตใดก็ตาม[11] ส่วนการโคลนเพื่อการสืบพันธุ์นั้นจะมีการนำไข่นั้นกลับเข้าไปฝังตัวที่ผนังมดลูก เพื่อให้เจริญเติบโตต่อไป การโคลนทั้งสองประเภทดังกล่าวจึงมีจุดมุ่งหมายและมีบุคคลที่เกี่ยวข้องแตกต่างกัน ซึ่งจะได้อธิบายโดยละเอียดต่อไป
2.1 การโคลนเพื่อการบำบัดรักษา
ในปัจจุบัน วงการแพทย์พยายามค้นคิดหาวิธีการการบำบัดรักษาโรคด้วยวิธีการใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และเป็นที่เชื่อกันว่า โรคบางชนิดที่เกิดจากการทำงานผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งของเซลล์นั้นสามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้ โดยการนำเซลล์ที่สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติเข้าไปทดแทน เช่น การนำเซลล์สมองใส่เข้าไปเพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือโรคพาร์คินสัน หรือการนำเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเนื้อเยื่อใส่เข้าไปในร่างกาย เพื่อให้สร้างเนื้อเยื่อทดแทนในกรณีที่ผู้ป่วยมีบาดแผลพุพองจากไฟไหม้ เป็นต้น[12] การบำบัดรักษาด้วยวิธีการนี้จึงจำเป็นต้องใช้เซลล์เริ่มต้น (stem cells) ซึ่งสามารถทำหน้าที่ต่างๆ กันได้นั้นมาใช้ในการบำบัด แต่อุปสรรคที่สำคัญก็คือ เมื่อร่างกายของมนุษย์ได้รับเซลล์แปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย บุคคลนั้นก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านทำให้การบำบัดรักษาไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ง่ายนัก
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เซลล์เริ่มต้นสามารถเข้ากันได้ (compatible) กับร่างกายของผู้รับการบำบัด เทคโนโลยีการโคลนจึงถูกนำมาใช้ โดยการนำนิวเคลียสของไข่ที่ได้รับการบริจาคออก แล้วนำนิวเคลียสจากเซลล์ร่างกายของผู้รับการบำบัดใส่เข้าไปแทนที่ หลังจากนั้นจะต้องเลี้ยงให้ไข่ที่ได้รับการผสมนั้นให้เจริญเติบโตต่อไป ซึ่งเมื่อเจริญเติบโตได้ในระยะหนึ่ง จะต้องมีการนำเซลล์เริ่มต้นออกจากตัวอ่อนเพื่อนำไปใช้ในการบำบัดรักษาหรือปลูกถ่ายต่อไป
การบำบัดโดยใช้เซลล์เริ่มต้น มีผลกระทบต่อจริยธรรมอย่างน้อยที่สุดสองประการคือ ประการแรก การบำบัดด้วยวิธีนี้จะต้องมีการทดลองในตัวอ่อนของมนุษย์ และเมื่อมีการนำเซลล์เริ่มต้นออกมาจากตัวอ่อนนั้น ก็จะทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ซึ่งเปรียบเสมือนการทำลายตัวอ่อนนั้นเอง และประการที่สอง การอนุญาตให้มีการบำบัดโดยเซลล์ร่างกายจะทำให้มีการลักลอบนำตัวอ่อนที่ได้มาจากการโคลน ใส่กลับเข้าไปยังมดลูกเพื่อการฝังตัวและเกิดเป็นมนุษย์ต่อไป มนุษย์ที่เกิดขึ้นนี้จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับต้นแบบทุกประการ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
2.2 การโคลนเพื่อการสืบพันธุ์
ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ (reproductive technology) ได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อปี ค.ศ. 1978 ลูอิส บราว์น เป็นเด็กหญิงคนแรกที่เกิดขึ้นมาการปฏิสนธินอกร่างกาย (In vitro fertilization หรือ IVF) จวบจนปัจจุบัน มีการประมาณการกันว่ามีเด็กที่เกิดขึ้นจากการผสมเทียมด้วยวีธีการต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 40,000 คน คู่สมรสที่มีบุตรยากมักจะได้รับการช่วยเหลือด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป เช่น หากฝ่ายหญิงมีความผิดปกติในท่อนำไข่ (fallopian tube) แพทย์จะใช้วิธีการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) ส่วนผู้หญิงที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยตนเองได้เนื่องจากความผิดปกติของมดลูก ก็อาจเลือกใช้วิธีให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทน (surrogacy) แต่หากความผิดปกติเกิดขึ้นจากการที่ฝ่ายชายอยู่ในภาวะอสุจิน้อยกว่าปกติ แพทย์อาจใช้วิธีการฉีดสเปอร์มเดี่ยวเข้าไปในไข่ (intracytroplasmic sperm injection)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะมีความก้าวหน้ามากก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ ในกรณีที่ฝ่ายหญิงอยู่ในภาวะปราศจากไข่ หรือฝ่ายชายอยู่ในภาวะเป็นหมันอย่างสมบูรณ์ ในกรณีเช่นนี้จะต้องมีการขอรับบริจาคไข่หรือเชื้ออสุจิแล้วแต่กรณี ซึ่งหากต่อมามีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ก็จะทำให้ทารกที่เกิดมานั้นไม่มีความความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่ที่มีความผิดปกติดังกล่าว
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง จึงเป็นที่มาของความพยายามในการโคลนมนุษย์อย่างจริงจัง แต่ด้วยความต้องการของมนุษย์ที่เป็นไปอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ความต้องการในการโคลนมนุษย์จึงได้ขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
·การโคลนมนุษย์เนื่องจากคู่สมรสอยู่ในภาวะมีบุตรยาก การโคลนเช่นนี้จะเป็นไปเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสที่ไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยวิธีการตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น หากสามีไม่สามารถมีบุตรได้เนื่องจากอยู่ในภาวะเป็นหมันถาวร ก็จะมีการนำเอาเซลล์ร่างกายของชายคนดังกล่าวมาสกัดเอานิวเคลียสออก แล้วนำไปใส่แทนนิวเคลียสของฝ่ายหญิง เมื่อเกิดการปฏิสนธิก็จะนำไข่ฟองดังกล่าวกลับเข้าไปฝังตัวในมดลูกของหญิงคนนั้นต่อไป หรือหากหญิงคนนั้นไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยตนเองได้ ก็อาจนำไข่ฟองดังกล่าวไปฝากไว้ในครรภ์ของหญิงอีกคนหนึ่ง ด้วยวิธีการนี้จะทำให้เด็กที่เกิดมามีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับพ่อของเด็กนั้นทุกประการ และจะได้รับ mitochondrial DNA มาจากฝ่ายแม่ ซึ่งจะทำให้ขจัดปัญหาว่าเด็กที่เกิดมาจะไม่มีความสัมพันธ์กับพ่อหรือแม่ของเด็กคนนั้นได้ อันจะแตกต่างไปจากการรับบุตรบุญธรรมหรือการขอรับบริจาคเชื้ออสุจิจากบุคคลอื่น
·การโคลนเนื่องจากความต้องการในการทดแทนบุคคลอันเป็นที่รัก การโคลนในกรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น คู่สมรสคู่หนึ่งได้สูญเสียบุตรไปเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม คู่สมรสคู่นั้นจึงต้องการที่จะได้บุตรคนใหม่ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับบุตรคนเดิมทุกประการ ดังนั้นหากมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของบุตรที่เสียชีวิตไป ก็จะมีการนำเอามาใช้ในการโคลนต่อไป การโคลนลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นในกรณีอื่นอีกก็ได้ เช่น การโคลนสามีหรือภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้ว ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์ที่จะสมรสกับมนุษย์ที่ถูกโคลนขึ้นมาใหม่หรือไม่ก็ตาม หรืออาจเป็นการโคลนบิดาหรือมารดาหรือญาติสนิทที่เสียชีวิตไปแล้วก็ได้
·การโคลนเนื่องจากความต้องการมีบุตรของกลุ่มรักร่วมเพศ การโคลนในลักษณะนี้มีสาเหตุจากการที่กลุ่มรักร่วมเพศไม่สามารถมีบุตรได้ตามปกติ ตัวอย่างเช่น พวกเลสเบี้ยนจะใช้นิวเคลียสจากเซลล์ร่างกายของเลสเบี้ยนคนหนึ่ง มาผสมกับไข่ของเลสเบี้ยนอีกคนหนึ่ง เป็นต้น แต่สำหรับกลุ่มเกย์นั้น การโคลนอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดเพราะยังจะต้องขอรับบริจาคไข่จากบุคคลภายนอกเพื่อให้การโคลนสำเร็จไปได้
·การโคลนเพื่อนำอวัยวะหรือเซลล์มาใช้ในการปลูกถ่าย การโคลนเช่นนี้จะเป็นไปเพื่อนำอวัยวะของมนุษย์ที่ถูกโคลนมาใช้ในอนาคต ไม่ว่าจะมีความต้องการอวัยวะในขณะที่มีการโคลนหรือไม่ก็ตาม เช่น คู่สมรสคู่หนึ่งมีบุตรที่ป่วยต้องได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก (bone marrow) มิฉะนั้นเด็กคนนี้จะถึงแก่ความตายในไม่ช้า คู่สมรสคู่นี้จึวตัดสินใจที่จะนำเซลล์ร่างกายของบุตรคนดังกล่าวมาใช้ในการโคลน เมื่อเด็กที่เกิดมาจากการโคลนเติบโตขึ้น ก็จะนำไขกระดูกมาใช้ในการปลูกถ่ายได้ หรือมิฉะนั้นการโคลนอาจเกิดขึ้นแม้ขณะนั้นจะยังไม่มีความต้องการอวัยวะก็ตาม เช่น เศรษฐีคนหนึ่งอาจต้องการโคลนร่างกายของตนเองไว้ เพื่อในอนาคตข้างหน้า หากตนเจ็บป่วยต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ก็จะสามารถนำอวัยวะจากมนุษย์ที่ถูกโคลนมาใช้ในการปลูกถ่ายได้ในทันที
·การโคลนเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดปกติทางพันธุกรรม ในกรณีนี้มักจะเกิดกับกลุ่มบุคคลหนึ่งที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม และต้องการที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้บุตรของตนมีความผิดปกติทางพันธุกรรมอีกต่อไป เช่น คู่สมรสคู่หนึ่งเป็นพาหะของความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดเดียวกัน โอกาสที่คู่สมรสนี้จะมีบุตรที่เกิดความผิดปกติจะมีโอกาสเท่ากับหนึ่งในสี่ ปรากฏว่าคู่สมรสคู่นี้มีบุตร 2 คน คนหนึ่งมีความผิดปกติ แต่อีกคนหนึ่งไม่มีความผิดปกติ หากคู่สมรสคู่นี้ต้องการมีบุตรอีกคนหนึ่ง แต่ไม่ต้องการที่จะมีความเสี่ยงที่บุตรคนที่สามจะมีความผิดปกติ ก็อาจจะเลือกวิธีการโคลนบุตรที่ไม่มีความผิดปกติก็ได้ ในบางกรณี ครอบครัวหนึ่งมีความผิดปกติทางพันธุกรรมโดยไม่ทราบสาเหตุทั้งครอบครัว ยกเว้นสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง ครอบครัวนี้ก็อาจจะเลือกโคลนบุคคลนั้นเพื่อมิให้มีความผิดปกติทางพันธุกรรมกับตระกูลนั้นอีกต่อไปก็ได้
·การโคลนเพื่อการสืบพันธุ์ที่มีวัตถุประสงค์อื่นแฝง การโคลนประเภทนี้แม้จะเป็นไปเพื่อต้องการให้ได้มนุษย์ขึ้นมาก็ตาม แต่ก็จะมีวัตถุประสงค์อื่นแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจบารมีของผู้โคลน เพื่อใช้เป็นกำลังทหาร หรือเพื่อการศึกษาวิจัย ยกตัวอย่างเช่น ซัดดัม ฮุดเซนอาจต้องการที่โคลนตัวของเขาเองขึ้นมาเพื่อปกครองประเทศอิรักต่อไป หรืออาจโคลน อาร์โนลด์ ชวาสเนกเกอร์เพื่อเป็นทหารในการต่อสู้กับอเมริกา เศรษฐีอาหรับคนหนึ่งอาจต้องการโคลน ซินดี้ ครอฟอร์ด เพื่อต้องการนำมาเป็นภรรยาในอนาคต เป็นต้น
รูปแบบของการโคลนที่กล่าวมาข้างต้นนั้นอาจเป็นเพียงสิ่งที่เพ้อฝันกันอยู่ในปัจจุบัน แต่อาจจะประสบความสำเร็จขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้ก็ได้ สังคมส่วนหนึ่งได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์ จึงได้พยายามคัดค้าน โดยเห็นว่าการโคลนจะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่มนุษย์ที่เกิดจากการโคลน สภาพของครอบครัวอาจเปลี่ยนวิถีชีวิตไปจากเดิม เพราะสถาบันครอบครัวจะถูกทำลายลงจากความสับสนของสถานะของมนุษย์ที่ถูกโคลนดังกล่าว และหากไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด มนุษย์จะถูกใช้อย่างเป็นแค่เพียงวัตถุเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมในอนาคต ในส่วนต่อไปจะกล่าวถึงผลกระทบทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นโดยจะเน้นไปที่การโคลนมนุษย์เพื่อการสืบพันธุ์เท่านั้น เนื่องจากเป็นปัญหาที่ยังมีข้อโต้เถียงและอยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมาก
3. ผลกระทบทางจริยธรรม
การโคลนมนุษย์ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมตามมา เริ่มตั้งแต่ปัญหาว่ามนุษย์สามารถที่จะถูกโคลนได้หรือไม่ การโคลนมนุษย์เป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่ เหตุใดจะต้องมีการโคลนมนุษย์ การโคลนจะเป็นไปโดยมีข้อจำกัดหรือไม่อย่างไร สิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของมนุษย์ที่ถูกโคลนจะเป็นเช่นใด สังคมโดยรวมจะได้รับผลกระทบจากการโคลนมนุษย์หรือไม่อย่างไร
ในปัญหาเหล่านี้ หลายฝ่ายได้แสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การโคลนมนุษย์อย่างกว้างขวาง ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการโคลนมนุษย์เป็นสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรม เพราะมีการใช้มนุษย์เป็นเครื่องทดลอง มนุษย์ที่ถูกโคลนจะขาดอัตตลักษณ์ทางพันธุกรรม (genetic identity) เพราะมนุษย์ที่ถูกโคลนขึ้นจะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับต้นแบบทุกประการ และมนุษย์เช่นนี้จะถูกปฏิบัติเหมือนกับเป็นแค่เพียงวัตถุเท่านั้น ฝ่ายนี้จึงมีความเห็นว่าไม่ควรจะอนุญาตให้มีการโคลนมนุษย์ในทุกกรณี
อย่างไรก็ดี มีผู้เห็นว่าการโคลนมนุษย์เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง สิทธิเช่นว่านี้ก็คือสิทธิในเสรีภาพของการเจริญพันธุ์ (Right to reproductive freedom) สังคมควรจะให้ความเคารพต่อสิทธิเช่นว่านี้ และไม่ควรที่จะเข้าไปแทรกแซง
ฝ่ายที่สามมีความเห็นว่า การโคลนมนุษย์ไม่ควรเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในทุกกรณี แต่กฎหมายควรที่จะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการโคลนมนุษย์อย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้มีการโคลนมนุษย์ได้ในบางกรณี กรณีที่ฝ่ายนี้มีความเห็นว่าควรอนุญาตให้มีการโคลน ได้แก่ กรณีที่คู่สมรสที่ไม่สามารถมีบุตรได้ โดยการโคลนนั้นต้องไม่มีวัตถุประสงค์ที่ฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดีด้วย ในส่วนนี้จะแยกพิจารณาข้อโต้แย้งดังกล่าวออกเป็น 3 ระดับ คือ ผลกระทบในระดับบุคคล ในระดับครอบครัว และในระดับสังคม
3.1 ผลกระทบในระดับบุคคล
ฝ่ายที่มีความเห็นคัดค้านการโคลนมนุษย์มีความเห็นว่า การโคลนมนุษย์จำเป็นที่จะต้องมีการทดลองในตัวอ่อนเป็นจำนวนมาก และจะส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ถูกโคลนเนื่องจากการโคลนนั้นจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย (physical harm) และอันตรายแก่จิตใจ (psychological harm) ต่อบุคคลที่ถูกโคลนนั้น ในกรณีเกี่ยวกับอันตรายต่อร่างกายของบุคคลนั้น ฝ่ายนี้ได้ยกตัวอย่างของการโคลนแกะดอลลี่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก กล่าวคือ ในจำนวนไข่ 277 ฟองที่ถูกโคลนนั้น มีไข่เพียง 29 ฟองที่เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน และมีเพียงดอลลี่เท่านั้นที่เจริญเติบโตต่อมาได้ ส่วนที่เหลือปรากฏว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ดังนั้นหากนำกรรมวิธีการโคลนนี้มาใช้กับมนุษย์ ก็จะทำให้มีการทำลายตัวอ่อนเป็นจำนวนมาก และไม่อาจคาดเดาได้ว่า มนุษย์ที่เกิดจากกรรมวิธีการโคลนนี้จะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด เพราะเซลล์ร่างกายที่ถูกนำมาใช้ในการโคลนนั้นอาจมีดีเอ็นเอที่แตกหักหรือเสื่อมไปตามสภาพได้ หากพิจารณากรณีของดอลลี่ จะเห็นว่ามีการนำเซลล์ร่างกายของแกะอายุ 6 ปี มาใช้ในการโคลน ขณะที่อายุของแกะทั่วไปจะมีประมาณ 11 ปี ซึ่งต่อมาปรากฏส่วนปลายของโครโมโซม (telomere) ของดอลลี่หดตัวลงสั้นกว่าปกติ[13] สิ่งนี้อาจแสดงว่าอายุขัยเฉลี่ย (life span) ของดอลลี่อาจสั้นกว่าแกะปกติก็ได้ ดังนั้น หากนำกรรมวิธีนี้มาใช้กับมนุษย์ก็จะทำให้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ที่ถูกโคลนสั้นลงด้วยเช่นกัน
ในทางกลับกัน ฝ่ายที่สนับสนุนการโคลนเห็นว่าการที่เทคโนโลยีนี้ยังไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอไม่ใช่เหตุผลที่สมควรนำมาห้ามการโคลนมนุษย์ โดยอ้างว่า จากประสบการณ์ของแกะดอลลี่ซึ่งให้กำเนิดลูกแกะชื่อ “บอนนี่”[14] ในปี ค.ศ. 1998 ได้แสดงให้เห็นว่า แกะดอลลี่มีพัฒนาการที่เป็นปกติ นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์นั้นจำเป็นจะต้องมีความเสี่ยงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดรักษาโรค หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีการปฏิสนธินอกร่างกายที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่ในปัจจุบัน ก็มีความเสี่ยงและมีการทดลองในตัวอ่อนเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาค้นคว้าต่อไปเพื่อให้กรรมวิธีการโคลนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่คัดค้านได้โต้แย้งว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการบำบัดรักษาโรคนั้นแตกต่างไปจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการโคลนมนุษย์ เพราะความเสี่ยงในการบำบัดรักษาโรคเป็นการกระทำที่เป็นไปเพื่อช่วยชีวิตของผู้ป่วย ผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ แลกเปลี่ยนกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงจากการโคลนนั้นเป็นอันตรายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ที่ถูกโคลน โดยไม่ปรากฏว่ามีประโยชน์กับบุคคลนั้นแม้แต่น้อย
จะเห็นได้ว่า ฐานความคิดของทั้งสองฝ่ายมีความขัดแย้งกันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ก็เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีความเชื่อและความเข้าใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นของชีวิตที่แตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่าชีวิตของมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อมีการปฏิสนธิ ดังนั้น เมื่อมีการทดลองและทำลายตัวอ่อนจึงเป็นการกระทำความผิดทั้งต่อกฏหมายและศีลธรรม แต่อีกฝ่ายเห็นว่าชีวิตของมนุษย์เริ่มต้นเมื่อคลอดออกมาเป็นทารกเท่านั้น การทำลายตัวอ่อนจึงไม่มีความผิดแต่อย่างไร แนวความคิดทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่มีความขัดแย้งกันมาเป็นเวลานานแล้ว และไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะหาข้อสรุปเป็นที่ยุติ
สำหรับข้อโต้แย้งที่ว่า การโคลนจะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจต่อบุคคลที่ถูกโคลนนั้น ฝ่ายที่คัดค้านการโคลนเห็นว่า การโคลนจะทำให้บุคคลที่ถูกโคลนมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับต้นแบบทุกประการ ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นขาดอัตตลักษณ์ และจะถูกคาดหวังจากผู้ที่โคลนบุคคลนั้นขึ้นว่าบุคคลที่ถูกโคลนนี้จะมีรูปร่างหน้าตา สติปัญญา ความสามารถ และอุปนิสัย เหมือนกับต้นแบบทุกประการ ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ที่ถูกโคลนขึ้นจะมีความแตกต่างทางกายภาพกับต้นแบบบ้างไม่มากก็น้อย สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่จะทำให้บุคคลที่ถูกโคลนมีความแตกต่างกับต้นแบบทางความคิด อุปนิสัยและสภาพจิตใจ จึงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์ที่ถูกโคลนจะเป็นไปดังที่ถูกคาดหวัง นอกจากนี้ หากการโคลนเกิดขึ้นจากวัตถุประสงค์อื่น ก็จะเป็นการกระทบต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ถูกโคลน เช่น หากเป็นการโคลนเพื่อต้องการที่จะได้อวัยวะของบุคคลที่ถูกโคลนเพื่อใช้ในการปลูกถ่าย หรือเพื่อเป็นตัวแทนของบุคคลอีกคนหนึ่ง มนุษย์ที่ถูกโคลนนี้ก็จะถูกปฏิบัติในลักษณะเช่นเดียวกับเป็นวัตถุ (object) เท่านั้น
ข้อคิดเห็นดังกล่าวได้ถูกคัดค้านจากฝ่ายที่สนับสนุนการโคลนมนุษย์ โดยฝ่ายนี้เห็นว่า สิทธิในอัตตลักษณ์ทางพันธุกรรม (Right to genetic identity) เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง[15] ธรรมชาติได้สร้างมนุษย์ที่มีลีกษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันเป็นจำนวนมาก อัตราส่วนที่มนุษย์ที่เกิดมาจะเป็นแฝดแท้ (identical twins) มีอยู่ถึง 1 ใน 67[16] แฝดแท้เหล่านี้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมือนกันมากกว่ามนุษย์ที่ถูกโคลนกับต้นแบบเสียอีก การโคลนมนุษย์แตกต่างจากความเป็นแฝดแท้เพียงแต่ว่าแฝดแท้จะมีอายุที่เท่ากัน ส่วนมนุษย์ที่ถูกโคลนจะมีอายุต่างกันกับต้นแบบเท่านั้น มนุษย์ที่ถูกโคลนนี้จะมีสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไป[17] การนำมนุษย์ที่ถูกโคลนไปใช้ในการทดลองหรือนำไปเป็นทาสก็มิใช่ว่าจะไม่เป็นความผิด
ผู้เขียนเห็นว่าข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้มีข้อบกพร่องบางประการ การกำเนิดของแฝดแท้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับการโคลนมนุษย์ได้ เนื่องจากการกำเนิดของแฝดแท้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แฝดแต่ละคนไม่ได้เป็นแหล่งที่มา (source) ของอีกฝ่ายหนึ่ง และแฝดแต่ละคนก็จะผ่านกระบวนการเรียนรู้ของตนเองโดยปราศจากต้นแบบ จึงมีอิสระที่จะดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างเสรี แต่การโคลนมนุษย์นั้นจะมีมนุษย์ต้นแบบที่จะถูกถอดสำเนาพันธุกรรมออกมา มนุษย์ที่ถูกโคลนจึงต้องถูกคาดหมายว่าจะเป็นอย่างเดียวกับต้นแบบ ไม่ว่าในด้านสติปัญญา หรือความสามารถพิเศษ นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าสังคมจะให้ความคุ้ม
Credit:
โคลน มนุษย์