จาก ตรุษจีน มาถึงมาฆบูชา กลิ่นควัน ’ธูป“ ตลบอบอวลอีกครั้ง แต่จริง ๆ แล้วในเมืองไทย “ธูป” มีความสำคัญไม่เพียงช่วงเทศกาล คนไทยมีการใช้ “ธูป” กันหลากหลาย ทั้งทางพระพุทธศาสนา ทางพราหมณ์ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กราบไหว้บรรพชน แม้แต่วันวาเลนไทน์ก็ยังมีการใช้ “ธูป” จุดบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เรื่องความรัก
’ธูป“ เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตผู้คนในเมืองไทยมาช้านาน
จวบจนยุคปัจจุบันความสำคัญของ ’ธูป“ ก็ยังคงอยู่
อย่างไรก็ตาม ในการใช้ธูปของผู้คนในเมืองไทยนั้น จะยึดโยงอยู่กับคติความเชื่อ และมีหลักปฏิบัติในการใช้ ซึ่งก็อาจแตกต่างกันได้ตามแต่หลักความเชื่อ ซึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ บางคนก็อาจไม่ทราบ หรือสับสน
ทั้งนี้ ว่ากันในทางพระพุทธศาสนา จากชุดข้อมูลที่อ้างอิงหนังสือ ระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ โดยพระธรรมวโรดม (บุญมา คุณสมฺปนฺโน) กับเนื้อหาที่เกี่ยวกับเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย บางช่วงบางตอนสรุปได้ว่า...ธูปนั้น สำหรับการบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นิยมจุดบูชาครั้งละ 3 ดอก เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นการจุดเพื่อ บูชาพระพุทธคุณ 3 ประการ คือ 1. พระปัญญาธิคุณ 2. พระบริสุทธิคุณ 3. พระมหากรุณาธิคุณ
แต่บางท่านก็อธิบายความมุ่งหมายแตกต่างออกไปว่า ธูป 3 ดอกนั้น เพื่อ บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 3 ประเภท คือ 1. อดีตสัมพุทธะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต 2. ปัจจุบันสัมพุทธะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจจุบัน 3. อนาคตสัมพุทธะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคต
ธูป สำหรับจุดบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น นิยมใช้ธูปมีกลิ่นหอม โดยมีความมุ่งหมายว่า ธรรมดากลิ่นธูปนี้เป็นกลิ่นหอมที่อัศจรรย์กว่ากลิ่นหอมต่าง ๆ ที่ชาวโลกนิยมใช้กัน กลิ่นหอมที่ชาวโลกนิยมใช้กันอยู่ทุกชนิดเมื่อบุคคลได้สูดดมกลิ่นแล้วเป็น เหตุทำให้กิเลสฟูตัวขึ้น จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ส่วนกลิ่นหอมของธูปนั้น เมื่อบุคคลได้สูดกลิ่นแล้วเป็นเหตุทำให้กิเลสยุบตัวลง
ก็เป็นข้อมูลในทางพระพุทธศาสนา...เกี่ยวกับ “ธูป”
ขณะที่ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุถึง “ธูป” ว่า...เป็นสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องสักการบูชามาช้านาน ในอดีตธูปทำจากเนื้อไม้หอมหลายชนิด เช่น ไม้จันทน์ขาว จันทน์เทศ กำยาน ไม้กฤษณา กันเกรา หรือต้นบง หรือโกวบั๊วะ (ผสมน้ำเพื่อให้เนื้อผงธูปเหนียวพอจะฟั่นเป็นธูปได้) โดยบดเนื้อไม้ให้เป็นผงละเอียดใช้เป็นวัตถุดิบในการทำธูป ทั้งนี้ ธูปไทยในอดีตที่ผลิตจากไม้หอม มีลักษณะคล้ายธูปจีนโบราณ (วัฒนธรรมและการทำธูปในไทย สืบทอดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการค้าในอดีต) ควันธูปค่อนข้างละเอียด ไม่ระคายเคืองจมูกและตา
ปัจจุบัน ผู้ผลิตธูปส่วนใหญ่จะเปลี่ยนมาใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราแทน เนื่องจากมีราคาถูกกว่าไม้หอมต่าง ๆ และมีสีขาวนวลเหมือนไม้จันทน์ขาว โดยผสมน้ำหอม เมื่อจุดจะให้ควันและกลิ่นที่หอม เรียกว่า “ธูปหอม”
ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ยังระบุไว้อีกว่า...ลักษณะของธูปบูชาพระ ปกติมีความยาว 13 นิ้วโดยประมาณ ก้านธูปชุบสีแดง ตัวธูปสีขาวนวล เวลาจุดประมาณ 40-45 นาที นอกจากนี้ยังมีธูปหอมที่เป็นสีประจำวัน มี 7 วัน 8 สี ตามความเชื่อของพราหมณ์ คือ วันอาทิตย์ สีแดง, วันจันทร์ สีเหลือง, วันอังคาร สีชมพู, วันพุธ (กลางวัน) สีเขียว วันพุธ (กลางคืน) สีดำ (ราหู), วันพฤหัสบดี สีส้ม, วันศุกร์ สีฟ้า และวันเสาร์ สีม่วง
กับเรื่อง ’สีธูป“ นั้น จากบางกระทู้ในเว็บบอร์ด tourthai.com ว่าไว้ว่า...การจุดธูปสีเพื่อการบูชานั้น ก็จะมีความเชื่อเฉพาะ เช่น องค์ เสด็จพ่อ ร.5 มีความเชื่อว่าต้องบูชาด้วยธูปสีชมพู, พระพิฆเนศ เชื่อกันว่าต้องบูชาด้วยธูปสีแดงหรือดำ เป็นต้น และกับธูปสีดำนั้น ข้อมูล บางแหล่งก็ระบุว่าสำหรับใช้จุดบูชาราหู โดยเฉพาะ
นอกจากนี้ “จำนวนธูป” ที่ใช้ ก็มีความเชื่อ-มีหลายชุดข้อมูล ซึ่งบางส่วนก็ตรงกัน บางส่วนก็แตกต่างกัน ยกตัวอย่างข้อมูลจากบางกระทู้ในเว็บบอร์ด tourthai.com ระบุไว้ว่า...ธูป 1 ดอก ใช้ไหว้ศพ เจ้าที่ วิญญาณธรรมดาที่ไม่ได้เป็นชั้นเทพ, 2 ดอก ใช้บูชาเจ้าที่, 3 ดอก ใช้บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์, 5 ดอก ใช้บูชาพระรัตนตรัย บูชาองค์เสด็จพ่อ ร.5 ธาตุทั้งห้า หรือทิศทั้งห้า พระภูมิ, 7 ดอก ใช้ไหว้พระพรหม บูชาพระอาทิตย์ ถือคติคุ้มครองทั้ง 7 วันในสัปดาห์, 8 ดอก บูชาเทพเจ้าของชาวฮินดู, 9 ดอก บูชาแก้ว 9 ประการ พระพุทธคุณทั้ง 9 และพระเทพารักษ์, 10 ดอก ใช้บูชาเจ้าที่ ตามความเชื่อของชาวจีนบางกลุ่ม, 12 ดอก บูชาเจ้าแม่กวนอิม บูชาพระคุณของแม่, 16 ดอก บูชาเทพชั้นครู หรือใช้ในพิธีกลางแจ้งที่มีการอัญเชิญเทวดา ที่สำคัญหมายถึงสวรรค์ 16 ชั้น, 19 ดอก บูชาเทวดาทั้ง 10 ทิศ, 21 ดอก บูชาพระคุณของพ่อ, ธูป 32 ดอก ใช้สวดชุมนุมเทวดาทั้ง
4 ทิศ
ทั้งนี้ แค่ตัวอย่างเกี่ยวกับ ’ธูป“ ที่ยกมาข้างต้น ก็หลากหลายมากแล้ว แต่เอาเข้าจริงยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะแยะเกินจะบรรยาย ได้หมดในพื้นที่จำกัด ซึ่งก็สุดแท้แต่คติความเชื่อของแต่ละกลุ่มคน-แต่ละคน
ที่แน่ ๆ คือ ’ธูป“ นั้นก็เป็นอะไรที่ ’ไม่ธรรมดา“ เลย
เบื้องหลังกลิ่นควันธูปที่อบอวลแฝงไว้ด้วยเรื่องราว
ตั้งแต่เรื่องใต้พิภพ...บนดิน...ถึงสวรรค์ชั้นฟ้า!?!?!.