หลังจาก ภาพยนตร์เรื่อง "มหาอุตม์" ออกฉายเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๖ และเรื่อง "จอมขมังเวทย์" ออกฉายเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นมานั้น ปรากฏการณ์หนึ่งในวงการผู้นิยมเครื่องรางของขลังและลายสักยันต์ ที่ตามมาคือ ฆราวาสจอมขมังเวท ซึ่งถูกเชิญให้ไปร่วมพิธีปลุกเสกวัตถุมงคล รวมทั้งประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างจากพระ ขณะเดียวกัน สำนักสักยันต์ต่างๆ ก็เกิดขึ้นราวกับดอกเห็นหน้าฝน ที่สำคัญคือแต่ละสำนักต่างมีผู้สนใจไปลงลายยันต์กันมากขึ้น
" คม ชัด ลึก " ได้รวบรวมข้อมูลฆราวาสจอมขมังเวท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่าสมัยโบราณผู้ที่สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังไม่มีเฉพาะพระเกจิอาจารย์เท่านั้น ในตำนานจารึกจารเงินจารทองจะพบคำว่า ฤๅษี นักบวช และ ผู้ทรงพรต ในกรณีของการสร้าง พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระถ้ำเสือ กรุวัดเขาดีสลัก จ.สุพรรณบุรี รวมทั้ง พระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร จ.พิษณุโลก ที่มีหลักฐานว่าใช้เวลาหล่อหลายวันก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งมี ชีปะขาว ตนหนึ่ง (ซึ่งน่าจะมาจากรากศัพท์ตาปะขาว หรือผู้ชายที่นุ่งผ้าขาว) มาช่วยหล่อจนสำเร็จ
นอกจากนี้แล้วยังมีฆราวาสที่สร้างเครื่องรางและวัตถุมงคลในอดีต ซึ่งเป็นที่ยอมรับ มีอยู่หลายท่าน เช่น พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อาจารย์เฮง ไพรวัลย์ อาจารย์ชุม ไชยคีรี สำนักเขาอ้อ อาจารย์นำ แก้วจันทร์ สำนักเขาอ้อ จ.พัทลุง อาจารย์แปลก วัดสะพานสูง อาจารย์เจ็ก มีนบุรี (ศิษย์หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา) หมอน้อย และหมอปลู่ ซึ่งเป็นชาวอ่างทอง
ขุนพันธรักษ์ราชเดช
ช่วง จตุคามรามเทพ ได้รับความนิยมสุดขีด พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ถูกยกให้เป็น "ตำนาน...จอมขมังเวทแห่งทะเลใต้"
หลายคนที่ศึกษาเกี่ยวกับจตุคามรามเทพ จะพบว่าในประวัติต้นกำเนิด มักปรากฏเรื่องราวของขุนพันธฯ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งขุนพันธฯ เป็นเจ้าพิธี อ่านโองการอัญเชิญเทวดาในการลงเสาหลักเมืองนครศรีธรรมราช ที่ได้อัญเชิญองค์พ่อจตุคามรามเทพ มาประดิษฐานภายในศาลหลักเมือง เมื่อพ.ศ.๒๕๓๐
และที่ดังไม่แพ้กันคือ "ตำนานแห่งศิษย์สายเขาอ้อ จ.พัทลุง" เป็นของ ดร.ไมตรี บุญสูง ถือว่าเป็นผู้เลื่อมใสคาถาอาคม จนได้รับการยกย่องเป็นระดับอาจารย์สืบสานวิชาไสยศาสตร์สายเขาอ้อ จ.พัทลุง ต่อมาท่านได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคถุงลมโป่ง เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐
ในขณะที่ อ.ประจวบ คงเหลือ ถูกยกให้เป็น "ทายาทผู้สืบทอดวิชาชั้นสูงเขาอ้อ สายฆราวาสรุ่นปัจจุบัน" ท่านมีหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมร่วมกับผู้สืบทอดวิชาเขาอ้อสายบรรพชิต คือ พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร รองเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา จ.พัทลุง ปัจจุบันมีผู้กล่าวถึงว่ามีฐานะเสมือนเป็นเจ้าสำนักเขาอ้อตัวจริง
และที่ดังมีชื่อเสียง และลูกศิษย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากที่สุดสุดๆ คือ อ.หนู กันภัย อาจารย์สักยันต์แห่ง จ.ปทุมธานี ดังขนาดนางเอกสาวขวัญใจแบรด พิตต์ แองเจลินา โจลี ต้องบินข้ามน้ำทะเลด้วยแรงศรัทธาจนกระหึ่มไปทั่วโลก ขนาดที่ว่าในแต่ละวันต้องเปิดสำนักให้นักข่าวค่อนโลกสัมภาษณ์ ๒๐-๓๐ ช่องต่อวันเลยทีเดียว
สำหรับฆราวาสที่วางมือไปแล้ว คือ อ.วรา ปราการาจารย์ ซึ่งเป็น "เจ้าตำรับ...น้ำมันพรายและยาเสน่ห์"
อ.วรา เริ่มทำน้ำมันพรายและยาเสน่ห์ต่างๆ มาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ทำให้เป็นคนเจ้าชู้ เนื่องจากไปเรียนวิชาเหล่านี้จากเพื่อนของพ่อที่เป็นชาวเขมร โดยเขาสอนให้ทำน้ำมันพรายและยาเสน่ห์
ครั้งแรกที่ทำก็คือ น้ำมันและสีผึ้ง โดยไปหามวลสารที่ จ.นครราชสีมา มาทำน้ำมันครั้งแรก และลองใช้น้ำมันพรายมาอย่างต่อเนื่อง จนตัวเองมีภรรยาถึง ๓๒ คน
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีสำนักสักย์ยันต์อีกหลายสิบสำนักที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ลัทธิผู้นิยมนับถือฤๅษีก็เกิดขึ้นอีกหลายสิบตน
และหากรวมไปถึงเจ้าสำนักร่างทรงที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่มีอยู่ในหลักหลายร้อยสำนัก ประเทศไทยถือว่าเป็นดินแดนแห่ง "ฅน...จอมขมังเวท" โดยแท้จริง แม้จะเป็นเมืองพุทธก็ตาม
ไม่ใช่เรื่องแปลก
อ.ราม วัชรประดิษฐ์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก บอกว่า การที่ฆราวาสมีบทบาทในการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ประเภทเป็นเจ้าพิธีนั้น มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว เนื่องจากสังคมไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ตลอดจนวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับอำนาจเหนือธรรมชาติ อำนาจตามธรรมชาติ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง น้ำท่วม การเพาะปลูก การประมง การทำมาค้าขาย หรือแม้กระทั่งการทำศึกสงคราม
บางคนอาจจะเข้าใจว่าการทำพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลังนั้น จะต้องเป็นพระภิกษุเท่านั้น แต่ความจริงไม่ใช่ ในอดีตก็จะใช้ผู้ที่เป็นนักบวช เช่น พราหมณ์ ภิกษุ หรือฤๅษี (เช่น กรณีปลุกเสก พระผงสุพรรณ มีฤาษีเป็นผู้กดนิ้วมือลงบนหลังองค์พระ)
ส่วนในงานวรรณคดีสมัยก่อน ก็กล่าวถึงฆราวาสที่สามารถทำพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง หรือวัตถุอาถรรพณ์ ตลอดจนสักเลขยันต์ต่างๆ เอง อย่างกรณี ขุนแผน เป็นต้น
สาเหตุที่ฆราวาสสามารถปลุกเสกเครื่องรางของขลัง หรือเป็นเจ้าพิธีได้ด้วยตนเองนั้น เข้าใจว่า สืบเนื่องมาจากสมัยโบราณ เพราะฆราวาสเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะไปร่ำเรียนวิชาอาคมจากสำนักสงฆ์ต่างๆ และตัวเองไม่ได้บวชเป็นพระ หรือนักบวช แต่ยังคงสืบทอดความรู้จากครูบาอาจารย์ และถ่ายทอดสืบต่อกันมา รวมทั้งเป็นกลุ่มที่สามารถอ่านอักขระโบราณ เช่น ขอม บาลี สันสกฤต หรืออื่นๆ ซึ่งมักจะสะสมอยู่ในวัด
ดังนั้นเมื่อพบศิษย์ฆราวาสที่มีแวว ก็ไม่ต้องการให้วิชาสาบสูญ จึงถ่ายทอดสืบต่อกันมา ส่งผลให้มีลัทธิบูชา หรือสำนักทางเวทศาสตร์ ที่ตั้งตนโดยฆราวาสเกิดขึ้นมากมาย
"ในปัจจุบันการที่ฆราวาสเป็นเจ้าพิธีมากยิ่งไปกว่าพระภิกษุ หรือนักบวช นั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าเป็นนักบวชก็มีข้อจำกัด ไม่สามารถทำอะไรได้มากอย่างฆราวาส และฆราวาสที่เรียนรู้วิชา ก็อาจสามารถปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบแห่งความรู้ที่กำหนด เช่น ถือศีล นุ่งขาวห่มขาว ปฏิบัติวิปัสสนาสมาธิ จนมีความบริสุทธิ์ที่จะกระทำพิธีได้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันผู้คนก็นิยมไปหาเจ้าพิธีที่เป็นฆราวาสมากขึ้น อันเนื่องมาจากว่าเจ้าพิธีฆราวาสเป็นผู้ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร จึงอาจจะเข้าถึงความรู้สึก ความทุกข์ ความสุข ความต้องการของประชาชนได้ดีกว่า นอกจากนี้ เจ้าพิธีฆราวาสบางรายยังสามารถประกอบวัตถุอาถรรพณ์ทางไสยศาสตร์ได้โดยไม่อยู่ภายใต้กรอบบังคับของนักบวช" อ.รามกล่าว