'มาร์ค'ชี้เขมรยื่นเองต้องเคารพมติUN

 

 

คมชัดลึก :"อภิสิทธิ์" ชี้ มติUNSCลดตึงเครียดแนะเขมรพึ่งทวิภาคี ระบุ เป็นฝ่ายยื่นเรื่องไปเองดังนั้นต้องเคารพ ยินดียูเนสโกส่งตัวแทนฟังปัญหาสองฝายแต่ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ เชื่อหยุดยิงกันได้หากเขมรไม่ความพยายามยกระดับอีก ด้าน"กษิต" แจงไทยพร้อมทุกเมื่อ ทำข้อตกลงหยุดยิง รอพิสูจน์ความจริงใจเขมร


“ฉะนั้นก็เป็นไปอย่างที่เราต้องการให้เกิดขึ้นคือว่าวันนี้เห็นได้ชัดว่าประชาคมโลกต้องการให้การแก้ปัญหานี้ด้วยการเจรจา และกัมพูชาคงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธตรงนี้ ก็คงต้องกลับมาพูดคุยกัน” นายกฯ กล่าว


เมื่อถามว่ามีปฏิกิริยามาจากกัมพูชาหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มี ยังไม่ได้รับทราบอะไร แต่คิดว่าในขณะนี้อาเซียนต้องทำหน้าที่ในการประชุมในวันที่ 22 ก.พ.เพื่อให้สองฝ่ายกลับมาพูดคุยกัน


เมื่อถามว่าท่าทีของยูเอ็นเอสซีอย่างนี้จะช่วยลดความตึงเครียดบริเวณแนวชายแดนได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าน่าจะช่วยได้เพราะเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ประเด็นสู่การยกระดับ เพราะว่าข้อเท็จจริงประเทศไทยไม่ได้มีแนวคิดเรื่องการรุกรานและใช้กำลังอยู่แล้ว และต้องการให้ทุกอย่างกลับมาสู่กรอบของการเจรจา 


ต่อข้อถามที่ว่ามีแนวทางอย่างไรหากวันที่ 22 ก.พ.กัมพูชาไม่ไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าขณะนี้กัมพูชาคงจะต้องฟังเสียง เพราะร้องไปที่ยูเอ็นเอง และยูเอ็นก็บอกให้มาพูดคุยก็ต้องมาพูดคุย มิฉะนั้นก็คงไม่มีเวทีไหนที่จะไปได้ เพราะเมื่อไปแล้วก็ต้องเคารพแนวทางกระบวนการตรงนี้  


เมื่อถามว่าวันที่ 22 ก.พ.จะมีการเปิดช่องให้สองฝ่ายเจรจาหวังว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ตนหวังว่าในวันนั้นกัมพูชาจะตัดสินใจเข้ามาพูดคุยกับเราอย่างชัดเจน ในการที่จะให้ทุกอย่างกลับเข้ามาสู่กระบวนการเดิมของการมีการพูดคุยในระดับทวิภาคี แล้วก็เดินหน้าในการแก้ปัญหาไป ส่วนท่าทีของกัมพูชาที่จะยื่นฟ้องศาลโลกอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อันนั้นยังไม่ทราบ


ผู้สื่อข่าวถามว่าขั้นตอนการเตรียมการของไทยจากนี้จะเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เราก็ต้องเตรียมที่จะพูดคุยกันในกรอบทวิภาคีแล้วก็มาดูว่าจะสามารถเดินหน้าอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหานี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และอีกชนวนหนึ่งที่เราต้องการจะปลดคือมรดกโลกก็จะดำเนินการ


เมื่อถามว่าการปลดชนวนมรดกโลกทำไปได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีการประสานงานหลายระดับหลายช่องทางและคิดว่าขณะนี้ทางกรรมการมรดกโลกก็มีความเข้าใจในความสลับซับซ้อนของปัญหามากขึ้น อย่างไรก็ตามนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้คุยกับตนเมื่อคืน ก็อยู่ในช่วงของการทำความเข้าใจกับหลายฝายที่ยูเนสโกจะพูดคุย


ส่วนที่หลังจากที่ไทยให้คำแนะนำกับยูเนสโกไปว่าไม่ควรเดินทางมาในพื้นที่ในช่วงนี้เขาตอบรับมาหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้เขามีแนวคิดจะส่งผู้แทนพิเศษมาพูดคุยซึ่งกำลังดูรายละเอียดกันอยู่ ซึ่งถ้าหากเป็นลักษณะของการมาพูดคุยกันเพื่อทำความเข้าใจประเด็นกับไทยกับกัมพูชาตนว่าก็ไม่มีปัญหา


“เพียงแต่ว่ายังไม่ควรเข้าไปในพื้นที่เพราะตรงนั้นจะเป็นตัวไปสร้างปัญหาใหม่ แต่ทั้งนี้เขายังไม่ประสานเข้ามา”นายกฯ กล่าว


เมื่อถามว่าข้อตกลงหยุดยิงถาวรใครจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน นายกฯ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วอยู่ในระดับที่พูดคุยกันได้อยู่แล้ว เพราะเราไมได้เป็นฝ่ายยิงก่อน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วถ้าไม่มีประเด็นที่จะไปพยายามยกระดับอะไรกันอีกก็น่าจะจบ


เมื่อถามว่าคิดว่าวันนี้เสียงปืนน่าจะหยุดลงได้หรือยัง นายกฯ กล่าวว่า เราก็พยายามเต็มที่ เดินทางทุกทางเพื่อให้เป็นอย่างนั้น


ด้านนายถวิล  เปลี่ยนศรี  เลขาสมช. บอกว่ามติของยูเอ็นเอสซีเป็นไปตามคาด ชี้ไทยกัมพูชายังมีผลประโยชน์ร่วมกว่า 90 เปอร์เซ็น ต้องรักษาไว้ พร้อมเตือนม็อบอย่ายั่วยุ


นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ NBT ถึงผลการร่วมประชุมกับคณะมนตรีความมั่นคง 15 ประเทศ หรือ UNSC ว่า สมาชิกทุกประเภทล้วนแสดงความเห็นอยากให้ไทยกับกัมพูชาเจรจาทวิภาคี โดยให้ประชาคมอาเซียนเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ที่จาการ์ต้า ก็จะพูดคุยกันว่าจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป ทางไทยก็คงจะไปชี้แจงว่าขณะนี้มีกลไก และกรอบการเจรจาทวิภาคีทั้งเอ็มโอยู 2543 และ เจบีซี ให้สมาชิกอาเซียนได้เข้าใจ โดยไทยก็พร้อมจะประชุมเจบีซีกับทางกัมพูชาในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางกัมพูชาจะว่าอย่างไร 


ส่วนเรื่องการทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร ก็สามารถทำได้โดยให้รัฐมนตรีกลาโหมของทั้งไทยและกัมพูชามาเจรจากัน ซึ่งฝ่ายไทยได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการให้มีสันติภาพและความสงบสุข เราประกาศต่อประชาคมโลกแล้วว่าเราพร้อมเจรจาตลอดเวลา ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางกัมพูชาจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร 


การที่กัมพูชา นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แล้วที่ประชุมให้กลับไปเจรจากันเองสองฝ่าย ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางกัมพูชาที่มีพันธะต่อสหประชาชาติ ต่ออาเซียนในฐานะสมาชิก ว่าจะมีความจริงใจแค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับเจตนารมย์ของผู้นำทั้งสองประเทศที่จะต้องไปกำชับดูแลในส่วนของตนเองไม่ให้เกิดการปะทะกันขึ้นอีก นายกษิต กล่าวว่า กลไกการเจรจาทวิภาคีมีอยู่มากมาย ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทางกัมพูชาด้วย ควรจะมาช่วยกันทำแผนดูแลว่าจะรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดนอย่างไร ซึ่งรวมถึงเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ การตัดไม้ การค้าอาวุธ และยาเสพติด ซึ่งต้องร่วมมือกัน 


นอกจากนี้ ไทยได้เสนอว่าเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลก และการพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารควรจะชะลอไว้ก่อน เพราะเป็นต้นเหตุแห่งการปะทะกัน ควรจะรอให้กลไกการเจรจาปักปันเขตแดนคืบหน้าจนแล้วเสร็จเสียก่อน คือต้องมีการทำภาพถ่ายทางอากาศ มีการสำรวจหลักเขตทั้งหมด ส่วนผู้ที่มาคัดค้านจะต้องเข้าใจประเด็นปัญหาว่าคัดค้านเรื่องอะไร ถ้าไม่มีเอ็มโอยูแล้วทางเลือกอื่นมีหรือไม่อย่างไร  


 


  ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
15 ก.พ. 54 เวลา 14:26 1,281 1 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...