10 อันดับสุดยอดสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ ปี 2009

 

10 อันดับสุดยอดสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ ปี 2009

สถาบันสำรวจสิ่งมีชีวิตสากล (International Institute for Species Exploration) มหาวิทยาลัยแห่งรัฐอริโซนา ร่วมกับ คณะกรรมการอนุกรมวิธานสากล (International Committee of Taxonomists) เผยผลการจัด 10 อันดับสุดยอดสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์สปีชีส์ใหม่ประจำปี 2009 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นแหล่งที่มีการค้นพบสัตว์สปีชีส์ใหม่ที่โดดเด่น หลังจากที่เมื่อปี 2008 กิ้งกือมังกรสีชมพูซึ่งค้นพบที่ประเทศไทย ติดอยู่อันดับที่ 3

มาดูกันว่า 10 อันดับสุดยอดของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ ปี 2009 มีอะไรกันบ้าง

10 ปาล์ม Tahina spectablilis ภาพ John Dransfield 
9 แมลง Phobaeticus chani ภาพ Philip Bragg 
8 ม้าน้ำแคระ ภาพ John Sear 

 

อันดับ 10

ปาล์มยักษ์จีนัสและสปีชีส์ใหม่ ปาล์มหายากทางตะวันตกเฉียงเหนือของมาดากัสการ์มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tahina spectablilis มันจะออกดอกเพียงครั้งเดียวในชีวิต โดยจะใช้พลังอย่างมากในการเบ่งดอกนับร้อยนับพัน และหลังจากออกผลแล้วมันจะตายและล้มลง

ปาล์มจีนัสใหม่นี้ไม่มีความคล้ายคลึงกับกับปาล์มชนิดใดๆ ในมาดากัสการ์เลย นักพฤกษศาสตร์เชื่อว่า มันน่าจะเป็นญาติใกล้ชิดกับปาล์ม 3 จีนัส ที่อยู่ในอัฟกานิสถาน ภาคใต้ของประเทศไทย เวียดนาม และภาคใต้ของจีน

อันดับ 9 แมลง Phobaeticus chani

แมลงรูปร่างคล้ายหนามซึ่งยังไม่มีชื่อสามัญ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phobaeticus chani เพื่อเป็นเกียรติแก่ ซี.แอล ชาน   พบที่เกาะบอร์เนียว มาเลเซีย มีลำตัวยาวถึง 35.6 เซนติเมตร หรือ 14 นิ้ว และความยาวทั้งตัวเท่ากับ 56.7 เซนติเมตรหรือ 22.3 นิ้ว ทำให้มันครองตำแหน่งแมลงที่ยาวที่สุดในโลก

อันดับ 8 ม้าน้ำแคระ (Pygmy Seahorse)

ม้าน้ำขนาดจิ๋วเท่ากับเมล็ดถั่ว มีความยาวลำตัวเพียง 0.54 นิ้ว และสูง 0.45 นิ้ว เท่านั้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Hippocampus satomiae เพื่อเป็นเกียรติแก่ ซาโตมิ โอนิชิ มัคคุเทศน์นักดำน้ำผู้เก็บรวบรวมซากของพวกมันไว้ พบที่ทะเลใกล้เกาะเดราวัณ อินโดนีเซีย   จุดเด่นของมันคือรูปร่างที่มีปุ่มและสีคล้ายกิ่งก้านของกัลปังหาที่มันอาศัยอยู่จนแยกไม่ออก 

 

7 งูเส้นด้ายบาร์เบโดส ภาพ S. Blair Hedges 
6 ทากปีศาจ ภาพ Ben Rowson 
5 หอยทาก Opisthostoma vermiculum ภาพ Reuben Clements 

อันดับ 7 งูเส้นด้ายบาร์เบโดส (Barbados Threadsnake)

งูเส้นด้ายบาร์เบโดส คือ งูขนาดเล็กที่สุดในโลก มีความยาวเพียง 104 มิลลิเมตร หรือ 4.1 นิ้วเท่านั้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Leptotyphlops carlae พบใต้ก้อนหิน ใกล้โบสถ์เซนต์โยเซฟ บนเกาะบาร์เบโดส

อันดับ 6 ทากปีศาจ (Ghost Slug)

Selenochlamys ysbryda ได้ชื่อว่าทากปีศาจเพราะพฤติกรรมในการกินสัตว์อื่นและล่าเหยื่อในเวลากลางคืน นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมที่พวกมันเกิดก็ยังเป็นความลึกลับอยู่ พบในบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นในเมืองกลามอร์แกน และคาร์ดิฟฟ์ แคว้นเวลส์

อันดับ 5 หอยทาก Opisthostoma vermiculum

นี่คือหอยทากที่แสดงวิวัฒนาการลักษณะของเปลือกที่ผิดแผกแตกต่างจากหอยทากอื่นๆ เปลือกหอยกาสโทรพอดส่วนใหญ่จะขดเป็นวงรอบแกนเดียวและขดรอบแกนได้ไม่เกิน 3 แกน ทว่า เปลือกหอยทาก Opisthostoma vermiculum ขดรอบแกนถึง 4 แกนแยกออกจากกัน พบที่เขาหินปูน ในประเทศมาเลเซีย

อันดับ 4 ปลาสลิดหินน้ำเงินทะเลลึก (Deep Blue Chromis)

ปลาสลิดหินน้ำเงินทะเลลึก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Chromis abyssus พบที่แนวปะการังน้ำลึกนอกชายฝั่งเกาะเงเมลิส ประเทศปาเลา ในหมู่เกาะในแปซิฟิก การค้นพบมันแสดงให้เห็นว่าเรายังรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในแนวปะการังน้ำลึกไม่มากนัก

อันดับ 3 แม่ปลาดึกดำบรรพ์ (Mother Fish)

ปลาพลาโคเดิร์ม (Placoderm) สปีชีส์ Materpiscis attenboroughi ในยุคดีโวเนียน เป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งออกลูกเป็นตัวเก่าแก่ที่สุดเท่าที่โลกวิทยาศาสตร์เคยรู้จัก ฟอสซิลที่ขุดพบที่แหล่งโกโก ทางตะวันตกของออสเตรเลียแสดงให้เห็นว่าแม่ปลากำลังออกลูกเมื่อประมาณ 380 ล้านปีก่อน

 

4 ปลาสลิดหินน้ำเงิน ภาพ Richard Pyle 
3 แม่ปลาพลาโคเดิร์ม ภาพ John A. Long 
2 ต้นกาแฟชาริเยอร์ ภาพ Piet Stoffelen 
1 แบคทีเรีย Microbacterium hatanonis อยู่ในสเปรย์ฉีดผม ภาพ Erik Holsinger 

 

อันดับ 2 ต้นกาแฟชาริเยอร์ (Charrier Coffee)

ต้นกาแฟชาริเยอร์มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Coffea charrieriana เป็นต้นกาแฟไร้สารคาเฟอีนสปีชีส์แรกที่พบในอเมริกากลาง อยู่ในประเทศแคเมอรูน ศูนย์กลางความหลากหลายของพืชในจีนัส Coffea

 

อันดับ 1 แบคทีเรีย Microbacterium hatanonis

 

สุดยอดของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ประจำปี 2009 คือ แบคทีเรียเอ็กซ์ทรีมโมไฟล์ (Extremophile Bacteria) ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microbacterium hatanonis น่าทึ่งทีเดียวนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นค้นพบมันในสเปรย์ฉีดผม

 

คอลัมน์ โลกสามมิติ
โดย บัณฑิต คงอินทร์ bandish.k@psu.ac.th


Credit: คอลัมน์ โลกสามมิติ
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...