กิ้งกือ มังกร สีชมพู ติด 1 ใน 10 สุดยอดโลก
ภาพ A และ B เป็นกิ้งกือมังกรสีชมพูเพศผู้ที่มีลักษณะแตกต่างกัน
ภาพ C กิ้งกือมังกรสีชมพูขณะกำลังผสมพันธุ์ โดยเพศผู้อยู่ข้างบน
จุฬาฯ พบ กิ้งกือมังกรชมพู ติด10สุดยอดการค้นพบโลก
ทีมวิจัยกิ้งกือ-ไส้เดือนจากจุฬาฯ เฮลั่นหลังกิ้งกือมังกรสีชมพูที่ค้นพบติดอันดับ 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ครองใจสีชมพูช็อคกิ้งพิงก์และปุ่มหนามที่เหมือนมังกร ระบุพวกฉวยโอกาสประกาศขายบนอินเทอร์เน็ตในราคา 30 ยูโร
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หน่วยปฏิบัติการซิสเทมาติคส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมวิจัยในโครงการกิ้งกือ-ไส้เดือนได้ค้นพบ “กิ้งกือมังกรสีชมพู” ชนิดใหม่ของโลก และตั้งชื่อว่า Shocking Pink Millipede หรือมังกรชมพู ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Desmoxytes purpurosea
ทีมวิจัยพบกิ้งกือสายพันธุ์ใหม่นี้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2550 ในบริเวณป่าเขาหินปูน ช่วงภาคกลางตอนล่างติดภาคเหนือตอนบน กิ้งกือมังกรสีชมพูนี้ มีสีชมพูเข้มสวยเป็นเงา ต่างจากกิ้งกือชนิดอื่นที่มีสีสันลวดลายตามธรรมชาติ ทั้งยังมีลวดลายและปุ่มหนามคล้ายมังกร นอกจากนี้ กิ้งกือชนิดนี้ยังมีพฤติกรรมที่ชอบออกหากินตอนกลางวัน ทำให้ต้องปรับสีสันให้สดใส
กิ้งกือชนิดนี้สามารถขับสารพิษไซยาไนด์ออกมา เพื่อป้องกันตัวจากศัตรู แต่เมื่อตรวจสอบดูแล้วจึงพบเป็นสารพิษในปริมาณน้อยเกินกว่าที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกการค้นพบสิ่งมีชีวิตในโลกของสถาบันไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration: IISE) ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยรัฐอริโซน่า สหรัฐ ประกาศเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2251 ให้กิ้งกือมังกรสีชมพูเป็นอันดับ 3 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกประจำปี 2550 ส่วนอันดับ 1 -10 ได้แก่ ปลากระเบนไฟฟ้าจากแอฟฟริกา ฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ดอายุ 75 ล้านปีจากสหรัฐอเมริกา กิ้งกือมังกรชมพูจากประเทศไทย
กบสายพันธุ์ใหม่จากศรีลังกา งูไทปันจากออสเตรเลีย ค้างคาวผลไม้จากฟิลิปปินส์ เห็ดชนิดใหม่จากสหรัฐอเมริกา แมงกะพรุนถังจากออสเตรเลีย ด้วงแรดจากเปรู และ อันดับ 10 คือต้นไม้ที่มีลักษณะเหมือนยางรถยนตร์จากออสเตรเลีย
“การประกาศความสำเร็จของกิ้งกือพันธุ์ใหม่นี้ เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยค้นพบและติดอันดับ 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ซึ่ง เป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศและนักวิจัยของไทย เพราะเป็นการสร้างชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของนักวิจัยไทย” หัวหน้าทีมวิจัยจากจุฬาฯ กล่าว
อย่างไรก็ดี ศ.ดร.สมศักดิ์มองว่า การประกาศเช่นนี้ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะนอกจากจะได้ชื่อเสียงให้กับประเทศ กระตุ้นความสนใจการวิจัยความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตแล้ว ก็อาจจะเป็นช่องทางให้คนมาจับกิ้งกือเหล่านี้ไปขายให้กับผู้ที่ชอบของแปลกได้เช่นกัน
“ของแปลก มีจำนวนจำกัด สัตว์ต่าง ๆ ในธรรมชาติก็เช่นกัน สายพันธุ์ต่าง ๆ ก็ต้องจัดสรรจำนวนเพื่อให้ระบบนิเวศสมดุล แต่บางคนกลับไม่คิดเช่นนั้น มีคนที่ต้องการหาประโยชน์จากสัตว์แปลกใหม่นี้ ทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่ลงทุนบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจับไป ล่าสุด พบมีประกาศขายกิ้งกือมังกรชมพูนี้ในอินเทอร์เน็ตในราคา 30 ยูโรหรือราว 1,800 บาท” หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว
สำหรับโครงการวิจัยกิ้งกือ-ไส้เดือน ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ สำรวจชนิดและสายพันธุ์ของกิ้งกือในประเทศไทยมากกว่า 500 สายพันธุ์และพบกิ้งกือสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งหลังจากกิ้งกือมังกรชมพูนี้ก็มีอีก 7-8 สายพันธุ์ที่รอการประกาศ ส่วนการทำงานปีที่ 3 ของโครงการกิ้งกือ-ไส้เดือน จะเข้าสู่การประยุกต์ใช้ โดยทีมวิจัยจะร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการทำปุ๋ยอินทรีย์ นำกิ้งกือไปพัฒนาเป็นปุ๋ยอินทรีย์แบบใหม่ โดยให้กิ้งกือทำงานเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ช่วยย่อยอินทรีย์สารในดิน
“ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการวางแผนงานวิจัย รวบรวมนักวิจัยในโครงการและผู้เชี่ยวชาญด้านการทำปุ๋ยอินทรีย์ คาดว่าจะเริ่มทำวิจัยการประยุกต์กิ้งกือทำปุ๋ยแบบใหม่นี้ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนปีนี้ ด้วยงบประมาณในหลักล้านบาท และคาดว่าจะเห็นปุ๋ยรูปแบบใหม่ในช่วงปี 2552 “นักวิจัยกิ้งกือกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : คมชัดลึก