เมื่อความสัมพันธ์สุกงอมได้ที่ หญิงชายมักจัดแจงให้การครองคู่เป็นวิธีลงเอยสำหรับความรัก ทั้ง ๆ ที่ทั้งคู่อาจกำลังเข้าใจความรักไปกันคนละทิศละทาง การลงเอยเช่นนี้ จึงสามารถกลายเป็นจุดสิ้นสุดความสุขในชีวิตของคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคน หรืออาจบานปลายสู่สงครามใหญ่โตของคนสองตระกูลด้วยซ้ำไป
ความรักของเธอ ความใคร่ของเขา
หญิงและชายมีมุมมอง ความเข้าใจ การให้ และความคาดหวังจากความรักต่างกันมามากมาย นับตั้งแต่ก่อนเป็นวัยรุ่นแล้ว สำหรับผู้ชายส่วนใหญ่ ความใคร่เป็นองค์ประกอบหลักในสัมพันธภาพชาย-หญิงเสมอ ต่างกันที่มากหรือน้อยเท่านั้นเอง เขาสามารถแสดงความใคร่ได้เรื่อย ๆ และยิ่งถ้าเขารักใคร ความใคร่ก็จะต้องติดตามมาด้วยเสมอ ขณะที่ผู้หญิงกลับเทอดทูนความรัก ในฐานะของความผูกพันอบอุ่นโรแมนติก โดยยังมิได้คิดก้าวหน้าไปถึงเพศสัมพันธ์
จิตแพทย์หลายคน จึงคุ้นชินต่อการปลอบโยนสาวน้อยวัยรุ่นที่ตระหนกต่อ "ความหื่น" ของแฟนหนุ่มรุ่นเดียวกัน ที่ไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศได้ ทั้งที่กำลังพูดคุยด้วยเรื่องธรรมดากัน หรือบางรายก็หนักถึงขั้นเสียใจ ผิดหวังมากมายเมื่อต้องจบลงด้วยเรื่อง ”รักจริงหวังยิงสเปิร์ม” ของผู้ชาย
ฝ่ายผู้ชายบางคนก็ (ทำเป็น) งงงวยหรือเบื่อหน่าย ที่ผู้หญิงให้ความสำคัญกับความรักนักหนา เรียกร้องวุ่นวายเมื่อผ่านพ้นสัมพันธภาพทางเพศไปแล้ว อ้าว! ก็ไหนบอกว่ารักไง ผู้ชายหลายคนไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ผู้หญิงส่วนมากยังคงเห็นความรักเป็นสิ่งยิ่งใหญ่สวยงาม ความรักเป็นความอบอุ่นลึกซึ้ง เธอภูมิใจ เธอสดใส และเธอมีความหวังบรรเจิดเสมอ ในเวลาที่เธอมีความรัก และถ้าเลือกได้...เธอก็ยินดีจะตอบสนองความใคร่ต่อผู้ชายที่เธอรัก และเห็นคุณค่าในตัวเธอเท่านั้น
ความรักของเขา ความใคร่ของเธอ
เมื่อชายหญิงก้าวสู่ความสัมพันธ์ ที่เปี่ยมพร้อมลงตัวด้วยความรักและความใคร่ อย่างถูกต้องตามครรลองคลองธรรมเช่นการแต่งงานแล้ว ความแตกต่างของคนทั้งสองยังอาจดำเนินต่อไป
ความรักสำหรับชีวิตครอบครัวของมนุษย์เพศชาย มักมุ่งเน้นไปที่ความรับผิดชอบ การทุ่มเทกับหน้าที่การงาน และการหารายได้ ภารกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ชายบอกตัวเองและใคร ๆ ว่าเขา "รัก" ครอบครัว และทำหน้าที่เพื่อความรักได้ครบถ้วน อีกทั้งความใคร่ ซึ่งเคยเป็นสื่อการบอกรักจากฝ่ายชายเริ่มจืดจางตามเวลา เพราะความเสื่อมของเพศรส เป็นวิถีธรรมชาติของความสุขฉาบฉวยทางกายอยู่แล้ว แต่ฝ่ายหญิงที่เคยรับรู้และใช้มุมของตนเอง มองความใคร่เป็นการตอบแทนความรัก และเป็นคุณค่าแห่งตนเช่นไร ก็อาจยังยึดติดกับวิธีคิดเดิมเช่นนั้น
เมื่อสามีลดความใคร่ ห่างเหินการมีเพศสัมพันธ์ไป ก็คิดไกลไปถึงไหน ๆ ได้ไม่รู้จบ เช่น เขาไม่รักแล้ว เขาไม่เห็นคุณค่าแล้ว ฯลฯ ปมเล็ก ๆ จากความคิดความเชื่อที่แตกต่าง เริ่มเปิดหนทางร้าวฉานในชีวิตคู่ หากไม่ไหวตัวทัน แล้วเริ่มปรับคลื่นความเข้าใจกัน ปัญหาใหม่ ๆ จะตามถาโถมเข้ามา ความเครียด ความวุ่นวายของเธอ ความห่างเหินของเขา คือสิ่งบั่นทอนความรักใคร่ของคนทั้งคู่
เมื่อภรรยารู้สึกว่าตนเองด้อยค่า ไม่สำคัญ แรงอดทนต่อความกดดันต่าง ๆ ในชีวิตเพื่อสามีที่รักก็ลดลง..ธรรมชาติมักผลักดันให้ผู้หญิงแสดงออกถึงความเครียดเช่นนั้น ด้วยอาการฉุนเฉียว หงุดหงิด ระแวงหรือน้อยใจ สลับกับการจุกจิก วุ่นวาย ต่อว่า และตำหนิ
ส่วนสามีที่ตึงเครียดกับภาระความรัก ที่ต้องสร้างรายได้หรือฐานะทางสังคม มักมีธรรมชาติการแสดงออกเมื่อกดดันในรูปแบบของการครุ่นคิด แยกตัว ห่างเหิน เงียบเฉย และหาทาง หรือเผลอใช้ทางออกด้วยความใคร่ จนภรรยาจับได้ แล้วแปลความใคร่นั้นเป็นความรักต่อหญิงอื่น เป็นความไม่ซื่อสัตย์ต่อครอบครัว
ปัญหาใหญ่ของชีวิตคู่เกิดขึ้นแล้ว
ปัญหาใหญ่ที่ทั้งสองเพศยังอาจยืนหยัดต่อการมองแตกต่างเช่นเคย ความแตกต่างที่ทั้งคู่อาจมีความเหมือนกันเพียงเรื่องเดียว นั่นคือ ความคิดที่ว่าตัวเองถูกมากกว่า
สงครามในครอบครัว เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของตนเองเริ่มเดินหน้า ขยายความแตกต่างและทำลายทั้งความรักความใคร่ของชาย-หญิง แล้วแทนที่ด้วยความแค้นและความชิงชัง หรือแท้จริงแล้ว ความรักความใคร่ไม่ใช่แก่นยั่งยืนของชีวิตคู่
แม่ม่ายหลายคนยอมรับว่า ในช่วงเวลาแรกเริ่มความขัดแย้ง เธอวู่วามใช้อารมณ์เกินไป จนไม่สามารถประคองชีวิตครอบครัวได้ หากย้อนเวลากลับไปได้ และอดีตสามีเปิดโอกาสให้เธอรับรู้ความเครียดในงาน การให้เกียรติและ “เข้าใจ” เธอ เธอก็พร้อมจะเคียงคู่เขาในความลำบากทุกชนิด
ฝ่ายพ่อม่ายหลายคนก็ยังรู้สึกผิดต่อการหย่าร้าง และนึกไม่ถึงว่าธรรมชาติแห่งความใคร่ ที่ไม่เจตนาให้เกิดความผูกมัดเล็กน้อย จะยากต่อการยอมรับของอดีตภรรยา และเป็นเหตุให้ครอบครัวล่มสลายได้ง่ายดายขนาดนี้ ถ้าเธอเพียงแค่ "เข้าใจ" และให้โอกาสเขาในการจัดการปัญหาความใคร่ของเขาตามลำพังบ้าง ทุกอย่างน่าจะเป็นไปด้วยดี เพราะนาทีหลังการหย่าร้าง เขาก็ยังมั่นใจว่าแม่ของลูกเป็นคนสำคัญมากสำหรับเขา
แล้วชีวิตที่ครองคู่จนแก่เฒ่า ผ่านวันคืนเช่นนั้นมาได้อย่างไร
คู่สามีภรรยาเกือบทุกครอบครัวยอมรับว่า ตนเคยเผชิญกับปัญหาระหองระแหงในชีวิตคู่มาแล้ว แต่ด้วยความมีสติ และการพยายามเปิดใจเรียนรู้จากกันและกัน วิกฤติของความแตกต่าง ได้มีความรักใคร่ในช่วงเริ่มต้นเป็นเครื่องมือสร้างโอกาสให้ "เข้าใจ" ธรรมชาติ และความคาดหวังของอีกฝ่ายเพิ่มขึ้น จนสามารถละวางทิฐิ มีการปรับตัว ยอมรับและให้อภัยแก่กันได้ มากบ้าง น้อยบ้าง เพราะในหลายคู่ความขัดแย้งก็ยังคงเกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งสำคัญคือ ความผูกพันยิ่งใหญ่ในใจของคนทั้งคู่ไ ด้ถูกถักทอให้ลึกซึ้งขึ้นและมั่นคงขึ้นเสมอ
แม้ "ความรัก" และ "ความใคร่" จะจางหายไปบ้าง...ตามกาลเวลา