กรุงเทพโพล เผยผลสำรวจ คนรุ่นใหม่ เห็นด้วยกับการอยู่ก่อนแต่ง ชี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ขณะที่มองว่า การหย่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "มุมมองเรื่องความรักและการเลือกคู่ของคนโสดยุคปัจจุบัน" เนื่องในโอกาสวันแห่งความรักปีนี้ โดยทำการสำรวจความคิดเห็นของคนโสดอายุ 20-35 ปี ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,226 คน ระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม 2554
ผลการสำรวจ พบว่า คนโสดมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 59.5 ระบุว่า ขณะนี้มีคู่รักหรือคนที่คบหาเป็นแฟนอยู่แล้ว โดยในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 29.1 หรือประมาณครึ่งหนึ่ง ระบุว่า คนที่คบหาอยู่ในปัจจุบัน คือคนที่คิดจะแต่งงานด้วย ขณะที่ร้อยละ 4.9 ระบุว่า ไม่ใช่ และร้อยละ 25.5 ยังไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ คนโสดส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.9 มีทัศนคติในเชิงเห็นด้วย กับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงาน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 30.2 หรือเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเพศหญิง โดยร้อยละ 44.3 ให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องที่ดีที่จะได้เรียนรู้นิสัยใจคอกันก่อนแต่งงาน ขณะที่ ร้อยละ 22.6 ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสมัยนี้ใคร ๆ ก็ทำกัน มีเพียงร้อยละ 33.1 ที่ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาตามมา เช่น ตั้งครรภ์ ทำแท้ง และขัดต่อวัฒนธรรมไทย
เมื่อถามถึงคุณสมบัติสำคัญที่ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจเลือกคนที่จะแต่งงานด้วย กลุ่มตัวอย่างคนโสดทั้งที่มีและไม่มีคู่รัก ระบุตรงกันว่า ความซื่อสัตย์และรักเดียวใจเดียว คือคุณสมบัติสำคัญที่สุด รองลงมาคือ ความกระตือรือร้น ขยันทำมาหากิน และความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตามลำดับ
ส่วนสถานที่ฮันนีมูนที่อยากไป ส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.5 เลือกฮันนีมูนในประเทศไทย โดย ร้อยละ 10.8 เลือกแหลมพรหมเทพ และแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต รองลงมา ร้อยละ 7.9 เลือก ดอยอินทนนท์ และดอยสุเทพ ในจังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 7.0 หมู่เกาะพีพี และหมู่เกาะสิมิลันในจังหวัดกระบี่ ขณะที่ ร้อยละ 42.5 เลือกไปฮันนีมูนในต่างประเทศ โดยระบุว่า ประเทศที่อยากไปมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ ตามลำดับ
สำหรับประเด็นเรื่องการหย่าร้าง หรือการแยกทางกันหลังแต่งงาน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 42.5 ระบุว่า ถ้าหย่าแล้วมีความสุขก็ควรหย่า ร้อยละ 35.5 ตั้งใจจะอดทนให้ถึงที่สุด เพื่อให้การหย่าเป็นทางเลือกสุดท้าย ร้อยละ 17.2 บอกเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และร้อยละ 4.8 รับไม่ได้เลย และจะไม่มีวันยอมให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นกับตัวเอง
อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ที่ตั้งใจจะอดทนเพื่อให้การหย่าเป็นทางเลือกสุดท้าย มีจำนวนน้อยกว่าผู้ที่เลือกแนวทางที่ว่า หย่าแล้วมีความสุขก็ควรหย่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของสถาบันครอบครัวไทยในอนาคต
แล้วคุณหล่ะ ว่าไง ?