กลัวทำไม? “รุ้งกลับหัว” แท้จริงคือลางดีจาก “อาทิตย์ทรงกลด” หาดูยาก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
8 กุมภาพันธ์ 2554 19:28 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ภาพอาทิตย์ทรงกลดต้นเหตุการวิพากษ์วิจารณ์ (kapook.com/รายการเรื่องเล่าเช้านี้)
(บน ซ้าย) ภาพอาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล (ขวาบน) และหลักการเกิดอาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัลจากการหักเหของแสง ผ่านผลึก 6 เหลี่ยม และภาพล่างแสดงการเกิดอาทิตย์ทรงกลดในรูปแบบต่างๆ ผ่านการหักเหของแสงผ่านผลึกรูปทรงต่างๆ (atoptics.co.uk)
อาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล ที่หาดูได้ยาก (Cdlune1890)
เป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้ง เมื่อ “ฟรีทีวี” เผยภาพ “รุ้งกินน้ำกลับหัว” พร้อมกับตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์และคำทำนายจาก “ท่านโหร” ว่าเป็นลางร้ายของบ้านเมือง ตลอดจนสัญญาณเตือนถึงภัยพิบัติ จนนักวิชาการต้องออกโรงชี้แจงว่าแท้จริงแล้วคือภาพของ “อาทิตย์ทรงกลด” รูปแบบที่หาดูได้ยากต่างหาก
ภาพ “รุ้งกินน้ำกลับหัว” ต้นเหตุของกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงลางร้ายเป็นภาพท้องฟ้าที่บันทึกโดย ดร.แจ็กเกอลีน มิตตอง นักดาราศาสตร์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) จากบริเวณบ้านพักของเขาในอังกฤษ ซึ่ง ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.และผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ อธิบายผ่านศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทยว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่รุ้งกินน้ำแต่ อย่างใด
ทั้งนี้ เนื่องจากปรากฏการณ์ในภาพนั้นไม่ได้เกิดจากการตกกระทบของแสงอาทิตย์ที่ผิว ของหยดน้ำและหักเหออกมาเป็นแสงสีรุ้งเหมือนรุ้งกินน้ำทั่วไป หากแต่เกิดจากการที่แสงอาทิตย์ไปตกกระทบผลึกน้ำแข็งหกเหลี่ยมในเมฆ แล้วหักเหผ่านผลึกออกมาจนเกิดเป็นแถบสีรุ้งที่เรียกว่า “ อาทิตย์ทรงกลด” (solar halo) และภาพสีรุ้งที่ปรากฏในภาพนั้นคือ อาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล (CircumZenithal Arc : CZA)
อาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัลนี้ เกิดจากแสงอาทิตย์พุ่งเข้าผิวด้านบนของผลึกน้ำแข็งรูปหกเหลี่ยมแบนๆ ที่อยู่ภายในเมฆระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เมฆซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) แล้วหักเหภายในผลึกรูปแผ่นทะลุออกไปทางผิวด้านข้าง ซึ่งแสงที่เดินทางผ่านผลึกจะปรากฏเป็นเส้นโค้งสีรุ้งอยู่เหนือดวงอาทิตย์ โดยมีส่วนโค้งหงายขึ้น และมีสีแดงอยู่ด้านใกล้ดวงอาทิตย์
“ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงฤดูฝนเมื่อปี 2553 โดยมีสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ บันทึกภาพไว้ได้” ดร.บัญชากล่าว
เส้นโค้งนี้มีลักษณะเสมือนหนึ่งเป็นส่วนโค้งของวงกลมที่อยู่รอบจุด ยอดฟ้า หรือจุดจอมฟ้า (zenith) ซึ่งเป็นจุดเหนือศีรษะ จึงเรียกว่า เส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล (circumzenithal arc) หรือ เส้นโค้ง CZA โดยคำว่า circum นั้นมีรากศัพท์เดียวกับ circle ที่แปลว่าวงกลม และบางคนยังมองว่าเส้นโค้ง CZA เปรียบเสมือน “รอยยิ้มขนาดยักษ์บนท้องฟ้า”
เส้นโค้ง CZA จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำ หรือมีมุมเงยสูงจากขอบฟ้าไม่เกิน 32.3 องศา เท่านั้น เพราะที่ค่านี้ เส้นโค้ง CZA จะอยู่ใกล้จุดจอมฟ้าและจางลงจนมองไม่เห็น และโดยเราจะเห็นเส้นโค้ง CZA ได้ชัดเจนเมื่อดวงอาทิตย์มีมุมเงยในช่วง 15-25 องศา
ดร.บัญชา กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าอาทิตย์ทรงกลดคือ วงกลมสีรุ้งล้อมรอบดวงอาทิตย์ หรือ การทรงกลดแบบวงกลม 22 องศา แต่ความจริงแล้วการทรงกลดของดวงอาทิตย์มีลักษณะที่แตกต่างกันมากกว่า 30 รูปแบบ เนื่องจากผลึกน้ำแข็งรูป 6 เหลี่ยม ที่ล่องลอยอยู่ในเมฆเมฆซีร์โรสเตรตัสนั้นมีถึง 3 แบบ ได้แก่ 1. ผลึกรูปแผ่น 2. ผลึกรูปแท่ง และ 3. ผลึกรูปพีระมิด อีกทั้งแสงอาทิตย์สามารถตกกระทบผ่านผลึกน้ำแข็งได้หลายทิศทาง จึงทำให้มีอาทิตย์ทรงกลดหลายรูปแบบ
“ภาพ “รอยยิ้มสีรุ้ง” หรือ การอาทิตย์ทรงกลดแบบเส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัลนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ไม่ง่ายนัก มองในแง่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จึงถือว่าเป็น “เรื่องดี” และเชื่อว่าเราจะยังมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดรูปแบบอื่นๆ จำนวนมาก"
"อีกทั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ประเทศไทยก็ได้เกิดการทรงกลดแบบซันด็อก (Sun Dog) ที่อุบลราชธานีและศรีษะเกษ ซึ่งสร้างความประทับใจและทำให้คนจำนวนไม่น้อยสนใจท้องฟ้าและธรรมชาติรอบตัว เรา” ดร.บัญชากล่าว
นาวาเอกฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ต่อปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดว่า เป็นปรากฏการณ์สามัญที่เกิดขึ้นบ่อย เพียงแต่เกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาสั้นๆ และเกิดขึ้นในบางมุมเท่านั้น และในกรุงเทพฯ ก็เกิดขึ้นบ่อย แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยแหงนหน้ามองฟ้าจึงไม่ค่อยเห็น โดยส่วนตัวเขาจึงต้องพกกล้องตลอด เพราะหลายครั้งเห็นปรากฏการณ์แล้วบันทึกภาพไม่ทัน
ด้าน กรกมล ศรีบุญเรือง เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ได้เห็นปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดบ่อยมากๆ เนื่องจากชอบมองฟ้ายามว่างๆ ส่วน "รุ้งหลับหัว" ที่เป็นข่าวนั้น เขาบอกว่าแท้จริงแล้วคือรูปแบบหนึ่งของอาทิตย์ทรงกลด ซึ่งเขาเองก็ยังไม่เคยเห็น เนื่องจากเห็นได้ยากในเมืองไทย
ส่วนปรากฏการณ์ที่เขาได้เห็นส่วนมากเป็นอาทิตย์ทรงกลดรูปวงกลมและ รูปวงรีรอบดวงอาทิตย์ รวมถึงปรากฏการณ์ซันด็อกซึ่งเป็นอาทิตย์ทรงกลดชนิดหนึ่งที่เห็นแสงคล้ายดวง อาทิตย์หลายดวง และเขาก็ได้เห็นปรากฏการณ์นี้บ่อยๆ โดยครั้งหนึ่งระหว่างโดยสารเครื่องบินเขาได้เห็นซันด็อกที่มีแสงคล้ายดวง อาทิตย์ถึง 4 ดวง แต่ไม่ได้พกกล้องไปด้วยจึงไม่ได้บันทึกภาพไว้ สำหรับซันด็อกนี้มักเกิดในช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งจะเห็นแสงสว่างมากคล้ายดวงอาทิตย์หลายดวง แต่ก็เป็นปรากฎการณ์อาทิตย์ทรงกลดชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ควรมองดวงอาทิตย์ตรงๆ อาจใช้มือบังไว้เพื่อป้องกันอันตรายต่อดวงตา
"ความจริงแล้วดวงอาทิตย์ทรงกลดเกิดได้เกือบทุกที่บนโลกเพราะมันเป็น ผลมาจากแสงของดวงอาทิตย์มาตกกระทบผลึกน้ำแข็งในบรรยายกาศของโลกเรา เท่าที่เคยสังเกตส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะสังเกตเห็นอาทิตย์ทรง เกิดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และเกิดได้ทุกช่วงเวลา ทั้งเช้า สาย บ่ายเย็น หากในบรรยากาศมีผลึกน้ำแข็งอยู่ และอาทิตย์ทรงกลดเป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ไม่ยาก การสังเกตว่าอันไหนคือดวงอาทิตย์ทรงกลด คือ เส้นรุ้งที่เกิด บริเวณรอบดวงอาทิตย์ และนอกจากดวงอาทิตย์ทรงกลดแล้วยังมีจันทร์ทรงกลดด้วย ซึ่งใช้หลักการเดียวกัน" กรกมลอธิบาย
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทรงกลดแบบต่างๆ ของดวงอาทิตย์ สามารถศึกษาจากเว็บของ ชมรมคนรักมวลเมฆ (http://cloudloverclub.com/pages/halo/) หรือสอบถาม ชมรมคนรักมวลเมฆ และสมัครเป็นสมาชิกของชมรมฯ ผ่านทาง Facebook ได้
Credit:
ผุ้จัดการออนไลน์