ไขความลับ ตรุษจีน ประเพณี ความเชื่อ โชคลาง...?
ทุกๆ วันตรุษจีน นอกจากจะเป็นวันสำคัญของคนจีนแล้ว ยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญสำหรับคนไทยเชื้อสายจีน ไทยรัฐออนไลน์ ไขความลับตั้งแต่ ประเพณี ความเชื่อ และเรื่องโชคลาง...?
เทศกาลกาลตรุษจีน เป็นช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของชาวจีน (วันที่ 29 หรือ 30 ค่ำ เดือน 12 ทางจันทรคติของจีน) โดยปกติแล้วจะมีการจัดงานเทศกาลในช่วงเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวจีน ที่จะได้ฤกษ์ปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเรือน เตรียมเสื้อผ้าใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างใหม่ประดับประดาไปด้วยสีแดง
และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้ “อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข” รวมถึงตระเตรียมงานเฉลิมฉลองเทศกาลกันอย่างยิ่งใหญ่
สำหรับในประเทศไทย กิจกรรมในเทศกาลตรุษจีน จะเริ่มตั้งแต่การตื่นเช้า อาบน้ำให้สะอาด แต่งเสื้อผ้าชุดสดใส แล้วไหว้พระ โดยจัดของเซ่นไหว้ตามประเพณี
ความเชื่อตรุษจีน กับรูปแบบการไหว้เจ้า
สำหรับความเชื่อในวันตรุษจีนนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การไหว้เจ้า” ซึ่งเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมาตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษ เพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว
การจัดของไหว้เจ้านั้นทุกๆ ปีจะนิยมจัดกันอยู่ 2 แบบคือ
ถ้าจัดใหญ่ นิยมเป็นตัวเลข 5 คือ มีของคาว 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวแซ” ประกอบด้วย หมู ไก่ ตับ ปลา และกุ้งมังกร แต่เนื่องจากกุ้งมังกรนั้นแพง และหาไม่ง่าย จึงนิยมไหว้เป็ดหรือปลาหมึกแห้งแทน ของหวาน 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” อาจเป็นซาลาเปาไส้หวาน ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย และขนมจันอับ ผลไม้ 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวก้วย” แต่ถ้าจัดเล็ก ก็เป็นชุดละ 3 อย่าง มีของคาว 3 อย่างเรียกว่า “ซาแซ” ของหวาน 3 อย่าง เรียกว่า “ซาเปี้ย” ผลไม้ 3 อย่าง เรียกว่า “ซาก้วย” หรือจะมีแค่อย่างเดียวก็ได้
ความหมายของวันจ่าย วันไหว้ และวันปีใหม่
สำหรับธรรมเนียมในวันตรุษจีนนั้น ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วันสำคัญ คือวันจ่าย วันไหว้ และวันปีใหม่
วันจ่าย หรือตื่อเส็ก คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้ายหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ หรือตี่จู๋เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน
วันไหว้ คือ วันสิ้นปี จะมีการไหว้ 3 ครั้ง คือ
1. ไหว้ไป๊เล่าเอี๊ย คือการไหว้เทพเจ้าต่างๆ จะไหว้ในตอนเช้ามืด มีอาหารคาวหวาน ขนมที่ไหว้ก็ขนมถ้วยฟู กุยช่าย ส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมีซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีนคือขนมเทียน ขนมเข่ง ซึ่งต้องแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นศิริมงคล นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงินกระดาษทอง
2.ไหว้ไป๊เป้บ๊อ คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้วจะไหว้ในตอนสายไม่เกินเที่ยง คล้ายของไหว้เจ้าที่พร้อมด้วยกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ ตามธรรมเนียมต้องมีน้ำแกงหรือขนมน้ำใสๆ วางข้างชามข้าวสวย และน้ำชาจัดชุดตามจำนวนของบรรพบุรุษ ขาดไม่ได้ก็คือขนมเทียน ขนมเข่ง ผลไม้ รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว
3. ไหว้ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ คือการไหว้วิญญาณเร่ร่อน หรือวิญญาณไม่มีญาติ จะไหว้ในตอนบ่าย วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ เรียกว่า ไป๊ฮ๊อเฮียตี๋ แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี เป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน เรียกผีไม่มีญาติว่า พี่น้องที่ดีของเรา โดยการไหว้จะไหว้นอกบ้าน ของไหว้จะมีทั้งของคาวหวานและผลไม้ตามต้องการ และที่พิเศษคือ มีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง จัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้ พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเป็นสิริมงคล
วันขึ้นปีใหม่ หรือวันเที่ยว หรือวันถือ คือวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี (ชิวอิก) วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน คือ ไป๊เจีย คือ การไปไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "กา" ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำโชคดีไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น
และที่สำคัญสัญลักษณ์อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ของเทศกาลนี้ คือ อั่งเปา ซองแดงใส่เงินที่ผู้ใหญ่จะมอบให้กับผู้น้อย และมีการแลกเปลี่ยนกันเอง หรือจะใช้คำว่า แต๊ะเอีย (ผูกเอว) ที่มาคือในสมัยก่อน เหรียญจะมีรูตรงกลาง ผู้ใหญ่จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ นำมามอบให้เด็กๆ เด็กๆ ก็จะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว และในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะกล่าวคำ ห่ออ่วย (คำอวยพรภาษาจีน) ให้กันและกัน รวมถึงมีการติดไว้ตามสถานที่ต่างๆ ด้วย
ซินแส ไขความเชื่อตรุษจีน
สอบถามไปยังอาจารย์ภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล ซินแสชื่อดังของเมืองไทยถึงความเชื่อเกี่ยวกับของเซ่นไหว้ในวันตรุษจีนว่า ส่วนใหญ่แล้วชาวจีนจะนิยมไหว้ด้วย ของคาว ผลไม้ และของหวาน ที่เชื่อกันว่า ของคาว เช่น เป็ด หมายถึงการฝ่าฝันอุปสรรค อดทน, ไก่ (ยศฐาบรรดาศักดิ์), หมู (ความอุดมสมบูรณ์), ตับ (ขุนนาง), ปลา (เหลือกินเหลือใช้)
ส่วนผลไม้ก็จะเป็นผลไม้มงคล ส่วนใหญ่ที่นิยมไหว้ก็คือ ส้มสีทอง (ความเป็นมงคล), กล้วย (ให้ลูกหลานเป็นเถาเป็นเครือ), อู๋ท้อ (ให้ลูกหลานรุ่งเรือง อายุยืน), สับปะรด (ความเป็นมงคลมาหาเรา), สาลี่ (ความมั่งมีศรีสุข) ส่วนขนมหวานก็จะนิยม ทองหยิบ,ทองหยอด,ฝอยทอง(หมายถึงทอง), ขนมชั้น (ความเจริญก้าวหน้า ความสูงขึ้น), ขนมถ้วยฟู (ความเฟื่องฟู) โดยส่วนใหญ่แล้วมักนิยมนำของที่มีชื่อเป็นมงคล ซึ่งของไหว้ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องตายตัว สามารถเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ หรือถ้าไม่ใช้ของไหว้ 9 อย่าง ก็สามารถใช้หมู หรือส้มไหว้อย่างเดียวได้เพื่อความเป็นสิริมงคล
“หลักๆ ใช้ของไหว้เหล่านี้ทั้งของคาวและของหวาน ก็ไม่ได้เจาะจงว่าจะเป๊ะๆ ว่าต้องเป็นแบบนั้น ซึ่งก็สามารถใช้ของไหว้แบบอื่นได้ด้วย ดังนั้นคนเบี้ยน้อยหอยน้อยไม่ต้องกังวัล ไม่มีอะไรตายตัว การไหว้ตรุษจีนแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละบุคคล” ซินแสชื่อดังกล่าว
ปีชงต้องไหว้เจ้าแก้เคล็ด…
ซินแสชื่อดังกำชับสิ่งสำคัญสำหรับตรุษจีนปีนี้ด้วยว่า คนที่เกิดปีชงกับปีเถาะต้องไหว้ห้ามขาดเลยก็คือ “ปีระกา”เพื่อเป็นการแก้เคล็ดไม่ให้เกิดความโชคร้ายตลอดปี สำหรับความเชื่อเรื่องโชคลางในวันตรุษจีน ซินแสภาณุวัฒนบอกว่า ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล ความหมายเป็นนัย และคำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่
“หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่ คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน การแต่งกายและความสะอาด ในวันตรุษจีนเราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี”
นอกจากนี้ บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษ ถือเป็นโชคร้ายดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษเพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ทุกคนก็ยังคงยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็น ครอบครัวและเอกลักษณ์ ของตน
ทั้งนี้ วันตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อ เป็นความเป็นสิริมงคล