ทำไมต้องทะเลาะกันทุกวัน?
เรื่องผัวๆ เมียๆ ยอดฮิต คงหนีไม่พ้นเรื่องทะเลาะกัน เช้า-เย็น จนถึงขั้นลงไม้ลงมือ คนโบราณเลยเปรียบเทียบคู่สามี-ภรรยา ดัง “ลิ้นกับฟัน”
ความใกล้ชิดผูกพันมีทั้งข้อดี คือ ทำให้เข้าใจอุปนิสัยของแต่ละฝ่าย ช่วยเหลือเกื้อกูลอุปถัมภ์ค้ำจุน แต่ก็มีข้อเสีย คือ ทำให้ละเลยการถนอมน้ำใจของอีกฝ่ายหนึ่ง
เมื่อมีเหตุให้ต้องทะเลาะกัน ลองวิธีนี้อาจได้ผล
ต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ทะเลาะด้วย หรือพูดง่ายๆ มีสติตั้งมั่นตั้งค่ายให้แข็งแรง อย่าให้อารมณ์โกรธปะทุออกไปได้ ต้องนิ่ง อดทนต่อคำเสียดสีต่อว่า
ใช้ปัญญาวิเคราะห์แจกแจงว่าอีกฝ่ายโกรธด้วยเหตุผลกลใด เพราะบ่อยครั้งที่โกรธก็มาจากเหตุ “เรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง” คือ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือ “ตีความผิด” หรือ “เข้าใจผิด” การค้นหาสาเหตุจะทำให้เราเอาใจเขามาใส่ใจเรา และพยายามทำความเข้าใจกับความไม่พอใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า ควรเอามาเป็น “เรื่อง” หรือไม่
ประเมินสถานการณ์ว่า จะพูดจาหารือกันได้หรือไม่ ถ้าได้ก็เอ่ยขอเลยว่า ขอเวลาสัก 2-3 นาที ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อทำความเข้าใจ และขอให้ฟังให้จบก่อนที่อีกฝ่ายจะพูดอะไร ที่สำคัญหลีกเลี่ยงการต่อว่าให้ร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง
เปลี่ยนวิธีการหารือใหม่ หากพิจารณาสถานการณ์แล้วพบว่า อารมณ์ไม่เอื้ออำนวย พูดอย่างไรก็ไม่ได้ผล อาจกลายเป็นการ “ต่อความยาว สาวความยึด” ให้เปลี่ยนเป็น “เขียนให้อ่าน” แทน “คำพูดจา” เพราะการเขียนจะทำให้อธิบายได้ครบถ้วน ไม่หลุดประเด็น และการอ่านจะทำให้ผู้อ่านมีสติไตร่ตรองรอบคอบมากขึ้น
ทอดอารมณ์เพื่อจะได้มีเวลาคิด เมื่ออีกฝ่ายได้อ่านแล้ว ทิ้งช่วงเวลาสักวันครึ่งวันเพื่อให้อีกฝ่ายได้มีเวลาทบทวนขบคิดและอารมณ์โกรธเบาบางลง เมื่อดูท่าทีอ่อนลงแล้วค่อยขอพูดคุยด้วยจิตไมตรี หลีกเลี่ยงการต่อว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เน้นคำ “ขอโทษ” ถ้าหากทำให้เข้าใจผิด ใช้ความอ่อนน้อสอบความแข็ง ใช้เมตตานำทางฝ่าคลื่นมรสุม
ปิดท้ายด้วยการเชิญชวนทำกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ อาทิ ดูหนัง รับประทานอาหารกันนอกบ้าน ชอปปิ้งท่องเที่ยว ไปทำบุญ เป็นต้น เพื่อเปลี่ยนแปลงบรรยากาศและสร้างความใกล้ชิด หรือแม้แต่ “กิจกรรมพิเศษ” ตามประสาคู่ผัวตัวเมียก็ยิ่งดี เพราะถือเป็นการต่อท่อโดยตรงตามคำโบราณ “จิตประสานกายสัมพันธ์”
ที่มา First Magazine