"สปริง" สมาร์ทโฟน สัญชาติไทย
ปริมาณการใช้งานโทรศัพท์มือถือของคนไทยในปี 2552 มีทั้งสิ้น 64.1 ล้านราย จากข้อมูลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เกือบเท่ากับจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศ
โดยจำนวนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ที่ขายในไทยแต่ละปีอยู่ที่ 10 ล้านเครื่อง แบ่งเป็นโทรศัพท์มือถือฟีเจอร์โฟน อาทิ โทรศัพท์มือถือที่รองรับการดูทีวี ดูหนัง ฟังเพลง และใช้งานเพื่อความบันเทิง 85% ที่เหลือ 15% เป็นสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งานแอพพลิเคชั่นอื่น ๆ
“ชวัล บุญประกอบศักดิ์” รองประธานบริษัท สปริง เทเลคอม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายโทรศัพท์มือถือโลคัลแบรนด์น้องใหม่ภายใต้ ชื่อ “สปริง” (Spriiing) กล่าวว่า ความต้องการใช้งานโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคปัจจุบันเปลี่ยนแปลง ไป จากการใช้งานโทรศัพท์มือถือเพื่อโทรฯออก-รับสาย เป็นใช้โทรศัพท์ มือถือเพื่อเข้าสังคมออนไลน์ หรือ โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ดังนั้นนอกจากรูปลักษณ์ของโทรศัพท์มือถือแล้ว แอพพลิเคชั่นที่ตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ จึงเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่าง
“การใช้งานแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งานในประเทศไทย 80% ใช้บริการแชต ทำให้สมาร์ทโฟนของแบล็กเบอร์รี่เติบโตอย่างมากในปีที่ผ่านมา แต่ก็มีข้อจำกัดว่าการใช้บริการแชตจะใช้งานได้เฉพาะในเครื่องของแบล็กเบอร์รี่เท่านั้น”
เพื่อทลายข้อจำกัดดังกล่าว จึงเกิดการรวมตัวของกลุ่มนักธุรกิจและนักพัฒนาซอฟต์แวร์สายเลือดไทย โดยพัฒนาแพลตฟอร์มที่ทำลายกำแพงทุกอย่าง ภายใต้ชื่อ “สปริง แพลตฟอร์ม” บนระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ โดยรูปแบบของสปริง แพลตฟอร์ม จะมีฟังก์ชั่นการใช้งานทุกอย่างที่แอพพลิเคชั่นของแบล็ก เบอร์รี่มี เช่น การแชต และการคุยเป็นกลุ่ม ทั้งยังพัฒนาให้มีมากกว่าด้วยการให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ดาวน์โหลดสปริงแพลตฟอร์ม ไปติดตั้งไว้ในเครื่องได้ โดยไม่จำกัดค่ายผู้ให้บริการและยี่ห้อโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ใช้งานแชตได้ แม้ไม่ใช้เครื่องของสปริง
วางจุดขายโดดเด่นเรื่อง “แอพพลิเคชั่น”
สิ่งที่ทำให้สปริงดูแหวกแนวในการทำตลาดโทรศัพท์มือถือ คือ การฉีกกฎเดิม ๆ ของการทำตลาดออกไป ไม่เน้นปริมาณการขายเครื่องโทรศัพท์ เพียงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ใช้งานมือถือเท่านั้น แต่เน้นการสร้างสังคมผู้ใช้สปริงแพลตฟอร์ม ซึ่งช่วงแรกเจาะกลุ่มผู้ใช้สังคมออนไลน์
“วันนี้ถ้าจะพูดว่า สปริงแพลต ฟอร์ม คือ คู่แข่งบริการแชตของแบล็กเบอร์รี่ก็คงไม่ผิด” นายชวัล กล่าวและว่า ผู้ใช้สปริงแพลตฟอร์ม สามารถคุยกันเหมือนกับคุยบีบี ซึ่งการทำตลาดโทรศัพท์มือถือของสปริงไม่เน้นการจำหน่ายเครื่องในปริมาณที่มาก ๆ แต่เน้นการใช้งาน แอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือซึ่งทำงานบนแพลตฟอร์มสปริง
โดยตั้งเป้าออกโทรศัพท์มือถือเพียงปีละ 3 รุ่น ใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายและศูนย์ซ่อมของ “บริษัท ไวร์เลส ดีไวซ์ ซัพพลาย จำกัด” หรือ “ดับบลิวดีเอส” ทำให้สปริงไม่ต้องสร้างบุคลากรเพื่อทำการตลาด แต่เน้นเพิ่มบุคลากรด้านนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น และโปรแกรม เพื่อรองรับความต้องการในการใช้งานของผู้บริโภค ทำให้มีแอพ พลิเคชั่นใหม่ ๆ และโปรแกรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคมือถือได้ตลอดเวลา
นายชวัล กล่าวว่า จะเปิดตัว “สปริง” สู่ตลาดมือถือไทยภายใต้แบรนด์คนไทย และแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์ม ที่คนไทยพัฒนาขึ้นทั้งหมด วันที่ 10 ม.ค.นี้ ตั้งเป้า 1 ปี จะมีผู้ใช้งานสปริงแพลตฟอร์มทั้งในส่วนของโทรศัพท์มือถือ และดาวน์โหลดสปริงแพลตฟอร์มไปติดตั้งในเครื่อง 1 แสนคน
“ธุรกิจโทรศัพท์มือถือเปลี่ยนยุคไปแล้ว ไม่ใช่แค่ขายเครื่อง หรือทำธุรกิจโดยการนำเสนอตัวเครื่องเท่านั้น แต่ต้องมีแอพพลิเคชั่น การใช้งานรองรับด้วย เช่น แบล็กเบอร์รี่ ที่สร้างโปรแกรมแชตบีบี และแอปเปิ้ลที่สร้างแอพพ์สโตร์ ขณะที่กลุ่มฟีเจอร์โฟนก็ยังคงมีคนใช้อยู่ในกลุ่มบริการเดิม ๆ ส่วนสมาร์ทโฟนจะมากับการใช้งานในกลุ่มนี้ เพราะผู้ใช้งานไม่ต้องการสื่อสารและเชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ เพียงการโทรฯ แต่ต้องการสื่อสารกับคนอื่น ๆ ผ่านข้อความ และรูปภาพด้วย”
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโทรศัพท์มือถือสปริง และสปริงแพลตฟอร์ม “ชวัล” กล่าวว่า เป็นกลุ่มคนเทรนดี้ หรือกลุ่มคนที่ตามสมัย ไม่เจาะจงเรื่องอายุ แต่ต้องการใช้งานโทรศัพท์มือถือโดยดูเรื่องของแอพพลิเคชั่นที่รองรับการใช้งานเป็นหลัก
ดึงแอพพลิเคชั่นไทยเสริมทัพ-บันไดขั้นแรกนักพัฒนาแอพพ์
ช่วงแรกของการทำตลาดในไทย “สปริง” เปิดตัวด้วยแอพพลิเคชั่นที่รองรับการใช้งานสังคมออนไลน์ เพราะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่สนใจ และมีความ เข้าใจเรื่องของสังคมออนไลน์ เหมือนกับการพูดถึงเรื่องของอินเทอร์เน็ต ซึ่งลูกเล่น และการใช้งานฟีเจอร์ที่ผู้ให้บริการในตลาดมี สปริงแพลตฟอร์มมีทุกอย่าง
และขณะนี้มีนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นคนไทยที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การค้นหาร้านอาหาร และเกม ที่พัฒนาบนระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแอพพลิเคชั่นบนสปริงแพลตฟอร์ม หลายรายแล้ว
“นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น และนักพัฒนาโปรแกรมของไทย เก่ง ๆ มีเยอะ แต่ไม่มีช่องทางในการขายแอพพลิเคชั่น ดังนั้นการสร้างสปริง แพลตฟอร์มจึงเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นมีช่องทางในการนำผลงานที่คิดขึ้นมาต่อยอดเป็นรายได้ เหมือนกับการนำแอพพลิเคชั่นไปใส่ไว้ในแอพพ์สโตร์ ซึ่งนักพัฒนาแอพ พลิเคชั่นไทยส่วนใหญ่ถนัดเรื่องของ เกม ก็สามารถนำเกมที่พัฒนามาให้บริการบนสปริงแพลตฟอร์มได้ โดยอยากทำให้สปริงแพลตฟอร์มเป็นจุดเริ่มต้นของนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของนักศึกษาที่เรียนด้านการพัฒนาโปรแกรมและแอพพลิเคชั่นด้วย” นายชวัล กล่าว
ลุยเกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
สปริงแพลตฟอร์มไม่ได้รองรับการใช้งานเฉพาะในประเทศไทย แต่สามารถใช้งานเครื่องโทรศัพท์มือถือ และแอพพลิเคชั่นได้ในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
“ชวัล” ระบุว่า ตัวเครื่องของสปริงสามารถใช้ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือของประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ได้ ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่เมื่อเดินทางเข้าประเทศดังกล่าว ขณะที่แอพพลิเคชั่นที่อยู่บน แพลตฟอร์มของสปริงก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน
รูปแบบการสร้างรายได้เปลี่ยนไป
สำหรับรายได้ของสปริง ซึ่งไม่ได้เน้นที่การขายเครื่องโทรศัพท์มือถือในปริมาณมาก ๆ ดังนั้นรายได้จึงมาจากการทำแพ็กเกจดาต้า โดยตกลงกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ทำแพ็กเกจการใช้บริการของ “สปริง” เช่นเดียวกับแพ็กเกจการใช้งานของ “บีบี”
ส่วนการดาวน์โหลดสปริงแพลต ฟอร์มไปใช้งาน แม้ไม่คิดค่าดาวน์โหลด แต่รายได้มาจากการขายโฆษณา เช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก และการทำการตลาดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ กับพันธมิตร เช่น ลูกค้าสปริงจะได้รับส่วนลด 5% เมื่อเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้า... เป็นต้น
เปิดปี 2554 ตลาดโทรศัพท์มือถือไทยดูมีสีสันชวนติดตามอย่างมาก “สปริง” จะผ่ากฎเดิม ๆ ของการทำตลาดมือถือ และสร้างสาวก “สปริงแพลตฟอร์ม” ได้ขนาดไหน ต้องติดตาม.
ฟีเจอร์ในสปริงแพลตฟอร์ม
-การแสดงข้อความด้วยรูปภาพ แจ้งข้อมูลเมื่อเพื่อนส่งมา
-จัดกลุ่มเพื่อนได้มากถึง 200 รายชื่อ จากเดิม 30 รายชื่อ
-มีห้องสนทนากลางให้ผู้ใช้สปริงเข้าไปสนทนา
-รองรับการใช้งานสังคมออนไลน์เต็มรูปแบบ