นอนกัดฟันคืออะไร? นอนกัดฟันเป็นความผิดปกติ เกิดขึ้นขณะกำลังหลับ โดยมีลักษณะขบเน้นฟันแน่นๆ หรือฟันบนล่างบดถูไถ ซ้ำๆ กัน คนนอนกัดฟันมักไม่รู้ตัวเอง และเสียงที่เกิดจากนอนกัดฟัน ทำให้เกิดความรำคาญแก่คนที่นอนร่วมห้อง ส่วนการนอนกัดฟันที่มีลักษณะขบฟันแน่นๆ มักไม่มีเสียงดังทำให้ไม่มีผู้ใดได้ยิน คนที่นอนกัดฟันแบบนี้จึงมักไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นคนนอนกัดฟัน
แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่านอนกัดฟัน เนื่องจากคนเราจะไม่รู้ตัวเอง ว่าทำอะไรบ้างในขณะนอนหลับ และอาการกัดฟันก็เกิดเป็นช่วงๆ ตลอดเวลา 7-8 ชั่วโมง ในขณะหลับ ดังนั้นการนอนกัดฟันจึงวินิจฉัยยาก เนื่องจากไม่มีใครจะมาสังเกตพฤติกรรมให้ท่านตลอดเวลาที่กำลังหลับ การวินิจฉัยที่ดีที่สุด คือการตรวจการนอนในห้องแลปการนอนหรือที่บ้าน ด้วยการวัดสัญญาณไฟฟ้าที่ขึ้นจากการทำงานของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวในขณะกัดฟัน ร่วมกับวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง ส่วนวิธีอื่นๆ คือการสังเกตอาการที่เป็นผลของนอนกัดฟัน เช่น ถ้าท่านรู้สึกตัวตื่นนอนพร้อมอาการเมื่อยตึงที่ขมับ ใบหน้า หรือต้นคอ หรือตึงๆ ชาๆ ที่ฟัน กัดฟันแล้วเจ็บหลายๆ ซี่ หรือเสียวฟันหลายซี่ หรือบางครั้งรู้สึกตัวเองตื่นสลึมสลือเหมือนกำลังกัดฟันอยู่ หรือสังเกตว่าฟันบิ่นแตก หรือหน้ากางออกใหญ่ขึ้นทั้งสองข้างเพราะกล้ามเนื้อข้างแก้มขยายใหญ่ หรือมีปุ่มกระดูกใหญ่ที่ค่อยๆโตขึ้นช้าๆ หรือทันตแพทย์ตรวจพบว่าท่านมีฟันสึกที่เกิดจากการบดกัด ถูไถฟัน อาการเหล่านี้ เป็นสัญญาณเตือนว่าท่านอาจนอนกัดฟัน
ผลเสียของการนอนกัดฟัน ทำให้ฟันสึก ฟันสั้นลง ฟันบาง คอฟันสึกเป็นร่อง มีอาการเสียวฟัน ซึ่งเสียวมากเมื่อดื่มน้ำเย็น หรือแปรงฟัน เมื่อทิ้งไว้นาน ฟันยิ่งสึกมาก ก็มีปัญหาเรื่องความสวยงาม นอกจากนี้จะทำให้ใบหน้าสั้นลงเพราะฟันเป็นอวัยวะสำคัญช่วยรักษารูปหน้าด้วย หากฟันบิ่น ฟันแตก ฟันร้าว หรือฟันสึกจนทะลุโพรงประสาทฟันจะทำให้ปวดฟัน และต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษารากฟัน ทำครอบฟัน ถ้าโชคร้ายรักษาไม่ได้ก็ต้องถอนฟันซี่นั้นทิ้งไป ทั้งยังทำให้ปวดเมื่อยล้าบริเวณใบหน้า กล้ามเนื้อบดเคี้ยว และข้อต่อขากรรไกร ทำให้อ้าปากไม่ขึ้น เคี้ยวอาหารไม่ได้เพราะมีอาการปวด ส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยว และ อารมณ์จิตใจ ทำให้กระดูกกรามที่อยู่รอบรากขยายใหญ่ เป็นปุ่มกระดูกนูน ในบางคนกล้ามเนื้อบริเวณแก้มสองข้าง ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้ใบหน้ากางออกเป็นเหลี่ยม นอกจากนี้มีผลให้ความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยาแย่ลง เนื่องจากเสียงดังที่เกิดจากนอนกัดฟันจะรบกวนคนที่นอนด้วยจนนอนไม่หลับ เพราะเสียงนอนกัดฟันจะดังมากและเป็นที่น่าหวาดเสียวแก่ผู้ที่ได้ยิน ชวนให้รู้สึกเสียวฟันตามไปด้วย
รักษาอาการนอนกัดฟันได้อย่างไร เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการนอนกัดฟัน ดังนั้นการรักษาเพื่อหยุดการนอนกัดฟัน จึงยังไม่ได้ผลเต็มร้อย ตัวกระตุ้นที่ทำให้นอนกัดฟัน เช่น ความเครียด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ได้แก่ ชา กาแฟ และน้ำอัดลมบางชนิด) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด และยาที่ใช้รักษาโรคบางตัว เป็นต้น การนอนกัดฟันอาจพบร่วมกับความผิดปกติของการนอนอื่นๆ ได้แก่ การนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ
การรักษานอนกัดฟันมีดังนี้ คือ งดเครื่องดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ บุหรี่ ก่อนนอนไม่ควรรับประทานมากเกินไป สภาพห้องนอนควรเงียบสงบสะอาด ไม่ควรมีแสงสว่างมากไป ไม่ควรทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นเต้นก่อนเข้านอน ให้ใส่เฝือกสบฟัน (occlusal splint) เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันสึก ในบางรายอาจหยุดอาการนอนกัดฟันได้บ้าง หรือการใช้ยาที่มีผลไปปรับการนอนเพื่อช่วยลดการนอนกัดฟัน เมื่อสงสัยว่านอนกัดฟัน ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการนอนกัดฟันเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่อาการนอนกัดฟันจะไปทำลายฟัน ทำให้เกิดปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกร และทำให้ท่านต้องเสียค่ารักษาฟันอีกมาก