กำเนิดรถราง TRAMWAY
“รถราง” TRAMWAY มีกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2430 เป็นประเทศแรกในเอเชีย
จาก พ.ศ. 2431 จนถึง พ.ศ. 2511 ร้อยกว่าปีที่เริ่มมีและสามสิบกว่าปีที่หมดไป..สำหรับยานที่มีวิ่งเป็นประเทศแรกในเอเชีย
“รถราง” หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Tramway” มีกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 จากการก่อตั้งของ “ชาวเดนมาร์ค” จัดเดินรถรางขึ้นใน “เมืองบางกอก” ตามการเรียกขานในสมัยนั้น ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2430 เปิดเดิน
“รถราง” คันแรกนี้ยังไม่ได้แล่นได้ด้วยตัวของมันเอง แต่จะเคลื่อนที่ไปด้วยการใช้ “ม้าลาก” ซึ่งได้เทียมม้าไว้ด้านหน้ารถ จากนั้นได้มีการเปิดดำเนินกิจการ “รถรางไฟฟ้า” ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437 หลังจากที่สิ้นสุด “สงครามโลกครั้งที่สอง” ได้แค่สี่ห้าปี สัมปทานการเดินรถก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 รัฐบาลก็เข้ามาดำเนินกิจการต่อในนามของ บริษัท การไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด ในสังกัดของ “กรมโยธาเทศบาลและกระทรวงมหาดไทย” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493
หลังจากที่มีการพัฒนาบ้านเมืองขนานใหญ่เกิดขึ้นในสมัย “จอมพลผ้าคะม้าแดง” พร้อมๆ กับนโยบายที่จะให้ “เลิกเดินรถรางและรถสามล้อถีบ” ในเขต “พระนคร-ธนบุรี” การเดินรถจึงค่อยๆ ลดบทบาทลงโดยการเลิกวิ่งจบสิ้นเด็ดขาดในเขตเมืองหลวงไปเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ที่ได้มี “รถราง” ใช้อยู่ร่วม “80 ปี” พอดี
รถราง แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ
รถรางในสมัยก่อนเรียกว่า "รถไอ" เมื่อ พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) ได้มีการสัมปทานการเดินรถราง จากหลักเมืองไปตามถนนเจริญกรุงจนถึงถนนตก และใช้ม้าลาก ลากกันแบบช้า ต่อมาบริษัทรถรางได้หยุดวิ่งรถราง เพราะค่าโดยสารแพงสำหรับในสมัยนั้น ประมาณ 5 สตางค์ ขาดทุนและขายกิจการต่อให้กับบริษัทของประเทศอังกฤษแต่ก็ขาดทุนอีกและสุดท้ายก็ขายกิจการให้กับบริษทของประเทศเดนมาร์ก ในสมัยนั้นมีการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นแล้ว และได้มีการเปลี่ยนจากลากรถมาใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ที่เห็นก็คือเสาไฟฟ้าเป็นระยะ ๆ และมีคานเหล็กยื่นออกมาสำหรับติดสายไฟฟ้า สำหรับในเขตสัมพันธวงศ์รถรางวิ่งผ่านสะพานเหล็กบน ตามถนนเจริญกรุงมาถึงสะพานเหล็กล่าง
บริษัทรถรางไทย ท.จ.ก. ในสมัยนั้นตัวย่อคนไม่ค่อยรู้จัก แปลกันไปและพูดกันเล่น ๆ ว่า "ท่าจะเก่ง" "ทีจะโก้" "ไทยจะโกง" แปลกันไปต่าง ๆ นานา คำแท้จริงคือ"ทุนจำกัด" หรือ LIMITED ย่อว่า LTD. รถราง จะเป็นสีแดงทั้งคัน รถรางที่วิ่งในถนนเจริญกรุงมีเสาไฟฟ้าของรถรางเป็นระยะ ในเวลานั้นมีการสร้างรางให้รถรางวิ่งอยู่หลายสายหนึ่งในนั้นก็วิ่งผ่านถนนเจริญกรุง การเก็บค่าโดยสารเก็บเป็นระยะทางเช่น จากหลักเมืองถึงสามยอด (สถานีในสมัยนั้น) จะก็ค่าโดยสาร 3 อัฐ มีการทำกิจการรถรางอยู่ 2 บริษัท ของคนไทยและของฝรั่ง
สำหรับของต่างประเทศก็มีแต่เป็นรถรางสีเหลืองทั้งคันเป็น ของชาวเดนมาร์ค เรียกว่ารถไอ ซึ่งวิ่งผ่านถนนเจริญกรุงและ ผ่านหน้าปากทางเข้าสำนักงาน เขตสัมพันธ์วงศ์(ในขณะนั้น สำนักงานเขตยังไม่จัดตั้งมีแต่ ป้อมปัจจนึกในสมัยนั้น) ทุกเช้าประมาณตีห้า จะได้ยิน เสียงทำความสะอาดรางโดยใช้เหล็กรูปโค้งพอดีกับรางมาเดินแซะราง เพราะถนนสมัยนั้นจะโรยด้วยอิฐก้อนเล็ก ๆ จำเป็นต้องแซะรางทุก ๆ เช้า จะได้ยินเสียงดัง แกรก ๆ และจะมีรถรางที่บรรทุกน้ำมารดน้ำบริเวณถนนเพื่อป้องกันฝุ่นซึ่งกระทำกันเป็นประจำทุก ๆเช้าในถนนที่มีรถราง
รถรางเริ่มเดินเมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๔๘ เลิกเดินเมื่อตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นการเลิกสายสุดท้ายโดยเด็ดขาด ทีแรกค่อยๆ เลิกไปทีละสายสองสาย สายสุดท้ายคือสายรอบเมือง คือรอบกำแพงเมืองด้านใน หรือรอบเกาะรัตนโกสินทร์
ตั้งต้นตรงหลีกบางลำพูฟากตลาดนานา สมัยโน้นตลาดนี้มีวิกลิเกชื่อเสียงโด่งดัง รถรางสายนี้แล่นไปตามถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดราชนัดดา สามยอด สะพานหัน เลาะถนนจักรเพชร เข้าถนนมหาราช ผ่านท่าเตียน ท่าราชวรดิฐ ท่าพระจันทร์ จนกระทั่งข้ามคลองหลอดเข้าถนนพระอาทิตย์ ถึงเชิงสะพาน นรรัตน์ พอสุดทางก็กลับลูกรอก เอาท้ายรถเป็นหน้ารถ หน้ารถกลับเป็นท้ายรถ คือรถคันเดียวกันนั่นแหละขับได้ทั้งหน้าหลัง พอสุดทางก็เปลี่ยนไปขับท้ายเอาเป็นหน้ารถ ยกลูกกรงไม้ ซึ่งขามากั้นชั้นที่ ๑ (มีเบาะยาวๆ หุ้มผ้าขาวรองนั่งพิเศษ ค่าตั๋วโดยสารแพงกว่าชั้นที่ ๒ เท่าตัว) ยกมาจากหน้ารถขามาซึ่งขาไปจะกลายเป็นท้ายรถ แล้วยกเบาะขาวดังกล่าวมาโยนโครมสองฟากม้านั่ง เพราะชั้นที่ ๑ นั้น ต้องอยู่ตอนหน้าคันรถ เท่านี้ท้ายก็กลายเป็นหน้า ขับกะเด๊งๆ ย้อนกลับไปได้ ‘กะเด๊ง’ คือเสียงกระดิ่งรถราง ซึ่งอยู่ใต้เท้าคนขับ
คนขับรถรางสมัยก่อนแกยืนขับ สองมือขับ เท้าก็เหยียบกระดิ่ง หรือจริงๆ แล้ว กระแทกเท้าลงไป เพราะถ้าไม่กระแทกมันก็ไม่ดัง คนขับคะนองๆ บางคน แกสนุกแกก็จะเหยียบตลอดเวลา คล้ายคนที่ชอบกดแตรรถสมัยนี้
ที่เล่ารถรางรอบเมืองมายืดยาว ก็เพราะรถรางสายนี้ข้ามคลองหลอด ซึ่งที่จริงแล้ว คือคลองคูเมืองเก่าสมัยกรุงธนบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯให้ขุดคลองรอบกรุงรัตนโกสินทร์ คือคลองบางลำพู หรือคลองโอ่งอ่าง เป็นคลองรอบกรุงใหม่ แล้วโปรดฯให้ขุดคลองหลอด ๒ คลองจากคลองคูเมืองเก่า ทะลุออกคลองคูเมืองใหม่ คือ คลองที่ ๑ จากวัดราชบพิธมาออกตรงเหนือประตูสามยอด (เวลานี้ไม่มีแล้ว) และคลองที่ ๒ จากเหนือวัดมหรรณพารามมาออกเหนือวัดเทพธิดา คลองนี้ยังคงเหลือเป็นคูแคบๆ อยู่ คลองทั้งสองนี้แหละคือคลองหลอดตัวจริง ทว่าไปๆ มาๆ คลองหลอดที่ ๑ กลายเป็นเรียกว่าคลองวัดราชบพิธบ้าง คลองสะพานถ่านก็เรียกกัน ส่วนคลองที่ ๒ เรียกว่าคลองวัดเทพธิดา แล้วเลยเรียกคลองคูเมืองเก่าว่า ‘คลองหลอด’ จนทุกวันนี้ (เมื่อขุดคลองหลอดนั้น วัดราชบพิธ วัดมหรรณฯ วัดเทพธิดา ยังไม่ได้สร้าง)
เท่าที่จำได้รถรางสายรอบเมืองดูเหมือนจะไม่ได้ข้ามสะพานเสี้ยว มีสะพานข้ามคลองโดยเฉพาะเข้าถนนพระอาทิตย์เลย รถรางที่แล่นข้ามสะพานเสี้ยว คือรถรางสายสามเสน ซึ่งมีเส้นทางระหว่างท่าเขียวไข่กา บางกระบือ ถนนสามเสน เทเวศร์ บางลำพู ข้ามคลองบางลำพูด้วยสะพานรถรางที่ขนานกับสะพานนรรัตน์ (สะพานบางลำพู) เข้าถนนจักรพงศ์ มาข้ามสะพานเสี้ยว แล้วเลี้ยวซ้ายเลียบคลองหลอด ผ่านหลังกระทรวงกลาโหม ข้ามคลอง เข้าถนนพาหุรัด สะพานหัน สามแยก หัวลำโพง ไปตามถนนพระราม ๔ สะพานเหลือง สามย่าน ศาลาแดง ถึงปลายถนนวิทยุ ตัดกับถนนสาทรเป็นสุดทาง รถรางสายนี้ยาวที่สุด
รถรางในกรุงเทพฯ เลิกไปในปี พ.ศ. 2511