พระปิ่นเกล้า The Second King แห่งรัชกาลที่ 4 กษัตริย์พระอัจฉริยภาพที่มากคน ไม่รู้จัก


 ป็นที่รับรู้กันไม่ลงลึกนักว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือเมื่อกว่า 160  ปีที่ผ่านมา สยามประเทศ มีพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมืองด้วยกันถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้งสองพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินคู่พี่น้องสายเลือดเดียวกันที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาความสามารถรอบด้าน โดยเฉพาะกิจการด้านการต่างประเทศ 

 

 


สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระปิ่นเกล้า) เมื่อครั้งวัยหนุ่ม

 

 

เอกสุดา สิงห์ลำพอง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  เปิดเผยเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่พบว่า พระปิ่นเกล้า ทรงชื่นชอบสนับสนุนชาติ "อเมริกา" มากถึงขั้นพระราชทานนามพระโอรสองค์โตของพระองค์ ในเจ้าจอมมารดาเอมว่า "ยอช วอชิงตัน" (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ หรือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ) ตามชื่อประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา     โดยเครื่องบรรณาการที่นายทาวน์เซนด์ ทูตของสหรัฐนำมาถวายพระจอมเกล้าฯ และพระปิ่นเกล้าฯ จึงมีภาพวาดเหมือนนายจอร์ช วอชิงตัน ขนาดเท่าตัวจริงเป็นหนึ่งในรายการที่นำมามอบให้   ซึ่งน่าจะถูกพระทัยพระองค์เป็นที่สุด

 

 

ด้าน นายไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์  และคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารศิลปวัฒนธรรม  สำนักพิมพ์มติชน ได้โชว์หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ที่เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นจดหมายที่ เซอร์ จอห์น บาวริ่ง ราชทูตอังกฤษสมัยนั้น เขียนชื่นชม The Second King  ของไทย

 

 ที่ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลในด้านการทหาร การต่างประเทศ ทรงรอบรู้ข่าวสารต่างๆในการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับต่างชาติ ทั้งยังชื่นชมการพูด การเขียน การอ่านภาษาอังกฤษของพระองค์ที่มีความแตกฉานอย่างคล่องแคล่วและสละสลวย โดยเฉพาะลายพระหัตถ์ที่สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อยมาก 

 

ปิดท้ายที่ รศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   เปิดคำถามขึ้นต้นว่า "ทำไมสยามต้องสนใจจะตะวันตก?"  พร้อมอธิบายว่า ประเทศสยามเริ่มเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการต่างๆ โดยรับอิทธิพลจากชาติตะวันตกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4  ที่ผู้นำสยามมีความสัมพันธ์อันดีกับชาติอเมริกัน ซึ่งมีผลลึกซึ้งเป็นอย่างมาก ผู้ที่นำเข้าวัฒนธรรมต่างๆ นั้นล้วนมาจากหมอสอนศาสนาหรือมิชชันนารี

 

  ซึ่งจากการศึกษาแล้วมิชชันนารีเหล่านั้นแม้จะเป็นผู้ที่มีความเชื่อเรื่องศาสนามาก   แต่ก็ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะเข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาในสยาม  เพียงแต่แวะเข้ามายังดินแดนแหลมทองเพื่อรอเปลี่ยนผ่านไปยังประเทศอื่นๆ ในแถบภูมิภาค  แม้สุดท้ายมิชชันารีหลายคนก็ปักหลักสร้างครอบครัวในสยามไปเลย

 

 

หนังสือพิมพ์ต่างชาติ ที่ลงข่าวการชื่นชมพระปิ่นเกล้า ว่า ทรงมีความสามารถในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านภาษา 
 นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชื่อดัง กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ที่ชาติยุโรปให้การยอมรับมาก นอกเหนือจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ทรงปรีชาทางด้านการทหารมาก ด้วยทรงเป็นทหารเรือ มาตั้งแต่ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แล้วโดยทรงดูแลเรื่องกรมทหาร ทรงสนใจเกี่ยวกับอาวุธยุทธภัณฑ์เป็นพิเศษ  วิชาการช่างกล และวิชาการปืนใหญ่ ทั้งยังมีความรู้ในวิชาการต่อเรืออย่างดี ทรงต่อเรือรบกลไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย  ซึ่งตำแหน่งสูงสุด คือทรงบังคับบัญชาการทหารเรือ วังหน้า (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) ดังจะเห็นได้ว่า โปรดทรงเครื่องแบบทหารเรือมากที่สุด
 นายไกรฤกษ์ ระบุต่อว่า  เมื่อมีผู้อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงทรงให้อัญเชิญ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระอนุชาขึ้นครองราชย์พร้อมกันไปด้วย  พร้อมทั้งทำพิธีพระบวรราชาภิเษกเสมอด้วยเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 เนื่องจากพระปิ่นเกล้าทรงมีกำลังทหารมาก  และมีพระชะตาแรงสมควรได้เป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง เสมือนอเมริกาที่มีประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี  อย่างไรก็ตาม ชาติฝรั่ง ระบุลงในบันทึกว่า อำนาจบริหารประเทศอยู่ที่พระจอมเกล้า 80 %  ขณะที่พระปิ่นเกล้าอยู่ที่ 20 % 

 

 

ภาพเหมือนจอร์ช วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ที่ทูตอเมริกันนำมาถวายเป็นเครื่องบรรณาการแด่พระปิ่นเกล้า
  ภาพเหมือนประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน ที่อเมริกา นำมามอบให้พระปิ่นเกล้านี้  เป็นฝีมือการวาดของ เรมบรันต์ พีล (Rembrandt Peale) ศิลปินชื่อดังชาวอเมริกัน ปัจจุบันแขวนอยู่ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนอีกรูปหนึ่งนายทาวน์เซนด์นำมาถวายรัชกาลที่ 4 ในคราวเดียวกัน แต่ปัจจุบันไม่ทราบไปอยู่ที่แห่งใด ด้วยไม่มีใครเคยพบเห็นอีกเลย

 

 

ภาพการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกของรัชกาลที่4..
 
 อาจารย์ธเนศกล่าวว่า พระจอมเกล้า และพระปิ่นเกล้า ค่อนข้างโปรดมิชชันนารีเหล่านี้มาก นั่นเพราะบุคคลเหล่านี้ทำให้เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันระหว่างชาวสยามและชาวอเมริกัน  กระทั่งหมอบรัดเลย์ หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley, M.D.)   ชาวอเมริกันถึงขนาดถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับชาติตะวันตกเป็นฉบับภาษาไทยกันเลยทีเดียว ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา ที่พระมหากษัตริย์ไทยเอาความรู้ต่างๆมาใช้จากการเรียนศาสนา มาตีความ  ขณะที่ คนสยามเองก็ไม่ได้เปลี่ยนไปนับถือพระเจ้าตามแบบตะวันตกมากนัก

 

 

"การเรียนรู้วิวัฒนาการชาติตะวันตกของผู้นำสยาม โดยผ่านภาษาไทย เป็นปรีชาฌาณความสามารถที่ได้เปรียบของรัชกาลที่ 4 เพราะการถ่ายทอดวัฒนธรรมตะวันตกโดยสร้างผ่านภาษาไทยพร้อมกับมีการพิมพ์เป็นตัวอักษรในช่วงเปลี่ยนผ่ายสยามเป็นเรื่องที่ใหม่ในยุคสมัยนั้น  กลายเป็นเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้สยามได้รับรู้โลกภายนอกได้มากขึ้น และเชื่อว่า การที่สยามรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นในการล่าอาณานิคมในยุคนั้นก็ด้วยเพราะ พระจอมเกล้าและพระปิ่นเกล้าทรงผ่อนปรนและเป็นมิตรกับชาติมหาอำนาจจนเราได้รับเอกราชถึงทุกวันนี้" รศ.ธเนศ กล่าว

 

 

พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงละครแห่งชาติ

 

 

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น เมื่อเสด็จบวรราชาภิเษกแล้ว (ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) 
Credit: พันตา
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...