ข่าว บอมบ์สูท ตัวละ 2 ล้าน ตัวช่วย(กู้ระเบิด) หมดอายุ !

   
   
          รุ่งอรุณรับศักราชใหม่ 1 มกราคม พ.ศ.2554 ณ ดินแดนแห่งความเสี่ยงภัยสูงสุดแห่งหนึ่งของไทย นายตำรวจหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หรือหน่วย EOD (Explosive Ordnance Disposal) เสียชีวิตขณะเข้าทำการเก็บกู้ระเบิดกลางตลาดเทศบาลตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ท่ามกลางข้อสงสัยในชุด "บอมบ์สูท" และ "เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์" อันเป็นปราการด่านสุดท้ายในการป้องกันชีวิตเจ้าหน้าที่ แต่ยุทโธปกรณ์ทั้งสองชนิดหาได้ช่วยอะไรไม่

          แรงระเบิดทำลายล้างสูงหนัก 3 ปอนด์ ปลิดชีพ ดาบตำรวจกิตติ มิ่งสุข อายุ 50 ปี เจ้าหน้าที่เก็บกู้และทำลายระเบิดสังกัด ตชด.447 คาชุดเกราะ "บอมบ์สูท" ขณะที่ จ่าสิบตำรวจ กฤษดา ทองโอ ผบ.หมู่งานจราจร สภ.สุไหงปาดี ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตในเวลาต่อมา และมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บอีก 9 นาย 

          จากการสอบสวนและตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบว่า คนร้ายมุ่งหมายเอาชีวิตเจ้าหน้าที่ชุด EOD เนื่องจากหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ประมาท และทำตามขั้นตอนการเก็บกู้ทุกประการ โดยก่อนจะเกิดระเบิดขึ้น ตำรวจกับทหารได้เข้าไปสังเกตการณ์ก่อนแล้ว 2 ครั้ง แต่คนร้ายไม่กดจุดชนวน กระทั่งเจ้าหน้าที่ชุด EOD เข้าไป จึงทำการกดระเบิด และระเบิดที่คนร้ายใช้ก็ยังเป็นระเบิดแรงสูงที่หมายเอาชีวิตด้วย

          อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คนไทยตั้งคำถามถึงเรื่องชุด "บอมบ์สูท" และ "เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์" ว่าใช้การได้ประสิทธิภาพแค่ไหน และประเด็นกังขาที่ว่า บอมบ์สูท สนนราคาตัวละ 2 ล้านบาท แต่หมดอายุจริงหรือไม่ ???

 
 


    เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด.ต.สว่าง มาลัย รองหัวหน้าชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ชุดบอมบ์สูท หรือ Blast (ชุดป้องกันอันตรายจากแรงระเบิด) ที่มีใช้อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากกว่า 10 ชุด โดยเป็นของที่ผลิตจากประเทศแคนนาดา ราคาประมาณ 2 ล้านบาทต่อ 1 ชุด ได้รับมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 สามารถรับแรงระเบิดที่ขนาด 1.5 ปอนด์ จึงมีความสามารถป้องกันระเบิดได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น หรือผ่อนจากหนักเป็นเบา ไม่ได้ปลอดภัยจากแรงระเบิด 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในการปฏิบัติงานพิสูจน์ทราบวัตถุต้องสงสัยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เน้นการสวมชุดบอมบ์สูท แต่จะใช้รถยนต์หุ้มเกราะที่มีความปลอดภัยมากกว่า ส่วนการใช้ชุด บอมบ์สูท จะมีการพิจารณาเป็นครั้งคราวเท่านั้น

          ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า บอมบ์สูท ถูกออกแบบมาเพื่อทนต่อแรงระเบิดที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต มีประสิทธิภาพตามอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันแรงอัดและสะเก็ดระเบิดแบบป้องกันทั้งตัว สามารถป้องกันแรงอัดระเบิดและสะเก็ดระเบิดทั้งแบบธรรมดา สารเคมี หรือสารชีวภาพ มีความยืดหยุ่น น้ำหนักของชุดจะอยู่ระหว่าง 15 - 30 กิโลกรัม โดยหน่วย EOD จะสวมชุดป้องกันอันตรายจากแรงระเบิดในระหว่างการลาดตระเวนเก็บกู้ระเบิด เพื่อความปลอดภัยและป้องกันภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น

 

 

 บอมบ์สูท ทั่วไป ประกอบด้วย.... 

          1. กางเกงด้วยที่สามารถปรับระดับความยาวและความกว้าง 

          2. แจ๊คเก็ต (Smock) ที่มีคอและขาหนีบที่แนบมาห่อหุ้ม 

          3. แขน 

          4. รองเท้าบู๊ท 

          5. ถุงป้องกันมือ 

          6. แผ่นห่อหุ้มทรวงอกและขาหนีบ 

          7. หมวกนิรภัย 

          8. หมวกกันน็อค 

          9. กระเป๋าพกพา 

 

 

 


   ดังนั้น หากพิจารณาชุดบอมบ์สูทที่หน่วย EOD ใช้เก็บกู้ระเบิดในปัจจุบัน จะพบว่าเป็น บอมบ์สูท "หมดอายุ" เพราะผลิตในปี พ.ศ.2547 และมีอายุการใช้งานเพียง 5 ปี แต่ถึงอย่างนั้น เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้โทษว่า บอมบ์สูท เป็นตัวช่วยที่ไร้ประโยชน์จนนำมาซึ่งการเสียเลือดเนื้อของ 2 นายตำรวจ หากแต่พุ่งเป้าไปที่เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ "ความสามารถต่ำ" เพราะไม่สามารถตัดสัญญาณได้ 100 เปอร์เซ็นต์

 

 

 


  ดาบตำรวจ แชน วรงคไพสิษฐ์ หัวหน้าชุดเก็บกู้ระเบิดตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ระบุว่า สาเหตุที่ไม่สามารถตัดสัญญาณโทรศัพท์มือได้ เนื่องจาก เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ของชุดเก็บกู้ระเบิดทำงานได้ประมาณ 5-10 นาที แต่ระยะเวลาในการเก็บกู้นาน 30-50 นาที ทำให้เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถสู้ความแรงของสัญญาณโทรศัพท์มือถือบริษัทเอกชน ที่อยู่ใกล้จำนวน 3 ต้น ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร คนร้ายจึงสามารถใช้โทรศัพท์เพื่อจุดชนวนระเบิดได้สำเร็จ

 

 



   ขณะเดียวกัน มีรายงานด้วยว่า หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด ก็มีปัญหาขัดข้องในการทำงานวันเกิดเหตุ และเป็นหุ่นยนต์ที่ผลิตเองภายในประเทศ ซึ่งประสิทธิภาพการทำงานต่ำกว่าหุ่นยนต์จากต่างประเทศที่บังคับด้วยคอมพิวเตอร์ในห้องทำงานหรือรถยนต์กันกระสุน ทำให้เจ้าหน้าที่มีความเสี่ยง เนื่องจากต้องบังคับในที่โล่ง และอยู่ในรัศมีที่แรงระเบิดทำงาน 

 

 


   ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต และเป็นอีกครั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะเลือดเนื้อของตำรวจและทหารที่อยู่ใกล้เส้นแบ่งแห่งความตาย หรือพื้นที่เสี่ยงอย่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้ พวกเขาคือ "บุคคลสำคัญ" ที่ดูแลชีวิตพี่น้องประชาชน

 

 

 

Credit: โป๊ยกั๊ก
7 ม.ค. 54 เวลา 11:31 12,749 34 414
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...