ทำไมจึงต้องรณรงค์ให้หญิงไทยไม่สูบบุหรี่
เพราะบุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง
ครึ่งหนึ่งของผู้ที่สูบบุหรี่ต่อไปโดยไม่เลิก จะเสียชีวิตจากโรคใดโรคหนึ่งที่เกิดจากการสูบบุหรี่
ทุกฝ่ายในสังคมไทยได้ร่วมมือกันรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ส่งผลให้ชายไทยที่สูบบุหรี่กันเกือบ 70 % ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 45.6%
ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ของหญิงไทยยังต่ำมากคือ 3.1%
หมายความว่าขณะนี้เรามีหญิงไทยสูบบุหรี่เพียง 3 ใน 100 คน เทียบกับชายไทยที่สูบบุหรี่ 45 ใน 100 คน หรือ สัดส่วนการสูบบุหรี่ของชาย : หญิงไทย = 15 : 1
ผลกระทบจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของชายไทย และหญิงไทยสะท้อนออกมาด้วยประจักษ์หลักฐานว่า ในปี พ.ศ.2547 มีชายไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 35,390 คน ในขณะที่มีหญิงไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เพียง 5,793 คน หรือสัดส่วนการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ชาย : หญิง = 6: 1 หรือชายไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากกว่าหญิงไทยถึงปีละเกือบสามหมื่นคน
ดังนั้น ถ้าหากเราสามารถป้องกันหญิงไม่ให้เสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้น เราจะสามารถลดจำนวนหญิงที่จะเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ได้นับแสนนับล้านคนในอนาคตเป็นการป้องกันโรคและการเสียชีวิตก่อนเวลาให้แก่หญิงที่สำคัญที่สุดและคุ้มค่าที่สุด
หญิงไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละกี่คน จากโรคอะไรบ้าง
ในปี พ.ศ.2547 มีหญิงไทย 5,793 คนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ โดยเสียชีวิตจากมะเร็งปอด 2,489 คน ถุงลมโป่งพอง 1,361 คน โรคหัวใจและหลอดเลือด 762 คน มะเร็งชนิดอื่น ๆ 396 คน และ 785 คนเป็นโรคอื่นที่เกิดจากการสูบบุหรี่
หญิงไทยที่สูบบุหรี่เฉลี่ยอายุสั้นลงคนละ 11 ปี และป่วยหนักจนทำอะไรไม่ได้ เฉลี่ย 1.6 ปีต่อคนก่อนเสียชีวิต คณะทำงานภาระโรคฯ ที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง กระทรวงสาธารณสุข
ผู้หญิงติดบุหรี่แล้ว....จะเลิกยากกว่าผู้ชาย เพราะ
จะมีความกังวลเรื่องน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นหลังจากการเลิกสูบ
จะมีอารมณ์หงุดหงิดมากกว่าผู้ชายในช่วงที่จะเลิกสูบบุหรี่
แม้แต่ในหญิงที่ตั้งครรภ์ พยายามที่จะเลิกสูบ แต่ส่วนใหญ่เลิกไม่ได้
ในหญิงที่เลิกสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ สองในสามกลับไปสูบใหม่ หลังจากคลอดลูกได้หนึ่งปี
วัยรุ่นหญิงที่สูบบุหรี่มีผลเสียด้านอื่นอย่างไร
การสำรวจของเอแบคโพลล์ พ.ศ. 2547 พบว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่จะมีสถิติของพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ เพิ่มขึ้นหลายเท่า เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่ไม่สูบบุหรี่ อาทิ
วัยรุ่นที่สูบบุหรี่เคยมีเพศสัมพันธ์มากกว่าวัยรุ่นที่ไม่สูบบุหรี่ 3.7 เท่า ดื่มสุรามากกว่า 3.5 เท่า เที่ยวกลางคืนมากกว่า 3.2 เท่า และใช้ยาเสพติดประเภทอื่นมากกว่า 10 เท่า ทางวิชาการระบุว่า การสูบบุหรี่ของวัยรุ่น เป็น "Marker" หรือ "เครื่องบ่งชี้" ของพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ
หมายความว่า ถ้าเราเห็นวัยรุ่นคนหนึ่งสูบบุหรี่ เราจะคาดการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำว่า วัยรุ่นคนนี้มีโอกาสมากที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ อีกหลายพฤติกรรม การป้องกันวัยรุ่นหญิงไม่ให้สูบบุหรี่ จึงเป็นการป้องพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ที่ดีที่สุด
บุหรี่กับความงามของผู้หญิง ความจริงที่คุณผู้หญิงต้องรู้
บุหรี่แต่ละมวนมีสารเคมีที่เป็นพิษอยู่มากกว่า 250 ชนิด ในจำนวนนี้มีสารก่อมะเร็งอยู่ราว 50 ชนิด
บุหรี่ ทำให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนัง น้อยลง
บุหรี่ 1 มวน ทำให้เส้นเลือดหดตัวไป 90 นาที และเลือดไปเลี้ยงที่ผิวลดลง 24% สูบบุหรี่ 10 นาที ลดออกซิเจนที่ผิวหนัง 1 ชั่วโมง ถ้าสูบ 1 ซองต่อวัน เท่ากับ ผิวหนังขาดออกซิเจน 1 วัน
ผู้หญิง : เป้าหมายของบริษัทบุหรี่ ทำไมบริษัทบุหรี่จึงพยายามขยายตลาดบุหรี่สำหรับผู้หญิง
เพราะว่าผู้หญิงยังสูบบุหรี่กันน้อยมาก โดยเฉพาะผู้หญิงไทยที่สูบบุหรี่มีเพียง 3 คนในร้อยคน เทียบกับผู้ชายไทยที่สูบบุหรี่ 45 คนในร้อยคน ที่สำคัญผู้ชายไทยสูบบุหรี่ลดลงเรื่อย ๆ จากเดิมที่เคยสูบ 70 กว่าคนในร้อยคนเมื่อยี่สิบปีก่อน ถ้าหากบริษัทบุหรี่สามารถทำให้หญิงไทยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นได้ เหมือนกับที่สามารถทำให้ผู้หญิงในประเทศตะวันตกสูบบุหรี่มากขึ้นมาแล้ว เขาจะขายบุหรี่เพิ่มขึ้นได้อีกมหาศาล เพื่อชดเชยกับตลาดบุหรี่ผู้ชายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
บริษัทบุหรี่มีวิธีการอย่างไรในการพุ่งเป้าตลาดบุหรี่ไปที่ผู้หญิง
บริษัทบุหรี่ใช้แนวคิดความเป็นอิสระของวัยรุ่นหญิงเป็นจุดขายในการทำตลาด เชื่อมโยงการสูบบุหรี่เข้ากับความทันสมัย ความเจนจัดในชีวิต การแสดงถึงความมีฐานะ มีรสนิยมและประสบความสำเร็จ บริษัทบุหรี่ผลิตบุหรี่ที่มีรสอ่อน ผสมสารเคมีให้บุหรี่มีรสชาตินุ่มละมุน ผลิตบุหรี่ที่มีกลิ่นผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น รสส้ม รสเชอรี่ รสสตรอเบอรี่ และรสขนม เช่น รสช็อคโกแล็ต รสวานิลา เพื่อให้ผู้หญิงเข้าใจว่าเป็นบุหรี่ที่ปลอดภัยกว่า มวนบุหรี่จะเล็กเรียวยาว เพื่อสื่อให้ผู้หญิงทราบว่าสูบแล้วจะผอมเรียวเหมือนนางแบบ ซองบุหรี่จะมีสีสันหวานแหวว ทำให้ดูเหมือนเครื่องประดับประจำกายชิ้นหนึ่ง
พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เกี่ยวกับบุหรี่ โดยบรรจุเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน และระดับอุดมศึกษา โดยเน้นใน 3 ประเด็น
1. การปรับเปลี่ยนทัศนะคติและความเชื่อต่อการสูบบุหรี่ (การวิจัยพบว่า การมีทัศนคติเชิงบวกต่อการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยทำนายการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิง)
2. การพัฒนาทักษะชีวิต (ในประเด็นของการคบเพื่อน การปฏิเสธการสูบบุหรี่)
3. การป้องกันการริเริ่มทดลองสูบบุหรี่