อ้วนลงพุง ไม่ใช่แค่ความอ้วนธรรมดา แต่เป็นภาวะอ้วนที่มีไขมันสะสมบริเวณช่วงเอวหรือช่องท้องปริมาณมากๆ และก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายระบบ ในทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า Metabolic syndrome ถือ เป็นกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย ดังนั้นภาวะอ้วนลงพุงจึงนับว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ได้
ไขมันที่พุงอันตรายกว่าไขมันส่วนอื่นของร่างกายอย่างนั้นหรือ?
โดย ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นไขมันตรงส่วนใด หากมีมากเกินไปก็ถือว่าไม่ดีทั้งนั้น แต่ไขมันที่สะสมในช่องท้องหรือบริเวณพุงจะสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระ ส่งผลให้ในกระแสเลือดมีกรดไขมันอิสระเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกาย โดยกรด ไขมันชนิดนี้จะไปยับยั้งกระบวนการเผาผลาญของกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ความดันโลหิตสูง และอาจส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งตีบและอุดตันได้
พบว่าในคนอ้วนลงพุงจะมีระดับฮอร์โมน Adiponectin ในกระแสเลือดลดลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่พบในเซลล์ไขมันเท่านั้น ระดับ Adiponectin ในเลือดที่ต่ำจะสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเป็นตัวทำนายการเกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย
นอกจากนี้ เชื่อว่าความอ้วนและภาวะดื้อต่ออินซูลิน ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการสะสมไขมันในเนื้อตับ เพราะกรดไขมันอิสระที่ออกมาจากไขมันบริเวณพุงจะเข้าสู่ตับโดยตรงได้มากกว่า ไขมันบริเวณสะโพก ซึ่งกรดไขมันที่สะสมภายในตับหากเกิดในช่วงที่ร่างกายมีอนุมูลอิสระมากจนเกิน ที่สารต้านอนุมูลอิสระสามารถรับมือไหว จะส่งผลให้เกิดการอักเสบของตับตาม มาอีกด้วย ดังนั้นคนที่อ้วนลงพุงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคตับมากกว่าคนที่มีไขมันสะสมที่สะโพก
คุณ! พุงโตเกินไปหรือไม่?
รอบ เอวเป็นตัวบ่งชี้ภาวะอ้วนที่ง่ายและชัดเจนโดยไม่ต้องใช้การคำนวณ สำหรับคนเอเชียในปัจจุบันการวินิจฉัยว่าใครจัดอยู่ในกลุ่มโรคอ้วนลงพุงบ้าง จะใช้เกณฑ์ดังนี้
เส้นรอบเอวของผู้ชายตั้งแต่ 36 นิ้วขึ้นไป และสำหรับผู้หญิงตั้งแต่ 32 นิ้วขึ้นไป
มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มก./ดล.
มีระดับ HDL คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 40 มก./ดล.ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 มก./ดล.ในผู้หญิง
ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มม.ปรอท หรือรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่
ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่า 100 มก./ดล.
พบ ว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเพียง 3 ข้อจากเกณฑ์ข้างต้น จะมีอัตราการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง 4 ข้อจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มเป็น 3 เท่า และเกิดโรคเบาหวานเพิ่มถึง 24 เท่า
นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงสำคัญอื่นๆ อีกที่ส่งผลให้เกิด Metabolic syndrome อาทิ ยิ่ง อายุมากก็มีโอกาสเป็นสูงขึ้น พบว่าคนผิวดำจะมีโอกาสพบโรคมากกว่า คนอ้วนมีความเสี่ยงมากกว่าคนผอม ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูง นอกจากนั้นยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอื่นๆ ได้ง่าย เช่น ความดันโลหิต เป็นต้น
ลดพุง...ลดโรค
การรักษา Metabolic syndrome หรือ โรคอ้วนลงพุงนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตเป็นอันดับแรก เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ควบคุมอาหารที่รับประทาน บริโภคผักและผลไม้ให้มากขึ้น ลดการดื่มสุรา ตรวจ สุขภาพเป็นประจำ เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ไขมัน หรือความดันโลหิตได้ อาจจำเป็นต้องมีการใช้ยาในการควบคุมร่วมด้วย
เป้าหมายในการใช้ยาก็เพื่อลดระดับไขมัน Triglyceride เพิ่มระดับไขมัน HDL(ทำ หน้าที่เก็บกวาดคอเลสเตอรอลจากหลอดเลือดไปขจัดที่ตับ นับว่าเป็นไขมันชนิดดี) และลดระดับไขมัน LDL(ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลออกจากตับไปสะสมตามผนังหลอดเลือด ถือว่าเป็นไขมันชนิดไม่ดี) ซึ่งเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคเบาหวาน
พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งพุงโตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสะสมโรคมากขึ้นนั่นเอง รู้อย่างนี้แล้ว หันมาออกกำลังกายวันละนิด ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมทีละน้อย ทำบ่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวแล้ว ยังเป็นเหมือนเกราะป้องกันโรคภัยต่างๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย...
ข้อมูลโดย ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
www.vejthani.com