หน้าที่และความซื่อสัตย์ของเมียในสังคมไทย

หน้าที่และความซื่อสัตย์ของเมียในสังคมไทย


 

 

         

         ความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งของผู้หญิงที่เป็นเมียถูกคาดหวัง และถูกให้ความสำคัญจนน่าตกใจทั้งในส่วนของสามัญชนและชนชั้นสูง ในวรรณกรรมอีสานเรื่องพญาคำกองสอนไพร่ได้ด่าว่าเมียที่ไปมีชู้ มีตัณหาร้อน ฆ่าผัว ขโมยของผัวไปให้ชู้ เป็น "หญิงชาติชั่ว" เสียชาติเกิด และต้องตกนรกหมกไหม้ และควรต้องถูกหอกดาบฟันให้ตาย และตามกฎหมายธรรมศาสตร์ขุนบรม ซึ่งถือเป็นข้อบังคับเก่าแก่ของอีสาน ได้ระบุให้ผัวฆ่าทั้งเมียและชู้ได้ ถ้าไม่ฆ่าก็ให้ผัวเรียกค่าสินไหมจนหมดสิ้น โดยให้ส่วนหนึ่งเป็นของสามี อีกส่วนเป็นของบิดามารดาผู้หญิง และยังให้คนที่ช่วยจับเมียที่มีชู้ด้วย โดยทรัพย์ของผู้หญิงที่มีให้ผัวสองส่วนและคนจับหนึ่งส่วน

            

             และในขณะที่ภรรยาที่คบชู้ถูกด่าว่า สาปแช่ง และถูกลงโทษอย่างรุนแรง ผู้ที่เป็นสามีสามารถมีภรรยากี่คนก็ได้ โดยถูกต้องตามกฎหมาย และมีได้หลายประเภท คือ เมียกลางเมือง ภรรยาพระราชทาน เมียกลางนอก เมียกลางทาษี โดยมากจำนวนของเมียที่จะมีขึ้นอยู่กับฐานะ ความร่ำรวยของผู้ชายนั้น

"คนมั่งมีเท่านั้นที่ริมีภรรยามากกว่าคนเดียว เพื่อประสงค์ให้ภาคภูมิประดับบารมีมากกว่าจะเป็นการแสดงออกทางด้านกามรมณ์" พวกขุนนางสมัยอยุธยาที่มีรายได้จากค่าเช่าถือที่ดินของตน อาจมีเมียมากเท่าไรก็ได้ตามปรารถนา ยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งได้รับความนับหน้าถือตามากขึ้นเท่านั้น พวกขุนนางถือว่าการมีเมียน้อยได้หลายคนนั้นเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาอย่างสูง ขุนนางคนใดไม่มีเมียน้อยก็ถือกันว่าเป็นคนอัตคัดเต็มที ดูปลาตร์เองก็มองว่าถึงกฎหมายยอมให้ผู้ชายสยามมีเมียได้หลายคน แต่จำนวนผู้ชายแบบนี้มีอยู่น้อยมาก เพราะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม การที่มีการยอมรับกันอย่างเป็นทางการย่อมเป็นการแสดงว่า สังคมอนุญาตให้ผู้ชายมีหลายเมีย และเป็นความมีหน้ามีตาอย่างหนึ่งของผู้ชาย

           ความซื่อสัตย์ที่ภรรยาถูกเรียกร้องให้มีแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น อธิบายได้ว่าในสังคมที่เริ่มมีการสะสมทรัพย์สินมากขึ้น ผู้ชายต้องการที่จะให้แน่ใจว่าทรัพย์สินเหล่านั้นจะถูกสืบทอดไปยังลูกที่เกิดจากตนเองจริง ๆ จึงสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้หญิงนั้นมีตนเพียงคนเดียวและลูกที่เกิดมา คือ ลูกของตน เพราะฉะนั้นความซื่อสัตย์ของเมียเป็นเรื่องสำคัญ แต่การที่ผู้ชายต้องมีเมียคนเดียวเป็นเรื่องไม่จำเป็นและไม่มีผลต่อการสืบทอดมรดก

               อย่างไรก็ตามในกรณีของสังคมไทย อาจพิจารณาอีกแง่มุมหนึ่งได้ไหมว่า เนื่องจากเมียไทยในอดีต เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการเก็บดูแลทรัพย์สินที่หามาของครอบครัว และส่วนใหญ่ฝ่ายผู้หญิงเป็นเจ้าของที่ดินทำกิน ดังนั้น การมีชู้ของเมียย่อมส่งผลสะเทือนต่อการดำรงอยู่และความมั่นคงของครอบครัวอย่างแน่นอน และถ้าพิจารณาว่าในอดีตครอบครัวมีความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างแนบแน่น เพราะคนในชุมชนมีความเป็นเครือญาติกันทั้งสิ้น ผลกระทบที่มีต่อครอบครัวย่อมมีผลต่อชุมชนด้วย เพราะฉะนั้นความซื่อสัตย์ของเมียเป็นเรื่องสำคัญต่อความสงบสุขของชุมชนโดยรวม

            ในขณะที่ผู้หญิงกับความเป็นเมียได้ถูกตอกย้ำอย่างมากมายในวรรณกรรมต่าง ๆ ผู้หญิงกับ ความเป็นแม่ กลับมีน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ และยังพบว่าพ่อสามัญชนอาจมีส่วนในการเลี้ยงลูกมากกว่าที่เคยคิด สะท้อนให้เห็นในเพลงกล่อมเด็กของล้านนาที่ว่า

นอนเหียลูกเหย หลับตาอ้วยส้วย ไผมาขายกล้วย ป้อจะซื้อหือกิ๋น แม่เจ้าไปไฮ่ เปิ้นจะหมกไข่มาหา แม่เจ้าไปนา เปิ้นจะหมกป๋ามาต้อน แม่เจ้ามาเถิง จึงค่อยตื่นกิ๋นนม

การที่ความเป็นแม่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก อาจเพราะว่า การเลี้ยงลูกในอดีตไม่ใช่เป็นเรื่องของแม่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของญาติพี่น้องและชุมชนที่ช่วยเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอน ในหมู่ชนชั้นสูงหรือผู้มีฐานะจะมีคนช่วยดูแลเด็กอยู่ตลอดเวลา ความเป็นแม่ของผู้หญิงเริ่มถูกให้ความสำคัญให้อยู่เหนือความสำคัญอื่น ๆ อย่างชัดเจนในช่วงยุคสมัยจอมพล ป

. พิบูลสงคราม (2481-2487) ที่มีนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงหลายประการ ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเสนอว่าผู้หญิงคือแม่พิมพ์ของชาติ คือ เป็นแม่พิมพ์ของลูก ถ้าแม่ดีลูกก็จะเป็นคนดี ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยสร้างชาติ "การสร้างชาติก็คงสำเหร็ดไม่ได้ (ถ้าขาดผู้หยิง) เพราะหยิงเป็นแม่ เมื่อมีลูก ลูกก็ย่อมเป็นไปตามแม่……หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งที่ว่าหยิงเป็นแม่พิมพ์ในการสร้างชาติ" (จอมพล ป.อ้างในนันทิรา 2530)   เพราะฉะนั้นผู้หญิงต้องบำรุงร่างกาย เพื่อสามารถที่จะเป็นแม่พันธุ์ที่ดี ผู้หญิงที่ไม่มีลูกถือว่าไม่มีประโยชน์กับประเทศชาติเลย สะท้อนให้เห็นจากข้อความในเรื่องขอให้แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว พ.ศ. 2485 ของผู้ที่ใช้นามว่า ศักดิ์ที่กล่าวว่า "พูดถึงภรรยาที่ที่กดหมายรับรองเกิดบังเอิญมีอุปสัก ไม่มีลูกหรือไม่ได้ ซึ่งจะเรียกกันตรง ๆ ว่าไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาติเลย" และกำหนดให้ "ทางฝ่ายชายเป็นผู้หารายได้มาให้ ทางฝ่ายหยิง มีหน้าที่เลี้ยงลูก" แม้หมดยุคสมัยของจอมพล ป.แล้วแต่นโยบายเหล่านี้หรือความเชื่อเช่นนี้ ได้ถูกสืบทอดอย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีการประกวดแม่ดีเด่น หรือการกำหนดให้มีวันแม่ และถูกโฆษณาผ่านตามสื่อต่าง ๆ จนทำให้คิดไปได้ว่าความเป็นแม่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตผู้หญิง ผู้หญิงที่ไม่อยากเป็นแม่หรือไม่ได้เป็น คือคนหรือผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์

 

ที่มา: ตัดตอนจาก "ความเป็นผู้หญิงในสังคมไทย" บทความจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

          วรรณกรรมหลายเรื่องในล้านนา จะพยายามเสนอให้ผู้หญิงไม่ว่า ชนชั้นใดต้องมีความซื่อสัตย์ต่อสามีตลอดไป แม้จะพลัดพรากจากกันนานเท่าใดก็ตาม และจากผลของความซื่อสัตย์นี้ ภรรยาจะได้รับผลตอบแทนที่ดีเสมอ และในมังรายศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายของล้านนา ได้ลงโทษภรรยาที่มีชู้อย่างรุนแรง โดยให้ตัดศีรษะ ตัดหู ปรับไหม และให้สิทธิสามีขายภรรยาที่มีชู้ ขายได้เงินเท่าใด แบ่งให้สามีและบิดามารดาของภรรยาคนละครึ่ง

           

          กฎหมายตราสามดวงก็ระบุโทษในการมีชู้ของเมียไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือสามีสามารถฆ่าชายชู้และเมียตัวเองได้โดยไม่ต้องรับโทษใด ๆ และสามีมีสิทธิยึดทรัพย์ทั้งหมดของภรรยา หรืออาจใช้วิธีการประจานโดยกฎหมายอนุญาตให้เอาปูนเขียนใบหน้าเมียที่มีชู้ เอาดอกชบาแดงทัดสองหูและร้อยเป็นมาลัยใส่ที่ศีรษะและคอ แล้วให้คนตีฆ้องนำหน้าประจานไปทั่ว ลาลูแบร์ได้บันทึกไว้ว่า ถ้าผู้หญิงที่เป็นราชบาทบริจาริกกาของพระมหากษัตริย์ลอบมีชู้ จะถูกให้ลอบสังวาสกับม้า และให้ประหารชีวิต หรือสั่งให้เสือขบ สำหรับกรณีทั่ว ๆ ไป สามีอาจขายภรรยาที่คบชู้ไปเป็นโสเภณี ส่วนชายชู้ซึ่งถือว่าเป็นจำเลยที่ทำผิดร่วมกันกลับได้รับโทษที่เบากว่าผู้หญิงที่กระทำผิด

 

Credit: บ๊องบ๊อง
22 ธ.ค. 53 เวลา 10:52 7,662 16 240
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...