เป็นครั้งแรกสำหรับเมืองไทย ที่มีการนำสรีระมนุษย์มาจัดแสดงโดยใช้ร่างกายของคนจริงๆ หลายคนอาจหวาดกลัวกับการเผชิญกับซากศพ หากแต่นิทรรศการ “บอดี้โชว์” ได้ใช้เทคนิคพิเศษในการเก็บรักษาร่างกายไว้ไม่ให้เน่าเปื่อยและเน่าเหม็น ซึ่งช่วยให้เห็นร่างกายของเราในมุมที่ไม่เคยเห็น และช่วยให้เราได้รู้จักร่างกายของเราดียิ่งขึ้น
นิทรรศการ “เดอะบอดี้โชว์ เอเชียทัวร์ แบงกอก” (The Body Show Asia Tour Bangkok) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.53 - 3 เม.ย.54 ณ เดอะแคปปิตอลคลับ สุขุมวิท 24 เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการแสดงสรีระมนุษย์โดยใช้ร่างกายจริงของคนที่เสียชีวิตแล้ว ซึ่งตระเวณแสดงทั่วเอเชีย โดยเริ่มจัดแสดงครั้งแรกที่สิงคโปร์เมื่อปี 2551 และเคยนำไปจัดแสดงที่อินโดนีเวียเมื่อปี 2552 หลังจัดแสดงที่ไทยแล้วจะนำไปจัดแสดงต่อที่มาเลเซียในปี 2554
ฟอชอน เอง (FauChon Eng) ผู้จัดการโครงการจากบริษัทแมคตุส (Mactus) ผู้นำนิทรรศการเข้ามาจัดแสดงในไทยกล่าวว่า ร่างกายที่นำมาจัดแสดงนั้นได้มาจากองค์กรที่รับบริจาคร่างกายผู้เสียชีวิต ซึ่งเจ้าของร่างกายรับทราบถึงสถานะและวัตถุประสงค์ของการนำร่างกายมาจัดแสดงทุกอย่าง โดยร่างกายที่จัดแสดงนั้นถูกเก็บรักษาไว้โดยการดึงน้ำออกจากร่างกายแล้วใส่พอลิเมอร์เข้าไปแทนที่ ทำให้เหมือนเป็นพลาสติกมากขึ้น ดูแลง่าย แต่ก็ยังไม่ใช่พลาสติกเพราะยังมีอวัยวะจริงอยู่
โอกาสนี้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เป็นประธานในการเปิดแสดงนิทรรศการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งนำคณะสื่อมวลชนชมนิทรรศการ รวมถึงอธิบายถึงการทำงานของอวัยวะและให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ในนิทรรศการดังกล่าว โดยกล่าวว่าจุดเริ่มต้นของเทคนิคการเก็บรักษาร่างกายเช่นนี้เกิดจากความต้องการรักษาศพของบุคคลอันที่รัก ซึ่งยุคแรกๆ ใช้พาราฟีน และได้พัฒนาเลยมาจนเป็นพอลิเมอร์ในปัจจุบัน
คุณหญิงหมอนักผ่าศพอธิบายว่า หลักการพื้นฐานของกระบวนการรักษาศพเช่นนี้คือการทำให้เซลล์ในร่างกายไม่ยุบ โดยต้องดึงน้ำออกจากเซลล์แล้วใส่อะไรเข้าไป จากนั้นร่างกายจะไม่เน่า แต่การเก็บรักษาร่างกายไว้ได้นานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บรักษา และขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันในร่างกาย หากอ้วนมากจะมีไขมันมากและเก็บไว้ได้ไม่นาน
“การแสดงครั้งนี้ทำให้ความน่ากลัวน้อยลงกว่าการแสดงร่างกายแบบอื่นๆ มีความเป็นศิลปะมากขึ้น เห็นร่างกายได้ละเอียดขึ้น เห็นเข้าไปหมดถึงเส้นประสาท เส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดง กล้ามเนื้อ ระบบประสาท และไม่แสบตาจากน้ำยารักษาสภาพศพ แต่มีกลิ่นผสมระหว่างร่างกายกับพอลิเมอร์ หากใครสักคนอกหักก็มาดูนิทรรศการนี้แล้วจะเห็นว่าผู้ชายที่เรารักนักรักหนานั้นก็มีกล้ามเนื้อ มีอวัยวะเป็นอย่างที่เห็นนี่เอง และยังเข้าใจถึงการเกิดมะเร็งจากการสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร และถ้าอ่านหนังสือมาจะเห็นชัดว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์อ่านตำราอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้ามาดูจะเห็นภาพชัดขึ้น” พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว
ส่วนเด็กๆ ที่เข้ามาดูนิทรรศการนี้แล้ว จะกลัวหรือไม่นั้น คุณหญิงหมอพรทิพย์ตอบคำถามว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เด็กควรจะได้เห็นและเข้าใจในร่างกายของคนตาย มากกว่าที่จะไปหลอกให้กลัวเรื่องผี พร้อมทั้งบอกด้วยว่า การอยู่กับศพและเห็นร่างกายของคนมากๆ นี่เองทำให้หมอผ่าศพผู้นี้ลดความต้องการในการกินเนื้อน้อยลง
ในส่วนของนิทรรศการด้านสมองซึ่งใช้ร่างกายของเด็กจัดแสดงนั้น พญ.คุณหญิงพรทิพย์อธิบายว่า ร่องและรอยหยักของสมองที่จัดแสดงนั้นแสดงให้เห็นถึงความฉลาด ซึ่งในกรณีของสมองสัตว์นั้นรอยหยักจะไม่ลึกและไม่ยึกยักมาก และสมองนี้จะไปสั่งการให้เส้นประสาททำงาน โดยในส่วนของนิทรรศการท่าตีกอล์ฟนั้นแสดงให้เห็นถึงการทำงานของกล้ามเนื้อซึ่งทำหน้าที่บังคับให้กระดูกเคลื่อนที่ โดยกล้ามเนื้อนั้นทำงานได้จากการบังคับของสมองและเส้นประสาท โดยลักษณะการทำงานทั้งหมดเป็นแบบ “ไปด้วยกัน” (Synchronize)
กะโหลกศรีษะและสมองเด็กน้อย ที่แสดงให้เห็นรอยหยักและร่องลึกซึ่งมากกว่าสมองสัตว์ (ภาพโดย ศิวกร แสนสอน)
อีกนิทรรศการที่น่าสนใจคือส่วนแสดงกล้ามเนื้อทั้งหมดในร่างกาย ซึ่งแผ่ออกให้เป็นชิ้นๆ ในส่วนของแขน-ขาจะเห็น “กล้ามเนื้อมัดใหญ่” ที่ชัดเจน แต่ยังมีกล้ามเนื้ออีกประเภทคือ “กล้ามเนื้อมัดเล็ก” ที่มีอยู่ตรงใบหน้ามากที่สุด ซึ่งการยิ้มอย่างมีความสุขนั้นจะใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กทั้งหมด 110 มัด ส่วนร่างกายที่แสดงในท่าเล่นฟุตบอลนั้นเป็นร่างกายที่คุณหญิงหมอกล่าวว่า ใช้เทคนิคการเก็บรักษาสุดยอดมากเพราะมีอวัยวะภายในครบ ซึ่งอวัยวะภายในนี้เป็นส่วนที่เน่าเร็วที่สุดในร่างกาย
ภาพแสดงให้เห็นกล้ามเนื้อทั้งหมดในร่างกายมนุษย์
ในส่วนของนิทรรศการทางเดินอาาหารที่แสดงให้เห็นตั้งแต่ศรีษะ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลงไปถึงลำไส้นั้น พญ.คุณหญิงพรทิพย์อธิบายว่าระบบประสาทจะควบคุมได้ถึงการทำงานของหลอดอาหารให้กลืนหรือไม่กลืนเท่านั้น เมื่ออาหารลงไปถึงกระเพาะแล้วการทำงานของอวัยวะที่เหลือจะเป็นแบบอัตโนมัติโดยการควบคุมของประสาทอัตโนมัติ ไม่เช่นนั้นอาหารจะค้างในระบบและเน่าเสีย
การออกท่าทางต่างๆ ซึ่งอาศัยกล้ามเนื้อควบคุมการเคลื่อนที่ของกระดูก โดยการสั่งงานของสมองและเส้นประสาทอีกที
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการการแสดงร่างกายผู้หญิงที่ผ่าออกเป็นแผ่นบางๆ ให้เห็นคล้ายๆ ภาพจากเครื่อง “ทีซี แสกน” (CT Scan) ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาพซีทีแกนและภาพเอ็กซเรย์จะบอกได้ว่าเจ้าของร่างกายมีโรคหรือความผิดปกติใดหรือไม่ จากการแปรความเข้มของภาพ ในส่วนของเต้านมผู้หญิงล้วนคล้ายกันแต่ความแตกต่างของขนาดเล็ก-ใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณไขมัน แต่เราไม่สามารถควบคุมได้ว่ากินไขมันมากแล้วจะเสริมในอวัยวะส่วนนี้ ซึ่งหากกินไขมันเยอะไปจะไปสะสมที่บั้นท้าย
ร่างกายในท่าเล่นกีฬาฟุตบอล
ส่วนคำพังเพยที่ว่า “กะโหลกบางตายช้าหนา กะโหลกหนาตายเร็ว” นั้น คุณหญิงหมอกล่าวว่าไม่เป็นความจริง พร้อมทั้งชี้ให้ดูชิ้นส่วนกะโหลกที่หนาประมาณ 2 เซนติเมตร ซึ่งส่วนของหน้าผากและกะโหลกส่วนหลังนั้นมีความหนาที่สุด หากโดนตีแล้วไม่เป็นไร แต่ส่วนที่กะโหลกบางที่สุดอยู่บริเวณขยับ ซึ่งหากโดนตีบริเวณดังกล่าวมีโอกาสตายได้ง่ายกว่า
ร่างกายนี้ใช้เทคนิคพิเศษที่รักษาอวัยวะภายในซึ่งเป็นส่วนที่เน่าเร็วที่สุดไว้ได้
(ภาพโดยศิวกร แสนสอน)
“ผู้ที่เข้าใจนิทรรศการเหล่านี้มากที่สุดคือหมอผ่าศพ” พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวหลังจบการนำชมนิทรรศการ
ส่วนแสดงทางเดินอาหารและกระเพาะอาหาร
กระเพาะมนุษย์ ซึ่ง คุหณหญิงหมอบอกว่าเป็นลักษณะของ "กระเพาะคราก"
เนื่องจากการกินอาหารมากเกินไปจนกระเพาะขยายใหญ่
กล้ามเนื้อมัดเล้กและเส้นประสาทควบคุมใบหน้า (ภาพโดยศิวกร แสนสอน)
ภาพตัดตามยาวของร่างกายผู้ชาย คล้ายภาพจากเครื่องซีทีสแกน
(ภาพโดยศิวกร แสนสอน)
ภาพตัดขวางของร่างกายผู้หญิง (ยกเว้นส่วนมือและเท้า)
แผนที่แสดงสถานที่จัดนิทรรศการ เดอะบอดี้โชว์
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าใจนิทรรศการร่างกาย “เดอะบอดี้โชว์” นี้ สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ - 3 เม.ย.54 ณ เดอะแคปปิตอล คลับ ช.สุขุมวิท 24 ในวันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี ตั้งแต่ 11.00-21.00 น. และวันศุกร์-เสาร์ ตั้งแต่ 11.00-22.00 น. โดยเสียค่าเข้าชมคนละ 300 บาท ส่วนนักเรียน นิสิต-นักศึกษาและผู้ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อรับส่วนลดได้ที่ 0-2625-3095 หรือ 08-6044-2145