ปัจจุบันศิลปะการแสดงพื้นบ้านได้รับความนิยมลดน้อยลง เนื่องด้วยเหตุผล และปัจจัยในหลายๆ ด้าน เช่น การที่เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน การได้รับวัฒนธรรมชาติตะวันตกมากขึ้น เป็นต้น ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ทำให้ศิลปะพื้นบ้านของไทยเริ่มเลือนหายไป
ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทยนั้นมีความน่าสนใจมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นของภาคไหนก็มีเสน่ห์ กลิ่นไอ ความเป็นอยู่ของภาคนั้นๆ ที่แสดงออกมาในการแสดงเพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้
โนรา หรือ มโนห์รา (เขียนเป็น มโนรา หรือ มโนราห์ ก็ได้) เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลายใน ภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่อง และมีบางส่วนแสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม
โนรา เป็นศิลปะพื้นเมืองภาคใต้เรียกว่า โนรา แต่คำว่า มโนราห์ หรือ มโนห์รา นั้นเป็นคำที่เกิดขึ้นมาเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการนำเอาเรื่อง พระสุธน-มโนราห์ มาแสดงเป็นละครชาตรี จึงมีคำเรียกว่า มโนราห์
ส่วนกำเนิดของโนรานั้น สันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลจากการ ร่ายรำของอินเดียโบราณก่อนสมัยศรีวิชัยที่มาจากพ่อค้าชาวอินเดีย สังเกตได้จากเครื่องดนตรีที่ เรียกว่า เบ็ญจสังคีต ซึ่งประกอบด้วย โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ใน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโนรา และท่ารำของโนราอีกหลายท่าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการร่ายรำของทางอินเดีย และเริ่มมีโนราเป็นกิจลักษณะขึ้นเมื่อประมาณปี พุทธศักราชที่ 1820 ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยตอนต้น
เชื่อกันว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่ หัวเมืองพัทลุง ปัจจุบันคือ ตำบลบางแก้ว จังหวัดพัทลุง แล้วแพร่ขยายไปยังหัวเมืองอื่นๆ ของภาคใต้ จนไปถึงภาคกลางจนกลายเป็นละครชาตรี และจังหวะตะลุงก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้
โนรา เกิดขึ้นในราชสำนักของพัทลุงซึ่งมีตำนานเล่ากันมาว่า เจ้าเมืองพัทลุง มีชื่อว่าพระยาสายฟ้าฟาด มีลูกสาวที่ชื่อ ศรีมาลา ซึ่งมีความสามารถในการร่ายรำมาก ได้เกิดตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน เชื่อกันว่า เป็นท้องกับเทวดา พระยาสายฟ้าฟาดเห็นดังนั้นก็โกรธมาก สั่งให้นำนางศรีมาลาไปลอยแพในทะเล (คือ ทะเลสาปสงขลา) และแพได้ไปติดที่เกาะใหญ่ นางศรีมาลาก็ ได้ให้กำเนิดลูกชาย โดยตั้งชื่อว่า เทพสิงหล ซึ่งมีนัยความว่า ลูกของเทวดา นางศรีมาลา ได้ฝึกให้เทพสิงหลฝึกร่ายรำ ซึ่งเทพสิงหลก็สามารถร่ายรำได้สวยงามมาก และร่ายรำจนมีชื่อเสียงมากที่เกาะใหญ่ จนรู้ไปถึงหูพระยาสายฟ้าฟาด ซึ่งพระยาสายฟ้าฟาดก็ยังไม่รู้ว่าหลานตัวเอง ก็ได้เชิญไปรำในราชสำนัก ฝ่ายนางศรีมาลานั้น ก็น้อยเนื้อต่ำใจเมื่อครั้งที่ถูกลอยแพ ก็บอกกับคนที่มาติดต่อว่า โนราคณะนี้จะไปรำได้ แต่ต้องปูผ้าขาวตั้งแต่ริมฝั่งที่ลงจากเรือจนไปถึงตำหนัก พระยาสายฟ้าฟาดก็ตอบตกลง ดังนั้นเทพสิงหลจึงไปรำในราชสำนัก เทพสิงหลรำได้สวยงามมาก จนพระยาสายฟ้าฟาดตกตะลึงในความสวยงาม จึงถอดเครื่องทรงที่ ทรงอยู่ให้กับเทพสิงหล แล้วบอกว่า "เครื่องแต่งกายกษัตริย์ชุดนี้มอบให้เป็นเครื่องแต่งกายของโนรานับแต่นี้เป็นต้นไป" เทพสิงหลจึงบอกว่าแท้จริงแล้วเป็นหลานของพระยาสายฟ้าฟาด พระยาสายฟ้าฟาดจึงรับโนราไว้ในราชสำนักและให้สิทธิแต่งกายเหมือนกษัตริย์ทุกประการ
เห็นมั้ยหล่ะครับว่า ศิลปะการแสดงพื้นบ้านนั้น น่าสนใจมากเลยทีเดียว เราควรที่จะอนุรักษ์และสืบทอดกันไว้นะครับ เพื่อให้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านอยู่กับประเทศไทยของเราต่อไปนะครับ คราวหน้าผมจะเสนอ ตอนเครื่องแต่งกายมโนราห์ อย่าลืมติดตามนะครับ ว่าเครื่องแต่งกายนั้นจะมีอะไรบ้าง น่าสนใจมากเลยทีเดียวครับ……