6 BEST TECHNIQUE FOR PORTRAIT (FOTOINFO)
เทคนิคในการถ่ายภาพที่นักถ่ายภาพนำใช้เมื่อถ่ายภาพบุคคลด้วยแสงธรรมชาตินั้นมีมากมายหลายแบบการถ่ายภาพบุคคลในสภาพแสงธรรมชาตินั้นเปิดกว้างต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของนักถ่ายภาพ บางเทคนิคได้ผลที่น่าพอใจ แต่บางเทคนิคก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จหรือได้รับความนิยมมากนัก เราจึงรวบรวมเอาเทคนิคที่เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลด้วยแสงธรรมชาติมาไว้ เป็นเทคนิคไม้ตายที่นำมาใช้ได้อยู่เสมอ ภาพจะยังคงดูแล้วน่าสนใจแม้ว่าเวลาจะเปลี่ยนไป
แน่นอนครับว่าทั้งหมดไม่ใช่เทคนิคใหม่ เพราะถูกคิดค้นขึ้นและใช้ในการถ่ายภาพกันมานานแล้ว หลายคนอาจทราบดี แต่ยังถ่ายภาพด้วยเทคนิคนั้น ๆ แล้วยังไม่ได้ผลดี ลองมาดูกันว่าในแต่ละเทคนิคที่ได้รับความนิยมเหล่านี้ มีรายละเอียดในการถ่ายภาพอย่างไร ให้ได้ผลที่ดี
Eye Contact
เทคนิคที่สำคัญและง่ายที่สุดอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพบุคคลด้วยแสงธรรมชาติ ก็คือการใช้ Eye Contact หรือการสื่อสารผ่านสายตา สายตาของแบบในภาพจะเป็นจุดหยุดสายตาในการดูภาพ ตำแหน่งในการวางดวงตาของแบบในภาพ โดยเฉพาะการถ่ายภาพบุคคลแบบครึ่งตัวหรือครอปตั้งแต่หัวไหล่ขึ้นไป ตาของแบบในภาพจะต้องอยู่ที่บริเวณเหนือ 1/3 ด้านบนของภาพ
แววตาเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงอารมณ์ และมีผลกับภาพโดยตรง ในภาพที่ต้องการบรรยากาศสดใส ร่าเริง นักถ่ายภาพก็ต้องพยายามเก็บประกายแววตาที่สะท้อนออกมาให้ได้มากที่สุด อุปกรณ์สะท้อนแสงอย่างรีเฟล็กซ์ แฟลช หรือดวงไฟแบบต่าง ๆ ช่วยเสริมแววตาให้มากขึ้นได้ หากในสภาพแสงนั้นไม่ส่งเสริมให้เกิดแววตานัก ก็จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้ช่วย จากภาพตัวอย่างแม้ว่าสภาพแสงจะดูลงตัวแล้ว แต่ยังต้องการเพิ่มแววตาให้กับแบบมากขึ้น จึงเลือกใช้แฟลชที่ยิงแสงเบี่ยงหลบเบา ๆ จนแสงแฟลชแทบจะไม่มีผลต่อภาพ แต่ในแววตาของแบบสามารถสะท้อนออกมาได้ เมื่อผสมกับแสงด้านนอกแววตาของแบบในภาพจึงดูเป็นธรรมชาติมา
Hi Key
เทคนิคการถ่ายภาพง่าย ๆ ที่ได้ผลที่น่าพอใจอีกวิธีหนึ่งคือ การเปิดรับค่าแสง ให้มากกว่าหรือน้อยกว่าพอดี สำหรับภาพบุคคลนั้นการเปิดรับค่าแสงให้มากกว่าค่าพอดี (Overexposure) ภาพในลักษณะนี้เรียกว่า Hi Key แต่ไม่ใช่ว่าภาพทุกภาพที่จะชดเชยให้โอเวอร์ขึ้นแล้วจะดูดีไปหมด การชดเชยแสงให้โอเวอร์ขึ้นนั้น จะทำให้รายละเอียดของภาพบางส่วนหายไป บรรยากาศของภาพที่ไม่เข้ากันกับภาพแบบ Hi Key กลับส่งผลในทางลบกลายเป็นภาพเสีย ใช้งานไม่ได้มากกว่าที่จะเป็นภาพดี
ภาพใดสถานการณ์ใดจะเหมาะที่จะถ่ายภาพแบบ Hi Key นั้น ก็จะขึ้นอยู่กับแนวคิดและคอนเซปต์ของภาพโดยรวมครับ สภาพแสงที่แนะนำและมักใช้ร่วมกับเทคนิคการถ่ายภาพแบบ Hi Key ได้ดีคือการถ่ายภาพในลักษณะย้อนแสงในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น แสงอุ่น ๆ จะช่วยทำให้บรรยากาศของภาพชวนมอง ภาพอาจจะดูฟุ้ง ๆ และมีรายละเอียดที่ตัวแบบด้วย ถ้าหากถ่ายภาพ โดยไม่ชดเชยไปในทิศทางโอเวอร์รายละเอียดที่ตัวแบบจะเข้มดำ ไม่มีรายละเอียดที่บริเวณใบหน้าเคล็ดลับสำคัญคือการเลือกสภาพแสงในโทนอุ่น ถ่ายภาพในทิศทางย้อนแสง และควรตัดแหล่งกำเนิดแสงออไปจากเฟรมภาพด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วสภาพแสงจะมีค่าความเปรียบต่างสูงมากเกินไป
Back Light
ช่วงเวลาทองของการถ่ายภาพนั้นจะเป็นช่วงเวลาเช้าหรือเย็น สภาพแสงแดดอุ่น ๆ หรือแสงสีของช่วงเวลา Twilight มีเทคนิคการถ่ายภาพมากมายที่ใช้ในการถ่ายภาพบุคคลในช่วงเวลานี้ หากเป็นการเตรียมไปถ่ายภาพ แบบอยู่ในสภาพที่พร้อมกับการถ่ายภาพ เสื้อผ้าหน้าผมได้รับการตกแต่งเข้ากันได้ดีนั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะแสงในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นช่วยส่งเสริมให้ภาพบุคคลดูน่าสนใจขึ้นได้ไม่ยาก แต่ในกรณีที่แบบไม่ได้เตรียมตัวไปถ่ายภาพโดยเฉพาะ การเดินทางในแบบท่องเที่ยวบางครั้งเวลาเช้าตรู่หลายคนยังไม่ได้กระจกดูสภาพตัวเองเลยด้วยซ้ำ หากเลือกการถ่ายภาพแบบปกติใช้แฟลชเปิดรายละเอียดให้กับตัวแบบ ด้วยความไม่พร้อมของแบบอาจทำให้ภาพดูไม่น่าสนใจเลย
เทคนิคการถ่ายภาพที่ช่วยให้แบบยังดูน่าสนใจยังรู้ว่าใครเป็นใคร ไม่เข้มดำเป็นแบบภาพเงามืด คือการถ่ายภาพโดยการใช้แสงหลัง Back Light ซึ่งก็ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่การจะให้ได้ภาพที่ดีน่าสนใจนั้น นอกจากสภาพแสงที่มีสีสันสวยงามแล้ว แบบต้องอยู่ในท่าทางที่มีเรื่องราว และหันหามุมที่แสดงโครงร่างของใบหน้า แสงต้องช่วยไฮไลท์บริเวณขอบของโครงร่างใบหน้า เสื้อผ้า ผม รายละเอียดที่ไม่น่าสนใจเนื่องจากความไม่พร้อมของตัวแบบจะถูกซ่อนไว้ในเงามืด เทคนิคนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ได้ผลเสมอ
Fill In Flash
การถ่ายภาพบุคคลร่วมกับแสงฉากหลัง หรือวิวทิวทัศน์นั้นเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่เสมอ และแน่นอนว่าถ้าหากความแตกต่างของค่าแสงที่บริเวณตัวแบบมีค่าน้อยกว่าแสงที่ฉากหลัง ก็มีความจำเป็นต้องใช้แฟลชในการถ่ายภาพ ปัญหาก็คือการใช้แฟลชในการถ่ายภาพบุคคลแบบครึ่งตัว ซึ่งพื้นที่ของบุคคลในภาพจะมีพื้นที่ค่อนข้างมากทำให้เห็นข้อบกพร่องเรื่องแสงบนตัวแบบได้ชัดเจน แสงแฟลชติดบนตัวกล้องที่มีลักษณะแสงแข็งจะทำให้แบบดูไม่น่าสนใจ ภาพแบน
การแก้ไขให้แบบได้รับแสงแฟลชที่เหมาะสม ภาพดูน่าสนใจขึ้นคือการทำให้แสงแฟลชนุ่มลง อุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกับแฟลช Hot Shoe ได้ดีสะดวกและพกพาง่ายคือแผ่นสะท้อนแสง วิธีใช้คือการยิงแสงแฟลชสะท้อนแผ่นสะท้อนแสง หรือใช้ร่มสีขาวแบบส่องทะลุก็จะช่วยทำให้แสงแฟลชนุ่มลงได้ จากภาพนี้ใช้ร่มทะลุและแยกแฟลชออกนอกตัวกล้อง โดยบังคับทิศทางให้เยื้องไปทางด้านขวา ก็จะทำให้ได้ภาพแบบครึ่งตัวบนฉากหลังที่น่าสนใจ ภาพดูกลมกลืนกัน
Silhouette
ภาพ Silhouette หรือภาพเงามืด อีกหนึ่งเทคนิคในการถ่ายภาพที่ง่ายและคุ้นเคยกันเป็นอย่างมาก ด้วยความง่ายของเทคนิคการถ่ายภาพนี้ ทำให้เราเห็นภาพ Silhouette กันจนเกร่อ หาภาพที่ดูดีน่าประทับใจไม่ได้ง่ายๆ แนวคิดง่ายๆ เมื่อคุณต้องการถ่ายภาพบุคคลแบบ Silhouette ให้น่าสนใจ คือต้องมีฉากหลังที่มีสีสันสวยงาม และมีท่าทางที่ลงตัวกับบรรยากาศ ฟังดูง่ายแต่ต้องใช้ไอเดียอย่างมากครับ
เทคนิคหนึ่งที่ช่วยให้ภาพบุคคลแบบ Silhouette ของคุณดูน่าสนใจขึ้น คือภาพที่มีแอคชั่นบรรยากาศของภาพจะดูสนุกสนานขึ้น แม้จะดูภาพเพียงผ่าน ๆ แอคชั่นที่ว่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกระโดดโลดเต้นไปเสียหมด หากแต่ควรเป็นแอคชั่วท่าทางที่บ่งบอกถึงบุคลิกของตัวแบบได้ อย่างเช่น นักกีฬากำลังเล่นกีฬา พระบิณฑบาตร
Slow Sync Flash
การถ่ายภาพบุคคลร่วมกับไฟประดับตามอาคาร สถานที่ในเมืองในเวลากลางคืนเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการถ่ายภาพที่นิยมกันเป็นอย่างมาก สำหรับนักถ่ายภาพที่มีประสบการณ์ในการถ่ายภาพอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่สำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่ การถ่ายภาพลักษณะเช่นนี้อาจจะไม่ได้ภาพแสงสีในแบบที่ต้องการปัญหาที่พบกับนักถ่ายภาพมือใหม่ก็คือ แสงไฟประดับของฉากหลังที่มองเห็นด้วยตาเปล่าว่าดูสวยงามนั้นกลับมืดแทบมองไม่เห็นรายละเอียด ในความเป็นจริงแม้ว่าจะมองด้วยตาเปล่าว่าแสงไฟประดับต่าง ๆ มีความสว่าง แต่แท้จริงแล้ว กลับมาค่าแสงที่ต่ำมาก เมื่อเทียบแสงแฟลชที่เป็นแหล่งกำเนิดแสงหลักให้กับบุคคลในภาพ ระบบแฟลชแบบสัมพันธ์ความไวชัตเตอร์ต่ำ คือระบบที่จะช่วยให้ได้แสงของฉากหลัง
สิ่งที่ต้องระวังในการใช้ระบบแฟลชนี้ก็คือ ค่าความไวชัตเตอร์ที่อาจต่ำมากจนไม่สามารถถือกล้องด้วยมือได้ มีผลทำให้ภาพเบลอไม่คมชัด หากค่าความไวชัดเตอร์ต่ำมากก็จำเป็นที่จะต้องใช้ขาตั้งกล้อง นอกจากภาพจะไม่ผมชัดด้วยการถือกล้องด้วยมือแล้ว การเคลื่อนไหวของแบบก็อาจทำให้ตัวแบบไม่คมชัดได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นนักถ่ายภาพจะต้องทำความเข้าใจกับแบบด้วยว่าต้องพยายามอยู่นิ่ง ๆ จนกว่าชัตเตอร์จะทำงานเสร็จ ซึ่งนักถ่ายภาพต้องเป็นคนว่าถ่ายภาพเรียบร้อยแล้วเมื่อไร แม้ว่าแบบจะพยายามอยู่นิ่งที่สุดแล้ว แต่ถ้าความไวชัตเตอร์ต่ำมาก ๆ มีค่ามากถึง 1 วินาทีขึ้นไป ก็จะเสี่ยงต่อการที่แบบเคลื่อนไหวได้ เพราะฉะนั้นจะต้องเพิ่มค่าความไวแสงให้สูงขึ้นเพื่อให้ได้ค่าความไวชัตเตอร์ที่สูงขึ้น