พระราชลัญจกรประจำรัชกาล

พระราชลัญจกร เป็นตราประจำพระมหากษัตริย์ แต่ละรัชกาล ซึ่งจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อเริ่มต้นรัชกาล เพื่อประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในเอกสารสำคัญต่างๆของชาติ ที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ ที่ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน พระราชลัญจกรเป็นเครื่องมงคล ที่แสดงถึงอิสริยยศ และพระบรมเดชานุภาพ ของพระมหากษัตริย์ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญด้านวัฒนธรรมของชาติ ที่สืบต่อเนื่องกันมา จนถึงปัจจุบัน.

พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
เป็นรูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ "อุ" อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัว ซึ่งเป็นพฤกษชาติ ที่เป็นสิริมงคลในพระพุทธศาสนา ตราอุณาโลมที่ใช้ตีประทับบนเงินพดด้วงมีรูปร่างคล้ายสังข์เวียนขาวอยู่ในกรอบ มีพื้นเป็นลายกนก ผลิตออกใช้คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2328

 

พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เป็นรูปครุฑยุดนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ฉิม" ตามความหมายของวรรณคดีไทย คือ พญาครุฑซึ่งในเทพนิยายเทวักำเนิด เป็นเทพองค์หนึ่งที่ทรงมหิทธานุภาพยิ่ง แต่ยอมเป็นเทพพาหนะสำหรับพระนารายณ์ ปกติอยู่ที่วิมานฉิมพลี ดังนั้นทรงพระกรุณาให้ใช้รูปครุฑยุดนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ แทนพระบรมนามาภิไธย

 

พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 3
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ทับ" หมายความว่า ที่อยู่ หรือเรือน ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้สร้างรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ แทนพระบรมนามาภิไธย

 

พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นรูปกลมรี ลายกลางเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "มงกุฎ" ซึ่งเป็นศิราภรณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ อยู่ในเครื่องเบญจราชกุธภัณฑ์ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้างที่ริมขอบทั้งสองข้าง มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์ หรือเพชร ข้างหนึ่งสมุดตำรา พระแว่นสุริยกานต์ หรือพชรมาจากฉายาเมื่อทรงผนวชว่า "วชิรญาณ" ส่วนสมุดตำรามาจากเหตุที่ได้ทรงศึกษา เชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์

 

พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรียกว่า พระราชลัญจกรพระเกี้ยว เป็นรูปพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี "พระเกี้ยว" ประดิษฐ์บนพานแว่นฟ้า เป็นพระราชศัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "จุฬาลงกรณ์" ซึ่งแปลความหมายว่าเป็นศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้าง ที่ริมขอบทั้งสองข้างมีพานแว่นฟ้าและพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรและสมุดตำรานั้น เป็นการเจริญรอยจำลองพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถ

 

พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรียกว่า พระราชลัญจกรพระวชิระ เป็นรูปวชิราวุธ ยอดรัศมีประดิษฐ์บนพานแว่นฟ้าตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบบัวตั้งอยู่สองข้าง เป็นสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย "วชิราวุธ" ซึ่งหมายถึง ศาสตราวุธของพระอินทร์

 

พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 7
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรียกว่า พระราชลัญจกรพระแสงศร เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนีวาต เหนือราวพาดพระแสงเป็นดวงตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องซ้ายและเบื้องขวาของราวพาดพระแสงตั้งบังแทรก สอดแทรกด้วยลายกนกอยู่บนพื้นตอนบนของดวงตรา พระแสงศร 3 องค์นี้ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ประชาธิปกศักดิเดชน์" ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์ คำสุดท้ายของวรรคที่ว่า "เดชน์" แปลว่า ลูกศร

 

พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 8
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
เป็นรูปพระโพธิสัตว์ ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน หมายถึงแผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม และมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี มีแท่นรองรับตั้งฉัตรบริวารทั้งสองข้าง เป็นพระราชสัญลักษณ์ของบรมนามาภิไธยว่า "อานันทมหิดล" ซึ่งแปลความว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน เพราะพระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลย ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ใน ระบอบประชาธิปไตย ด้วยความยินดีของอเนกนิกรชาวไทย ประหนึ่งพระโพธิสัตว์ เสด็จมาประทานความร่มเย็น เป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล

 

พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น "อุ" หรือ "เลข9" รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร 7 ชั้น ฉัตรตั้งอญุ่บนพระที่นั่งอัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยที่วันบรมราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้ง8 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภา แทนที่จะรับจากราชบัณฑิตดั่งในรัชกาลก่อน

Credit: http://supphakitpotaset.clipmass.com
12 ธ.ค. 53 เวลา 16:31 6,275 15 210
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...