... เป็นบิดรผู้รักษา ... บ่มบุตร ...
วันนี้จะกล่าวถึงบทบาทของในหลวง ในวันที่ทรงเป็น
“พ่อ” ของพระโอรสและพระธิดาทั้งสี่พระองค์ค่ะ
หลังพิธีราชาภิเษกสมรส ในวันที่ 28 เมษายน 2493
เกือบปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้สัมผัสกับ
ความเป็น “พ่อ” ครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2494
ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์
ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมีพระประสูติกาล
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญา
สิริรัตนาพรรณวดี...
และในปีถัดมา...
วันจันทร์วันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันพระราชสมภพ
ของในหลวง...
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ บรมจักร
ยาดิศร สันตติวงศ์ เทเวศธำรงสุบริบาล อภิคูณุปการ
มหิตลาดุลเดช ภูมิพลเนรศวรางกูล กิตติสิริสมบูรณ์
สวางควัฒน์ บรมขัตติยะราชกุมาร... ก็ประสูติ
ในวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495
ทำให้บทบาทของ “พ่อ” ทรงชัดเจนยิ่งขึ้น...
จากนั้น...
ในเดือนที่ทรงเคยมีพิธีราชาภิเษกสมรส (เมษายน)
เวลาต้นเดือน ของวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา
กิติวัฒนาดุลโสภาคย์...
ก็ทรงมีพระประสูติกาลขึ้น ณ สถานที่เดียวกับ
เจ้าฟ้าชาย นั่นคือพระที่นั่งอัมพรสถาน (พระราชวังดุสิต)
ในวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2500
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี
ทรงประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานเช่นกัน
หลังจากนั้นวังสวนจิตร (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน)
ก็ต่อเติมเสร็จ ทุกพระองค์จึงได้ย้ายไปอยู่ที่นั่น...
(ป้าชอบภาพนี้นะ ดูเหมือนเจ้าฟ้าหญิงพระองค์เล็ก จะ
โปรดให้อุ้มเช่นนี้ เพราะยังมีภาพที่สมเด็จพระนางเจ้า
อุ้มพระองค์ท่าน ในท่านี้อีกภาพ ดูเป็นอารมณ์ของลูกสาว
คนเล็กที่ใครๆก็รัก
)
ทุกพระองค์ ล้วนเติบโตในวังสวนจิตรฯ ภายใต้พระหัตถ์
ของ "พ่อ" ผู้มีภารกิจต่อปวงชนมากมายเช่นในหลวง
แต่ต่อให้มีภาระกิจมากมายเพียงใด เราก็ยังได้เห็นภาพ
"ครอบครัว" ที่อบอุ่น ผู้เป็นบิดาที่ทรงงานหนักหนา
แต่มิเคยละเลย "ลูก" ของท่าน...
ดังนั้นใครที่ว่างานหนักจนลืมลูก ขอให้มอง "ในหลวง"
สักนิดเถิดค่ะ ว่า "พ่อ" คนนี้ ทรงทำงานน้อยกว่าคุณไหม...
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกิจกรรมกับพระโอรส
และธิดาต่างกัน เช่นทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ซึ่งมี
ช่วงที่มิได้อยู่ในประเทศไทยค่อนข้างนาน
แต่เมื่อกลับมาก็ยังได้ถวายงาน โดยเป็นตัวแทน และ
จัดตั้งกลุ่มมูลนิธิของตนเองขึ้น เช่นเดียวกับสมเด็จ
พระเจ้าลูกเธอองค์อื่นๆ
เมื่อยามทูลกระหม่อมฯ ยังเยาว์ ในหลวงได้ทรงกีฬา
ประเภทเรือใบ กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิง
อุบลรัตน์ฯ (พระยศในขณะนั้น) จนได้รับเหรียญทอง
ในการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค จากกีฬาแหลมทอง
ครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2510) มาแล้ว
ซึ่งปัจจุบันคือกีฬาซีเกมส์ เพราะทำการเพิ่มฟิลิปปินส์
กับอินโดนีเซีย จึงขยายออกเป็น กีฬา เซาท์อีสเอเชีย
จากที่แต่ก่อนเล่นกันในเฉพาะประเทศในเขตแหลมทองเท่านั้น
ภาพที่สองพระองค์ทรงยินดีในชัยชนะวันนั้น ยังเป็นที่
ถ่ายทอดต่อมาอีกทุกครั้งที่มีการพูดถึงพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวกับกีฬา
(วันที่ชนะนั่นคือวันที่ 16 ธ.ค. 2510 ซึ่งปัจจุบันคือ
"วันกีฬาแห่งชาติ" นั่นเอง
)
ในวันนี้ ทูลกระหม่อมฯ ก็นำความรู้สึกปลาบปลื้ม
ในวันนั้นมาใช้ เพื่อชักนำเยาวชน หันมาสนใจการ
ออกกำลัง ดนตรี มากกว่าการปล่อยตัวไปกับความ
ไม่ถูกควรต่างๆ แม้จะไม่มีคุณพุ่มแต่ทูลกระหม่อม
ก็หวังให้เยาวชนไทย ห่างไกลยาเสพติด เป็นกำลัง
สำคัญในการพัฒนาชาติ เสริมแรงพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวอีกทาง
ในวันสูญเสียอันยิ่งใหญ่ หลายคนได้เห็นภาพในหลวง
ทรงปลอบโยน เช็ดน้ำพระเนตรให้ทูลกระหม่อมหญิง
อุบลรัตน์ฯแล้ว รู้สึกว่าแม้ท่านจะสูญเสียคุณพุ่มไป
แต่ข้างกายทูลกระหม่อมฯ ยังมี “พ่อ” ของทูลกระหม่อมฯ
คอยคุ้มครอง และเป็นกำลังใจ
ไม่ว่าลูกจะ “โต” แค่ไหน... แต่ “ในหลวง” ก็ยังทรงเป็น
“พ่อ” อยู่เสมอ...
การตามเสด็จ และเป็นผู้แทนพระองค์ในกิจการต่างๆ
เราทุกคนคงผ่านตากันบ้างแล้ว ที่เห็นบ่อยสุดคงเป็น
สมเด็จพระเทพฯ และเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ซึ่งจะมี
ภาพ ยุคแฟชั่นพระสนับเพลา (กางเกง) ยังเป็นขาบานอยู่
บ่งบอกได้ดีว่าเหล่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ – ลูกยาเธอ
ทั้งหลาย ทรงงานกันมานานขนาดไหน แต่บางท่านมัก
คิดว่า ไม่ค่อยได้เห็นสมเด็จพระบรมฯ กันใช่ไหมคะ...
วันนี้ขอเสนอภาพนี้ค่ะ สมเด็จพระบรมฯ ทรงลุยน้ำ
เพื่อตามเสด็จขณะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จจังหวัดสกลนคร (ปี 2528) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่
จากกรมชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาพที่เห็นคือพระบรมฯทรงลุยน้ำ เพื่อจะสาวพระบาท
ไปอยู่ข้างในหลวง ที่พระหัตถ์ถือวิทยุ แผ่นกระดาษ
โครงงาน ห้อยกล้องถ่ายภาพไว้ที่พระศอทำให้เสด็จ
พระราชดำเนินไม่ถนัด
ยังมีอีกหลายภาพ แต่ส่วนมากสมเด็จพระบรมฯ จะยืน
ระวังประดุจทหารอารักขาอยู่รอบนอก จึงไม่ค่อยมีภาพ
ใกล้ชิดในกรอบให้เห็นมากนัก
และส่วนใหญ่มักตามเสด็จในถิ่นทุรกันดาร ภาพที่เห็น
กันมาก มักเป็นตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสียจะ
มากกว่าเพราะจะประคองจูงพระกร "สมเด็จแม่"
ของพระองค์อยู่เสมอ
ยังมีกิจกรรมทางการประมง ดนตรี การทหาร และ
ภารกิจในวันกองทัพไทยอีกมาก
ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบร่วมกับ
สมเด็จพระบรมฯ
เป็นกิจกรรมของ “ลูกชาย” กับ “พ่อ” โดยแท้...
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร
รัฐสีมาคุณากรปิยะชาติ สยามบรมราชกุมารี จริงๆแทบ
ไม่ต้องพูดเลย ว่า “พระเทพฯ” ทรงทำอะไรกับ “พ่อ”
ของพระองค์บ้าง เพราะต่างรู้ซึ้งกันดี
ด้วยพระราชกรณียกิจมีมากมาย แต่ที่เด่นๆในระยะนี้
ก็เห็นจะเป็นการเจริญสัมพันธ์ระหว่างประเทศ...
ถ้าเคยเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้ เช่น จีน
ส.ป.ป.ลาว มาเลเซีย คนที่นั่นจะเอ่ยพระนามสมเด็จ
พระเทพฯ ของเรา อย่างชัดเจน คนลาวบางคนเรียก
พระองค์ว่า “พระเทพฯ” เช่นที่คนไทยเรียก เวลาพูดถึง
จะเหมือนคนไทยมากๆ คือมีสีหน้ายิ้มแย้ม
ถ้าดูแค่ทีวีคงจะสงสัย ว่าเชิญอะไรกันบ่อยๆ แต่ถ้าเรา
ไปยังที่แห่งนั้น จะได้รับรู้ค่ะ ว่าที่เขาเชิญให้ไป
เพราะเค้า “รัก” และ “เทิดทูน” เช่นเดียวกันกับเรา
บางคนคงเคยเห็นภาพสมเด็จพระเทพฯ คุกพระชานุ (เข่า)
ลงกับพื้น ยามรับของถวายจากราชวงศ์ต่างๆ
เราเห็นเองยังรู้สึกว่าเป็นความน่ารักน่าเอ็นดู ทั้งที่ท่าน
มีพระชนม์สูงกว่า 50 พรรษาแล้ว ยังอดยิ้มไม่ได้
กับภาพเช่นนั้น ซึ่งไม่มีการถือพระองค์ มีแต่ความ
นอบน้อมอ่อนหวานเสมอ
คนที่นั่น... จะไม่รู้สึกหรือคะ ถ้าได้เห็นเชื้อพระวงศ์
ทางไทย ปฏิบัติอย่างอ่อนน้อมเช่นนี้ จึงเชิญแล้วเชิญเล่า
เฝ้าแต่เชิญค่ะ แถมท่านยังทรงมีความสนอกสนใจ
ในทุกสิ่ง มีพระอารมณ์ขันในทุกเรื่องที่ได้ประสบ
เช่นเรื่องที่ได้เสวย "หัวตุ๊กแก" ตุ๋นยาจีนในงานเลี้ยง
ถวายถึง 2 หัว (อ๊า...) เป็นคนอื่นคงแอบไปอี๋
แต่สมเด็จพระเทพฯ กลับบอกว่า ที่ได้มากขนาดนี้
เพราะเป็นของดีสำหรับแขกพิเศษเท่านั้น !!!
และก็เสวยไปตามที่มีคนถวาย !!! ไปอีกรอบ
เขาก็ถวายอีก ท่านก็เสวยอีก !!!
(จำมาจากหนังสือพระราชนิพนธ์ ยามเสด็จต่างประเทศค่ะ
แต่จำไม่ได้ว่าเล่มไหน)
สมเด็จพระเทพฯ จึงเป็น “ผู้แทนสัมพันธไมตรี” เพราะ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงไม่โปรดเสวยหัวตุ๊กแก
เป็นแน่
ภาพนี้ป้าชอบมากค่ะ เหมือนสมเด็จพระเทพจะทรงพระดำเนิน
ตามเสด็จพระราชดำเนินในหลวง พร้อมกับ "คุย" กันไปด้วย
ไม่ทราบว่าในขณะนั้น "พ่อ" จะสอนอะไรหรือเปล่า
แต่เป็นภาพอ่อนหวานจริงๆ
ไมได้นำภาพขณะเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศนะคะ
เพราะมีน้อยมาก ที่จะเสด็จร่วมกันในต่างประเทศค่ะ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์
อัครราชกุมารีนั้น ทรงดำเนินตามรอยพระบาท
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรอยที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “อยากเป็น”
คงจำกันได้ว่า เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็น
พระเจ้าน้องยาเธอฯ ในหลวงของเราทรงตั้งมั่นจะ
ศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ต่อเมื่อต้องมีภารกิจหน้าที่
อันสำคัญต่อบ้านเมือง จึงทรงเบนเข็มการศึกษา
มาเป็นรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์แทน
บัดนี้...
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมี “นักวิทยาศาสตร์”
ข้างพระองค์แล้ว คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เล็ก
นั่นเอง...
ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ตั้งสถาบันมะเร็ง เพื่อทำการ
วิจัยศึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็งและขยายโครงการไป
ในแนวทางการทดลองต่างๆเพื่อรักษา และทำให้
คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีพระราชกิจเสริมอีกหลายแบบ
หลายพระองค์เป็นพระอาจารย์ เช่นสมเด็จพระเทพฯ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เล็ก ฯลฯ
ยังมีกิจกรรมอีกมากมาย ที่พระโอรส-พระธิดาของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระราชวงศ์
ทั้งหลายทรงทำ แต่เราไม่เห็น
การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้า
โปรดกระหม่อมมอบภารกิจให้กับ “ลูก” ของพระองค์ท่าน
ต่างแบบกัน ย่อมหมายความว่า “พ่อ” ผู้นี้ทรงทราบ
และเข้าใจดีว่า “ลูก” แต่ละคนต้องการอะไร และมีความ
เหมาะสมด้านไหน ควรสนับสนุนและปลูกฝังอย่างไร
ทรงเป็นบิดาที่มองหนทางของลูก ด้วยสายพระเนตร
อันยาวไกล
ปัจจุบันพระโอรสและพระธิดา ตลอดจนพระเจ้าหลานเธอ
ทุกพระองค์ ล้วนแล้วแต่มีพระราชกรณียกิจ มีมูลนิธิหรือ
องค์กรส่วนพระองค์ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ประสานต่อ -
ก่อความดี - เกื้อกูล – หนุนเนื่อง - สืบทอด – สอดคล้อง
กับ “ในหลวง” ทั้งสิ้น
ทั้งหมดสานเป็นสายใยแห่งครอบครัว ที่แผ่คลุมคุ้มครองประเทศนี้
ทรงพระเจริญ...