หมายเหตุ ผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า "บุ๊ก โซน" ได้เขียนบทความภาษาอังกฤษวิเคราะห์ปรากฏการณ์เรื่องเรียวขาของผู้หญิงพม่าในนิตยสารยุคต่างๆ ลงในเว็บล็อกนิว มันดาลา (นวมณฑล) มติชนออนไลน์เห็นว่านี่เป็นบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ จึงขออนุญาตแปลสรุปความและนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าได้สั่งห้ามนิตยสารที่มีชื่อว่า "ป๊อปปิวลาร์ เจอร์นัล" ออกจำหน่ายเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ในข้อหาตีพิมพ์รูปภาพของนางแบบที่ถูกมองว่ามีลักษณะเข้าข่าย "อนาจาร" ตรงหน้าคู่กลางของวารสาร ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แม้ว่ารูปภาพลักษณะนี้จะเริ่มถูกพบเห็นได้ทั่วไปมากยิ่งขึ้นในประเทศที่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ของภาคเอกชนกำลังแพร่หลาย แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าก็ยังแสดงท่าทีไม่พึงพอใจเมื่อ "ความจริง" และ "จินตนาการ" เริ่มซ้อนทับกัน
หลังจากนั้น "ป๊อปปิวลาร์ เจอร์นัล" ก็ดูเหมือนจะตระหนักถึงบทเรียนที่ได้รับ และหันกลับมาสงวนหน้าหนังสือของตนเองไว้ให้กับรูปภาพของสาวๆ ที่แต่งกายอย่างมิดชิด
แต่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน นิตยสารอีกฉบับอย่าง "ลิฟวิ่ง คัลเลอร์" ก็นำเสนอบทความที่มีเนื้อหาว่าด้วยสไตล์การแต่งตัวของวัยรุ่นพม่ากับวัฒนธรรมที่เป็น "ประเพณีดั้งเดิม" ซึ่งสำรวจความเห็นของวัยรุ่นเกี่ยวกับลักษณะการแต่งกายในรูปแบบเก่าและใหม่ ก่อนจะประเมินว่ากระแสการแต่งกายในพม่ายุคปัจจุบันนั้นเทียบได้กับลักษณะการแต่งกายของชาวกรุงเทพฯเมื่อหลายปีก่อน
โดยบรรณาธิการของนิตยสารฉบับดังกล่าวได้ปรุงแต่งให้บทความมีความร้อนแรงมากขึ้น ด้วยการใส่รูปของสาวๆ ที่เปลือยหัวเข่าและต้นขาตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ประกอบเข้าไป
คำถามที่น่าสนใจได้แก่ การปรากฏภาพท่อนขาของสตรีพม่าในพื้นที่สื่อและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ นั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ซึ่งสร้างความแปลกประหลาดใจให้แก่ชาวพม่าจริงหรือไม่? เรียวขาเหล่านี้กำลังบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลง? หรือสุดท้ายแล้ว เรียวขาเหล่านี้จะมีสถานะเป็นเพียงภาพจำนวนมากมายที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้คน หากไม่ได้บ่งชี้ถึงความหมายใดๆ ตามมา?
จึงน่าสนใจไม่น้อย ที่เราจะลองเปรียบเทียบภาพปกของนิตยสารพม่าในยุคต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่าภาพของผู้หญิงที่ปรากฏในนิตยสารเหล่านั้นผันแปรไปอย่างไรบ้าง
ซึ่งผู้เขียนบทความชิ้นนี้ได้ยกตัวอย่างของนิตยสารที่มีอายุเก่าแก่อย่าง "เมียวดี" มาเป็นกรณีศึกษา
เริ่มต้นจากภาพปกของเมียวดี ในปี ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สื่อพม่าในยุค 50 ปีก่อน สามารถเผยแพร่ภาพท่อนขาเรียวงามของสตรีแบบเต็มๆ ได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 (ราวปลายทศวรรษ 2500) ภาพถ่ายผู้หญิงที่มีลักษณะดึงดูดทางเพศกลับจางหายไป และถูกแทนที่ด้วยภาพถ่ายซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่ถูกประกาศใช้ภายในประเทศ
ดังนั้น ผมของเหล่านางแบบจึงถูกตัดให้สั้นหรือมัดไว้ด้านหลังศีรษะ ส่วนเสื้อผ้าก็มิได้ไร้ซึ่งความหมายใดๆ แบบไม่มีสาระ แต่สตรีเหล่านี้มีงานที่ต้องทำ ภาพปกของเมียวดีในยุคดังกล่าว จึงเป็นรูปหญิงสาวชาวนากำลังกวัดแกว่งเคียวเกี่ยวข้าวอย่างกระตือรือร้น ขณะที่รูปของนักเรียนหญิงกลับดูลงตัวมากกว่า แต่ก็ยังต้องแต่งกายในลักษณะมิดชิดอยู่ดี
เข้าสู่ทศวรรษ 1980 (ราวทศวรรษ 2520) อุดมการณ์สังคมนิยมได้เบาบางลงไป นางแบบตามหน้านิตยสารในยุคนี้จึงมีลักษณะเป็นผู้หญิงทำงานน้อยลง พวกเธอเดินทอดน่องไปมา พวกเธอเป็นตัวแทนคุณสมบัติเฉพาะของสตรีเพศที่มีความหมายไม่เด่นชัดนัก พวกเธอสวมใส่นาฬิกาแบบดิจิตอลและตัดผมทรงสปอร์ต-ดิสโก้
อย่างไรก็ตาม การแต่งกายของนางแบบเหล่านี้ยังมีลักษณะอนุรักษ์นิยมและสุดแสนจะมิดชิดอยู่เช่นเคย
ล่วงเข้าสู่ศตวรรษใหม่ปี 2000 นิตยสารเมียวดีได้เปลี่ยนผ่านยุคของเสื้อกล้ามกางเกงยีนส์ด้วยการหวนกลับไปสู่การแต่งกายแบบ "ประเพณี" อีกครั้งหนึ่ง ผ่านการปฏิเสธกระโปรงแบบมินิสเกิร์ต แต่หันไปสนับสนุนการแต่งกายของสตรีที่เป็นต้นแบบในการยอมรับอำนาจและถูกจำกัดอยู่ในกรอบของรัฐ
นักมานุษยวิทยาชาวต่างชาติผู้มีนามว่า "โมนีค สคิดมอร์" เคยเสนอไว้ว่า ในประเทศพม่านั้น มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับบางประการ ซึ่งส่งผลให้เรือนร่างของผู้หญิงต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติของอำนาจรัฐ ที่พยายามจะสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการอันต่อเนื่องยาวนานของเหล่าบุรุษซึ่งเริ่มประสบความไม่แน่นอน ว่าจะจัดการกับอำนาจในการต่อต้าน (รัฐ) ของผู้หญิงอย่างไร ไปพร้อมๆ กับการค้ำยันสถานะของรัฐแบบผู้ชายให้ยังมีความมั่นคงอยู่
นี่เป็นบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ ท่ามกลางยุคสมัยที่รูปแบบการแต่งกายของผู้หญิงพม่าซึ่งได้รับอิทธิพลจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ละครโทรทัศน์เกาหลี หรือวัฒนธรรมฮิป-ฮอป (ไม่ใช่นิตยสารเมียวดี) กำลังแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว
จนอาจไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในพม่า?