รถแท็กซี่คันแรกของเมืองไทย
รถแท็กซี่เมืองไทยมีวิวัฒนาการที่น่าสนใจไม่น้อย คุณเทพชู ทับทอง ได้เขียนเล่าไว้ว่า
คำว่า " แท็กซี่ " เพิ่งจะมาได้ยินเมื่อ 20 - 30 ปี ที่ผ่านมานี้เอง
แต่ก่อน ชาวพระนครเรียกรถแท็กซี่ว่า " รถไมล์ "
เมื่อราว พ.ศ. 2467 - 2468
พระยาเทพหัสดิน ณ อยุธยา (ผาด) เป็นผู้เริ่มกำหนด แท็กซี่ ครั้งแรกในเมืองไทย
โดยนำเอารถยี่ห้อออสตินขนาดเล็ก ออกวิ่งรับจ้าง โดยติดป้ายรับจ้างไว้ข้างหน้า ข้างหลังของตัวรถ
ซึ่งคนขับรถในสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกทหารอาสา หลังสงครามโลกครั้งที่ 1
สำหรับค่าโดยสารคิดเป็นไมล์ โดยตกไมล์ละ 15 สตางค์
ซึ่งนับว่าแพงมากเมื่อเทียบราคากับค่าโดยสารในปัจจุบัน
รถแท็กซี่ในสมัยบุกเบิกใหม่ๆ นั้น มีอยู่เพียง 14 คัน ในปี 2469
แต่ถึงมีจำนวนน้อย ก็ประสบปัญหาการขาดทุน จนต้องเลิกกิจการ
ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่า ค่าโดยสารแพง ผู้ใช้บริการยังไม่คุ้นเคยจึงไม่ยอมนั่ง
ประกอบกับกรุงเทพฯ ยังมีขนาดเล็ก และมีรถรับจ้างอื่นๆ เช่น รถเจ็กอยู่มาก และราคาถูก
หลังจากเลิกกิจการไปแล้ว กรุงเทพฯ ก็ไม่มีรถแท็กซี่อีกเลย
จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ในปี พ.ศ. 2490 มีผู้นำรถยนต์นั่งมาให้บริการในลักษณะรถแท็กซี่ ซึ่งได้รับความนิยม
จนมีการจัดตั้งเป็นบริษัทเดินรถแท็กซี่ขึ้นมา ใน 3 - 4 ปี ต่อมา
โดยคิดค่าโดยสารกิโลเมตรละ 2 บาท
รถที่นำมาบริการในช่วงนั้น เป็นรถยี่ห้อเรโนลต์เครื่องท้ายคันเล็กๆ
คุณเทพชูฯ บอกว่าคนกรุงเทพฯ สมัยนั้นเรียกว่าแท็กซี่ว่า "เรโนลต์"
ซึ่งเป็นจุดเริ่มความสำเร็จของการเดินรถแท็กซี่ เพราะเป็นที่นิยมของคนทั่วไป
เนื่องจากยังมีรถจำนวนน้อย คนนิยมนั่ง สะดวก รวดเร็วกว่ารถจักรยานสามล้อถีบ ซึ่งมีชุกชุมในยุคนั้น
ด้วยเหตุนี้ทำให้อาชีพขับรถแท็กซี่เป็นที่ฮือฮา
มีผู้นำรถเก๋งไปทำเป็นรถแท็กซี่กันมาก จนระบาดไปต่างจังหวัด
จนต้องมีการควบคุมกำหนดจำนวนรถมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับรถที่นำมาเป็นรถแท็กซี่นั้น
หลังจากเรโนลต์เริ่มเสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งานแล้ว
ได้มีการนำรถออสตินแวนสองประตูสีเทามาใช้แทน
ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นรถดัทสันบลูเบิด
หรือรถเก๋งฮีโน่เครื่องท้ายตามกำลังทรัพย์ของแต่ละบริษัท
จนกระทั่งเป็นรถโตโยต้า รถแลนเซอร์แชมป์
เนื่องจากรถแท็กซี่นั้น บุคคลธรรมดาอาจเป็นเจ้าของได้
บางครั้งจึงอาจพบเห็นรถแท็กซี่ที่ใช้รถฮอนด้าหรือรถเปอร์โยต์นำมาเป็นรถแท็กซี่ด้วย
สำหรับรถแท็กซี่ในเมืองไทย ในปัจจุบัน
เป็นรถปรับอากาศ ติดมิเตอร์ และมีวิทยุสื่อสาร