ยืดอกชมถุง(ยาง)ที่ ?พิพิธภัณฑ์ถุงยางฯ?

 

 

 

ภายในพิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัย

       ...วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ...
       
       เวียนมาถึงกันอีกครั้งกับเทศกาลงานลอยกระทง ประเพณีดั้งเดิมของเราชาวไทย เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า แสดงความกตัญญูสำนึกบุญคุณสายน้ำและขอขมาต่อพระแม่คงคา และเป็นที่แน่นอนว่าในงานเทศกาลยิ่งใหญ่นี้เป็นแหล่งพบปะของหญิง-ชายผู้ในสมัยก่อนที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสคบหาสมาคมกันอย่างสนิทสนมเช่นทุกวันนี้

 


 

ถุงยางอนามัยหลากสี

       แม้ในยุคนี้ เทศกาลลอยกระทงก็ยังคงเป็นแหล่งรวมผู้คนโดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่จูงมือกันมาจุดประทีปแสงเทียนปล่อยกระทงลงสู่แหล่งน้ำตามประเพณีโบราณที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน แต่สิ่งที่หลายๆฝ่ายเป็นห่วงคือที่ผ่านมาเยาวชนยังมีค่านิยมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนในช่วงเทศกาลลอยกระทงอย่างไม่เหมาะสม อาทิ การเที่ยวกลางคืน และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่ระมัดระวังป้องกัน ผลที่ตามมาคือการตั้งครรภ์มีลูกในวัยเรียน หรือเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์

 

 

บรรจุภัณฑ์แบบต่างๆ

       ฉันจึงอยากชวนวัยรุ่นชายหญิง หรือพี่น้องทุกเพศทุกวัยมารู้จักถุงยางอนามัย และเรียนรู้วิธีใช้อย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยกันที่ “พิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัย” กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข แม้ภายในพิพิธภัณฑ์จะเป็นห้องเล็กๆแต่อัดแน่นไปด้วยความรู้ มีการเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์ถุงยางอนามัย
 

 

รูปแบบบรรจุภัณฑ์ถุงยางอนามัย

       พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดเมื่อเดือนกันยายน 2553ที่ผ่านมา ภายในเป็นการเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์ถุงยางอนามัย ยี่ห้อ ชนิด และแบบต่างๆที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยและเพื่อการส่งออก รวมถึงการนำเข้าในยุคแรกๆจนถึงปัจจุบันประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา และวิวัฒนาการในการผลิตถุงยางอนามัยทั้งรูปลักษณ์ที่มีทั้งผิวเรียบ ผิวไม่เรียบ ที่เป็นลายวง ลายจุด รูปทรงที่มีทั้งผนังขนาน ไม่ขนาน มีคอด มีผาย สีสันหลายสี มีแต่งกลิ่นต่างๆ เช่น มินท์ สตรอเบอร์รี่ ช็อคโกแล้ต กล้วยหอม นอกจากนี้ แบบของบรรจุภัณฑ์ ซอง และกล่อง จากที่เรียบๆไม่มีสีสันก็พัฒนามาเป็นแบบมีสีสันมากขึ้น รูปแบบภาพประกอบก็สวยงามดูน่าสนใจ เพื่อแข่งขันทางการค้าดึงดูดความสนใจของผู้ใช้
 

 

ถุงยางอนามัยหลากกลิ่น

       สุภาวรรณ จงธรรมวัฒน์ นักฟิสิกส์รังสี ชำนาญการพิเศษ กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ เล่าว่า ถุงยางอนามัยมีมานานแล้วตั้งแต่ประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยทำจากผ้าลินิน ต่อมาใช้ลำไส้แกะ และยาง เป็นต้น เดิมใช้ในการคุมกำเนิด จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์เมื่อประมาณปี พ.ศ.2527 จึงใช้เพื่อการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย

 

ตัวอย่างถุงยางที่ไม่มีคุณภาพ

       โดยถุงยางอนามัยในยุคแรกๆของบ้านเรานั้นเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ โรงงานผลิตแห่งแรกในประเทศไทยคือบริษัทลอนดอน รอยัล อินดัสตรี้ จำกัด ในยุคแรกนั้นมีถุงยางอนามัยที่ได้รับความฮือฮาก็คือ ถุงยางอนามัยของนายมีชัย วีระไวทยะ ที่รณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการวางแผนครอบครัวจนเรียกกันติดปากว่า “ถุงยางมีชัย”

 

 

ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นต่างๆ

       ปัจจุบันถุงยางอนามัยนิยมทำจากยางพาราหรือยางสังเคราะห์ซึ่งมีคุณภาพดี บาง และเหนียว อีกทั้งยังมีหลากหลายทั้งแบบ กลิ่น และรสชาติ รวมถึงยังมีแบบมียาชาเคลือบเพื่อลดความไวของประสาทสัมผัส หรือในบางกรณีก็มีสารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมเป็นน้ำหรือซิลิโคนออยส์ชนิดที่เข้ากับน้ำได้เพื่อช่วยลดการเสียดสีได้อีกด้วย วิวัฒนาการของถุงยางอนามัยที่พัฒนาเรื่อยมาทำให้การใช้ถุงยางอนามัยในปัจจุบัน นอกจากจะไม่ลดความรู้สึกสุขสมในการร่วมเพศ และยังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์เมื่อยังไม่พร้อมได้ดีกว่าแต่ก่อน และหากในกรณีที่ต้องใช้สารหล่อลื่นช่วย
 

 

ทดสอบความดันและปริมาตรขณะแตก

       ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ก็ยังมีส่วนของ “ห้องทดสอบความดันและปริมาตรขณะแตก” ซึ่งจะทำหน้าที่ทดสอบคุณภาพของถุงยางอนามัย ในเรื่องของความดัน เป็นการดูสภาพความเหนียวและความทนของยาง ด้วยเครื่องมือ Air Burst Machine โดยสวมถุงยางอนามัยกับหัวทดสอบ อัดอากาศเข้าไปและจับเวลาอ่านค่าความดันขณะถุงยางแตกระเบิด เพื่อคำนวณปริมาตรขณะแตก
 

 

ทดสอบคุณภาพถุงยางด้วยAir Burst Machine

       จากนั้นเป็น “ห้องทดสอบการรั่วซึมน้ำ” โดยสวมกับอุปกรณ์ยึดถุงยาง ใส่น้ำปริมาตร 300 ลูกบาศก์เซ็นติเมตร แล้วทิ้งไว้ไม่น้อยกว่า 1 นาที เพื่อดูว่ามีร่องรอยของน้ำรั่วซึมออกมาหรือไม่ ถัดไปก็เป็นห้องทดสอบบรรจุภัณฑ์ใช้ทดสอบการบรรจุซองเป็นการทดสอบความสมบูรณ์ในการบรรจุและปิดผนึกซองย่อย โดยใส่ซองที่บรรจุถุงยางอนามัยในภาชนะปิดสนิท โปร่งใส ต่อกับเครื่องดูดสูญญากาศ หากซองใดรั่วซองจะแฟบไม่พองตัว การทดสอบความยาวโดยคลี่ถุงยางสวมลงแท่งสเกลที่มีมาตรวัดที่มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ทดสอบความกว้างโดยพาดถุงยางอนามัยบนสันไม้บรรทัด
 

 

  ทดสอบการรั่วซึมน้ำ

       ซึ่งจากการทดสอบเหล่านี้ทำให้ได้ถุงยางอนามัยที่มีมาตรฐาน สามารถป้องกันการตั้งครรภ์และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดียิ่งขึ้น แต่ขอบอกไว้ก่อนนะว่าขั้นตอนการทดสอบต่างๆนั้น ทางกองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ทดสอบตามมาตรฐานมอก. หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หากใครจะนำไปทดสอบเองฉันขอเตือนไว้ก่อนว่าถุงยางอนามัยที่ใช้ทดสอบห้ามนำมาใช้เป็นอันขาดเพราะอาจเกิดการแกขาดรั่วซึมหรือเสียดสีทำให้คุณภาพลดลงได้
       
       ดังนั้นวิธีการเลือกซื้อถุงยางอนามัยที่มีคุณภาพมาตรฐานคือ ต้องบรรจุในซองสี่เหลี่ยมจตุรัส ทึบแสง ในสภาพเรียบร้อย ไม่มีรอยรั่ว ฉีกขาด หรือหมดอายุ ซึ่งโดยปกติถุงยางอนามัยจะมีอายุ 4-5 ปี และต้องมีเครื่องหมายอย.ควรเก็บในที่แห้งและเย็น อย่าให้ถูกแสงแดดและความร้อนและไม่ถูกกดทับ เช่น ในกระเป๋าสตางค์ กระเป๋ากางเกง เพราะจะทำให้ฉีกขาดได้
 

 

ทดสอบขนาดและซองบรรจุ

       สุดท้ายนี้ฉันขอฝากไว้ว่าอย่าลืมใช้ถุงอยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในวัยรุ่นไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็สามารถพกถุงยางอนามัยไว้ได้ เพื่ออนาคตที่ดีอย่าลืม “ยืดอกพกถุง” นะครับพี่น้อง
 

ถุงยางอนามัยที่ผลิตในไทย


 

 

 

 

 

 

 

Credit: www.manager.com
1 ธ.ค. 53 เวลา 00:14 6,146 4 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...