ประตูระบายน้ำ คลองลัดโพธิ์
สะพานภูมิพล
พสกนิกรทั่วไทยต่างเฝ้ารอชื่นชมพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารคจากท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราชไปทรงเปิดประตูระบายน้ำที่คลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ที่ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงเย็นวันนี้ (24 พฤศจิกายน) เวลา 16.30 น. ซึ่งถือเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค เพื่อทรงทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2549
ทั้งนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่เปิดประตู บริเวณด้านหน้าสวนสุขภาพลัดโพธิ์ ได้มีประชาชนจำนวนมากต่อแถวรอเข้ามายังพื้นที่ด้านใน เพื่อรอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะเสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งส่วนพระองค์ เพื่อทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ โดยประชาชนที่เข้ามายังด้านในสวนสุขภาพลัดโพธิ์ได้แล้ว ต่างก็จับจองที่นั่ง โดยนำเสื่อ และอาหารมารับประทานระหว่างรอเฝ้ารับเสด็จ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และมีความสุขที่จะได้เฝ้ารับเสด็จอย่างเห็นได้ชัด
อย่างเช่น นางวราภรณ์ ชิวปรีชา อายุ 34 ปี เดินทางมาพร้อมบุตรสาว วัย 5 เดือน กล่าวว่าในวันนี้ ตนรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่จะได้เข้ารับเสด็จ และจะตั้งใจเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี เพื่อถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตามทางด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยในขณะนี้ ทุกพื้นที่ตั้งแต่ประตูทางเข้าออก รวมถึงตามจุดต่าง ๆ ได้มีกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ยืนประจำตามจุด เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
สำหรับโครงการคลองลัดโพธิ์ เป็นโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2538 ที่ช่วงนั้นพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก เนื่องจากน้ำเหนือหลากลงมาสมทบกับน้ำทะเลที่หนุนสูง ขณะที่ในสมัยนั้นยังไม่มีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางโครงการขุดลอกคลองลัดโพธิ์ขึ้น เพื่อแก้ไขบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างในเขตจังหวัดสมุทรปราการ มีลักษณะโค้งอ้อมเป็นกระเพาะหมูระยะทางยาวถึง 18 เมตร หากสามารถขยายและปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความกว้าง 10-15 เมตร ลึกเพียง 1-2 เมตร ให้เชื่อมต่อด้านเหนือโค้งแม่น้ำ และปลายโค้งแม่น้ำได้ในระยะทางที่สั้นลง จะช่วยระบายน้ำได้เร็วขึ้น และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้
ด้วยเหตุนี้ กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ ในปี พ.ศ.2546 จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2548 โดยได้ขยายคลองให้กว้างเป็น 80 เมตร ลึก 8 เมตร พร้อมมีระยะทางเพียง 600 เมตร จึงช่วยร่นระยะเวลาการไหลของน้ำจาก 5 ชั่วโมง ให้เหลือเพียง 10 นาทีเท่านั้น และยังช่วยลดระยะเวลาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เร็วขึ้น 1-2 วัน เพราะสามารถระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้เฉลี่ยวันละประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังเช่นการระบายน้ำท่วมในปีนี้ก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ที่คลองลัดโพธิ์ยังมีประตูระบายน้ำใช้ปิด-เปิดในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น ประตูระบายน้ำจะปิดในช่วงหน้าแล้ง เพื่อป้องกันน้ำทะเลไหลกลับเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา และหากถึงฤดูน้ำหลาก เมื่อน้ำทะเลทะลักขึ้น ประตูระบายน้ำก็จะปิดลงเช่นกัน แต่หากน้ำทะเลลง ประตูระบายน้ำก็จะเปิดออก
ต่อมาในวันที่ 17 พ.ย. พ.ศ.2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริให้ศึกษาการใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองลัดโพธิ์ให้เกิดประโยชน์ โดยมีพระราชกระแสรับสั่งว่า "โครงการคลองลัดโพธิ์จะทำประโยชน์ได้อย่างมหัศจรรย์ มีพลังงานมหาศาล จะใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองทำประโยชน์อย่างอื่นด้วยได้หรือไม่"
จากพระราชกระแสรับสั่ง ทำให้กรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และทดลองกังหันพลังน้ำต้นแบบ เพื่อหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวร ซึ่งขณะนี้ได้ติดตั้งชุดกังหันพลังน้ำไว้ที่ท้ายประตูของคลองลัดโพธิ์แล้ว เบื้องต้นความเร็วของน้ำไม่มาก สามารถใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เล็กน้อย และกำลังขยายผลต่อว่า จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำลังยื่นขอจดสิทธิบัตรเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และชุดสำเร็จเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ในพระปรมาภิไธย เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป
สะพานภูมิพล
ในส่วนของสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 หรือสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมนั้น เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 เพื่อเชื่อมต่อเขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร กับอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน
โดยสะพานทั้ง 2 แห่งจะช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ และส่งต่อไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ให้เร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้การเดินทางจากฝั่งธนบุรี ย่านบางมด พระประแดง พระราม 2 สมุทรสาคร ข้ามไปยังฝั่งพระนครได้สะดวกรวดเร็วขึ้นมาก เป็นการประหยัดเงิน และประหยัดเวลา อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณรถยนต์ที่จะเข้าไปในเมือง โดยเฉพาะเวลาเร่งด่วน จึงช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในเมืองได้อีกทางหนึ่ง
โดยสะพานภูมิพล 1 นั้น เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านเหนือ เชื่อมแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา ของกรุงเทพมหานคร กับตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นสะพานขึงเคเบิลคู่ มีเสาสูง 2 ต้น โครงสร้างประกอบด้วยคอนกรีตและเหล็ก กว้าง 7 ช่องจราจร ความยาวช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 326 เมตร ความยาวตัวสะพานช่วงด้านหลัง 128 เมตร เป็นโครงสร้างแบบคอนกรีตอัดแรง ช่วงที่สูงที่สุดของสะพานจากระดับน้ำอยู่ที่กึ่งกลางสะพาน สูง 50 เมตร เพื่อให้เรือบรรทุกหรือขนส่งสินค้าสามารถลอดผ่านใต้สะพานได้
ส่วนสะพานภูมิพล 2 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ เชื่อมระหว่าง ตำบลทรงคนอง กับ ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นสะพานขึงเคเบิลคู่ มีเสาสูง 2 ต้น โครงสร้างประกอบด้วยคอนกรีตและเหล็ก กว้าง 7 ช่องจราจร ความยาวช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 398 เมตร ความยาวตัวสะพานช่วงด้านหลัง 152 เมตร เป็นโครงสร้างแบบคอนกรีตอัดแรง ช่วงที่สูงที่สุดของสะพานจากระดับน้ำอยู่ที่กึ่งกลางสะพาน สูง 50 เมตร เพื่อให้เรือบรรทุกหรือขนส่งสินค้าจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถลอดผ่านใต้สะพานเพื่อไปท่าเรือคลองเตยได้
ดังจะเห็นว่า ทั้งโครงการคลองลัดโพธิ์ และสะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2 นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถ รวมทั้งสายพระเนตรที่มองการณ์ไกลของพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงงานหนัก ด้วยความห่วงใยราษฎรของพระองค์อยู่ตลอดเวลา