ค้นหาโลกใหม่ของมนุษย์ในอนาคต

"ผมไม่คิดว่าเผ่าพันธ์มนุษย์จะอยู่รอดไปถึง 1000 ปีข้างหน้า ถ้าเราไม่ขยายเผ่าพันธ์ไปที่แห่งใหม่ ในอวกาศ" สตีเฟน ฮอว์กิง [Stephen Hawking] นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักจักรวาลวิทยา ระดับซูเปอร์สตาร์ เจ้าของหนังสือ A Brief History of time อันโด่งดังให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดอะเดลี เทเลกราฟ ของอังกฤษ เมื่อหลายปีมาแล้ว



          "การสูญสิ้นของเผ่าพันธ์ มนุษย์จะเกิดจากไวรัสล้างโลก ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ วินาศกรรมช็อคโลกเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 จะน่าสะพรึงกลัวมากก็ตาม แต่ก็ไม่ได้คุกคาม การอยู่รอด ของเผ่าพันธ์มนุษย์ เหมือนอาวุธนิวเคลียร์ และการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ก็ต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือใหญ่ๆ จึงจะสร้างมันได้ แต่พันธุวิศวกรรม สามารถทำได้ ในห้องแลปเล็กๆ ซึ่งเราไม่สามารถจะควบคุมห้องแลปได้ทั่วโลก อันตรายอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งที่เป็นอุบัติเหตุหรือการจงใจสร้าง เราจะสร้างไวรัสซึ่งทำลายตัวเราเอง และเมื่อปีก่อนก็เคยเตือนแล้วว่า ภาวะที่โลกร้อนขี้นจะทำให้โลกเหมือนดาวศุกร์"



          ไม่ ว่าคำทำนายของสตีเฟน ฮอว์กิง จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ก็ตาม ความคิดในการขยายที่อยู่ของมนุษย์ในอวกาศ บนดาวเคราะห์ดวงอื่น ก็มีมานานแล้ว... อาณานิคมแห่งแรกที่อาจจะเป็นจริง คือ ดาวอังคาร ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรานี่เอง แต่มันเป็นเพียงก้าวแรกๆ ของการบุกเบิกที่อยู่ใหม่ ในอวกาศเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ยังคิดไกลไปกว่านั้นคือการสร้างอาณานิคมบนดาวเคราะห์นอกระบบ สุริยะในแกแลคซี่ทางช้างเผือก



         ทำไมมนุษย์จึงต้องแสวงหาอาณานิคมในอวกาศ? มีเหตุผลหลักอยู่สามประการ



"เหตุผล ประการแรก คือทำให้จักรวาลสวยงามด้วยการมีสิ่งมีชีวิตทั่วไป" นักวิทยาศาสตร์เจ้าของความคิดนี้คือ ฟรีแมน ไดสัน นักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียง

"งานของเราคือช่วยให้สิ่งมีชีวิตขยายพันธ์จากโลกเราไปยังส่วนอื่นๆ ของจักรวาล เพื่อความสวยงามและหลากหลายเหมือนโลก"เขากล่าว



"เหตุผล ประการที่สอง คือหลีกหนีวันสิ้นโลกจากหายนะดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางชนโลก" นี่เป็นความคิด ของนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากรวมทั้ง เจ ริชาร์ด กอตต์ซึ่งกล่าวว่า

"เราอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์เล็กๆซึ่งเต็มไปด้วย กองกระดูกของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธ์ มันพิสูจน์ได้ว่า ความหายนะของโลกเกิดขึ้นอยู่เสมอ" และแน่ละการอพยพไปที่แห่งใหม่ในอวกาศ จากไวรัสล้างโลกตามคำทำนายของสตีเฟน ฮอว์กิง ก็จัดอยู่ในเหตุผลลักษณะนี้



"เหตุผล ประการสุดท้าย มันเป็นเหตุผลที่เก่าแก่มากทีเดียว คือเหตุผลเดียวกับการที่กองเรือของชาวยุโรป ล่าอาณานิคมบนโลก เมื่อกว่าร้อยปีก่อนนั่นคือ การหาแร่ธาตุและวัตถุดิบ"



          ก่อน หน้านี้ไม่น้อยกว่าสามสิบปี มีนักดาราศาสตร์น้อยคน ที่จะคิดถึงการเดินทางไปตั้งรกรากในอวกาศ ตอนนั้นยังไม่มีทฤษฎี วันสิ้นโลก โดยดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยและเทคโนโลยียานอวกาศก็ไม่ก้าวหน้าพอ ที่จะชวนให้ฝันไปไกลมากนัก ที่สำคัญ นักดาราศาสตร์ ส่วนใหญ่ ไม่เชื่อว่ามีดาวเคราะห์อื่นๆ อยู่นอกระบบสุริยะ หน้าที่นี้จึงกลับตกอยู่ในมือนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์  



           คงมีเพียงนักวิทยาศาสตร์ และนักดาราศาสตร์ไม่มากนัก ที่คิดว่าน่าจะมีดาวเคราะห์ โคจรรอบดาวฤกษ์อยู่ทั่วไปในจักรวาล  ยิ่งไปกว่านั้นนักวิทยาศาสตร์บางคนยัง เชื่อว่า มีสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ และพวกเขาอาจมีอารยธรรมเก่าแก่กว่า และมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่ามนุษย์ ความสนใจของนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1960 พุ่งไปที่การค้นหาเพื่อนร่วมจักรวาลที่ศิวิไลซ์กว่าเรา เริ่มในปี คศ 1950 เอนริโค เฟอร์มี นักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างปฎิกริยานิวเคลียร์ที่ควบคุมได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อปี คศ 1942 ตั้งคำถามว่า

"มีการพิสูจน์แน่นอนแล้ว หรือว่ามนุษย์เราอยู่กันตามลำพังในแกแลคซี ?" เขาคิดว่า มีเหตุผลที่จะตั้งสมมติฐานว่า "มีสังคมของมนุษย์ต่างดาวอยู่ในแกแลคซี และหากเป็นจริงมนุษย์ต่างดาว ก็น่าจะขยายเผ่าพันธ์ไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ด้วย" คำพูดของ เอนริโค เฟอร์มีมีอิทธิพลต่อนักดาราศาสตร์ ในเวลาต่อมาอย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะนักดาราศาสตร์ของสถาบัน SETI



         ปี คศ 1960 แฟรง เดรก ผู้ริเริ่มงานของ SETI เริ่มค้นหาเพื่อนร่วมจักรวาล โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุค้นหาสัญญาณวิทยุจากดาว อัปซิลอน อีไรดานี และดาว ทาว ซีติ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์ของเรา อยู่ไกลออกไป 10 และ 12 ปีแสงตามลำดับ ทั้งที่เขาไม่เคยเห็นดาวเคราะห์บริวารดาวฤกษ์ทั้งสองดวงเลย แล้วก็ต้องผิดหวังเมื่อไม่มีสัญญาณวิทยุที่นั่น

"มันอาจมีดาว เคราะห์โคจรอยู่รอบๆดาวฤกษ์ทั้งสองดวงแต่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ บนดาวเคราะห์นั้น หรือมันไม่มีดาวเคราะห์ อยู่เลยก็ได้" แต่แฟรง เดรก ประเมินว่า

"มีสังคมของมนุษย์ต่างดาว เป็นหมื่นในแกแลคซีทางช้างเผือก !!" และหลังจากตั้งรับ โดยการตรวจจับ สัญญาณวิทยุในระยะ 1000 ปีแสงที่ไร้วี่แววมานานหลายปี นักวิทยาศาสตร์ SETI ก็เป็นฝ่ายรุกบ้าง ปี คศ 1974 พวกเขา ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุอาริชิโบ ในเปอร์โตริโก ส่งสัญญาณวิทยุเป็นภาพไดอะแกรม บอกเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ประกอบ ด้วย รูปร่าง จำนวน ของมนุษย์ ดีเอนเอ ระบบสุริยะและภาพกล้องโทรทรรศน์วิทยุอาริชิโบ ไปยังกลุ่มดาว M 13 ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 25000 ปีแสง สัญญาณวิทยุจากโลกจะไปถึงในอีก 25000 ปี และถ้ามีมนุษย์ต่างดาวที่มีเทคโนโลยีสูงที่นั่น เราจะได้รับข่าวสาร จากพวกเขาอีกหลายหมื่นปี แต่เวลาที่นานขนาดนั้น จะมีมนุษย์โลกคนใด มีชีวิตอยู่รอรับข่าวสารนั้นได้ !!



          ในช่วงทศวรรษที่ 1980 คาร์ล ซาแกน นักดาราศาสตร์ชื่อดังเจ้าของรายการสารคดีทีวีชุด คอสมอส พูดออกมาดังๆว่า

"มีดาวเคราะห์มากมายในจักรวาล ถึงตอนนี้ยุคแห่งการล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะก็ได้เริ่มขึ้น"



          ปี 1987 นักล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะสองคนคือ จีออฟ มาร์ซี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์เบิร์กเลย์และพอล บัตเลอร์จากสถาบันคาร์เนกี้วอชิงตัน ได้เริ่มงานค้นหาดาวเคราะห์ที่ดาวฤกษ์เป้าหมายจำนวน 100 ดวง โดยวิธีการที่เรียกว่า Spectroscopy





          การ ค้นหาดาวเคราะห์ ไม่สามารถใช้กล้องโทรทรรศน์มองเห็นมันได้ เพราะแสงดาวฤกษ์นับล้านๆดวง นักดาราศาสตร์จึงใช้วิธีค้นหาทางอ้อม หากมีดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์แรงดึงดูดของดาวเคราะห์จะทำให้ดาวฤกษ์เกิด อาการสั่นไหว [Wobble] เล็กน้อย นักดาราศาสตร์จะดูการเปลี่ยนแปลงของสเปคตรัมของดาวฤกษ์ ซึ่งจะสามารถคำนวณความเร็ว ในการโคจรของดาวฤกษ์ คาบการโคจรและมวลของวัตถุที่โคจรรอบมันได้



ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรก

          ปี คศ 1995 นักดาราศาสตร์หลายกลุ่มทำในสิ่งเดียวกันคือ ค้นหาดาวเคราะห์ที่ดาวฤกษ์ 51 พีกาไซ ซึ่งอยู่ไกลจากโลก 50 ปีแสง นักดาราศาสตร์สวิสเซอร์แลนด์ไวกว่าเพื่อน มิเชล เมเยอร์และ ดิดิเออร์ คิวลอซ พบอาการสั่น [Wobble] ของดาว51พีกาไซ ซึ่งเกิดจากแรงดึงดูดของดาวเคราะห์ที่มองไม่เห็น ในขณะเดียวกัน จีออฟ มาร์ซีและพอล บัตเลอร์ ยืนยันในสิ่งที่เห็นอย่างเดียวกัน



           ดาวเคราะห์ดวงแรกนอกระบบสุริยะถูกค้นพบ มันเป็นดาวเคราะห์ก็าซขนาดใหญ่ มีมวลอย่างน้อยที่สุด ครึ่งหนึ่งของดาวพฤหัส อยู่ใกล้ดาว 51 พิกาไซมากจนกระทั่งมันใช้เวลาโคจรรอบดาว 51 พิกาไซเพียง 4.2 วันเท่านั้น เป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมาก แต่ทว่านักดาราศาสตร์เริ่มเจอปัญหาเข้าให้แล้ว ตั้งแต่พบดาวเคราะห์ดวงแรกเลยทีเดียว นั่นคือมันไม่เหมือนกับระบบดาวเคราะห์ของระบบสุริยะของเราซึ่งดาวเคราะห์ ก๊าซ อย่างดาวเสาร์และดาวพฤหัสอยู่วงนอก แต่นี่มันกลับอยู่วงในและใกล้ดาวฤกษ์มาก



          ทฤษฎี ระบบสุริยะของเราบอกว่า เมื่อ 4,600 ล้านปีก่อน จานก๊าซขนาดยักษ์หมุนวนรอบดวงอาทิตย์ ธาตุที่หนักกว่าก็รวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ ดาวดวงเล็กอยู่วงใน ดาวดวงใหญ่กว่าก็วิ่งออกไปอยู่วงนอก และระบบดาวเคราะห์ของเรามีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ค่อนข้างกลม



          สาม ปีผ่านไปนักล่าดาวเคราะห์ค้นพบดาวเคราะห์ถึง 17 ดวง ทั้งหมดเป็นดาวก๊าซขนาดใหญ่ มีมวลตั้งแต่ ครึ่งหนึ่งไปจนถึงมากกว่าสิบเท่า ของดาวพฤหัสและเป็นดาวเดี่ยว ส่วนใหญ่โคจรเป็นวงรี มีบางดวง มีวงโคจร เกือบกลมแต่ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมันอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก นักดาราศาสตร์ เรียกดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะว่า Extra -Solar Planets



          เจอเข้าแบบนี้ นักดาราศาสตร์ถึงกับตั้งคำถามว่า "ระบบสุริยะของเราเป็นระบบเฉพาะในจักรวาลนี้หรือ ?"



พบญาติระบบสุริยะ

          แล้ว วันที่นักล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ รอคอยก็มาถึง เมื่อพวกเขาค้นพบญาติห่างๆ ของระบบสุริยะที่ดาวอัปซิลอน แอนโดรมีดา ดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์ของเรา อยู่ไกลจากโลก 44 ปี แสง มีดาวเคราะห์สามดวงที่นั่น และมันมีวงโคจรที่ค่อนข้างกลม ดวงแรกมีมวลราว สามในสี่ของดาวพฤหัสแต่โคจรอยู่ใกล้ดาวอัปซิลอนแอนโดรมีดามาก ใกล้กว่าวงโคจรของดาวพุธเสียอีก ใช้เวลาโคจรรอบดาวแม่เพียง 4.6 วันเท่านั้น อีกสองดวงมีมวลมากกว่าดาวพฤหัสหลายเท่า ดวงที่สองมีวงโคจรประมาณวงโคจรของดาวศุกร์โคจรรอบดาวแม่ 242 วัน และดวงที่สามมีวงโคจรประมาณ เลยวงโคจรของดาวอังคารออกไป โคจรรอบดาวแม่ 4 ปี



          นี่เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์ พบดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์มากกว่าหนึ่งดวง มันจึงเป็นระบบดาวเคราะห์ ด็อกเตอร์ ดักลาส ลิน แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ซานตาครูซ กล่าวอย่างตื่นเต้นว่า "เป็นการค้นพบที่สำคัญมากๆ มันบอกเราว่ามีระบบดาวเคราะห์อยู่ทุกหนทุกแห่ง บางระบบมีเสถียรภาพ และยังบอกเราอีกว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก ที่จะมีดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตอยู่"



          การ ล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดำเนินต่อไป จนถึงเดือนตุลาคม ปี 2001 ดาวเคราะห์นอก ระบบสุริยะถูกค้นพบเกือบ 80 ดวง แต่เกือบทั้งหมดเป็นระบบสุริยะที่ประหลาดคือ ดาวเคราะห์อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก มีคาบการโคจรรอบดาวฤกษ์สั้นและโคจรเป็นรูปวงรี มีดาวเคราะห์ที่โคจรเป็นวงกลมอย่างระบบสุริยะของเราน้อยมาก แต่ก็มีดาวเคราะห์มากกว่า 1 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์เหล่านี้ คือ อัปซิลอน แอนโดรมีดา HD 168433 HD83443 GJ 876 HD 82943 และ 47 UMa ระบบดาวเคราะห์ของ 47 UMa ทำความตื่นเต้นให้กับนักดาราศาสตร์มาก เพราะมันเปรียบเสมือนญาติใกล้ชิดระบบสุริยะ





          ต้น เดือนตุลาคม 2001 ทีมล่าดาวเคราะห์นำโดย จีออฟ มาร์ซี พอล บัตเลอร์ และ เดบรา ฟิชเชอร์ ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่สองโคจรเป็นวงกลมรอบดาว 47 Ursae Majoris [47 UMa] ในดาวหมีใหญ่ ไกลจากโลก 51 ปีแสง หลังจากที่เคยค้นพบดวงแรกเมื่อปี 1996 ดาวเคราะห์ดวงที่สองคล้ายดาวพฤหัสมาก มีมวลราว สามในสี่ของดาวพฤหัส อยู่ในตำแหน่งประมาณแถบดาวเคราะห์น้อยของระบบสุริยะ ใช้เวลาโคจรรอบดาวแม่ 7.1 ปี ส่วนดาวเคราะห์ดวงแรกมีมวลมากกว่าดาวพฤหัส 2.5 เท่า อยู่ในตำแหน่งประมาณ เลยวงโคจรของดาวอังคาร ออกไปไม่มากนัก พอล บัตเลอร์ บอกว่าการค้นพบมันทำให้นักดาราศาสตร์ตื่นเต้นมาก เพราะดาวเคราะห์หลายดวง ที่มีวงโคจรเป็นวงกลม รอบดาวฤกษ์นั้นหายากมาก และจากการค้นพบครั้งนี้บัตเลอร์ประมาณว่า มีระบบดาวเคราะห์ ที่โคจรเป็นวงกลมอยู่ราวห้าเปอร์เซนต์



          หลังจาก นั้นไม่กี่วัน นักดาราศาสตร์ก็ได้ตื่นเต้นกันอีก เมื่อทีมล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของหอดูดาว Keck Observatory ในฮาวายค้นพบดาวเคราะห์โคจรรอบดาวแม่เกือบเป็นวงกลมที่ดาว HD 114783 และดาว HD 4208 และทีมล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของหอดูดาว Anglo-Australian Observatoryในออสเตรเลีย ค้นพบดาวเคราะห์ มีวงโคจรเกือบกลมที่ดาว HD 23079 ดาวเคราะห์ทั้งสามดวง มีตำแหน่งอยู่ประมาณวงโคจรระหว่างโลกกับดาวอังคาร



          ถึง วันนี้งานของนักล่าดาวเคราะห์เปรียบเหมือนเรือใกล้ถึงฝั่ง สตีฟ โวกต์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ซานตาครูซ ถึงกับกล่าวว่า "อีกไม่กี่ปีเราสามารถที่จะพบพี่และน้องของระบบสุริยะของเรา"



มีระบบดาวเคราะห์แบบระบบสุริยะมากมาย

          นัก ล่าดาวเคราะห์มั่นใจแล้วว่า มีระบบดาวเคราะห์แบบระบบสุริยะอีกมากมาย ในแกแลคซีทางช้างเผือก เพียงแต่รอการค้นพบของเราเท่านั้น ความคิดของเอนริโค เฟอร์มีและนักวิทยาศาสตร์เซติถูกต้องไปแล้วครึ่งหนึ่ง และถ้า การประมาณการว่ามีระบบดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์เป็นวงกลมอยู่ 5 เปอร์เซนต์ของพอล บัตเลอร์ ถูกต้อง ในแกแลคซีทางช้างเผือกมีดาวฤกษ์อย่างดวงอาทิตย์ของเราอยู่หลายพันล้านดวง มันจะมีระบบดาวเคราะห์ แบบระบบสุริยะจำนวนมหาศาล และโอกาสที่จะมี ดาวเคราะห์อย่างโลกที่อยู่ในตำแหน่งเหมาะๆ คือไม่ร้อนไม่หนาว จนเกินไปซึ่งเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตมีอยู่มากทีเดียว ปัญหาของนักดาราศาสตร์ในขณะนี้ คือวิธีการค้นหา ที่ใช้อยู่ไม่สามารถ ค้นหาดาวเคราะห์ขนาดเล็กได้ ดาวเคราะห์ขนาดโลกของเราไม่มีแรงดึงดูดต่อดาวฤกษ์มากพอ ที่จะทำให้ดาวฤกษ์สั่นไหว มันจึงยากที่จะค้นพบ จนกว่าองค์การนาซ่าและองค์การอวกาศยุโรป จะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศล่าดาวเคราะห์ที่กรองแสงดาวฤกษ์ ซึ่งทำให้เห็นภาพดาวเคราะห์ได้ ขึ้นไปในอวกาศ นั่นแหละ เมื่อนั้นเราก็มีโอกาสที่จะพบดาวเคราะห์ดวงเล็กๆ อย่างโลกในระบบสุริยะอื่นๆ เข้าสักวันหนึ่ง



          หากมนุษย์เจอดาวเคราะห์เหมาะๆ ที่น่าจะอพยพไปอยู่กันในอนาคตแล้วละก็ มันคงอยู่ไกลออกไปอย่างน้อยก็ 50 ปีแสง ไกลขนาดนี้มนุษย์จะเดินทางไปได้อย่างไร ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ของไอน์สไตน์บอกว่า

"ไม่มีวัตถุใด สามารถเคลื่อนที่ ได้เร็วกว่าแสง" และถึงแม้ว่าจะเดินทางด้วยความเร็วเท่าความเร็วแสง แต่มันก็ยังช้าอยู่ดี สำหรับระยะทางที่ไกลเป็นสิบเป็นร้อยปีแสง หนทางเดียวคือยานอวกาศจะต้องมีความเร็วกว่าแสง แต่มันจะ เป็นไปได้อย่างไร ? สตีเฟน ฮอว์กิงอีกนั่นแหละบอกว่า

"ยานอวกาศที่ใช้ระบบขับเคลื่อน วอร์ป ไดรฟ์ { warp drive] ในภาพยนต์สตาร์เทร็ค เป็นไปได้ อีกทั้งพันธุวิศวกรรมก็เป็นเรื่องท้าทาย ในการปรับปรุงมนุษย์ ให้ทนทานในการเดินทาง ในอวกาศด้วย ถ้ามนุษย์ในอนาคตสามารถสร้างยานอวกาศ ระบบขับเคลื่อน วอร์ป ไดรฟ์ ที่สามารถสร้างโพรงอวกาศ ซึ่งทำให้บินได้ เร็วกว่าแสง ได้จริงละก็ การสร้างอาณานิคม บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่ไกลแสนไกล ก็เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม"

26 พ.ย. 53 เวลา 15:01 3,577
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...