เซเว่นฯ อวตารเป็น ธนาคาร ธุรกรรมสะดวกฝาก+ถอน+โอน

'เซเว่นฯ' อวตารเป็น 'ธนาคาร' ธุรกรรมสะดวกฝาก+ถอน+โอน

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 25 พฤศจิกายน 2553 18:24 น.  
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ไม่ใช่ เฉพาะแวดวงเศรษฐกิจและการเงินเท่านั้นที่ตื่นเต้นกับข่าวล่ามาแรง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งตัวแทนให้ บริการทางการเงินในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งนอกจาก ไปรษณีย์ไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรแล้ว ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่อย่าง 'เซเว่น อีเลฟเว่น' ดูจะตกเป็นเป้าสายตามากกว่าใครเพื่อน
       
       นั่นหมายความว่า ต่อจากนี้นอกจากเราจะจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเกมออนไลน์ ค่าบัตรคอนเสิร์ต ค่าโทรศัพท์ และอื่นๆ อีกมากมายกว่า 300 รายการผ่านเซเว่นฯ แล้ว เราจะสามารถฝาก - ถอน - โอน - ชำระเงิน ได้ราวกับเซเว่นฯ เป็นหนึ่งในสาขาย่อยของธนาคารทีเดียวเชียว
       มาหยั่งกระแสว่า ถ้าเซเว่นฯ กว่า 5,300 สาขา แปลงร่างกลายเป็นธนาคารย่อยขึ้นมาจริงๆ จะมีผลกระทบอะไรบ้างในสังคมบ้านเรา
       
       เกมวัดใจ-เปิดเสรีหรือผูกขาด?
       
       ความจริงแล้ว ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพราะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กลุ่มซี.พี. (เซเว่นอีเลฟเว่น) และธนาคารกรุงไทย ได้เคยมีความพยายามจะร่วมทุนเพื่อเปิดช่องทางให้บริการใหม่ๆ แม้ท้ายที่สุดสัญญาดังกล่าวจะล้มไปกลางคัน แต่ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าร้านสะดวกซื้อแบรนด์นี้มีศักยภาพทางธุรกิจมาก เพียงใด
       
       “ถ้าถามว่ามันเป็นเรื่องดีไหม ที่เราสามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านร้านขายปลีกอย่างเซเว่นอีเลฟเว่นได้ แน่นอนว่ามันดีอยู่แล้ว เพราะมันทำให้คนทั่วไปเข้าถึงบริการของธนาคารได้มากขึ้น เซเว่นฯ เองก็เป็นของที่คุ้นเคยกันดีกับคนไทยมาอย่างยาวนาน และถือว่าประสบความสำเร็จมากในการทำตลาดในบ้านเรา ทำให้สาขามีเยอะมาก แต่ทีนี้ก็ต้องมาดูกันต่อไป ถึงหลักเกณฑ์ที่จะใช้ดำเนินการว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ จะมีการผูกขาดให้ธนาคารใดธนาคารหนึ่งเข้ามาดำเนินการได้เพียงเจ้าเดียวหรือ เปล่า เพราะแต่ละที่คงต้องเข้าไปเจรจากันเอง”
       
       สฤณี อาชวานันทกุล นักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสนใจทั้งในเรื่องของเศรษฐศาสตร์และสังคม ให้ความเห็นถึงการที่ธนาคารพาณิชย์จะเข้ามาจับมือกับเซเว่นฯ ซึ่งโดยรวมแล้วถือว่าเป็นเรื่องดี และไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวของคนไทย เพราะที่ผ่านมาร้านสะดวกซื้อแห่งนี้ก็สามารถจ่ายค่าบริการต่างๆ แทบจะครอบจักรวาลอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาเหมือนตอนที่มีการนำตู้เอทีเอ็มมาใช้ในไทยใหม่ๆ ซึ่งผู้บริโภคต้องปรับตัวค่อนข้างมาก แต่กระนั้น สฤณี ก็เตือนว่าจะต้องดูถึง กติกาที่จะนำมาใช้ด้วยว่าโปร่งใสเพียงใด
       
       “ถ้าเป็นธนาคารเพียงไม่กี่ แห่งหรือแห่งเดียวเข้ามาทำ โดยการเสนอผลประโยชน์ให้เซเว่นฯ มากกว่าเจ้าอื่น และเข้ามาดำเนินการโดยเก็บค่าธรรมเนียมแพงๆ มันก็จะเกิดความไม่โปร่งใสขึ้น จริงๆ แล้วเซเว่นฯ คือช่องทางการขายช่องทางหนึ่ง ดังนั้นควรทำตัวเหมือนกับในห้างใหญ่ๆ ที่เปิดให้ธนาคารหลายๆ เจ้าเข้าไปเปิดบริการได้อย่างเสรี”
       
       ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือเรื่องของความปลอดภัยในการทำธุรกรรม กรณีนี้สฤณีมองว่า มันน่าจะเป็นเรื่องของทางผู้ให้บริการที่จะต้องรับผิดชอบในการกำกับดูแลกัน เอง
       
       “ในเรื่องของความปลอดภัยของ ตัวเงิน ก็เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องวางระบบกัน เพราะถ้ามันไม่มีความปลอดภัย ลูกค้าก็จะเลือกที่จะไม่ใช้บริการเองแหละ ตรงนี้ ดูเผินๆ ก็ดูเหมือนว่าอำนาจต่อรองจะอยู่ที่ผู้บริโภคนะ แต่ถ้าการดำเนินการไม่มีความโปร่งใส มันก็จะกลายเป็นการจำกัดหนทางของผู้บริโภคที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารที่ เข้าไปดำเนินการในเซเว่นฯ
       
       “เดิมทีกลุ่มของธนาคารและ กลุ่มเซเว่นอีเลฟเว่นก็มีอำนาจต่อรองมากอยู่แล้ว ถ้าเกิดการมาจับมือกัน อำนาจของทั้งสองกลุ่มนี้ก็จะเพิ่มมากขึ้นมาก จนอาจจะเกิดการผูกขาดได้”
       
       ซึ่งตัวอย่างลักษณะนี้มีให้เห็นในประเทศญี่ปุ่น ที่ไปรษณีย์เป็นผู้ผูกขาดการทำธุรกรรมทางการเงิน จนมีอำนาจต่อรองสูงลิบถึงขั้นสามารถเขี่ยเก้าอี้ของนักการเมืองได้เลยที เดียว
       
       พนักงานแบงก์สยอง เด็กเซเว่นฯ สยิว
       
       หันมาดูระดับพนักงานฝ่ายปฏิบัติการกันบ้าง ซึ่งนาทีนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าใครจะสยองกว่าใคร เพราะทางพนักงานธนาคารสาขาย่อยต่างๆ ก็เริ่มหนาวๆ ร้อนๆ เพราะกลัวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การเงินของตัวเอง เช่นเดียวกับพนักงานเซเว่นฯ ที่โอดครวญว่าปัจจุบันงานก็เยอะมากพออยู่แล้ว
       
       “ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รู้สึก อะไรมากนะ เพราะทางผู้ใหญ่ยังไม่มีการแจ้งนโยบายออกมามากมาย แต่เราก็กลัวเหมือนกันว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ยิ่งเราเข้ามาใหม่ๆ ด้วย แต่มันก็เหมือนพูดกันเล่นๆ มากกว่านะ แบบแซวๆ กันว่า หรือเราต้องไปฝึกพูดขายขนมจีบซาลาเปาไว้ก่อน (หัวเราะ) แต่จริงๆ มันก็แอบน่ากลัวเหมือนกันแหละ เขาว่ามันจะเหมือนตอนตู้เอทีเอ็มเข้ามาใหม่ๆ พอมาถึงก็ต้องลดจำนวนพนักงานบริการลง” ภาวิตา (ขอสงวนนามสกุล) พนักงานธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่งเปิดเผยความรู้สึก
       
       อย่างไรก็ดี สาวแบงก์คนนี้ให้ความเห็นว่าสาขาใหญ่ๆ คงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ที่หนักหนาสาหัสคงจะเป็นสาขาย่อยที่คนใช้บริการน้อย
       
       “สาขาย่อยน่ะคงลำบาก เพราะเซเว่นฯ ยังไงก็สะดวกกว่า ไปรษณีย์ หรือธนาคารรัฐฯ มันยังพอสู้ได้ แต่เซเว่นฯ นี่เป็น 24 ชั่วโมง สาขาก็เยอะเป็นดอกเห็ด มีแทบทุกหัวถนนเลย ยังไงก็คงจะสะดวกกว่าเยอะ”
       
       ฝั่งของ เอกพล (ขอ สงวนนามสกุล) พนักงานร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ก็ไม่ได้วิตกกังวลน้อยไปกว่ากัน เพราะไม่ว่าประตูไหน เขาก็เป็นคนที่ต้องรับไปเต็มๆ อยู่ดี
       
       “คือธนาคารยังไงไม่รู้นะ แต่ถ้ามาถึงผม ผมโดนก่อนชัวร์ใช่ไหมล่ะ คือพนักงานเซเว่นฯ นี่ภาระหน้าที่มันไม่เหมือนร้านสะดวกซื้อธรรมดานะ มันมีเคาน์เตอร์เซอร์วิสด้วย มีบัตรเติมเงินต่างๆ ร้อยแปดอย่าง ซึ่งมันเยอะมากนะครับ บางทีก็มีเด็กพาร์ตไทม์มาทำ ถ้าเขาจำไม่ได้ เขาก็ต้องเรียกผม ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ทุกชนิดหรอก ยิ่งตรงนี้มีโรงแรมอยู่ บางทีมีคนอินเดีย มีฝรั่งมาซื้อบัตรโทรศัพท์โทร.ข้ามประเทศ เขามาถามรายละเอียด รหัสประเทศนี้อะไร โทร.ไปประเทศนี้นาทีละเท่าไร ใครจะไปรู้ล่ะ แค่บัตรเกมออนไลน์ที่เด็กมาซื้อผมยังงงเลย (หัวเราะ)”
       
       แต่ถ้าเกิดวันนั้นต้องมาถึงจริงๆ เอกพลบอกว่า คงต้องก้มหน้าก้มตายอมรับไปอย่างเดียว
       
       “ก็ถ้ามาจริงๆ จะทำยังไงได้ละครับ ก็คงต้องทำไป แต่ก็ดีครับอาจจะได้มีโอกาสจับเงินหมื่นเงินแสนบ้าง (หัวเราะ) แต่ถ้าได้เบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมก็ดีนะครับ” หนุ่มเซเว่นฯ สรุปติดตลก
       
       สะดวกก็ดี แต่ขอเน้นที่ความปลอดภัย
       
       ฟังเสียงคนอื่นมาเยอะแล้ว มาลองดูชาวประชาตาดำๆ เยี่ยงผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ กันบ้าง ว่ามีความคิดเห็นกันอย่างไร
       
       สำหรับ ณัฐวดี นาคบาตร พนักงาน บริษัทรับจัดทัวร์ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ก็เป็นผู้ที่ต้องทำธุรกรรมการเงินผ่านธนาคารอยู่บ่อยครั้ง เธอบอกว่ายังไม่รู้สึกมั่นใจในการชำระค่าบริการผ่านร้านสะดวกซื้อเท่าใดนัก
       
       “การที่มีการทำธุรกรรมทางการ เงินในเซเว่นฯ เรามองว่าอาจจะไม่ค่อยปลอดภัย เพราะโดยพื้นฐานแล้วร้านสะดวกซื้อควรจะเน้นไปที่การขายของเป็นหลัก ไม่น่าจะต้องมาใช้เป็นที่ฝากเงิน หรือโอนเงิน อย่างหนึ่งการรักษาความปลอดภัยมันไม่สูงเหมือนธนาคาร ถ้าเราต้องโอนเงิน ฝากเงินเยอะๆ ทำที่ธนาคารอาจจะให้ความรู้สึกที่มั่นใจกว่า”
       
       ส่วนการชำระค่าบริการผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสในปัจจุบัน ณัฐวดีก็ให้ความเห็นว่ายังมีความล่าช้าให้เห็นอยู่บ้าง
       
       “การจ่ายเงินค่าบัตรเครดิต ค่าน้ำค่าไฟ หรือค่าบริการต่างๆ เรารู้สึกว่าจะมีความล่าช้าอยู่ 2-3 วัน ซึ่งถ้าไปจ่ายที่ธนาคารมันจะตัดยอดของจำนวนเงินเดี๋ยวนั้นเลย ถึงจะต้องรอคิวนานแต่ก็น่าจะชัวร์กว่า ส่วนที่เซเว่นฯ น่าจะดีในเวลากลางคืนที่ต้องจ่ายอะไรเร่งด่วนตอนดึกๆ เพราะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ก็คงจะดีในส่วนนั้นมากกว่า"
       
       ท้ายที่สุด ไกด์สาวคนนี้ยังเสนอแนะว่า ถ้าจะมีการเปิดบริการดังกล่าวจริง ควรจะมีพนักงานที่มีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินที่ดีในระดับหนึ่ง และมีการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยที่มากขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ใช้ บริการได้
       
       ส่วนทันตแพทย์หญิง วัลภา เวชวงวาน ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องทำธุรกรรมการเงินครั้งละกว่า 1 ล้านบาท ปีละหลายหนได้ให้ความสำคัญเจาะจงไปด้านความปลอดภัยเช่นเดียวกัน
       
       “เวลาโอนเงินก้อนใหญ่ๆ เราก็จะใช้บริการของธนาคารกรุงศรีฯ ถามว่าเสียค่าโอนเยอะไหม มันเสียเยอะ แต่เรามั่นใจกว่าว่ามันปลอดภัย คือคนที่โอนเงินเยอะๆ แบบเรา ถ้าจะให้เลือกระหว่างธนาคารกับเซเว่นฯ เราก็คงต้องใช้ธนาคารมากกว่า เอกสารมันดูน่าเชื่อถือกว่า แล้วลองนึกภาพพนักงานต้องมานับเงินเยอะๆ ดูสิ มันจะตกเป็นเป้าสายตาขนาดไหน”
       
       “การทำการเงินในเซเว่นฯ มันจะสะดวกมากกว่า เพราะมันเปิด 24ชั่วโมง แต่ถ้าจะให้เลือก ก็จะทำกับทางธนาคารอยู่ดี เพราะมีความปลอดภัยกว่า มีเอกสารทางการเงินที่น่าเชื่อถือ ที่สำคัญเซเว่นฯ เป็นสถานที่เปิด พนักงานต้องนับเงินจำนวนเยอะ ๆ ต่อหน้าคนอื่น ทำให้เป็นเป้าสายตาและง่ายต่อการถูกปล้น”
       
       แต่ท้ายที่สุดเธอก็บอกว่า ถ้าต้องโอนเงินเล็กๆ น้อยๆ ร้านสะดวกซื้อ ก็น่าลองอยู่เหมือนกัน แต่ถ้ามีเคาน์เตอร์ที่ปิดมิดชิดกว่านี้ก็คงจะดีไม่น้อย
       
       >>>>>>>>>
Credit: ผุ้จัดการออนไลน์
26 พ.ย. 53 เวลา 06:29 2,917 1 34
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...