"พระราชพิธีโสกัณฑ์"

 

"พระราชพิธีโสกัณฑ์"

 

 

โบราณราชประเพณีที่ไม่มีวันหวนคืน
 


ชาวไทยสมัยก่อน นิยมให้บุตร ธิดา ไว้ผมจุกตามแบบแผนโบราณ
เป็นคติความเชื่ออย่างหนึ่ง เริ่มตั้งแต่เมื่อเด็กอายุราว 5 ปี จนโดเป็นวัยรุ่น
อายุประมาณ 11-13 ปี ก็จะกระทำพิธีตัดจุก หรือโกนจุก (ผมแกละ หรือผมเปียนี่
เขาทำพิธีตัดกันด้วยรึเปล่าไม่ทราบ ไม่เห็นกล่าวถึง) พิธีโกนจุกนั้นถือเป็นพิธีมงคล
มีการทำพิธีมงคล ทำมิ่งชิงขวัญต่างๆ หลากหลายอย่าง โดยเฉพาะพิธีตัดจุก
ของพระราชโอรส และพระราชธิดาซึ่งเรียกว่า พระราชพิธีโสกัณฑ์  นั้น
จะจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ มีพิธีและการละเล่นประกอบพิธียิ่งใหญ่มโหฬารมาก

 

น่าเสียดาย...ถึงแม้การไว้จุก ยังมีกันอยู่ประปราย ไม่ได้สูญหายไปเสียเลย
แต่ในราชสำนักนั้น ไม่ได้มีการไว้จุกกันอีกแล้ว พระราชพิธีนี้จึงเป็นเพียงอดีต
ที่ไม่หวนคืนอีกอย่างหนึ่งไป

 
 



 


ภาพเขียนเขาไกรลาส ในงานโสกัณฑ์ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ เขียนโดยพระวรรณวาดวิจิตร(ทอง)


พระราชพิธีโสกัณฑ์ในสมัยรัตนโกสินทร์

การประกอบพระราชพิธีโสกัณฑ์ ที่ย้อนไปถึงกรุงสุโขทัย หรืออยุธยานั้น
ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เราสามารถลำดับเหตุการณ์ได้จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ คือพระราชพิธีโสกัณฑ์ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา
เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๔ ซึ่งนับเป็นพระองค์สุดท้ายที่ได้มีจัดพิธีกันขึ้น ในประเทศไทย
ถ้าผู้เข้าพิธีมีฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า ก็จะเรียกพิธีว่า พระราชพิธีเกศากัณฑ์
แต่ก็เป็นพิธีหลวงเช่นเดียวกัน จะต่างกันที่ขนาด การแต่งองค์ทรงเครื่อง
และกระบวนแห่ จะลดลงตามลำดับเกียรติยศของเจ้านายผู้จะเข้าพิธี



 


พระราชโอรสและพระราชธิดา ในรัชกาลที่ ๔ ทรงไว้จุก

พิธีการโกนจุกนั้น พระมหากษัตริย์ทรงให้ความสำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔
เป็นต้นมา ถ้าบรรดาขุนนางหรือราษฎร จะโกนจุกลูกหลาน ก็โปรดให้มีหมายบอก
เข้ามา ทรงพระราชทานเงินช่วยเสมอ ในพระราชพิธีโสกัณฑ์นี้ จะมีการประกอบ
พระราชพิธีทางศาสนาอยู่ด้วย มีทั้งทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์
โดยทางพระพุทธศาสนาจัดพระราชพิธีสงฆ์บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ส่วนพระราชพิธีพราหมณ์นั้น ตั้ง ณ หอเวทวิทยาคม ในพระบรมมหาราชวัง
การสรงน้ำนั้นจะมี 2 แบบคือ ทำพิธีสรงน้ำบนเขาไกรลาสจำลองที่สร้างขึ้น
หรือสร้างพระแท่นสรงน้ำบนลานมุมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
โดยพิธีสรงน้ำบนเขาไกรลาสนั้น จะประกอบพิธีขึ้นเฉพาะกับพระเจ้าลูกเธอ
ที่ดำรงพระยศ “เจ้าฟ้า” เท่านั้น

 



 


สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โสกัณฑ์ เมื่อพ.ศ.๒๔๔๖

 




งานโสกัณฑ์ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาท
(รัชกาลที่ ๕) พ.ศ.๒๔๐๘  เขาไกรลาสที่จะใช้ประกอบพระราชพิธีนั้น จะประกอบพิธีสรงน้ำบนตั่งไม้อุทุมพร
เชิงเขาที่จำลองขึ้น มีสระที่สมมติว่าเป็นสระอโนดาตของเขาไกรลาส
(สร้างโดยใช้โครงปิดกระดาษอัดแข็ง ต่อมาจะจำลองเขามอขนาดใหญ่ขึ้นแทน ประดับด้วยต้นไม้และรูปสัตว์ต่างๆ ให้ดูเหมือนเขาจริงๆ) บนยอดเขา
มีบุษบกตั้งอยู่ ประดับตกแต่งด้วยม่านลายทองแผ่ลวดพื้นสักหลาด
ผูกบังทั้ง 4 ด้านของชั้นแท่นบุษบก มีม่านพื้นทองลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์
บนบุษบกทั้ง 4 ด้าน มีชาววังคอยชักไขม่าน ข้างละคน ที่พื้นบุษบกปูเสื่ออ่อน ตั้งเตียง

 

 



 


พระแท่นสรงในงานพระราชพิธีโสกัณฑ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุปธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

 



 


เขาไกรลาสในงานพระราชพิธีโสกัณฑ์อย่างใหญ๋ เฉพาะพระเจ้าลูกเธอ
ที่ดำรงพระยศเจ้าฟ้า

 รูปสัตว์ที่จำลองขึ้นประดับเขาไกรลาส จะมี ราชสีห์ ช้าง ม้า โค
โดยจะทำขนาดใหญ่พอสมควร และสามารถพ่นน้ำออกทางปากได้
เพื่อเจ้าฟ้าที่โสกัณฑ์แล้ว จะได้สรงน้ำที่ไหลออกมาจากสัตว์จำลองนั้นด้วย
ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นมงคล เพราะไหลลงมาจากเขาไกรลาส
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระอิศวร เพราะพระราชพิธีนี้ เป็นคติความเชื่อ
และประเพณีที่เรารับมาจากศาสนาพราหมณ์ เมื่อมีการโสกัณฑ์
พระเจ้าลูกเธอที่ดำรงพระยศเจ้าฟ้า ก็จะสมมติให้เจ้านายผู้ใหญ่พระองค์หนึ่ง
เป็นพระอิศวร เสด็จมาเป็นประธานในพิธีและประทานพรให้มีความเจริญรุ่งเรือง



 


พระราชพิธีโสกัณฑ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวารวดี (รัชกาลที่ ๖)
โสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๓๕

 



 


เหรียญที่ระลึก พระราชพิธีลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธย
รับพระสุพรรณบัฐ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
สยามมกุฎราชกุมาร

 

พระราชพิธีโสกัณฑ์อย่างใหญ่

 


โดยทั่วไปในพระราชพิธีโสกัณฑ์พระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าหลานเธอ
มักจะนิมนต์พระสงฆ์ มาเจริญพระพุทธมนต์บ่าย เป็นเวลา 3 วัน
ถ้าโสกัณฑ์พระเจ้าลูกเธอ ร่วมกับพระเจ้าหลานเธอ ก็จะนิมนต์พระสงฆ์ 50 รูป
และจะประกอบพิธีร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ และพระราชพิธีตรียัมปวายด้วย
ในภายหลัง


 


สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวารวดี (รัชกาลที่ ๖) โสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๓๕



 


เจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิ์เดช กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่๗)
ทรงฉลองพระองค์ก่อนโสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๔๘

 


เจ้านายที่จะโสกัณฑ์ ในวันงานจะแต่งองค์อย่างพระราชกุมาร
ทำไรไว้ขอบรอบจุก เน้นด้วยการใช้สำลีพันปลายใช้ชุบน้ำหมาดๆ แล้วชุบเขม่า
ทารอบไรจุกนั้น โกนพระเกศารอบจุก ล้างศีรษะให้สะอาด อาบน้ำทาขมิ้นบางๆ
เกล้าจุกปักปิ่น ใส่มาลัยรอบจุก หรือใส่เกี้ยวแบบต่างๆตามลำดับยศศักดิ์
ผัดพักตร์และองค์ให้ขาวนวล ทรงฉลององค์ชุดใหม่ประดับด้วยเครื่องเพชรนิลจินดา
ที่เหมาะกับฐานะ แล้วขึ้นพระราชยานเข้าขบวนแห่ ไปประกอบพระราชพิธี เวลา
ได้ฤกษ์โสกัณฑ์ ชาวภูษามาลา จะถอดเกี้ยวออก วางไว้บนพาน
และแบ่งพระเกศาจุกออกเป็น 3 ปอย ปอยแรกให้ผู้เป็นประธาน เป็นผู้ตัด
ปอยที่ 2 ให้ผู้เป็นใหญ่ในตระกูลตัด ปอยที่ 3 ให้บิดาตัด ขณะที่ได้ฤกษ์ตัดนั้น
โหรจะบอกด้วยการลั่นฆ้องชัย เป่าสังข์ เป่าแตร และประโคมปี่พาทย์

 


สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพรัตน์ดาราฯ โสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๓๙
ทรงฉลองพระองค์ในคราวเสด็จฟังสวดพระพุทธมนต์ ก่อนโสกัณฑ์
พระหัตถ์ซ้ายทรงยาดม พระหัตถ์ขวาทรงตะบองเพชร

 

หลังจากโสกัณฑ์แล้ว ก็จะเสด็จไปถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
ถวายสบงและเครื่องไทยทาน แล้วจึงเสด็จไปสรงน้ำที่เขาไกรลาส
มีเสนาบดี 4 คน ที่รับสมมติเป็นท้าวจตุโลกบาล เดินเคียงพระเสลี่ยง
ไปสรงน้ำ ณ พระแท่นสรง เชิงเขาไกรลาส เชิงเขาทำเป็นสระอโนดาตน้อยๆ
พราหมณ์ถวายน้ำกลศ น้ำสังข์ แล้วจึงเสด็จเข้าไปในพลับพลาเปลื้องเครื่องทรง
ผลัดพระภูษา แล้วเสด็จขึ้นบนยอดเขา เฝ้าพระอิศวร
พระอิศวรจะเสด็จลงมารับถึงกลางบันใดนาคขึ้นไปถึงชั้นพระแท่น
 



 


พิธีโสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๗๓ รัชกาลที่๗
ทรงคอยรับพระกรพระองค์เจ้าวิมลฉัตร ในพระบรมมหาราชวัง


เมื่อพระอิศวรประทานพรแล้ว พระเจ้าลูกเธอฯ เสด็จกลับลงไปด้านทิศตะวันออก
แล้วเวียนรอบเขาไกรลาสจากซ้ายไปขวา 3 รอบ แล้วเสด็จกลับเข้าในพระราชวัง
ตามทางที่แห่มา ในตอนบ่ายจะประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภช ซึ่งส่วนมาก
จะสมโภช ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แต่บางครั้งก็สมโภช ที่พระที่นั่งดุสิต
มหาปราสาท เมื่อสมโภชเสร็จ ก็เป็นอันเสร็จพิธี วันรุ่งขึ้นก็อัญเชิญพระเกศา
ไปลอยแม่น้ำ เป็นอันเสร็จพิธีโสกัณฑ์อย่างใหญ่

 



 

เขาไกรลาสในพิธีเกศากัณฑ์


งานมหรสพสมโภช

 มหรสพในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นใน ที่เป็นผู้ชายแสดงได้แก่ โมงครุ่ม
และกุลาตีไม้ ส่วนที่เป็นผู้หญิงแสดงได้แก่ รำต้นไม้ทอง-เงิน และแทงวิสัย
(ผู้แสดงถือหอกอย่างเสี้ยวกาง ถือหอกแทงกัน) นอกเขตประตูพระบรมมหาราชวัง
ชั้นในออกมานั้น มีการเล่นคือ สิงโต กระตั้วแทงควาย ญวนหก ไม้ต่ำสูง
ไม้ลอยเป็นต้น (ปัจจุบันการละเล่นหลายชื่อก็ไม่เคยได้ยินอีกเลย
กระตั้วแทงควายนี่ เหมือนกระตั้วแทงเสือรึปล่าวก็ไม่รู้)
 



 

 

การละเล่นสมโภช ชุดโมงครุ่ม

 


 


บริเวณงานพระราชพิธีโสกัณฑ์ รับพระสุพรรณบัตร
สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อพ.ศ.๒๔๓๓

 
พระราชพิธีโสกัณฑ์ นับเป็นพระราชพิธีสำคัญในอดีต
 

ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรม ประเพณีไทย


ได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายที่พระราชพิธีนี้


เป็นโบราณราชประเพณีที่ไม่มีวันหวนคืน



 

24 พ.ย. 53 เวลา 11:38 5,239 4 52
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...