2 จำเลยที่เหลือปลอมเอกสารขอเครื่องราช
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้โทษจำคุก คดีปลอมเอกสาร ขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฮือฮา 2 จำเลย เจอเพิ่มโทษ นับเรียงกระทงแล้ว สูงกว่า 2,000 ปี แต่ยังโชคดีกฏหมายให้จำคุกจริงได้แค่ 50 ปี เท่านั้น เผยคดีนี้ยืดเยื้อยาวนาน 20 ปี จำเลยมากถึง 16 ราย “เจ้าคุณอุดม” อดีตรองเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ ตกเป็นจำเลย ที่ 1 นอกจากนี้ยังมีบรรดาลูกศิษย์ ทั้งอดีต รมช.ศึกษาธิการ-ปลัดสำนักนายกฯ ติดร่างแหคดีไปด้วย สุดท้ายจบชีวิตแล้ว 9 ราย ยกฟ้อง 3 ราย เหลือรับโทษจริงเพียง 4 รายเท่านั้น
ที่ห้องพิจารณาคดี 911 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี ทุจริตเครื่องราชย์หมายเลขดำที่ ด.1597/2531 และหมายเลขแดงที่ ด.1077/2548 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายผาสุก ขาวผ่อง หรือพระราชปัญญาโกศล หรือเจ้าคุณอุดม อดีตรองเจ้าอาวาสวัดเทพ ศิรินทร์ฯจำเลยที่ 1 (เสียชีวิตแล้ว), นายอำไพ แก้วพงษ์ ผู้ใกล้ชิดเจ้าคุณอุดม จำเลยที่ 2 (เสียชีวิตแล้ว), นายสันติ สวนแก้ว จำเลยที่ 3 (เสียชีวิตแล้ว), นายอรุณ เพชรรัตน์ จำเลย ที่ 4, นายมนตรี จำนง จำเลยที่ 5, น.ส.เฉลิมศรี อู่ทรัพย์ จำเลยที่ 6 (เสียชีวิตแล้ว), นายสมัย กาจู๊ด จำเลยที่ 7 (เสียชีวิตแล้ว), น.ส.พัทยา พิมพ์สอาด จำเลยที่ 8
นายอารี ศาสตรสาระ จำเลยที่ 9, นายพิภพ บุญดิเรก จำเลยที่ 10, นายเมธี บริสุทธิ์ จำเลยที่ 11 (เสียชีวิตแล้ว), นาย สุรเดช เตชะคุปต์ จำเลยที่ 12 (เสียชีวิตแล้ว), นายไพบูลย์ ทองมิตร อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 13 (เสียชีวิตแล้ว), นางชมัยภร แสงกระจ่าง จำเลยที่ 14, นาย ขุนทอง ภูผิวเดือน อดีต รมช.ศึกษาธิการ จำเลยที่ 15 (เสียชีวิตแล้ว) และนายวิโรจน์ ชาทอง จำเลยที่ 16 ในความผิดฐาน ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ จูงใจให้บุคคลมอบทรัพย์สิน, ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กระทำการกรอกข้อความอันเป็นเท็จ, ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินเพื่อกระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบ, ร่วมกันปลอมดวงตราของทบวงการเมือง องค์การสาธารณะ หรือของเจ้าพนักงาน และร่วมกันปลอมเอกสารราชการ
โดยอัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 31 สรุปว่า เมื่อระหว่างปี 2522-2529 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปลอมแปลงเอกสารใบอนุโมทนาบัตร ที่รับเงินบริจาคจากประชาชนที่พวกจำเลยได้จูงใจให้บริจาคทรัพย์สิน เพื่อยื่นเอกสารต่อกระทรวงศึกษาธิการ ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้พวกจำเลยได้รับผลประโยชน์จำนวนมากไปโดยทุจริต จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 48 ว่า จำเลยที่ 4, 5, 8, 9 มีความ ผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานซึ่งใช้ตำแหน่งโดยมิชอบจูงใจให้ผู้อื่นมอบทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ แก่ตนเองและผู้อื่น ให้จำคุกจำเลยที่ 4 จำนวน 113 กระทง กระทงละ 10 ปี รวมจำคุก 1,130 ปี จำเลยที่ 5 จำนวน 117 กระทง กระทงละ 10 ปี รวมจำคุก 1,170 ปี จำเลยที่ 8 จำนวน 192 กระทง กระทง ละ 10 ปี รวมจำคุก 1,920 ปี จำคุกจำเลยที่ 9 จำนวน 98 กระทง กระทง 15 ปี และ ม.148 ประกอบ ม.86 อีก 1 กระทง เป็นเวลา 10 ปี รวมจำคุก 2,660 ปี ส่วนจำเลยที่ 11 จำคุก 1,480 ปี แต่เมื่อรวมโทษจำเลยที่ 4, 5, 8, 9 และ 11 ทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) แล้ว ให้จำคุกจำเลยไว้คนละ 50 ปี
สำหรับจำเลยที่ 10, 14 และ 16 ไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่ากระทำผิดตามฟ้อง ศาลจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง และให้ริบของกลางตามบัญชีทรัพย์ของกลาง ส่วนจำเลยที่ 1, 2, 3, 6, 7, 12, 13 และ 15 ศาลมีคำสั่งให้จำหน่าย คดีออกจากสารบบเนื่องจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว จากนั้นโจทก์และจำเลยได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 4, 5 มีความผิดจริงตามฟ้อง ขณะที่อุทธรณ์ของอัยการโจทก์บางข้อฟังขึ้น จึงพิพากษาแก้เพิ่มโทษจำคุกนายอรุณ จำเลยที่ 4 จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1,130 ปี เป็นเวลา 2,234 ปี นายมนตรี จำเลยที่ 5 จำคุกจาก 1,170 ปี เป็น 2,180 ปี ส่วนอุทธรณ์ของนายอารี จำเลยที่ 9 ฟังขึ้นบางส่วนจึงพิพากษา แก้ ให้ยกฟ้อง มาตรา 148 แต่จำเลยที่ 9 กระทำผิด ม.149 จำนวน 98 กระทงเป็นเวลา 1,470 ปี แต่ความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) แล้ว ให้จำคุกได้จริงไว้คนละ 50 ปี สำหรับจำเลยที่ 8 และ 11 พิพากษายืนตามชั้นต้น (ล่าสุดจำเลย ที่ 11 เสียชีวิตระหว่างอุทธรณ์เมื่อปี 50)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ยืดเยื้อมากว่า 20 ปี ในระหว่างพิจารณาคดี ได้มีการเปลี่ยนพนักงานอัยการหลายคน ผู้พิพากษาเสียชีวิต 1 คน ทนายความเสียชีวิต 4 คน นอกจากนี้บรรดาจำเลย ได้เสียชีวิตไปแล้ว 9 คน โดยโจทก์นำสืบพยานกว่า 100 ปาก จากพยานที่อ้างไว้ 538 ปาก.