การรับประทานยานั้นมีข้อแนะนำที่สำคัญคือไม่ควรรับประทานยาพร้อมนม หรือน้ำผลไม้ แต่ก็มีบางคนที่ไม่ได้สนใจปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากคิดว่าการรับประทานยาพร้อมนม หรือ น้ำผลไม้นั้น ไม่น่าจะมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาแต่อย่างใด เคยสงสัยไหมว่าเพราะเหตุใดจึงมีข้อแนะนำดังกล่าวข้างต้น
รศ.ดร.โอภา วัชระคุปต์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าการดื่มน้ำผลไม้หรือนมหลังรับประทานยา หรือใช้น้ำผลไม้แทนน้ำนั้นอาจมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาเช่นเดียวกับกรณีการรับประทานยาก่อน หรือหลังอาหาร เช่นถ้ารับประทานยาพร้อมนม ในนมมีแคลเซียม ซึ่งแคลเซียมจะไปจับตัวยาบางชนิด เช่น ซิพเปอร์เฟอซิน ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ถ้ารับประทานยาพร้อมนม น้ำนมหรือสารละลายที่มีแคลเซียมเหล็กก็จะไปจับเป็นคอมเพล็กซ์กับยา ทำให้ยาไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้
ยาปฏิชีวนะบางชนิดมีโมเลกุลขนาดใหญ่ เวลามาถูกแคลเซียมจับก็สามารถตกตะกอนหรือจับเป็นคอมเพล็กซ์ได้ ทำให้ยาไม่ออกฤทธิ์ ส่วนน้ำส้มมีผลทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรดหรือเป็นด่าง ซึ่งจะทำให้ยาถูกขับออกมากหรือน้อยจะทำให้ปริมาณยาในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นควรรับประทานยากับน้ำธรรมดาไม่ควรรับประทานยาพร้อมกับนม กาแฟ น้ำส้ม หรือน้ำผลไม้ ในช่วงรับประทานยาไม่ควรดื่มนมหรือน้ำผลไม้หลังรับประทานยาประมาณ 30 นาที ถึง 1ชั่วโมง
TIPS
คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เปิดเผยผลการวิจัยซึ่งบ่งว่าน้ำผลไม้จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย ที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาหมดไปเพราะ ก่อนที่ยานั้นจะซึมเข้าสู่กระแสเลือด น้ำผลไม้จะต่อต้านการดูดซึมของยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว และโรคภูมิแพ้ต่างๆ รวมไปถึงยาที่ใช้กับผู้ป่วยที่ทำการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่
ที่มา วิทยาศาสตร์รอบตัว(จาก สสวท.)