6 ช่วงเวลาอันตราย ของหัวใจ

 

6 ช่วงเวลาอันตราย ของหัวใจ      

1.ยามเช้า

นักวิจัยจากฮาร์วาร์ดประเมินว่า ในยามอรุณเบิกฟ้าความเสี่ยงหัวใจวายจะเพิ่มขึ้น 40% ทำไมน่ะหรือ? เพราะในขณะที่คุณตื่นนอน ร่างกายจะหลั่งสารทั้งอะดรีนาลีนและฮอร์โมนความเครียดอื่น ๆ ทำให้ความดันโลหิตพุ่งขึ้นสูง และต้องการออกซิเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ด้วยความที่คุณขาดน้ำ เลือดจึงข้นและสูบฉีดลำบาก ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นภาระแก่หัวใจทั้งสิ้น

  กันไว้ก่อน : ตั้งนาฬิกาปลุกเผื่อเอาไว้บ้าง คุณจะได้กดเลื่อนปลุกแล้วค่อย ๆ ตื่นส่วนคนที่ชอบออกกำลังตอนเช้า อย่าลืมวอร์มอัพให้เข้าที่ เพื่อลดความเครียดต่อหัวใจ สุดท้ายคนที่กินยาลดความดันโลหิตควรจะกินยาก่อนนอน เช้าขึ้นมายาจะออกฤทธิ์ดีค่ะ



2.เช้าวันจันทร์...อันตราย!

ใคร ๆ ก็ขยาดวันจันทร์กันทั้งนั้น และวิทยาศาสตร์ ก็มีเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมวันจันทร์ถึงน่ากลัว อาจเป็นเพราะเราทั้งเครียดและหดหู่กับการต้องกลับไปทำงาน เช้าวันจันทร์จึงพ่วงสถิติหัวใจวายมากกว่าปกติถึง 20%

  กันไว้ก่อน : รีแลกซ์ให้เต็มที่ในวันอาทิตย์ แต่อย่าเผลอนอนดึกนะจ๊ะ ถ้านอนดึกทั้งวันเสาร์-อาทิตย์ และต้องตื่นตั้งแต่ไก่โหในวันจันทร์ ร่างกายของคุณจะอ่อนล้าและผิดจังหวะชีวิตเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง อย่ากระนั้นเลยนอนหลับและตื่นนอนเป็นเวลาทุก ๆ วันดีกว่าค่ะ



3.หลังอิ่มท้องกับมื้อหนัก

คนที่เข้าใจผิดว่าบุพเฟต์มีไว้กินให้คุ้ม คงไม่รู้ว่าหัวใจได้รับผลกระทบเร็วและแรงแค่ไหน! มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า อาหารที่มีทั้งไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง จะทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตันได้ง่าย

  กันไว้ก่อน : ถ้ายอมตามใจปากจริง ๆ ก็ควรกินอาหารแต่ละหมู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ นอกจากนี้ แอสไพรินก็อาจช่วยป้องกันไม่ให้เลือดข้นได้ค่ะ



4.ระหว่างทำ "ธุระส่วนตัว"

คุณไม่อยากหัวใจวายในขณะที่อยู่ในห้องน้ำแน่ ๆ แต่มันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงค่ะ! ความเกร็งระหว่างถ่ายหนักจะเพิ่มแรงกดดันภายในหน้าอก ทำให้เลือดไหลกลับไปเลี้ยงหัวใจได้ช้าลง

  กันไว้ก่อน : กินอาหารที่มีกากใยมาก ๆ อย่าปล่อยให้ขาดน้ำ และหลีกเลี่ยงการเกร็งท้องนะจ๊ะ



5.ระหว่างออกกำลังหนัก ๆ

 หัวใจวายอาจเกิดขึ้นได้เพราะผู้ป่วยไม่คุ้นเคยกับการออกแรง พร้อมกับที่ฮอร์โมนความเครียดพุ่งสูงขึ้น ทำให้ทั้งความดันโลหิตและอัตราชีพจรพุ่งทะลุเพดาน

  กันไว้ก่อน : จริงอยู่ที่การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอเสมือนเกราะป้องกันหัวใจ แต่ค่อย ๆ เพิ่มความหนักในการออกกำลังจะดีกว่านะ



6.เมื่อยืนพูดต่อหน้าคนอื่น

บางครั้งหัวใจของคุณอาจรู้สึกว่า การพูดต่อหน้าคนจำนวนมากเหมือนกับการออกกำลังที่ไม่เคยชินก็ได้นะ เมื่อความตื่นเต้นกระสับกระส่ายถึงขีดสุด ความดันโลหิต อัตราชีพจร และระดับอะดรีนาลีนจะจับมือกันพุ่งทะลุเพดาน ทั้งสามอย่างนี้ล่ะ ที่ทำให้ความวิตกกังวลในเรื่องที่ต้องพูดเป็นเรื่องที่สำคัญรอง ๆ ลงไปเลย

  กันไว้ก่อน : บางคนเตรียมรับมือโดยการกินยากลุ่ม Beta-Blocker ก่อนพูดสุนทรพจน์ ขึ้นเครื่องบินหรือทำอะไรก็ตามที่อาจสร้างความกังวลมากกว่าปกติ



 
10 พ.ย. 53 เวลา 22:51 1,330 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...