"โรงภาพยนตร์" ที่ชอบไปดูกันบ่อยๆ ..ปลอดภัยต่อชีวิตมากแค่ไหนนะ ?!?

 

"โรงภาพยนตร์" ที่ชอบไปดูกันบ่อยๆ ..ปลอดภัยต่อชีวิตมากแค่ไหนนะ ?!?      
  "โรงหนังหรือโรงมหรสพมีระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากำกับดูแลค่อนข้างละเอียด ถือได้ว่าเป็นอาคารประเภทที่มีกฎหมายดูแลมากที่สุดก็ว่าได้"

นายอุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า โรงภาพยนตร์จำนวน 310 แห่งทั่วกรุงเทพมหานครได้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติ่ม โดยพ.ร.บ.ควบคุมอาการ พ.ศ.2543 ซึ่งผู้ประกอบการต้องยื่นขออนุญาตใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการ โดยจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบอาคารและส่งให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน นอกจากนี้ เรายังมีการสุ่มตรวจทุกสัปดาห์ๆ ละ 10 โรงด้วย


"ส่วนเรื่องโรงเดียว โรงบนห้าง โรงเก่า โรงใหม่นั้น ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องระดับความปลอดภัย เพราะเรามีมาตรฐานจะบอกว่า โรงเดียวปลอดภัยกว่าโรงบนห้างไม่ได้ เพราะทุกโรงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานระบบความปลอดภัยและต้องมีใบอนุญาต" นายอุดม กล่าว


เมื่อได้ยินอย่างนี้แล้วก็พอชื่นใจ เราจึงได้ออกปฏิบัติการสำรวจมาตรฐานความปลอดภัยในโรงภาพยนตร์ต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มจากปฏิบัติการแรก.....



ปฏิบัติการที่ 1 : นับถังดับเพลิง


สืบเนื่องจากข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในโรงภาพยนตร์หรือโรงมหรสพ ระบุให้มีถังดับเพลิงในตำแหน่งต่อไปนี้
 - ด้านหลังจอภาพ อย่างน้อยข้างละ 1 เครื่อง
 - ด้านหน้าที่นั่งคนดูแถวหน้าสุด อย่างน้อยข้างละ 1 เครื่อง
 - บริเวณกึ่งกลางที่นั่งคนดู อย่างน้อยข้างละ 1 เครื่อง
 - ด้านหลังที่นั่งคนดูแถวหลังสุด อย่างน้อยข้างละ 1 เครื่อง


จากข้อกำหนดข้างต้น จึงหมายความว่าจากเก้าอี้ที่นั่งอยู่ คนดูจะต้องมองเห็นถังดับเพลิงอย่างน้อย 6 เครื่องอยู่ในสายตา (ไม่นับอีก 2 เครื่องที่อยู่ด้านหลังจอภาพยนตร์) อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตของอาสาสมัคร พบว่า


1.โรงภาพยนตร์ 15 โรงจากทั้งหมด 20 โรงผ่านเกณฑ์ดังกล่าว โดยบางโรงมีเครื่องดับเพลิงมากถึง 10 เครื่อง เช่น โรงภาพยนตร์สกาล่า เอสพลานาด และเมเจอร์ สำโรง


2.โรงภาพยนตร์ 5 โรง พบเครื่องดับเพลิงเพียง 4 เครื่อง ได้แก่ อีจีวี สาขาซีคอนสแควร์ และเอสเอฟ เซ็นทรัลเวิลด์ ส่วนโรงที่มีจำนวน 2 เครื่อง ได้แก่ เอสเอฟ สาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และสุดท้ายที่พบว่ามี 1 เครื่อง คือ เอสเอฟ มาบุญครอง



ปฏิบัติการที่ 2 : สืบเรื่องทางออกฉุกเฉิน


สำหรับทางออกฉุกเฉินนั้น เราได้ให้อาสาสมัครไปสังเกตสถานที่และสอบถามข้อมูลกับพนักงาน ในส่วนของการสังเกตพบว่า อาสาสมัครสามารถมองเห็นป้ายทางออกฉุกเฉินได้อย่างชัดเจนทุกโรง ยกเว้นที่เอสเอฟ เซ็นทรัลเวิลด์ และเมื่อเราสอบถามพนักงานโรงภาพยนตร์เกี่ยวกับกรณีถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน เราได้คำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้


 - คำตอบที่น่าฟัง


"จะมีพนักงานเปิดประตูทางออกทุกประตูที่มีอยู่ แล้วให้ผู้ชมลงตามบันไดฉุกเฉิน ซึ่งจะมีอยู่หลังประตูฉุกเฉิน มีการซ้อมเดือนละ 2 ครั้ง" คำตอบจากพนักงานโรงภาพยนตร์พารากอน


"ใช้เครื่องดับเพลิงที่มีอยู่ในโรง นำคนออกและเรียกหน่วยอาคารมาจัดการต่อไป" พนักงานโรงภาพยนตร์เซ็นจูรี่


 - คำตอบที่พอรับได้


"มีทางออกหลายทางและมีการบอกให้พนักงานทราบทั่วกัน แต่ไม่เคยมีการซ้อมหนีไฟให้พนักงาน" พนักงานโรงภาพยนตร์เมเจอร์ รัชโยธิน


"พนักงานจะมาแจ้งผู้ชม แล้วให้ค่อยๆ ทยอยออก โดยจะเปิดประตูหมดทุกบาน" พนักงานโรงภาพยนตร์เอสเอฟ เซ็นทรัลเวิลด์


"เปิดประตูแจ้งลูกค้าให้อยู่ในความสงบ ชี้ทางออกก่อนลำเลียงไปยังที่ปลอดภัย" พนักงานโรงภาพยนตร์เอสพลานาด


 - คำตอบที่ฟังแล้วงง


"ไม่ทราบ ไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีการฝึกซ้อมหนีไฟ" พนักงานโรงภาพยนตร์ อีจีวี สาขารังสิต


"มีทางหนีไฟ" พนักงานโรงภาพยนตร์เอสเอฟ มาบุญครอง และเมเจอร์ บางกะปิ


เราสามารถสรุปได้ว่า อาสาสมัครเห็นว่าไม่มีโรงภาพยนตร์ใดสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย หรือวิธีปฏิบัติในยามฉุกเฉิน แต่ตามข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยนั้น แต่ละโรงต้องมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ดูแลเราในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน 1 คนต่อ 1 โรง



เสียงจากผู้บริโภค

 

 - เรื่องความปลอดภัยของโรงภาพยนตร์
ร้อยละ 69.1 เห็นว่าควรมีเจ้าหน้าที่ซึ่งสามารถช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำได้หากมีเหตุฉุกเฉิน
ร้อยละ 68.5 ต้องการทางหนีไฟที่กว้าง ไม่วกวนและไม่มืดเกินไป
ร้อยละ 55.1 หวังให้มีการฝึกซ้อมพนักงาน เพื่อรับมือหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
ร้อยละ 48.3 หวังให้มีถังดับเพลิงอยู่ประจำจุดเสี่ยงภัย และมีการดูแลรักษาให้ใช้งานได้ตลอดเวลส
ร้อยละ 72.2 เห็นด้วยกับการฉายวิดีทัศน์ให้ความรู้ เรื่องทางหนีไฟและการปฏิบัติตนในยามฉุกเฉิน แทนการเปิดโฆษณา


- เครื่องความสะดวกในการใช้บริการ
ร้อยละ 71.0 คาดหวังการซื้อตั๋วที่สะดวก รวดเร็ว และไม่ถูกรบกวนด้วยการเสนอขายสินค้าอื่น
ร้อยละ 60.7 เห็นว่าควรมีการตรวจกระเป๋าก่อนเข้าโรง
ร้อยละ 59.6 เห็นว่าควรมีจุดบริการลูกค้า เช่น กรณีตั๋วหาย ของหาย หรือซื้อตั๋วผิด
ร้อยละ 47.7 คาดหวังบริการรักษาความปลอดภัย ที่ไม่รบกวนคนดูมากเกินไป
ร้อยละ 43.7 ควรหน้านำอาหารจากภายนอก เข้าไปรับประทานในโรงภาพยนตร์


 
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...