ย้ำอย่าเชื่อ! ซื้อตุ๊กแกตัวละแสนแค่ปั่นราคา
สัตวแพทย์ ม.เกษตรฯ ห่วงกระแสชาวบ้านตื่นตูมขายตุ๊กแกหวังรวย อีกไม่เกิน 10 ปี ตุ๊กแกหมดแน่ เตือนประชาชนแห่ทำฟาร์มระวังหมดตัว เพราะเป็นสัตว์สืบพันธุ์ช้า อัตรารอดต่ำ ตัวโตเต็มวัยไม่เกิน 2 ขีด ส่วนตัวน้ำหนักเกิน 3 ขีดที่พ่อค้ารับซื้อราคาเป็นหมื่นบาท โอกาสพบแค่ 0.05%
นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึง ปรากฏการณ์ชาวบ้านหลายจังหวัดแห่เลี้ยงและจับตุ๊กแกพันธุ์พื้นบ้านส่งขายให้ พ่อค้าชาวต่างชาติในราคาสูงเกินจริงตัวละ 10,000 - 100,000 บาท ว่า แม้จะมีนักธุรกิจชาวสิงคโปร์และมาเลเซียออกมาเปิดเผยตัวว่าเป็นผู้รับซื้อตุ๊กแกในราคาแพง แต่ยังไม่เห็นการซื้อขายเกิดขึ้นจริง
เชื่อ ว่าอาจจะเป็นการปล่อยข่าวปั่นราคาตุ๊กแกให้สูงขึ้น เพื่อชักชวนชาวบ้านร่วมลงทุนทำธุรกิจ แต่สุดท้ายจะเป็นการหลอกลวงต้มตุ๋นในลักษณะแชร์ลูกโซ่เหมือนกรณีเลี้ยงตัว นากหญ้า เนื่องจากมีประเด็นไม่สมเหตุสมผลที่จะส่งเสริมให้เลี้ยงตุ๊กแกคือ สัตว์ชนิดนี้สืบพันธุ์ช้า อัตรารอดต่ำ หากจะไปจับตามหมู่บ้านหรือในป่าก็แทบจะไม่มีหลงเหลือจำนวนมาก ๆ เหมือนสมัยก่อน
สัตวแพทย์ประจำคลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษประจำโรงพยาบาลสัตว์ บางเขน ระบุว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตุ๊กแก ว่ามีสรรพคุณรักษาโรคมะเร็งและโรคเอดส์ กระแสข่าวที่อ้างว่าเซลล์สมองของตุ๊กแกนำไปสกัดทำยารักษาโรคได้นั้น เป็นเพียงความเชื่อและไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ แต่ที่เห็นทุกวันนี้จะเป็นการนำตุ๊กแกมาตากแห้งเพื่อใช้เป็นยาแผนโบราณและ ยังขายในราคาถูกอีกด้วย
"ชาวบ้านนิยมนำไปต้มดื่มผสมสมุนไพรเพื่อบำรุงร่างกายและลดไข้ โดยเฉพาะในประเทศจีนนิยมเป็นกันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสานออกตระเวนล่าตุ๊กแกตามบ้านเรือนทั่ว ประเทศ นำมาตากแดดแล้วส่งให้พ่อค้าที่เมืองจีน ส่วนกรุงเทพฯ มีร้านขายยาแผนโบราณขายตุ๊กแกเช่นกัน แต่ก็ขายราคาตัวละไม่กี่สิบบาทเท่านั้น" สัตวแพทย์กล่าว
น.สพ.เกษตร กล่าวอีกว่า ล่าสุดได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เตรียมเปิดฟาร์มเลี้ยงตุ๊กแกเข้ามาขอคำปรึกษาแนะนำวิธีเลี้ยง ตนได้บอกไปว่าการเลี้ยงตุ๊กแกเชิงพาณิชย์ไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน เสี่ยงโอกาสขาดทุนสูงมาก เพราะตุ๊กแกเป็นสัตว์สืบพันธุ์ช้าและอัตรารอดต่ำ โดยออกไข่ทีละ 2 ฟอง มักจะเจริญเติบโตเหลือเพียงตัวเดียว อีกหนึ่งตัวจะโดนสัตว์ผู้ล่า เช่น นกเค้าแมว และ กิ้งก่า จับกินเป็นอาหาร อีกทั้งขนาดตุ๊กแกโตเต็มวัยส่วนใหญ่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 ขีด ตัวสมบูรณ์สุด ๆ ประมาณ 3 ขีด แต่ตัวที่มีน้ำหนักเกิน 3 ขีดขึ้นไปนั้นอาจจะมีประมาณ 0.05% ดังนั้น การที่มีพ่อค้าชาวต่างชาติประกาศซื้อตุ๊กแกที่มีน้ำหนัก 3 ขีดขึ้นไป ก็คงไม่มีใครสามารถเลี้ยงตุ๊กแกที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ที่พ่อค้ากำหนด
"หากจะไปจับตุ๊กแกตามบ้านเรือนหรือในป่าธรรมชาติก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะหลายปีที่ผ่านมาหมู่บ้านตุ๊กแกในภาคอีสาน ซึ่งชาวบ้านมีอาชีพหลักจับตุ๊กแกเป็นล่ำเป็นสัน ก็ออกล่าจนไม่มีตัวใหญ่ ๆ เหลือให้จับแล้ว หากสถานการณ์จับตุ๊กแกไม่เป็นเช่นนี้เรื่อย ๆ ผม เป็นห่วงว่าอีกไม่เกิน 10 ปี ตุ๊กแกจากสูญหายไปจากบ้านเรือนคนไทยแน่นอน เรื่องนี้ขอเรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ควรเข้ามาดูแลด้วย" น.สพ.เกษตรกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษกล่าวอีกว่า ตุ๊กแกเป็นสัตว์คู่ครัวเรือนชาวไทยมาตั้งแต่โบราณ และมักจะปล่อยไว้เป็นเพื่อน ไม่ไปยุ่งหรือทำร้ายมัน แต่ทุกวันนี้คน ไทยกลัวตุ๊กแก คิดว่าเป็นสัตว์อันตรายหรือมีไวรัสเชื้อโรค ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะที่จริงแล้วตุ๊กแกเป็นจิ้งจกชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ ไม่มีพิษ บางตัวมีแบคทีเรียที่ทำให้คนท้องเสีย แต่ก็มีน้อย ส่วนประโยชน์ต่อระบบนิเวศคือ ช่วยควบคุมประชากรแมลง หากอยู่ตามบ้านก็จะกินแมลงสาบ โดยเฉพาะในต่างประเทศชอบเลี้ยงตุ๊กแกไว้ประดับบ้าน เพราะมีสีสันลวดสายสวยงามแปลกตา ดังนั้น จึงขอเตือนชาวบ้านอย่าหลงเชื่อข่าวเลี้ยงตุ๊กแกพารวย เพราะอาจตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ก็ได้