"แม่ครับ....ผมเป็นเกย์!"

"แม่ครับ....ผมเป็นเกย์!"

ภาพและเนื้อหาในบทความนี้อาจไม่เหมาะกับเด็กและเยาว์ชน

“แม่ครับ......ผมเป็นเกย์” ประโยคที่สั้น ๆ แต่กว่าจะถูกกลั่นออกมาจากใจผ่านลำคอสู่โสตประสาทของผู้รับฟังโดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อเป็นแม่นั้นยากยิ่งกว่าการพูดบนเวทีต่อหน้าคนนับพันนับหมื่นครั้งไหน ๆ ของ “พี่ผัด” หรือ “อาจารย์ผัด” ของคนทำงานด้านเอดส์และความหลากหลายทางเพศ เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่แทบจะไม่ค่อยได้รู้ความเป็นไปเป็นมาในบางแง่มุมของ “พี่” ที่ปัจจุบันยังคงเป็นคนทำงานอยู่ในอีกมุมของสังคมภายใต้ชื่อ “โครงการชายรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ” หรือที่รู้จักกันในนาม “เอ็มพลัส (M plus)”  ซึ่งล่าสุดการสนทนาในเวทีเรื่องความรุนแรง “พี่ผัด” ได้สะท้อนบทผ่านร้อนผ่านหนาวให้พวกเราฟังตอนหนึ่งว่า “ยอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์ คือชอบผู้ชาย มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ตัวเองก็เคยเป็นเหยื่อของความรุนแรง ตอนเรียนอยู่ประถมในชั้น ป.3-ป.4 ด้วยความที่เป็นเด็กน่ารัก ตัวเองกับเพื่อนอีกคนมักจะถูกครูผู้ชายคนหนึ่ง เรียกไปในห้องแล้วโดนจับนั่นจับนี่ โดนล่วงละเมิดทางเพศจนเพื่อน ๆ ในห้องล้อ อายก็อายแต่ก็ไม่กล้าบอกใคร พอจบ ป.6 ก็ตัดสินใจบวชเรียน กลายเป็นหนีเสือปะจระเข้ ก็ยังโดนพระในวัดกระทำชำเรามีเพศสัมพันธ์ด้วยอีกหลายต่อหลายครั้ง จนกลายเป็นความชอบผู้ชายด้วยกันมาตั้งแต่นั้น...” ทุกคนในวงสนทนา ราว 40 คน ต่างนั่งนิ่ง ตาจับที่ “พี่ผัด”ที่ต้องพูดแข่งกับเวลาที่มีน้อยนิด “น่าสนใจ...พูดต่อค่ะ” อาจารย์ท่านหนึ่งเอ่ยขึ้นในขณะที่บรรยากาศเงียบลง แล้ว “พี่ผัด” ก็เล่าต่อด้วยน้ำเสียงที่เร็วปานจรวดเช่นเดิมอีกระลอก “...หลังจากนั้นเราก็ใช้ชีวิตเหมือนผู้ชายปกติทำงาน แต่งตัวเหมือนผู้ชายทั่วไป แต่ในจิตใจเราชอบผู้ชายเหมือนกัน พออายุมากขึ้นเพื่อฝูงที่เรียนมาด้วยกันก็ทยอยแต่งงานกันทีละคนสองคน เหลือแต่เรา พอกลับบ้านที่อยู่ต่างจังหวัดก็จะมีแต่คนถามซึ่งก็หนีไม่พ้นว่า “เมื่อไหร่จะแต่งงาน” “เมื่อไหร่จะพาแฟนมาเที่ยวบ้าน” จนเรามีความรู้สึกว่าเบื่อและอึดอัดกับคำถามที่ถามซ้ำไปซ้ำมา จนในที่สุดตัดสินใจบอกกับคนรอบข้างในวงสนทนาเลยว่า “กูเป็นเกย์ ชอบผู้ชายเหมือนกัน ถ้าจะเอาแฟนก็จะเอาแฟนผู้ชายเหมือนกัน” ผลออกมาตรงข้ามกับที่คิดไว้เพราะทุกคนก็ยอมรับ ก็ไม่ได้รังเกียจเรา เราก็ไม่ต้องทนอึดอัดและทนต่อคำถามซ้ำซากจำเจ” ทั้งนี้ความเป็นเพศที่สาม จะเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งเชิงกายภาพ และเชิงสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว “พี่ผัด”ได้เสนอมุมมองเพิ่มเติมว่า “มองว่าเรา(สังคม)ไปให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์แต่ละเลยความสำคัญของเหยื่อที่ถูกกระทำและได้รับผลกระทบ เกย์หรือกระเทยที่เราเรียกว่าเป็นเพศที่สาม ถูกเบียดขับออกสู่สังคม ต้องมีเพศสัมพันธ์กันอย่างหลบ ๆ ซ่อน ถูกมองว่าเป็นพวกสำส่อนทางเพศ ถูกมองว่าเป็นตัวแพร่เชื้อการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคมทั้งในเรื่องของ “อัตลักษณ์ทางเพศ” “ความหลากหลายทางเพศ” หรือ “รสนิยมทางเพศ” เป็นงานที่ยากเพราะต้องทำควบคู่กับกลุ่มหลักนั่นคือกลุ่มเกย์ กระเทย กลุ่มชายรักชาย หรือบางคนเขาไม่ได้รักชายด้วยกัน แต่เขามีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยกันอาจจะด้วยหลายเหตุผล เช่น เศรษฐกิจ หน้าที่การงาน เป็นต้น”

 

 

และพี่ๆ จาก Teen path ได้ยกกรณีของ “โตโต้” ที่รู้สึกรักเพศเดียวกันตั้งแต่อายุ 12 ปี แต่ก็ไม่กล้าเปิดเผยให้ใครรู้ แม้กระทั่งพ่อแม่ของเขา ชีวิตของ “โตโต้” ก็เหมือนกับเด็กชายปกติทั่วไปที่ชอบเตะบอล คลุกอยู่กับกลุ่มเพื่อนชาย บุคลิกของ “โตโต้”ก็เหมือนกับเด็กชายวัยรุ่นทั่วไป เกเร บ้างในบางครั้ง แต่สิ่งที่ “โตโต้” มีมากกว่าคนอื่นก็คือน้ำใจ และความเอื้ออาทรที่มีให้กับเพื่อนๆ ทำให้เพื่อนๆในกลุ่มรัก”โตโต้”มากเป็นพิเศษ ใครมีปัญหาอะไรก็มักจะเข้ามาปรึกษา “โตโต้”เสมอ “โตโต้”สนิทกับที่บ้านมากมีอะไรเขาก็มักจะปรึกษา พ่อและแม่เสมอ ซึ่งเขาเองก็รู้อยู่ลึกๆ ว่าแม่น่าจะรู้ว่าเขารักเพศเดียวกันเพราะหนังสือโป๊ที่เก็บเอาไว้ตามที่ต่างๆมักจะถูกเคลื่อนย้าย ที่ “โตโต้”รู้เพราะว่าเขาเป็นคนเก็บมันกับมือจึงรู้ว่ามันถูกผู้อื่นหยิบขึ้นมาอ่าน ซึ่งจะเป็นใครไปเสียไม่ได้นอกจากแม่ เพราะแม่เป็นคนเดียวที่ทำความสะอาดห้องของเขา แต่แม่ก็ไม่เคยพูดอะไร และก็ไม่เคยบอกพ่อเลย เมื่อเขาสอบเอนทรานซ์ติดโตก็ตัดสินใจบอกพ่อทันทีในวันที่เขารู้ผล ผลปรากฏว่าพ่อไม่พูดจาหยอกล้อโตเลยเป็นเวลาแรมปี “โตโต้” ก็ไม่ย่อท้อพยายามปฏิบัติตนให้เหมือนเดิม และ ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ตั้งใจเรียน เล่นกีฬา พยายามทำตัวให้เป็นปกติเหมือนกับเวลาที่พ่อยังไม่รู้ว่าเขาเป็นเกย์ เวลาผ่านไปเกือบปี วันหนึ่งพ่อก็พูดกับ “โตโต้”ว่า "จะคบเพื่อนคนไหนก็ดูให้ดี อย่าซี้ซั้วคบล่ะ" คำพูดนี้ทำให้เขายิ้มออกทันทีเพราะมันเป็นคำพูดที่เขารู้ว่า คำว่าเพื่อนในความหมายของพ่อนั้นคืออะไร มันเป็นสิ่งทีเขาเฝ้าคอยและก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกเข้มแข็งที่จะก้าวสู่สังเวียนการต่อสู้ของสังคมต่อไป เมื่อเขาจบการศึกษาและเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน เขาก็ทำงานอย่างปกติมีเพื่อนฝูง ไปเที่ยวเฮฮา จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนร่วมงานของเขาก็ถามโตขึ้นมาว่า ทำไมไม่เห็นมีแฟนสักที เขาก็บ่ายเบี่ยงไปตามเรื่องตามราว จวบจนกระทั่งวันหนึ่งงานปีใหม่ของบริษัทฯ ก็มาถึงซึ่งในจดหมายเชิญได้ระบุให้ผู้ที่เข้ามาร่วมงานพาคู่ของตนมาร่วมงานด้วย “โตโต้” จึงตัดสินใจควงเพื่อนสาวคนสนิทมาในงาน โดยแนะนำว่าเป็นแฟนของตน และหลังจากนั้นเพื่อนๆ ก็มักจะขอให้เขาพาเพื่อนสาวคนนั้นไปเที่ยวด้วยกันเสมอ ตลอดเวลาที่เขาต้องหลอกตัวเองและเพื่อนฝูงนั้น เป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกทรมานอย่างเป็นที่สุดเนื่องจากต้องเล่นละครตบตาเพื่อนฝูงอยู่เสมอ และแล้วเมื่อถึงวันที่เขาต้องลาออกจากที่ทำงานเพื่อไปเรียนต่อ “โตโต้”ก็ตัดสินใจที่จะบอกความจริงกับเพื่อนในวันเลี้ยงส่ง เขาเล่าทุกอย่างให้เพื่อนของเขาฟังและยกมือไหว้เพื่อนทุกคนเพื่อขอโทษ แต่สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกประหลาดใจที่สุดก็คือเพื่อนทุกคนกลับบอกเขาว่าทุกคนนั้นก็รู้สึกอยู่แล้วว่าเขาเป็นเกย์แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร เพราะไม่ได้มีความสลักสำคัญ และที่ถามถึงแฟนก็มิได้หมายความว่าจะต้องเป็นแฟนผู้หญิง ทุกคนรัก “โตโต้” เพราะว่าเขาเป็นคนดีมีน้ำใจ และพร้อมที่จะยอมรับไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็ตาม หลังจากนั้นเขาก็เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นกับตัวตนที่แท้จริงของตน เขาไม่เคยปิดบังที่จะบอกใครว่าเขาเป็นเกย์ถ้ามีใครถาม แต่ถ้าไม่มีใครถามเขาก็เหมือนกับผู้ชายคนหนึ่งที่มีเสน่ห์ ดูใจดี มีน้ำใจ ยิ้มง่าย ร่าเริงแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของ "ความแตกต่าง" ที่สามารถจัดการกับ "ความแปลกแยก" ซึ่งเกิดจากบรรทัดฐานของสังคม จำได้ไหมตอนที่ "สายเดี่ยว" เข้ามาฮิตกันอย่างแพร่หลายในเมืองไทย ใครใส่สายเดี่ยวก็จะถูกตรีตราว่าเป็นเด็กกล้า ไม่เรียบร้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไป เดี๋ยวนี้เด็กๆ ก็ใส่สายเดี่ยวได้แต่เป็นสายเดี่ยวที่ถูกบรรทัดฐานของสังคมปรับเปลี่ยนให้ดูไม่โป๊จนเกินไป เฉกเช่นเดียวกับความแปลกแยกของโต ที่กลายเป็นเพียงแค่ความแตกต่าง เพราะความแปลกแยกนั้น เมื่อเวลาผ่านไป วันหนึ่งก็จะกลายเป็นเพียงแค่ความแตกต่างเท่านั้น

เมื่อ “พี่ผัด”ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในวงสนทนาไปก็ทำให้นึกถึงเพื่อน ๆ พี่ ๆในองค์กรของ “พี่ผัด” เอง ทั้ง “พี่ต่อ” หรือ “อาจารย์ต่อ” ต้น ต้อม กบ เอ้ ฯลฯ ซึ่งทุกคนล้วนกล้าแสดงออกและเป็นสีสันที่ดีในเวทีประชุมทุกครั้ง “พี่ต่อ”เคยเปรย ๆว่า “เป็นเกย์ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเจ้าชู้ หรือสำส่อน เพียงเพราะข้อสรุปง่าย ๆ ว่า เกย์คือผู้ชาย ผู้ชายจะเจ้าชู้ ดังนั้น เกย์เลยต้องเจ้าชู้ หรือบางคนก็บอกว่า ไม่มีรักแท้ในหมู่เกย์ ซึ่งไม่จริงเสมอไป มีเพื่อนที่คบกันใช้ชีวิตแบบชาย+ชายด้วยกันมาร่วม 20 ปี ปัจจุบันยังอยู่ด้วยกันก็มี การเป็นเกย์ไม่ใช่หวัดที่จะให้กินยา นอนพักแล้วจะหาย มันเป็นแล้วเป็นเลย บางคนก็ไปมีความสัมพันธ์กับผู้หญิง ใช้ชีวิตแบบปกติแต่มันก็ไม่ปกติหรอกเพราะมันฝืนความรู้สึกทางจิตใจ” กลุ่ม “เอ็มพลัส”มียุทธศาสตร์ในการทำกับกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่ม “ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย”ในพื้นที่เชิงรุกทั้งในสถานบริการ บาร์ต่าง ๆ และตามแหล่งนัดพบ เช่น สวนสาธารณะ ปั๊มน้ำมัน เรียกว่าทีมงาน Out reach ในประเด็นสร้างองค์ความรู้ในมิติสุขภาพโดยเฉพาะประเด็นเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งทีมงาน “เอ็มพลัส” ได้กรุณามอบแผ่นพับในการนำเสนอข้อมูลเรื่อง “ชายรักชาย” โดยสรุปสาระได้ดังนี้

ชายรักชาย หมายถึง ผู้ชายที่มีความรัก ความปรารถนาทางเพศชายด้วยกัน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Male Homosexual หรือ Gay หรืออาจใช้คำว่า MSM ซึ่งย่อมาจาก Men who have sex with men ในภาษาไทยมักเรียกว่า “เกย์” แต่มีคำอื่นอีกหลายคำ ซึ่งมักเรียกตามพฤติกรรมที่แสดงออก เช่น ชายที่แต่งตัวและแสดงกริยาเป็นหญิงก็เรียกว่า “กระเทย”เป็นต้น “เกย์” แบ่งตามบทบาทในการมีเพศสัมพันธ์ได้ 3 แบบหลักคือ

1.      เกย์คิง จะอยู่ในบทบาทของผู้ชาย คือ เป็นผู้สอดใส่อวัยวะเพศ เรียกว่า ฝ่ายรุก

2.      เกย์ควีน จะอยู่ในบทบาทของผู้หญิง คือเป็นฝ่ายรองรับ เรียกว่า “ฝ่ายรุก”

3.      เกย์ควิง หรือ โบท จะอยู่ได้ 2 บทบาท คือทั้งรุก และรับ

นอกจากบทบาทดังกล่าวแล้วในสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น ยังมีบทบาทอีกหลายมิติ อาทิเช่น

1.      ไบรุก จะหมายถึงคนที่มีเพศสัมพันธ์ได้ทั้งชายและหญิง แสดงบทบาทเป็นฝ่ารุก หรือรู้จักกันในรูปแบบของ “หญิงก็ได้ ชายก็ดี”

2.      ไบรับ หมายถึงชายที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิงได้และมีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยการเป็นฝ่ายรับ

3.      ไบโบท หมายถึงชายที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิงได้ และแสดงบทบาทในการมีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยการเป็นทั้งฝ่ายรุกและรับ

4.      โบทรุก หมายถึงกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทั้งการรุกและการรับแต่ถนัดรุกมากกว่า

5.      โบทรับ หมายถึงกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทั้งการรุกและการรับแต่ถนัดรับมากกว่า

 

เพราะอะไร? จึงกลายเป็น “ชายรักชาย”

มีหลายแนวคิด หลายแบบเกี่ยวกับสาเหตุของ “ชายรักชาย” (ที่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน) ดังนี้

1.      สาเหตุทางพันธุกรรมเกิดจากการถ่ายทอดโครโมโซมที่มีรหัส Xq28 ซึ่งถ่ายทอดมาจากทางฝ่ายแม่

2.      ระดับฮอร์โมนเพศชายของเกย์แตกต่างไปจากของชายรักหญิง

3.      สมองของเกย์แตกต่างไปจากสมองของชายที่รักหญิง

4.      จากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง เช่นอยากได้ลูกสาว จึงซื้อของเล่นและเสื้อผ้าผู้หญิงให้หรือเลี้ยงแบบลูกสาว การเลี้ยงดูที่ผิดเพศ ความห่างเหินจากพ่อใกล้ชิดแม่ ครอบครัวที่ขาดพ่อ เคยเห็นพ่อทำร้ายครอบครัว หรือครอบครัวที่มีแม่เป็นผู้นำ เป็นต้น

5.      จากประสบการณ์ การเรียนรู้ และสังคม สิ่งแวดล้อม ในวัยรุ่นทั้งชายและหญิงอาจมีความสนิทสนมผูกพันกับเพื่อนๆ เพศเดียวกัน ซึ่งจากสถิติพบว่า วัยรุ่นที่มีพฤติกรรมผูกพันกับเพศเดียวกันมากๆ มี 1 ใน 3 ที่พัฒนาไปเป็นพวกรักร่วมเพศจริงๆ และพบว่าบางครั้งเกิดขึ้นชั่วคราวบางสภาวะ เช่น ในโรงเรียนประจำชายล้วน ในวัด ในค่ายทหาร ในสถานพินิจหรือในคุก เป็นต้น

 

ข้อมูลโดย

"สะพานแขวน"

http://gotoknow.org/blog/00-99/176656

โพสโดย

http://214882.clipmass.com

มาทักทายกันบางนะค่ะ

Credit: ความหลากหลายทางเพศ ความเข้าใจ จิตวิทยา ชายรักชาย วัยรุ่น สุขภาวะ อนามัยเจริญพันธุ์ เกย์ เพศศึกษา เอดส์
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...