ตำนานการไห้วพระธาตุ
คำว่า พระธาตุ มีความหมายสองนัยคือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถานที่หรือพระเจดีย์ที่มีพระบรมธาตุบรรจุ โดยแต่ละแห่งจะมีตำนานที่เล่ามูลเหตุการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งสัมพันธ์กับการเสด็จโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้าในดินแดนต่างๆ สถานที่ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เหล่านี้ มักจะกลายเป็นเมืองสำคัญในเวลาต่อมา ลักษณะพระบรมธาตุ ลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุที่บรรยายไว้ในตำนานมีลักษณะเหมือนถั่วแตก หรือข้าวสารหัก หรือเมล็ดพันธุ์ผักกาด กลมเกลี้ยงขนาดเท่าเม็ดพุทรา มีสีทองอุไร สีแก้วผลึก หรือแก้วมุกดา สีดอกพิกุล บางองค์มีรูทะลุได้ตามปกติจะบรรจุพระบรมธาตุไว้ใต้ฐานเจดีย์ หรือเรือนธาตุ โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถนำออกมาได้ เว้นแต่พระธาตุศรีจอมทอง และนอกจากการบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีการบูชาพระธาตุของพระอรหันต์หรือพระสาวกด้วย คติการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด ในสังคมไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรที่สัมพันธ์กับปีเกิด และการนับอายุของแต่ละคน เป็นที่รับรู้กันแพร่หลาย ใน แต่ละปีนักษัตร จึงกำหนดด้วยสัญลักษณ์เป็นสัตว์ประจำปีเกิด หรือที่เรียกว่า 12 นักษัตร สำหรับในดินแดนภาคเหนือของไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรยังสัมพันธ์กับคติการบูชาพระบรมธาตุ ดังปรากฏเป็นประเพณีการชุธาตุหรือการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด โดยครั้งหนึ่งในชีวิตควรมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน เพื่อความเป็นสิริมงคล การบูชาพระบรมธาตุ สมัยโบราณมักจะบูชาพระบรมธาตุด้วยเครื่องหอมและข้าวตอกดอกไม้ ตามปกติแล้วจะสรงพระธาตุด้วยน้ำสะอาด อาจเจือด้วยน้ำหอม เนื่องจากพระบรมธาตุส่วนใหญ่บรรจุอยู่ใต้ฐานพระเจดีย์ การสรงน้ำจึงกระทำโดยการราดน้ำไปบนองค์พระเจดีย์ พระธาตุบางองค์จะต้องใช้น้ำจากแหล่งพิเศษ อย่างเช่น การสรงน้ำพระธาตุศรีจอมทอง ใช้น้ำจากแม่น้ำกลางเจือด้วยน้ำหอมหรือแก่นจันทน์กล่าวได้ว่าคติการบูชาพระธาตุปีเกิดและตำนานที่เกี่ยวข้องสะท้อนถึงการแพร่กระจายของพุทธศาสนาในดินแดนไทยมาแต่โบราณ นอกจากนี้การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ยังสัมพันธ์กับการเกิดชุมชนเมืองต่างๆ อันก่อให้เกิดคติความเชื่อและวัฒนธรรมร่วมกันของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทยที่มีกลุ่มชนมากมายอาศัยอยู่ โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์และสิ่งสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางแห่งจิตใจการเดินทางท่องเที่ยวไหว้พระธาตุปีเกิดมีความสะดวกอย่างยิ่ง เนื่องจากพระธาตุส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ จึงสามารถจัดเส้นทางสำหรับไหว้พระธาตุในจังหวัดใกล้เคียงได้ เช่น เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง หรือ เชียงราย-น่าน-แพร่ เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้อิ่มใจในบุญกุศล ทว่ายังได้ชมศิลปะและสถาปัตยกรรมอันงดงามของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย p;
เจดีย์พระธาตุศรีจอมทอง
สำหรับผู้เกิดปีชวด พระบรมธาตุเจดีย์นี้ตั้งอยู่บนยอดจอมทอง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ ส่วนพระเศียรเบื้องขวา ความพิเศษแตกต่างจากที่อื่นคือ เป็นพระบรมธาตุที่มิได้ฝังใต้ดิน แต่ประดิษฐานอยู่ในกู่ภายในวิหาร สามารถอัญเชิญมาสรงน้ำได้ ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยนี้ และทรงพยากรณ์ว่าที่นี่จะเป็นที่ประดิษฐานพระทักขิณโมลีธาตุของพระองค์ในภายหน้า ต่อมาราวปีพ.ศ.1995 นางเม็งและนายสอยได้พบพระบรมธาตุ จึงได้ก่อพระเจดีย์และสร้างเสนาสนะที่ดอยต้นทอง คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดจอมทอง ในสมัยพระแก้วเมือง (พ.ศ.2038- พ.ศ.2068) กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย ได้สร้างวิหารจัตุรมุข ภายในมีมณฑปปราสาทเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุ เจ้าเมืองเชียงใหม่หลายพระองค์ได้อัญเชิญพระบรมธาตุศรีจอมทองไปยังเมืองเชียงใหม่ เพื่อทำการสักการะ โดยมีวัดต้นเกว๋นที่ อ.หางดง เป็นวัดที่หยุดพักขบวนแห่พระบรมธาตุเข้าเมืองในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 มีพิธีแห่พระบรมธาตุไปบูชาข้าวที่อุโบสถและให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ โดยจะมีการกล่าวบทอัญเชิญ และใช้ช้อนทองคำเชิญพระธาตุจากผอบมาประดิษฐานในโกศแก้วที่ตั้งบนพานเงิน ตามธรรมเนียมเดิมควรนำน้ำจากแม่น้ำกลาง เจือน้ำหอมหรือแก่นจันทร์มาใช้สรงหรือจะเป็นน้ำสะอาดเจือของหอมก็ได้ คำบูชาพระธาตุ อะหัง นะมามิ ติโลกะโมลี ติโลภัสสะ ภะคะวะโต ทักขิณโมลี ปะติฏฐิตัง ภะคะวะโต อะธิษฐานะพะเลนัฏฐิตัง โลหะกูเฏ พุทธะนิ อังคะรัฏฐะ กิตติมันตัง มะโนหะรัง โลกานัง สัพพะโลเกหิปูชิตัง อามิสะปะฏิปัตติวาสะนะ สัพพะทา
เจดีย์พระธาตุลำปางหลวง
สำหรับผู้เกิดปีฉลู วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองลำปาง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเสด็จถึงหมู่บ้านสัมภาการีวัน ลัวะชื่ออ้ายคอนได้นำน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้พางและมะพร้าวมาถวาย พระองค์ได้ทรงพยากรณ์ว่า ที่นี่จะมีนครชื่อ ลัมพาง และได้มอบพระเกศาธาตุให้ลัวะอ้ายคอนนำไปประดิษฐาน ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพาน พระอรหันต์ได้นำพระธาตุหน้าผากและพระธาตุลำคอมาประดิษฐานที่นี่ พระธาตุลำปางหลวงตั้งอยู่กลางเวียงโบราณ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเวียงทางศาสนาโดยเฉพาะ ภายในวัดมีสิ่งน่าชมมากมาย ได้แก่ วิหารพระพุทธ เป็นวิหารไม้แบบล้านนา ที่ตกแต่งด้วยลายคำ คือลายทองบนพื้นแดง และภายในสามารถเห็นภาพเงาพระธาตุที่ลอดผ่านรูผนังปรากฏบนผืนผ้า วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารโถงมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่ของล้านนา วิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานซุ้มพระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด และมีภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติ และชาดก ที่เขียนในราวสมัยรัชกาลที่ 5 หอพระพุทธบาท เป็นอีกแห่งที่ปรากฏภาพเงาพระธาตุ แต่ห้ามมิให้ผู้หญิงขึ้น และที่หอพระแก้ว ประดิษฐานพระแก้วจากวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระพุทธรูปคู่เมืองลำปาง คำบูชาพระธาตุ ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวา จิรัง ปะติฏฐิตา ลัมภะกัปปะปุเร เทเวนะ คุตตา อุตตะราภิเธยยา นะมามิหันตัง วะระชินะธาตุง กุมาระกัสสะปัง นะลาตะธาตุโย เมฆิยะมะหาเถระ กัณณนะธาตุ ฐะเปติมะหาฐาเนเจติยัง ปูชิตา นะระ เทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโย
เจดีย์พระธาตุช่อแฮ
สำหรับผู้เกิดปีขาล พระธาตุช่อแฮตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเตี้ยๆ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมในวัดบ่งบอกว่ามีอายุราว พ.ศ. 1900 แต่ตำนานพระธาตุได้เล่าประวัติอันเก่าแก่ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงดอยโกสิยธชัคคะบรรพต และพบกับเจ้าลาวนามลัวะอ้ายค้อม เมื่อขุนลัวะทราบว่าเป็นพระพุทธเจ้า จึงได้นำภัตตาหารมาถวาย พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าที่นี่ต่อไปจะมีเมืองชื่อเมืองแพร่ ในครั้งนั้นพระอรหันต์และพระยาอโศก ที่เสด็จมาด้วยได้ทูลขอพระเกศาธาตุมอบให้ขุนลัวะไปบรรจุโกศแก้ว แล้วนำไปไว้ในถ้ำด้านตะวันออกของดอยที่ประทับ และพระพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งว่า หลังจากที่พระองค์ปรินิพานแล้วให้นำพระธาตุข้อศอกข้างซ้ายมาประดิษฐานที่นี่ นามของพระบรมธาตุเจดีย์นี้มีเรื่องเล่าว่า มาจากที่ขุนลัวะ นำผ้าแพรมารองรับพระเกศาธาตุ จึงมีชื่อว่า ช่อแพร และเพี้ยนเป็น ช่อแฮ ในภายหลัง แต่บ้างก็ว่ามีชาวบ้านนำผ้าแพรอย่างดีมาผูกบูชาองค์พระธาตุงานมนัสการพระธาตุจัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เป็นงานประจำปีที่สำคัญของชาวเมืองแพร่ ในงานมีการแห่ตุงหลวงถวายแด่องค์พระธาตุและการแสดงมหรสพ คำบูชาพระธาตุ โกเสยยะ ธะชัคคะ ปัพพะเต สัตตะมะโนรัมเม พุทธะเกสาธาตุ ปะติฏฐิตา อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส
เจดีย์พระธาตุแช่แห้ง
สำหรับผู้เกิดปีเถาะ พระธาตุแช่แห้งตั้งอยู่บนยอดดอยขนาดเล็กนอกเมืองน่านมีเรื่องราวเล่าว่าเมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์มาถึงภูเพียงแซ่แห้ง และพบกับพระอมละราชและพระมเหสี ที่มาสรงน้ำที่เดียวกับที่พระองค์สรงน้ำอยู่ พระอมละราชได้ถวายผ้าขาวให้พระพุทธเจ้าใช้สรงน้ำ แต่ผ้านั้นกลายเป็นทองคำ พระอานนท์จึงขอพระเกศาธาตุบรรจุในกระบอกไม้ซาง มอบให้พระอินทร์นำไปเก็บในอุโมงค์พร้อมผ้าทอง โดยพระอินทร์ได้ก่อพระเจดีย์สูง 7 ศอกไว้ด้านบน ต่อมาราว พ.ศ.1896 สมัยพระยากานเมือง ได้ส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวงที่สุโขทัย พระยาลือไทจึงมอบพระบรมธาตุ 7 พระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงินอย่างละ 20 องค์ ให้พระยากานเมือง ซึ่งได้นำไปบรรจุไว้ที่ภูเพียง และพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุข้อมือข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ทำอุโมงค์ประดิษฐานพระบรมธาตุใหม่ และก่อพระเจดีย์เป็นพระธาตุแช่แห้งคู่เมืองน่านมาจนทุกวันนี้ ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ทางวันมีการจัดงานมนัสการพระธาตุแช่แห้ง ในงานมีมหรสพ การแห่ตุงถวายพระบรมธาตุ และการจุดบอกไฟถวายเป็นพุทธบูชาตามธรรมเนียมดั้งเดิม คำบูชาพระธาตุ ยา ธาตุภูคา อะตุลานุภาวา จิรัง ปะติฏฐิตา นันทะกัปปะเก ปุเร เทเวนะ คุตตา วะระพุทธะธาตุง จิรัง วันทามิ หันตัง ชินะธาตุโยโส ตะถาคะตัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ทูระโต
เจดีย์พระธาตุเจดีย์พระสิงห์
สำหรับผู้เกิดปีมะโรง พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ในตำนานสิหิงคนิทานและพงศาวดารโยนก เล่าประวัติว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพานไป 700 ปี พระเจ้าสีหลและกษัตริย์องค์อื่นใคร่ทอดพระเนตรรูปของพระพุทธเจ้า มีแต่พญานาคที่เคยเห็นพระองค์ จึงแปลงรูปเนรมิตตนเป็นพระพุทธเจ้า พระเจ้าสีหลได้กระทำการบูชา7 วัน 7 คืน และให้ช่างถ่ายแบบพระพุทธรูปไว้ ต่อมาพระร่วงแห่งสุโขทัยได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธสิหิงค์ ใคร่จะได้บูชา จึงบอกกับพระเจ้าสิริธรรมแห่งเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าสิริธรรมได้ส่งทูตไปขอจากลังกา อัญเชิญไปให้พระเจ้าสุโขทัย ต่อมาพระพุทธสิหิงค์ถูกอัญเชิญไปยังเมืองสำคัญจนกระทั่งราวปี พ.ศ.1983 เจ้ามหาหรพมได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากกำแพงเพชรมาถวายพญาแสนเมืองมาแห่งเชียงใหม่ เดิมพญาแสนเมืองจะให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบุปผาราม แต่เมื่อรถที่อัญเชิญมาถึงหน้าวัดลีเชียงพระ (ชื่อเดิมวัดพระสิงห์) รถเกิดติดขัดไม่สามารถชักลากไปได้ จึงให้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัดนี้ ในปี พ.ศ. 2063 พระเมืองแก้วได้สร้าง วิหารลายคำ เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ภายในวิหารมีภาพวิจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่องสังข์ทอง ฝีมือช่างล้านนา และเรื่องสุวรรณชาดก ฝีมือช่างภาคกลาง ในช่วงสงกรานต์ของทุกปี มีการอัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานบนบุษบก แห่แหนรอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำสักการะ คำบูชาพระธาตุ นะมามิ สิหิงคะพิมพัง สุวัณณาริริมมัง ลังกาชาตัง โสภาภิโสภัง สะราภิกันตัง นมามิหัง เจดีย์พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ สำหรับผู้เกิดปีมะเส็ง พระศรีมหาโพธิ์เป็นต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นที่ประทับและตรัสรู้สัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ณ พุทธคยา สำหรับชาวล้านนายังมีความเชื่อว่าต้นโพธิ์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ช่วยขจัดความทุกข์ได้ จึงเกิดเป็นประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์และเครื่องประกอบพิธีกรรมใต้ต้นโพธิ์ สำหรับผู้ที่เกิดปีมะเส็งที่มีพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำปีเกิด สามารถบูชาต้นโพธิ์ตามวัดแทนได้ โดยที่วัดมหาโพธาราม เชียงใหม่นี้ เป็นวัดสำคัญที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก และพระเจ้าติโลกราชผู้สร้างวัด ทรงให้นำต้นโพธิ์จากลังกามาปลูก พร้อมทั้งจำลองสัตตมหาสถาน คือสถานที่ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าได้เสวยวิมุตติสุขก่อนเผยแผ่ศาสนา ได้แก่ ปฐมโพธิบัลลังก์ คือต้นโพธิ์ที่ประทับตรัสรู้ อนิมิตเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าประทับทอดพระเนตรต้นโพธิ์หลังตรัสรู้ รัตนจงกลมเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดินจงกรม 7 วัน รัตนฆรเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าพิจารณาพระอภิธรรม อชปาลนิโครธเจดีย์ คือต้นไทรที่พระพุทธเจ้าประทับ มุจลินทเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นจิก ใกล้สระมุจลินท์ ราชายตนเจดีย์ คือต้นเกตุที่พระพุทธเจ้าประทับที่สำคัญคือเจดีย์ประธานของวัดที่จำลองแบบจากเจดีย์พุทธคยา มีลายปูนปั้นรูปเทวดาซึ่งงดงามมากที่ผนังด้านนอกของห้องคูหาส่วนฐานพระเจดีย์ คำบูชาพระธาตุ ปะฐะมัง โพธิปัลลังกัง ทุติยัง อะนิมิสสะกัง ตะติยัง จังกะมะ เสฎฐัง จะตุตกัง ระตะนะฆะรัง ปัญจะมัง อะชะปาละนิโคธัง ฉัฏฐัง ราชายะตะนัง สัตตะมัง มุจ จะลิทัง อะหัง วันทามิทูระโต
เจดีย์พระธาตุเจดีย์ชเวดากอง
สำหรับผู้เกิดปีมะเมีย สำหรับผู้ที่เกิดปีมะเมีย สามารถเดินทางไปมนัสการพระบรมธาตุเมืองตากแทนพระธาตุชเวดากองที่ประเทศพม่าได้ เนื่องจากเป็นเจดีย์ที่พระครูพิทักษ์ (ทองอยู่) ได้จำลองแบบมา จากพระธาตุชเวดากองโดยครอบพระธาตุเจดีย์องค์เดิมไว้ ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกได้กล่าวถึงความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์ที่วัดนี้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเมืองตากจนมาถึงดอยมหิยังคะที่ร่มรื่น และทรงมอบพระเกศาธาตุให้พระอรหันต์ พร้อมทั้งรับสั่งว่า หลังจากที่เสด็จปรินิพานแล้วให้นำพระเกศาธาตุมาบรรจุไว้ที่นี่ พระบรมธาตุเจดีย์เมืองตากจึงเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุในวันขึ้น 14 และ 15 ค่ำ เดือน 7 ( ปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ของทุกปี จะมีงานพิธีสมโภชและสักการะพระบรมธาตุ เรียกว่า งานประเพณีขึ้นพระธาตุเดือนเก้า คำบูชาพระธาตุ ชัมพุทีเป วะระฐาเน ลิงคุตตะเร นะโมรัมเม สัตตะระตะนะปะฐะมัง กะกุสันธัง สุวัณณะทัณทัง ธาตุโยฐัสสะติ ทุติยัง โกนาคะมะนัง ธัมมะกะระนัง ธาตุโย ฐัสสะติ คะติยัง กัสสะปัง พุทธะจีวะรัง ธาตุโย ฐัสสะติ จะตุตภัง โคตะมะ อัฏฐเกสะ ธาตุดย ฐัสสะติ ปัญจะมัง อะริยะเมตเตยโย อะนาคะเต อุตตะมังคะ ธาตุโยอะหัง วันทามิ ทูระโต เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ สำหรับผู้เกิดปีมะแม พระธาตุดอยสุเทพตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพ การประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์บนเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองมีขึ้นราวปี พ.ศ. 1916 สมัยพญากือนา (พ.ศ.1898-1928) ในยุคทองของล้านนา พระองค์ได้อาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาเชียงใหม่ พระสุมนเถระจึงอัญเชิญพระบรมธาตุที่พบเมืองปางจามาด้วย พระบรมธาตุนี้ได้ทำปาฏิหาริย์แยกเป็นสององค์ องค์หนึ่งประดิษฐานที่วัดบุปผาราม อีกองค์หนึ่งพญากือนาได้อาราธนาสถิตเหนือช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายที่ประดิษฐาน ช้างมงคลเดินขึ้นมาถึงยอดดอยสุเทพ แล้วร้องสามครั้ง ทำทักษิณาวรรตสามรอบ และล้ม ( ตาย) ลง ภายหลังอัญเชิญพระบรมธาตุลงมา พญากือนาให้ขุดหลุมประดิษฐานพระบรมธาตุและก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ต่อมาปี พ.ศ.2081 สมัยพระเจ้าเกษเกล้าได้ก่อเป็นพระเจดีย์สูงใหญ่สีทองเช่นทุกวันนี้ มีความเชื่อว่าหากบูชาพระธาตุในทิศทั้งสี่แล้วจะทำให้มีสติปัญญาดี สมัยก่อนในวันวิสาขบูชามีประเพณีการขึ้นพระธาตุ โดยชาวบ้านจะเดินลัดเลาะป่าขึ้นสู่องค์พระธาตุ คำบูชาพระธาตุ โมกขะปะฐะมะวะรัง อะปายะนิวะระณัง อะระหัง สัคคะโสปาณังฯ ปะฐะมัง อุปัชฌัง คาหาเปตุวา ปัตตะจีวะรัง ยัง ยัง ชาตัง สังฆะมัชเฌ ปุจฉา สวาตะฯ สุวัณณะ เจติยัง เกศาวะระมัตถะลุงคัง วะรัญญะธาตุง สุเทวะนามะทัง นะระเทเวหิ สัพพะปูชิตัง อะหัง วันทามิ สัพพะทาฯ ปัญญะวะ อัสสะมิงะยะวะ จันทิมา อิวะ ธาระยัง ปิฏะกัตตะ เย สาสะนะนัช ยานิเกติฯ
เจดีย์พระธาตุพนม
สำหรับผู้เกิดปีวอก ธาตุพนม พระบรมธาตุเจดีย์องค์สำคัญ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนสองฝั่งโขง บรรจุ พระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก)ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้าตามตำนานว่าก่อสร้างโดยกษัตริย์ห้าองค์คือ พระยาจุฬณีพรหมทัต พระยานันทเสน พระยพระาอินทปัด พระยาคำแดง และพระยาสุวรรณภิงคาร พร้อมไพร่พล ในส่วนลวดลายที่เรือนธาตุนั้น ตำนานเล่าว่า ตกแต่งโดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา มีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ 13-15 นับว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่ของภาคอีสาน พระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห่งล้านช้าง ในสมัย พ.ศ.2223-2225 พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) นำราษฎรจากเวียงจันทน์ 3,000 คนมาปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น และเป็นรูปแบบที่นิยมในอีสาน ต่อมารัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ.2483 แต่ในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เกิดฝนตกหนักและพระธาตุพนมได้ทรุดพังทลายลง แต่ก็ได้รับการบูรณะโดยภาครัฐและเอกชนเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2522 ในเขตวัดมีบ่อน้ำพระอินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดของบ่อน้ำที่ใช้น้ำมาเสกน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน งานมนัสการพระธาตุพนมจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 10 ค่ำ ถึงวันแรก 1 ค่ำ เดือน 3 คำบูชาพระธาตุ ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฏฐิมายะ อุปะริมายะ ทิสายะ กะปะณะคิริสะมิง ปันพะเตมะหากัสสะเปนะ ฐาปิตัง พุทธะอุรังคะธาตุง สิริสา นะมามิ เสตะฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง ปะณีตัง พุทธะอุรังคะเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
เจดีย์พระธาตุหริภุญชัย
พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นพระธาตุคู่เมืองลำพูนมาแต่โบราณ มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังชัยภูมิของชาวเม็ง ทรงหยุดประทับนั่ง ณ สถานที่หนึ่ง พระยาชมพูนาคราช และพระยากาเผือกได้มาอุปัฏฐาก และมีชาวลัวะผู้หนึ่งนำลูกสมอมาถวาย พระองค์ทรงมีพุทธพยากรณ์ว่า ที่นี่ในอนาคตจะเป็น นครหริภุญชัยบุรี เป็นที่ประดิษฐาน พระสุวรรณเจดีย์ ซึ่งบรรจุธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง ในครั้งนั้นพระญาทั้งสองได้ทูลขอพระเกศาธาตุ นำไปบรรจุในกระบอกไม้รวกและโกศแก้วใหญ่ ไว้ในถ้ำใต้ที่ประทับ ต่อมาในสมัยพระยาอาทิตยราช ผู้ครองเมืองหริภุญชัย (ราว พ.ศ.1420) ได้เสด็จลงห้องพระบังคน แต่มีกาขัดขวางไม่ให้เข้า ภายหลังทรงทราบว่าที่แห่งนั้นเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ จึงทรงให้รื้อวังและขุดพระบรมธาตุมาบรรจุโกศทองคำ และสร้างมณฑปปราสาทเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน พระธาตุหริภุญชัยได้รับการบูรณะเรื่อยมา โดยพระเจดีย์องค์ปัจจุบันบูรณะในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ เมื่อ 500 กว่าปีมาแล้ว ภายในวัดยังมี พระสุวรรณเจดีย์ เจดีย์ยุคแรกในศิลปะหริภุญชัย เจดีย์เชียงยัน เจดีย์เก่าแก่ทรงปราสาทห้ายอด และ หอระฆัง ที่แขวนกังสดาลใหญ่ เป็นต้น ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะมีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย น้ำที่นำมาสรงองค์พระธาตุนี้จะต้องนำมาจากบ่อน้ำบนยอดดอยขะม้อที่อยู่นอกเมือง ตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณ คำบูชาพระธาตุ สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐิเสฎฐัง สะหะอังคุลิฎฐิง กัจจายะเนนา นิตะปัตตัปปะ รัง สีเสนะ มัยหัง ปะระมามิ ธาตุง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
เจดีย์พระธาตุวัดเกตุการาม
สำหรับผู้เกิดปีปีจอ สำหรับผู้ที่เกิดปีจอ พระธาตุประจำปีเกิดคือพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ประดิษฐานพระทันตธาตุที่พระอินทร์นำมาจากพระบรมธาตุที่โทณพราหมณ์ได้แอบซ่อนไว้ เมื่อครั้งมีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าแก่เจ้าเมืองต่างๆ ด้วยเหตุที่พระธาตุเจดีย์องค์นี้มนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ ดังนั้นนอกจากมนัสการด้วยการบูชารูปแล้ว ยังสามารถบูชาพระเจดีย์ที่วัดเกตุการาม เชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อพ้องกับพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ในเขตย่านการค้าของชาวต่างชาติ ตามประวัติว่าสร้างโดยพญาสามฝั่งแกน เมื่อ พ.ศ. 1971 แต่พระเจดีย์ได้พังทลายลงในปี พ.ศ.2121 พระสุทโธรับสั่งให้สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นเจดีย์ทรงลังกาแบบล้านนา นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระวิหารใหญ่ที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ และพิพิธภัณฑ์เก็บของใช้พื้นบ้านให้ชม (เปิด 8:00-16:00 น.) คำบูชาพระธาตุ ตาวะติงสายะ ปุรัมเม เกสะจุฬามะณี สะรีระปัพพะตา ปูชิตาสัพพะเทวะนัง ตัง สิระสา ธาตุ อุตตมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา เจดีย์พระธาตุดอยตุง สำหรับผู้เกิดปีกุน พระบรมธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บนดอยสูงซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ตามตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นในสมัย พระเจ้าอชุตราช ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ก่อนที่จะสร้างพระเจ้าอชุตราชให้ทำทุง (ตุง) มีความยาว 1,000 วา ปักบนยอดเขาหากทุงปลิวไปถึงที่ใด ก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้ทรงพระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกมิลักขุ 500 ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยพญามังราย พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ พญามังรายจึงได้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม บางตำนานว่าที่มาชื่อดอยตุง เนื่องจากพระมหากัสสปะได้อธิษฐานตุงยาว 7,000 วาไว้ที่ยอดดอยแห่งนี้ พระบรมธาตุดอยตุงได้รับการบูรณะหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2513 ได้บูรณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทองค์ปัจจุบันพระบรมธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ไทใหญ่ หลวงพระบางและเวียงจันทน์ ทุกปีจะมีงานมนัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 3 คำบูชาพระธาตุ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ( ว่า 3 จบ) พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรัง มะหาคะมา นะมามิหัง อะระหัง วันทามิ สัพพะทา ฯ ( ว่า 3 จบ)