"สกลนคร" นับเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังปรากฏชัดเจนในคำขวัญประจำจังหวัดว่า “พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาร แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม”
ดังนั้น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเป็น "วันออกพรรษา" จังหวัดแห่งนี้จึงมีงานประเพณีทางพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งใหญ่ คือ “งานประเพณีออกพรรษาแห่ปราสาทผึ้ง และแข่งขันเรือยาว” ที่จัดสืบเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ทั้งนี้ การแห่ปราสาทผึ้งในเทศกาลออกพรรษาของชาวอีสาน แม้จะพบได้ทั่วไปในหลายจังหวัด แต่ก็ไม่จัดใหญ่โต และปฏิบัติต่อเนื่องกันจนเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่อลังการเหมือนที่นี่
เดิมการทำปราสาทผึ้ง ชาวบ้านตามคุ้มวัดต่างๆ จะทำกันอย่างเรียบง่าย โดยจะนำเอาไม้ไผ่มาเหลาเป็นเส้นหรืออาจทำโครงไม้ระแนง แล้วประดับประดาด้วยดอกผึ้งตามกาบกล้วย
แต่ในราวปี พ.ศ.2496 คณะกรรมการจัดงานประกวดปราสาทผึ้งเทศบาลเมืองสกลนคร เห็นว่า รูปแบบดังกล่าวไม่สามารถพัฒนาลวดลายให้วิจิตรพิสดารได้
ฉะนั้น จึงได้เปลี่ยนเป็นการทำปราสาทผึ้งโดยการทำปราสาทโครงไม้เป็นทรง "ปราสาทจัตุรมุข" มีเรือนยอดเรียวหรือที่เรียกวา "กุฎาคาร" โดยตัวอาคารทั้งสี่ด้านต่อเป็นมุขยื่นออกไปมีขนาดเท่ากัน บางแห่งสร้างปราสาท 3-7 หลังติดกันอย่างยิ่งใหญ่อลังการ
ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันการทำปราสาทผึ้งจึงเป็นงานใหญ่ที่ต้องจัดเตรียมงานล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 เดือน !!
โกมุท ฑีฆธนานนท์ นายกเทศมนตรีเมืองสกลนคร เล่าเสริมเกร็ดตำนานการสร้างปราสาทผึ้งว่า ประเพณีนี้มีมาช้านาน ตั้งแต่สมัย พระเจ้าสุวรรณภิงคาร ที่โปรดให้ข้าราชบริพารจัดทำ “ต้นเผิ่ง”(ต้นผึ้ง) ในวันออกพรรษาเพื่อแห่ไปยังวัดพระธาตุเชิงชุม
จาก นั้นชาวสกลนครจึงยึดถือเป็นประเพณีเรื่อยมา นอกจากจะแห่ปราสาทผึ้งแล้วยังมีการแข่งเรือของคุ้มวัดต่างๆ อีกด้วย โดยเริ่มจากวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "วันโฮม" หรือ "วันรวม" เป็นการรวบรวมปราสาทผึ้งจากคุ้มวัดต่างๆ มารวบรวมไว้ที่รอบกำแพงวัด
พอถึงวันรุ่งขึ้น คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เมื่อทำบุญตักบาตรเสร็จก็จะจัดขบวนแห่ปราสาทผึ้ง ซึ่งในแต่ละขบวนจะแห่ด้วยเกวียน แต่ใช้คนลากแทนวัว แต่ละปราสาทผึ้งจะมีนางฟ้าหรือเทพีนั่งอยู่ตอนหน้าของเกวียน ตรงกลางเป็นปราสาทผึ้ง
งาน ประเพณีออกพรรษาแห่ปราสาทผึ้ง และแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2552 จะจัดที่สนามมิ่งเมือง และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ หรือสระพังทอง ซึ่งจะมีความสวยงามอลังการและยิ่งใหญ่กว่าทุกปี
กิจกรรมที่น่าสนใจในงาน ได้แก่ การแสดงดนตรีพื้นเมือง ประกวดปราสาทผึ้งโบราณ ปราสาทผึ้งประยุกต์ชิงถ้วยพระราชทาน การแสดงแสง สี เสียง ประกอบขบวนแห่ปราสาทผึ้ง การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ที่สำคัญ ยังมี "เทศกาลของดีของแซบเมืองสกล" พร้อมการจำหน่ายสินค้าโอท็อปมากมายจากทั้ง 18 อำเภอ และมหรสพทุกคืน
นักท่องเที่ยวท่านใดสนใจเที่ยวชมความงามของปราสาทผึ้งเมืองสกลนคร พร้อมสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีที่สวยงามอลังการ และชิมอาหารอีสานรสแซบ สามารถเข้าชมงานได้ในระหว่างวันที่ 30 กันยายน-4 ตุลาคม นี้
"นรากร เวชกามา"