ในอดีตเมื่อประมาณ 80 ปีก่อนนี้ ข้าราชการชาวอินเดียคนหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาว่างทดลองวิทยาศาสตร์ ได้พบปรากฏการณ์หนึ่งที่มีความสำคัญมาก จนทำให้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ Rayal Society และได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2473 คืออีก 2 ปีต่อมา
ในการจะเห็นความสำเร็จที่ชาว อินเดียคนนี้และเป็นชาวเอเชียคนแรกที่รับรางวัลโนเบล เราต้องรู้ว่า ประเทศอินเดียในสมัยนั้น ยังเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และ Raman ต้องทำงานในบรรยากาศที่แร้นแค้น การสนับสนุนการวิจัยของเขาจึงมีอุปสรรคมากมาย ถึงกระนั้น Raman ก็ทำได้สำเร็จ และนำอินเดียเข้าสู่ยุควิทยาศาสตร์ ซึ่งก่อนนั้น คนอินเดียแทบไม่รู้จักวิทยาศาสตร์เลย
C.V. Raman เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2431 ที่เมือง Trichinopoly (ปัจจุบันคือเมือง Tiruchirappalli ) ในอินเดียตอนใต้ ครอบครัวมีวรรณะพราหมณ์ บิดาซึ่งเป็นครูสอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ จึงเตรียมบรรยากาศวิชาการให้ Raman ตั้งแต่เกิด เมื่ออายุ 14 ปี Raman ได้เข้าเรียนฟิสิกส์ระดับอุดมศึกษาที่ Presidency College ในเมือง Madras และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในอีก 2 ปีต่อมา โดยได้ที่หนึ่งของห้องและได้เหรียญทอง ทั้งๆ ที่เป็นนิสิตปริญญาตรี แต่ Raman ก็สามารถตีพิมพ์งานวิจัยได้หลายเรื่อง จากนั้นก็เข้าเรียนปริญญาโท และสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตด้วยคะแนนเกียรตินิยมดีเด่น แต่ก็ไม่ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะมีสุขภาพไม่ดี Raman จึงหางานทำ แต่ขณะนั้นงานอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่มี ในที่สุด Raman ได้งานราชการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของ Indian Financial Civil Service ทั้งๆ ที่งานล้นมือ แต่ Raman ก็ใช้เวลาว่างทำงานวิทยาศาสตร์ส่วนตัวที่ Indian Association for the Cultivation of Science ที่เมือง Calcutta นานถึง 10 ปี
เมื่ออายุ 29 ปี มหาวิทยาลัย Calcutta ได้เชิญให้ Raman มาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัย และ Raman ก็ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย เมื่อได้พบปรากฏการณ์ Raman เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 ซึ่งผลงานนี้ทำให้ Raman ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในอีก 2 ปีต่อมา
ถึง Raman จะมีนิสิตมาช่วยงานวิจัยหลายคน แต่ชีวิตทำงานของ Raman ที่ Calcutta ก็มีปัญหามากเพราะ Raman มีความขัดแย้งกับนักวิทยาศาสตร์บางคน Raman ทำงานอยู่ที่ Calcutta นาน 15 ปี จึงได้ย้ายไปเป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์ที่ Indian Institute of Science ที่ Bangalore โดยมีห้องปฏิบัติการส่วนตัว และมีทีมวิจัยที่สามารถมาก จากนั้น ก็ได้จัดตั้ง Indian Academy of Sciences และเริ่มออกนิตยสาร Indian Journal of Physics เมื่อได้โต้เถียงและทะเลาะกับเพื่อนร่วมสถาบันอีก Raman จึงลาออกจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบัน แต่ก็ยังดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ฟิสิกส์จนกระทั่งเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี
หลังเกษียณ Raman ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยใหม่อีก ชื่อ Raman Institute โดยได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 รวมอายุได้ 82 ปี
C.V.Raman เริ่มต้นชีวิตทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์รูปแบบเก่า เหมือน Rayleigh โดยได้ศึกษาอุปกรณ์ดนตรีเช่น กลอง รวมถึงปรากฏการณ์เสียงสะท้อนในอาคาร ภาพลวงตา และการแทรกสอด ความลุ่มหลงในเรื่องคลื่น (ทั้งคลื่นเสียงและแสง) นี้เองที่ชักนำให้ Raman หันมาสนใจเรื่อง การกระเจิงแสงโดยโมเลกุลของสสาร (ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ)
ในอดีตก่อนนั้น John Tyndall ได้เคยพบว่าเวลาให้แสงขาวเคลื่อนที่ผ่านสสาร แสงแดงและแสงเหลือง จะถูกส่งผ่านโดยแทบไม่กระเจิงเลย แต่แสงสีน้ำเงินจะถูกกระเจิงมาก และนี่คือเหตุผลที่เชื่อได้ว่า เหตุใดท้องฟ้าจึงมีสีฟ้า
โดยอาศัยความคิดนี้ Raman จึงได้ทดลองเพิ่มเติม และพบว่า แสงที่กระเจิงประกอบด้วยแสงสองส่วน คือส่วนแรกเป็นแสงที่มีความถี่เหมือนเดิม กับส่วนที่สองคือแสงที่มีความถี่ใหม่ ซึ่งแสงเก่าไม่มีความถี่ที่ว่านี้เลย ทำให้เห็นเป็นเส้นเรียก Raman Line และความถี่ที่แตกต่างไปจากเดิมนี้สามารถใช้บอกโครงสร้างโมเลกุลของสสารได้ และเมื่อต้นกำเนิดแสงได้รับการพัฒนาให้มีความถี่แน่นอนที่เรียก เลเซอร์ วิทยาการด้าน Raman Spectroscropy จึงมีพลังในการใช้วิเคราะห์โครงสร้างของสสารดีขึ้น
นอกเหนือจากความสนใจเรื่อง ปรากฏการณ์ Raman แล้ว Raman ยังสนใจเรื่อง การเลี้ยวเบนของแสงโดยคลื่น ultrasonic และ hypersonic รวมถึงเรื่อง อัญมณี เช่น เพชร ไข่มุกและโมรา ด้วย
ในสายตาคนทั่วไป Raman เป็นคนที่หลงตัวเอง หยิ่งและชอบบังคับคนอื่นๆ ให้เชื่อตาม ทั้งนี้เพราะ Raman ทนฟังความคิดเห็นของคนโง่ไม่ได้เลย และในส่วนของการหลงตัวเองนั้น ก็คงเพราะ Raman ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของชาติที่ชาวโลกยอมรับ แม้ Nehru เองก็นับถือ ส่วนประธานาธิบดีอินเดียนั้น ถึงกับได้มอบเหรียญเกียรติยศสูงสุดของชาติให้ Raman สาเหตุเหล่านี้จึงอาจทำให้ Raman ลืมตัว เพราะในบางครั้ง Raman ก็ทำอะไรแผลงๆ เช่น เขียนอักษร NL ต่อท้ายชื่อตัวเอง ซึ่ง NL นี้มาจากคำเต็มว่า Nobel Laureate ที่แปลว่า ผู้พิชิตรางวัลโนเบลถึง Raman จะทระนงว่าเก่งกว่าคนอื่น แต่ตนก็รู้สึกต่ำต้อย เมื่อเปรียบเทียบกับ Helmholtz และ Rayleigh
ตามปกติ Raman เป็นคนรักเด็ก อีกทั้งชอบสอนวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ เรียน เวลาพบเด็กฉลาด Raman ก็จะให้การสนับสนุนทันที
ในชีวิตการทำงาน Raman ถูกต่อต้านโดยผู้บริหารบ่อย รวมถึงถูกกล่าวหาด้วยภาษาและวาจาที่ไม่เหมาะสม เช่น บางคนได้ตั้งข้อสงสัยว่า Raman พบปรากฏการณ์ Raman จริง หรือขโมยความคิดของคนอื่นมา เป็นต้น ในโลกส่วนตัว Raman เป็นคนโดดเดี่ยว จึงไม่ค่อยมีเพื่อนและดื้อ เมื่อถึงบั้นปลายของชีวิต เขารู้สึกเสียใจ และผิดหวังในคุณภาพของวิทยาศาสตร์ของอินเดีย และได้วิพากษ์วิจารณ์โครงการต่างๆ ของรัฐบาลอินเดียอย่างรุนแรง
ในภาพรวมชีวิตของ Raman เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่สภาพแวดล้อมไม่อำนวย ดังนั้นจึงมีทั้งความสุขและความทุกข์ เพราะเป็นคนที่ทะเยอทะยาน แต่ก็มีความท้อแท้ในเวลาเดียวกัน
ขณะมีชีวิตอยู่ Raman ได้รับเกียรติยศมากมาย เช่น ปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ รวมถึงได้เป็นสมาชิกของสมาคมวิชาการต่างประเทศหลายแหล่ง เช่น เป็น F.R.S. เมื่ออายุ 36 ปี และเป็น ท่าน Sir C.V. Raman เมื่ออายุ 41 ปีเป็นต้น
คุณหาอ่านชีวประวัติและผลงานของ Raman ได้จาก Journey into Light:Life and Science of C.V. Raman โดย G. Venkataraman ที่จัดพิมพ์โดย Indian Academy of Sciences เมื่อปี 2533 ครับ