มาเข้าวัดไหว้พระธาตุ

ประวัติ

วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร

ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน

-                   - - - - - - -

 

วัดพระธาตุหริภุญชัย  เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิด วรมหาวิหาร  ตั้งอยู่กลางใจเมือง

ลำพูนห่างจากศาลากลางจังหวัดเพียงร้อยกว่าเมตร  มีเนื้อที่ ๒๕.๒  งาน  อาณาเขตของวัดด้านทิศเหนือติดกับถนนอัฎฐารส  ด้านทิศตะวันออกติดกับถนนรอบเมืองใน  ด้านทิศใต้ติดกับถนนชัยมงคล  ด้านทิศตะวันตกติดกับถนนอินทยงยศ

วัดพระธาตุหริภุญชัย          ตามตำนานพงศวดารโยนกและฉบับของชาวพื้นเมือง  ให้ความเห็นพ้อง

กันว่าพระเจ้าอาทิตยราช  กษัตริย์นครหริภุญชัยองค์ที่ ๓๓ (นับจากพระนางจามเทวี) ผู้ครองนครลำพูน  ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.๑๔๔๐   “หริภุญชัย”   หริ   แปลว่า  ผลสมอ,    ภุญช  แปลว่า   เสวย    ตามตำนานว่า  พระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาประทับตรงที่สร้างพระเจดีย์   เสวยผลสมอเพื่อรักษาพระอุทร  หลังจากเสวยแล้วได้ทรงทิ้งผลสมอไว้ตรงนั้น  กาลต่อมาเมล็ดสมอได้งอกงามเจริญเติบโต  พระราชาธิบดี  จึงได้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศา ของพระพุทธองค์ ณ สถานที่พระองค์ประทับนั่งเสวยผลสมอจึงได้นามว่า   พระธาตุหริภุญชัย

 

ตำนานกล่าวว่า เดิมสถานที่ตรงนี้  พระเจ้าอาทิตยราชสั่งให้ขุดหลุมเป็นที่สำหรับบังคน แต่เมื่อเสด็จไปบังคลครั้งใด ก็ถูกกาบินโฉบพระเศียรมิได้เว้น ทรงประหลาดพระทัย ทรงรับสั่งให้จับเจ้ากาตัวนั้นขังร่วมกับเด็กทารกที่เริ่มหัดพูด  จนเวลาล่วงไป  ๗  ปี   ทารกกับกาอยู่ร่วมกันนาน จึงทำให้เด็กนั้นรู้ภาษากาและพูดกับกาไต่ถามเหตุการณ์จากกาจึงทราบว่า  สถานที่นั้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระธาตุหริภุญชัย  เป็นศูนย์สถานที่ใหญ่แห่งหนึ่งในอาณาจักรลานนาไทย     สร้างขึ้นในสมัยพระ

เจ้าอาทิตยราชได้สถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้น  ให้เป็นหลักของนครหริภุญชัยจนเสด็จสวรรคตแล้วมีกษัตริย์ปกครองตลอดมา  จนถึงสมัยพระยายีบา ปกครองนครลำพูน  ก็เสียนครแก่พระเจ้าเม็งรายมหาราช

พระเจ้าเม็งรายมหาราช  ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุขึ้นใหม่  จนถึงสมัยพระเมืองแก้วได้

เรี่ยไรเงินโดยซื้อทองแดง  ทองคำเปลวบุองค์พระมหาเจดีย์  นครลำพูน  บางครั้งกลายเป็นเมืองร้างจวบจนพ.ศ.๒๓๔๘  พระเจ้ากาวิละให้เจ้าบุรีรัตน์  และเจ้าศรีบุญมาผู้น้องยกบริวารไปตั้งเมืองลำพูนใหม่พร้อมกันนั้นก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัย

 

พระเจดีย์องค์นี้    ในทางตำนานตลอดจนการพิสูจน์ในปัจจุบันนี้ว่า   เป็นพระเจดีย์ที่ก่อขึ้นด้วยศิลา

แลงล้วนๆ ไม่มีโลหะอย่างอื่นใดทั้งสิ้นเป็นแกน  อายุการก่อสร้างนับกาลเวลาล่วงเลยเป็นพันๆ ปี  ก็ไม่มีการแตกร้าว  แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ คนไทยรู้สึกภาคภูมิในศิลปกรรมการก่อสร้างของไทยชิ้นนี้เป็นอย่างยิ่ง

บริเวณพระบรมธาตุ    มีพระวิหารหลวงที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน  เป็นพระวิหารใหญ่  สร้างเมื่อ  ๘๙  ปี

มานี้เอง  เนื่องจากพระวิหารหลังเก่าได้ถูกพายุพัดพังทั้งหลัง  ซึ่งคนเก่าๆ เล่าสืบกันต่อมาว่าวิหารหลวงหลังเก่านั้นสวยงามวิจิตรตระการตาเป็นอันมาก  ไม้ระแนงทุกๆชิ้น  ก็ลงรักปิดทอง

พระวิหารหลวง     มีระเบียงรอบด้านมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง     ภายในพระวิหารมีพระพุทธ

ปฏิมาขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่แท่นแก้วรวม ๓ องค์    ศิลปะสมัยเชียงแสนชั้นต้นและชั้นกลาง     ที่ฝาผนังภายในมีภาพจิตรกรรมเรื่องมหาชาติชาดก ที่ฝาผนังด้านนอกมีภาพจิตรกรรมหลายเรื่อง

ด้านหน้าพระวิหารหลวงทางซ้ายมือ    มีหอระฆังใหญ่   เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์  ชั้น

บนแขวนระฆังซึ่งหล่อสมัยเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์  และชั้นล่างของหอระฆังแขวนกังสดาลขนาดใหญ่ เป็นฝีมือของครูบาเฒ่าสูงเม่น หล่อถวาย กังสดาลนี้สร้างเมื่อศักราช  ๑๒๒๒  เดือน ๙ ออก ๓ ค่ำวันอังคาร  หล่อในวัดพระสิงห์ที่เวียงเชียงใหม่นำมาไว้เป็นเครื่องบูชาพระธาตุนี้

ด้านหน้าวิหารหลวงทางขวามือ  มีหอพระไตรปิฎก มีหนังสือธรรมใบลานจารด้วยอักขระพื้นเมือง

มีหนังสือนิทานธรรม  หนังสือเกี่ยวกับประวัติของบ้านเมือง  สถาปัตยกรรมของหอพระไตรปิฎกเป็นผีมือช่างโบราณ  มีลวดลายสมัยขอมปนศรีวิชัย  ลายแกะตัวไม้เป็นลายยกดอก  มีภาพเทพบุตรที่บานประตูชั้นบน  ส่วนชั้นล่าง  ก่ออิฐถือปูน  ซุ้มหน้าต่าง  ประตูก่อเป็นลวดลายแบบขอม  หลังคามุงด้วยกระเบื้องเงินและบุก  มีช่อฟ้าใบระกา  เบื้องหลังของหอพระไตรปิฎก  ก่อเป็นรูปเขาสิเนรุ  ชั้นบนยอดห้อมล้อมด้วยโลหะมีลวดลาย  และประสาทประดิษฐานอยู่เบื้องบน  ทิศตะวันออกของเขาสิเนรุมีแท่นบูชา  ชาวบ้านนิยมบูชาสิเนรุ  โดยถือกันว่าเป็นภูเขาที่เกี่ยวกับประวัติของพระพุทธเจ้า    

วิหารรอบองค์พระเจดีย์  ทั้ง ๔ ทิศ   มี  ๘  พระวิหาร   (รวมทั้งพระวิหารหลวงประจำอยู่ด้านทิศ

ตะวันออกด้วย) ดังนี้

วิหารพระละโว้   เป็นพระวิหารประจำทิศเหนือของพระธาตุ    ตัวพระวิหารเป็นของสร้างใหม่แทน

วิหารเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก  ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่

วิหารพระพุทธ  เป็นพระวิหารประจำทิศใต้จองพระธาตุ  เป็นพระวิหารที่สร้างแทนพระวิหารหลัง

เก่าเช่นกัน  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง

วิหารพระทันใจ  เป็นพระวิหารประจำทิศตะวันตก สร้างใหม่แทนพระวิหารหลังเก่าที่ชำรุดเช่นกัน

ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาสมัยเชียงแสนขนาดใหญ่หล่อด้วยโลหะ

พระวิหารหลวง    เป็นพระวิหารสำหรับบำเพ็ญกุศลประจำปี   เช่น   ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุ

ประจำปี  จะนิมนต์พระสงฆ์ตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดลำพูนมาประจำในวันเพ็ญเดือน ๘ เหนือ (เดือน ๖ ) มีการเจริญพระพุทธมนต์ สวดเบิก ฟังเทศน์ตลอดคืน

วิหารพระบาทสี่รอย  เป็นพระวิหารตั้งอยู่หลังวิหารพระพุทธ  ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย

จำลอง  จาก อำเภอแม่ริม  จังหวัดเชียงใหม่  มาสร้างไว้

                วิหารพระพันตน  เป็นพระวิหารตั้งอยู่หลังวิหารพระละโว้ บรรจุพระพุทธรูปต่าง ๆ ไว้จำนวนมาก

วิหารพระกลักเกลือ    หรือ  ตนแดง    ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือ ของพระวิหารพระทันใจ     ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย  ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ทาด้วยสีแดง

วิหารพระไสยาสน์    เป็นพระวิหารตั้งอยู่เหนือพระวิหารพระละโว้เป็นวิหารเล็กๆ   ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์  ก่อด้วยอิฐถือปูน  ลงรักปิดทองมีความเก่าพอประมาณ

                นอกจากพระเจดีย์พระบรมธาตุแล้ว  ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระธาตุมีพระสุวรรณเจดีย์ซึ่งสร้างโดยพระนางปทุมวดี  อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช  ภายหลังเมื่อสร้างพระธาตุหริภุญชัยเสร็จแล้วได้ ๔ ปี  พระสุวรรณเจดีย์เป็นรูปแบบพระปรางค์สี่เหลี่ยมฝีมือช่างขอม

วัดพระธาตุหริภุญชัย แบ่งออกเป็น ๒ เขต  โดยมีศาลาระเบียงกั้นไว้ภายในประกอบด้วยพระธาตุหริภุญชัย  และพระวิหารต่าง ๆ เรียกว่า เขตพุทธาวาส  ภายนอกเป็นกุฎิที่พักอาศัยของพระสงฆ์สามเณรเรียกว่า  เขตสังฆาวาส  แบ่งการปกครองออกเป็น ๔ คณะ เพื่อง่ายต่อการบริหารและควบคุมดูแล  ซึ่งแต่ละคณะจะประจำอยู่ ๔ มุมของบริเวณวัดคือ

                มุมอีสาน  เรียกว่าคณะเชียงยัน  (เดิมเรียกว่าวัดเชียงยัน)  มีพระเจดีย์เชียงยันเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก พระเจดีย์นี้เป็นฝีมือขอม  ราชวงศ์ปาละ  ประดิษฐานเป็นหลักประจำ คณะนี้เป็นสถานที่จัดการศึกษาสืบเนื่องมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

                มุมอาคเนย์  เรียกว่าคณะหลวง  (เดิมเรียกว่าวัดหลวง)  คณะนี้มีวิหารพระนอนที่งดงามตั้งอยู่ประจำ  เป็นสถานที่สำคัญสำหรับเจ้านายพื้นเมืองอุปสมบทประจำอยู่คณะนี้  คณะนี้มีหน้าที่จัดตั้งธรรมฟังเทศน์  ในฤดูฟังธรรมที่เรียกว่า  เป็งเดือนยี่  คือวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นพระเพณีฟังเทศน์มหาชาติ  และธรรมวัตรประจำทุกปีเสมอมา  จัดตั้งขึ้นอย่างน้อย ๕ วัน และวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นวันสุดท้าย  มีการแสดงธรรมหาชาติที่ยิ่งใหญ่

                มุมหรดี  เรียกว่าคณะสะดือเมือง  (เดิมเรียกว่าวัดสะดือเมือง)  โดยถือกันว่าสถานที่นี้เป็นใจกลางเมืองลำพูน  มีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสมัยเชียงแสนขนาดกลาง ๑๐ องค์  คณะนี้มาหน้าที่จัดการก่อพระเจดีย์ทรายในฤดูประเพณีสงกรานต์วันสุดท้าย

                มุมพายัพ  เรียกว่าคณะอัฏฐารส  (เดิมเรียกว่าวัดอฏฐารส)  มีวิหารเป็นแบบมณฑปภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง  ก่อด้วยอิฐปูนปางมารวิชัยสูง ๑๘ ศอก  หน้าพระวิหารอัฎฐารสมีโบสถ์นางภิกษุณีประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่  คณะนี้มีหน้าที่จัดสลากภัตต์ประจำปี  (เรียกว่าประเพณีกินข้าวสลาก)  ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ (เหนือ) ทุกปี

 

                สำหรับพระอุโบสถ             ตั้งอยู่ด้านขวามือทางทิศตะวันออกของพระวิหารหลวงรูปทรงด้านสถาปัตยกรรมสมัยปัจจุบัน  มีมุขยื่นออกด้านหน้ามีระเบียงทั้งด้านเหนือด้านใต้  แต่ด้านหลังไม่มีมุข 

ภายในอุโบสถกว้างขวางใหญ่โต  มีซุ้มพระพุทธรูปประดิษฐานประดับลวดลาย ๔ ซุ้ม  พระประธานเป็น

พระพุทธรูปขนาดกลางหล่อด้วยโลหะเรียกกันว่า “พระทองทิพย์” พุทธลักษณะเป็นแบบสมัยเชียงแสนรุ่นกลาง  ลงรักปิดทองสวยงาม

                เบื้องหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระวิหารหลวงด้านหน้า  มีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนอยู่บนแท่นในลักษณะยืนเต็มทั้ง ๔ เท้า  ที่ตัวสิงห์ประดับด้วยเครื่องทรงมีลวดลายยืนอย่างสง่าอ้าปาก  สถานที่สงห์คู่นี้ยืนอยู่เดิมเป็นแนวกำแพงวังชั้นนอกของพระเจ้าอาทิตยราช  ชาวบ้านเรียกสิงห์คู่นี้ว่า  “สิงห์เฝ้าวัด”

                พิพิธภัณฑ์สถานอยู่ต่อจากองค์เจดีย์พระบรมธาตุ  ในพิพิธภัณฑ์มีพระพุทธรูปเก่าแก่ มีง้าว  หอกปืนใหญ่ครั้งโบราณ  เหรียญเงินลูกชั่ง  ทำเป็นรูปสัตว์ด้านต่าง ๆ ตลอดจนพระที่นั่งจำลอง  ติดกับพิพิธ ภัณฑ์หลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องไม้

                เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องพระบรมธาตุดียิ่งขึ้น  จึงขอนำตำนานพระบรมธาตุตอนที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุหริภุญชัย มากล่าวไว้เพื่อประดับความรู้ดังนี้

                พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุโดยความหมายคือ พระอัฐิของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหตุที่ไม่เรียกพระอัฐิเพราะมีความแตกต่างจากกระดูกของคนสามัญทั้งโดยเรื่องราวและ  ลักษณาการ

                ที่ป่าสาละวันแขวงนครกุสินารา    ผู้ครองนครได้อัญเชิญพระพุทธสรีระไปถวายพระเพลิงยังมกุฎพันธศาลา  ได้มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น  คือทำอย่างไร ๆ ก็จุดเพลิงเผาพระพุทธสรีระไม่ได้  ต่อเมื่อเวลาล่วงไป ๗ วัน  พระมหากัสสปเถระพร้อมบริวาร  ได้เดินทางมานมัสการพระยุคบาทแห่งพระพุทธสรีระแล้วทันใดนั้นเปลวอัคคีก็ตั้งขึ้นเผาพระพุทธสรีระเองโดย  ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจุด

                เมื่ออัคคีเผาผลาญพระพุทธสรีระแล้ว   สิ่งแวดล้อมได้อันตรธานไปสิ้น   ไม่ปรากฎแม้แต่เถ้าหรือเขม่า  คงเหลืออยู่แต่บรมสารีริกธาตุอันบริสุทธิ์  กับผ้าขาวสะอาดที่ใช้ห่อพระพุทธสรีระอยู่เดิมเท่านั้น

                พระบรมธาตุ  มีลักษณะสีและสัณฐานคล้ายดอกมะลิตูมอย่างหนึ่ง  คล้ายแก้วมุกดาหารที่เจียระไนแล้ว อย่างหนึ่งคล้ายผงทองคำอย่างนึ่งและโดยลักษณะเช่นนี้ในตำนาน  กล่าวว่าพระธาตุที่เหลืออยู่นั้นมี ๒ ประเภท คือ ที่เหลืออยู่อย่างไม่กระจัดกระจาย ประเภท ๑ ที่กระจัดกระจายอีกประเภท ๑ พระธาตุประเภทไม่กระจัดกระจายมีอยู่ ๗ ชิ้น ได้แก่  พระเขี้ยวแก้ว ๔ พระรากขวัญ ๒ พระอุณหิส ๑ นอกจากนั้นเป็นประเภทที่กระจัดกระจายพระธาตุองค์เล็กที่สุดมีปริมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด  องค์เขื่องหน่อยประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหักครึ่ง

                วัดพระธาตุหริภุญชัย  มีประเพณีที่สำคัญ  ที่ชาวบ้านรักษาและถือปฎิบัติต่อกันมาแต่โบราณได้แก่

-              ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุ  จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ (เดือน ๘ เหนือ)

-              ประเพณีกินสลากหรือก๋วยสลาก  (สลากภัตต์) ทำบุญอุทิศให้ผู้วายชนม์  จัดขึ้นในวันเพ็ญ  เดือน ๑๐ (เดือน ๑๒ เหนือ)

-              ประเพณีตั้งธรรม  ฟังเทศน์ธรรมวัตรและเทศน์มหาชาติในวันเพ็ญเดือน ๑๒ (เดือนยี่เหนือ)  (วันลอยกระทง)

-              ประเพณีถวายทานข้าวใหม่  ในฤดูเก็บเกี่ยวนำเอาข้าวเปลือกข้าวสารมาถวายพระธาตุและพระภิกษุสามเณรในวันเพ็ญเดือน ๒ (เดือน ๔ เหนือ)

                ประเพณีปีใหม่พื้นเมือง  เทศกาลสงกรานต์ประจำปี  มี ๔ วัน

                                วันแรก  เรียกว่า  วันสังขารล่อง                        วันที่สอง  เรียกว่า  วันเนา

                                วันที่สาม  เรียกว่า  วันพญาวัน                          วันที่สี่  เรียกว่า  วันปากปี

วัดพระธาตุหริภุญชัย  ในปี  ๒๕๕๑  มีพระสงฆ์จำพรรษา ๓๗ รูป  สามเณร  ๗๖รูป ด้านเหนือของวัดมี  โรงเรียนเมธีวุฒิกร  เป็นโรงเรียนราษฎร์การกุศลของวัด  มีนักเรียนถึง ๑,๓๐๐ กว่าคนปัจจุบันมีพระครูนิวิฐธรรมโชติ  เป็นอาจารย์ใหญ่  แรกตั้งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม  ต่อมาใน  พ.ศ.๒๔๘๙  จึงได้ตั้งเป็นโรงเรียนสอนบุคคลทั่วไป  เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ม.๑-ม.๖  โดยกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ  ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนและสถาบันการศึกษาของวัดอีกคือ

โรงเรียนปริยัติสามัญศึกษา  สังกัดกรมการศาสนา  เปิดสอนตั้งแต่ ม.๑-ม.๖ มี จำนวนนักเรียนทั้งหมด ๒๓๐ รูป

                โรงเรียนปริยัติธรรม  แผนกนักธรรม – บาลี  มีจำนวนนักเรียน ๕๐ รูป

                ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด ๒๒๕ คน

                มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน

มีจำนวนพระนิสิต ๑๖๒ รูป

เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือ ท่านเจ้าคุณพระเทพมหาเจติยาจารย์  (ไพบูลย์  ภูริวิปุโล)  เป็นชาวจังหวัดลำพูนโดยกำเนิด  ขณะนี้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดลำพูน

วัดพระธาตุหริภุญชัย  เท่าที่กล่าวนี้  เป็นเพียงรายละเอียดจากตำนานของวัด  จากเหตุการณ์  จากคำบอกเล่าส่วนหนึ่งเท่านั้นหากจะศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงจังแล้ว  หรือแม้แต่ท่านได้ไปเห็นด้วยตาตนเองจะเกิดความประทับใจ  และภาคภูมิใจในคุณค่าของศิลปะอันเป็นมรดกของไทย  ซึ่งบรรพบุรุษไทยในอดีตได้สร้างและได้อนุรักษ์ไว้เพื่ออนุชนไทยรุ่นหลังไว้สืบทอดต่อไป

 

                                ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

รูปที่    ๑.                พระมหาราชโมฬีสารีบุตร  เจ้าอาวาสองค์แรก (ไม่ทราบประวัติ)

รูปที่    ๒.               พระราชโมฬี (ไม่ทราบประวัติ)

รูปที่    ๓.               พระคัมภีร์  คมภีโร (ไม่ทราบประวัติ)

รูปที่    ๔.               พระวิมลญาณมุนี (สุดใจ  ป.ธ.๔)  พ.ศ.๔๔๗๖-๒๔๘๖

รูปที่    ๕.               พระครูจักษุธรรมประจิตร (ตา  ป.ธ. ๔)  พ.ศ.๒๔๘๖-๒๔๘๙

รูปที่    ๖.                พระธรรมโมลี (อมร  อมรปญฺโญ  ป.ธ. ๗) ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่  พระสุเมธมังคลาจารย์  พ.ศ.๒๔๘๙-๒๕๓๓

                รูปที่    ๗.               พระเทพมหาเจติยาจารย์ (ไพบูลย์  ภูริวิปุโล) พ.ศ.๒๕๓๓-ปัจจุบัน

 

คำบูชาพระบรมธาตุหริภุญชัย

-

Credit: upter
#ข่าว #วัด
upter
ช่างเทคนิค
2 ต.ค. 52 เวลา 02:31 4,066 6 100
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...