เวทีนี้ มีดีแต่โหวต?

 

เวทีนี้ มีดีแต่โหวต? โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 29 ตุลาคม 2553 21:27 น.
บรรดาผู้เข้าประกวดต่างส่งเสียงร้องผสานลีลาเต้นกันอย่างเต็มที่เพื่อเรียกคะแนนโหวตจากประชาชน คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น สน เดอะสตาร์ เผยหน้าตาคือโอกาสในวงการ
เวทีเคพีเอ็นฯ หน้าตาดีกว่าทุกปีอย่างเห็นได้ชัด
นักล่าฝันผู้ชนะด้วยผลโหวตจากประชาชนทั้ง 6 ปี
เวิร์กชอปเวทีโค้กฯ ได้เรียนกับปรมาจารย์ตัวจริง
วิทย์ AF1 มากความสามารถแต่ขายไม่ออก
อยากเป็นนักร้อง มีเวทีการประกวดที่สามารถสนองความฝันของคุณได้อยู่ไม่กี่รายการในปัจจุบัน “เดอะสตาร์” “อะคาเดมี แฟนตาเซีย” “เคพีเอ็น อวอร์ดส์” และ “โค้ก มิวสิค อวอร์ดส์” วันนี้ M Feature นำทั้ง 4 เวทีมาเปรียบเทียบความเหมือนและความต่าง ให้คนมีฝันตอบตัวเองว่าโอกาสที่แต่ละเวทีหยิบยื่นให้ตรงกับความต้องการของคุณมากน้อยแค่ไหน และให้คนทั่วไปลองคิดดูว่า ในฐานะผู้บริโภค เราอยากได้ศิลปินคุณภาพจากการประกวดรูปแบบใดมาประดับวงการมากกว่ากัน
       
       เวทีการประกวดร้องเพลงกับความฝันอยากเป็นนักร้องเป็นของคู่กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ปัจจุบันรูปแบบเดิมๆ เปลี่ยนไป ไม่ใช่เวทีที่จัดขึ้นเพื่อค้นหาผู้ชนะเลิศ มอบรางวัลเสร็จก็จบกันอย่างในอดีต หลายเวทีปูทางในวงการบันเทิงให้แก่นักล่าฝันเอาไว้อย่างชัดเจน ทำให้คนมีฝันจำนวนมากกรูกันเข้ามายื่นใบสมัครกันทุกปีอย่างไม่ขาดสาย ทั้งเวที “เดอะสตาร์” “อะคาเดมี แฟนตาเซีย (เอเอฟ)” “เคพีเอ็น อวอร์ดส์” และ “โค้ก มิวสิค อวอร์ดส์” คนที่พลาดจากเวทีหนึ่งก็ยื่นสมัครอีกเวทีหมุนเวียนกันไป ขอแค่ได้รับคัดเลือกไม่ว่าจากเวทีไหนก็มีค่าเท่ากัน ทั้งที่ความจริงแล้วทั้ง 4 เวทีมีรูปแบบการตัดสินและมอบโอกาสในวงการที่ต่างกันอยู่มากทีเดียว 
       
       หน้าตามาก่อน
       สิ่งที่ทุกเวทีมีเหมือนกันคงหนีไม่พ้นการคัดเลือกผู้สมัครจากหน้าตา ต้องยอมรับว่ารูปลักษณ์ภายนอกเป็นใบเบิกทางที่สำคัญสำหรับวงการบันเทิงบ้านเรา อาชีพนักร้องเองก็หนีตรรกะนี้ไปไม่พ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเวทีเดอะสตาร์ และการประกวดเอเอฟที่ผ่านมา คนที่ติดตามมาตั้งแต่ซีซันแรกจะเข้าใจว่าเหตุใดผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในยุคหลังๆ ถึงมีแต่คนหน้าตาดี ไม่มีผู้เข้าประกวดประเภทหน้าสิว ฟันจอบ คนไซส์บิ๊กให้เห็นกันอีกต่อไป หลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะความล้มเหลวด้านการขายที่เกิดกับผู้ชนะการประกวดจากซีซันแรก ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องหันมาสนใจเรื่องหน้าตามากขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้วการมองเรื่องความสามารถเป็นหลักก็ยังขายไม่ได้ในสังคมไทยอยู่ดี
        
       
       เกี่ยวกับเรื่องนี้ "สน" สนธยา ชิตมณี ผู้ชนะจากเวทีเดอะสตาร์ครั้งที่ 1 มองว่าสาเหตุที่ทำให้น้องรุ่นหลังๆ มีแต่คนหน้าตาดี เป็นเพราะทีมงานต้องการเลือกคนที่สามารถทำงานในวงการได้หลากหลาย ทั้งงานพิธีกรและการแสดง ต่างจากปีแรกที่คัดเพื่อไปประกอบอาชีพนักร้องเพียงอย่างเดียว ส่วนเรื่องที่งานเพลงชุดแรกของตัวเองไม่ดัง เทียบกับเดอะสตาร์รุ่นน้องอย่างอาร์และบี้ไม่ได้นั้น สนไม่คิดว่าเป็นเพราะตัวเองหน้าตาไม่ดี แต่เป็นเพราะแนวเพลงที่แตกต่างกันมากกว่า จึงทำให้ได้รับความนิยมในระดับต่างกัน 
       “เวลาผมมองตัวเองในกระจก ผมว่าผมก็ไม่ถึงกับไม่หล่อนะ ผมมีลักษณะน่ารัก น่าเอ็นดู มันอ้วนๆ น่าหยิก ผมว่าเทียบกับบี้นี่ ผมสูสีนะ” สน เดอะสตาร์ กระเซ้าทิ้งท้าย
        
       
       เคพีเอ็นฯ ก็เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ออกมายอมรับว่าต้องปรับตัวตามกระแสสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าตาเพื่อให้รายการสามารถดำเนินต่อไปได้ กรณ์ ณรงค์เดช ทายาทหนุ่มผู้เข้ามาพลิกโฉมเวทีเคพีเอ็น อวอร์ดส์ครั้งล่าสุดเปิดใจกับเราว่า อยากให้สังคมเห็นใจในฐานะคนปั้นฝันให้เหล่านักล่าฝันด้วย
       “ผมเชื่อว่าความฝันสูงสุดของเด็กทุกคนที่เดินเข้ามาประกวดคือการได้เป็นนักร้อง ถ้าเราเลือกเขามาแล้วไม่มั่นใจว่าจะดันเขาไปถึงฝั่งฝันได้ มันก็เป็นการทำร้ายเด็กเหมือนกัน คนที่แต่ละเวทีเลือกเลยต้องเป็นคนที่เรามั่นใจว่าจะสามารถทำให้เขาดังได้จริงๆ หน้าตาก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกันที่ช่วยเสริมให้ไปถึงจุดๆ นั้นได้ หลายคนถามว่าทำไมเลือกหน้าตามากขึ้น ทำไมไม่เลือกเสียงร้องเป็นหลัก ผมก็ต้องบอกไปว่าตอนผมไม่เลือกหน้าตา พอได้รางวัลออกเทปมา คุณก็ไม่สนับสนุนเขาเหมือนกัน” เจ้าของโปรเจ็คท์พูดอย่างตรงไปตรงมา
         
       
       เวทีที่พอจะเป็นความหวังให้บรรดาคนรักเสียงเพลงแต่หน้าตาไม่อำนวยได้ เห็นจะมีแต่โค้ก มิวสิค อวอร์ดส์ เท่านั้นอาจเพราะเป็นเวทีเดียวที่ไม่ได้วางจุดยืนของตัวเองเอาไว้ว่าผู้ประกวดที่ได้รางวัลจะต้องขายอัลบั้มได้ ผู้จัดจึงไม่จำเป็นต้องหนักใจเรื่องผลตอบรับจากผู้ชมอย่างที่อีก 3 เวทีกังวล ทำให้สามารถคัดเลือกนักดนตรีจากฝีมือได้อย่างแท้จริง แต่คงต้องดูกันต่อไปว่าเวทีโค้กฯ ในปีถัดไปจากนี้จะยังให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าตาน้อยแบบนี้อยู่อีกหรือเปล่า หรือจะเปลี่ยนไปอย่างที่เวทีเอเอฟ และเดอะสตาร์ เคยเรียนรู้มาแล้ว
        
       
       เวทีเรียลิตี โหวตดี ขายได้ ออกอัลบั้มให้
       ถ้าถามคนสมัยนี้ว่าเคยดาวน์โหลดเพลงเถื่อนซื้อซีดีผีกันไหม คงเป็นคำถามที่เชยเกินไปแล้ว ต้องถามว่ามีศิลปินคนไหนบ้างทำให้คุณยอมควักกระเป๋าซื้อแผ่นแท้จะถูกกว่า และหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อแต่ละครั้งก็คือเรื่องความชอบในตัวศิลปิน ผู้จัดเวทีประกวดทุกรายทราบข้อได้เปรียบเรื่องนี้ดีจึงเลือกนำเสนอรายการในรูปแบบเรียลิตี นำเสนอเรื่องราวชีวิตของผู้เข้าประกวดออกทีวีให้ผู้ชมทำความรู้จักตัวตนของคนคนนั้น ติดตามพัฒนาการทุกอาทิตย์ จนเกิดความผูกพัน กระทั่งมีกลุ่มแฟนคลับของนักล่าฝันแต่ละหมายเลขขึ้น
        
       
       แม้แต่เวทีสยามกลการที่เคยถ่ายทอดการประกวดร้องเพลงเฉพาะรอบชิงชนะเลิศทางทีวี ยังยอมทิ้งรูปแบบเดิมๆ ที่คนคุ้นเคยมาหลายสิบปี เปลี่ยนเป็นเวทีเคพีเอ็นฯ เน้นเรียลิตี ถ่ายทอดให้ผู้ชมเห็นทุกกระบวนการตั้งแต่กรอกใบสมัคร คัดเลือก เข้าค่าย ไปจนถึงการแสดงบนเวทีจริง คุณกรณ์ ผู้ปรับโฉมรายการยอมรับว่ารูปแบบดังกล่าวขายได้จริงในเชิงธุรกิจเพราะกระแสตอบรับดี ทั้งยังช่วยให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้เข้าประกวดได้ง่ายขึ้นด้วย 
         
       
       เพื่อดึงผู้ชมให้เข้ามามีส่วนร่วมกับรายการมากขึ้น เรื่องการโหวตจึงเป็นกระแสที่มาควบคู่กับรูปแบบรายการเรียลิตีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เดอะสตาร์และเอเอฟคือเวทีที่ใช้คะแนนโหวตตัดสินผู้ชนะร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลที่ตามมาคือทำให้นักล่าฝันจากทั้ง 2 รายการได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เมื่อมีคนชื่นชอบมากย่อมเป็นเครื่องการันตีได้เป็นอย่างดีว่าผลงานของศิลปินคนนั้นจะเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มแฟนคลับนี่ขายได้ชัวร์ จึงเป็นที่มาของการเซ็นสัญญาออกอัลบั้มกับค่ายเพลงที่รายการประกวดนั้นถือหุ้นอยู่ เรียกได้ว่าเวทีสมัยนี้ครบวงจร แค่ประกวดครั้งเดียวผลตอบรับก็เกินคุ้มทั้งต่อตัวนักร้องและผู้ผลิต
         
       
       หันมามองระบบตัดสินผู้ชนะจากเวทีเคพีเอ็นฯ กันบ้าง อาจกล่าวได้ว่าผู้จัดไหวตัวทันอยู่พอสมควร จึงเพิ่มตำแหน่งป็อปปูลาร์โหวตขึ้นมาในสองปีหลังของการประกวด ทั้งยังให้สิทธิ์ผู้ประกวดที่ได้ตำแหน่งดังกล่าวออกอัลบั้มก่อนผู้ชนะเลิศด้วยคะแนนตัดสินจากกรรมการอีกด้วย คุณกรณ์ ผู้ดูแลโครงการมองว่าการตัดสินด้วยคะแนนโหวตเป็นผลดีทั้งต่อตัวศิลปิน คนฟัง และบริษัท ศิลปินได้ออกอัลบั้มอย่างที่ต้องการ ประชาชนได้ฟังศิลปินที่ตัวเองชอบ และบริษัทก็ขายงานเพลงได้เรียกว่าเป็น “วิน-วิน ซิททูเอชัน” อย่างแท้จริง 
       “ตอนนี้เรามีบริษัทเพลงอยู่ในมือ เราจำเป็นต้องสนใจเรื่องการขายด้วย แฟนคลับก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้งานขายได้ สมัยนี้รายได้หลักๆ ของนักร้องตกมาอยู่ที่การจ้างไปโชว์ตัวและการแสดงสด ที่เลือกให้น้องตำแหน่งป็อปปูลาร์โหวตออกอัลบั้มก่อนเพราะคิดว่าเขาขายได้ เขามีฐานแฟนคลับของตัวเองที่โหวตให้เขาแน่นหนาอยู่แล้วส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นการที่เราจะดัน จะโปรโมทผลงานเขามันก็จะง่าย ถ้าไม่มีแฟนคลับที่อยากดูมันก็ลำบาก” 
         
       
       เวทีโค้กฯ เองก็ปรับรูปแบบการแข่งขันไปเยอะเหมือนกัน จากที่เคยจัดประกวดวงดนตรีเพื่อเฟ้นหาผู้ชนะ แข่งเสร็จก็จบกัน การกลับมาภายในรอบ 15 ปีครั้งนี้ ทางผู้จัดได้เพิ่มพื้นที่ประกวดประเภทนักร้องเดี่ยวเข้าไปด้วย (จากเดิมที่มีเพียงการประกวดวงดนตรีอย่างเดียว) มีความพยายามใช้รูปแบบเรียลิตีเข้ามานำเสนอผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กและทางช่องทรูวิชันอยู่บ้าง ทั้งยังเปิดช่องทางให้ประชาชนโหวตนักร้องและวงดนตรีที่ชื่นชอบทั้งทาง SMS และเว็บไซต์ได้ด้วย 
        
       
       ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเคพีเอ็นฯ และโค้กฯ สะท้อนให้เห็นว่ากระแสเรียลิตียังคงเป็นใหญ่ในสังคมไทย และที่น่าสังเกตอีกหนึ่งเรื่องคือเรตติ้งของทั้งสองเวทีเทียบเดอะสตาร์และเอเอฟไม่ติดเลย ถึงแม้เคพีเอ็นฯ จะออกอากาศทางฟรีทีวีช่องเดียวกันในวันและเวลาใกล้เคียงกัน และถึงแม้ว่าเวทีโค้กฯ จะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ใกล้เคียงกับเวทียอดนิยมขนาดไหนก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าคนทั่วไปเห็นด้วยกับตำแหน่งผู้ชนะเลิศจากผลโหวตมากกว่าคะแนนจากคณะกรรมการของแต่ละเวทีก็เป็นได้
        
       
       นักร้องโหวต VS นักร้องคุณภาพ
       เมื่อผลโหวตคือคะแนนจากประชาชน ผู้ชนะการประกวดจากเดอะสตาร์ และอะคาเดมี แฟนตาเซียจึงตกเป็นเป้าของสังคมในประเด็นคำถามเช่นนี้เสมอ ร้องดีจริงหรือ? มีคุณภาพจริงหรือเปล่า? หรือคนที่ได้จะมาจากการล็อกโหวต เล่นเส้น? 
       ตุ๊ก วิยะดา โกมารกุล ณ นคร นักร้องมากประสบการณ์ในวงการเพลงเป็นอีกหนึ่งคนที่เคยไม่เชื่อผลโหวตจากเวทีประกวดที่ไหนเลย เพราะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งยังคิดว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดมากกว่าจะเรียกว่าเป็นการตัดสินที่เป็นธรรม
       “จะน่าเกลียดไปไหมถ้าจะพูดว่าพี่ไม่เคยเชื่อเลยว่าคะแนนที่ได้คือคะแนนโหวตจริง อย่างคุณต่าย เพ็ญพักตร์ เขาโหวตให้น้องมอนน่าหลานเขา เขาหมดเป็นแสนๆ ก็ยังไม่เห็นได้เลย เรื่องแบบนี้วัดกันไม่ได้ ใครล่ะที่เป็นคนนับคะแนน พี่คิดว่าการโหวตเป็นวิธีการขายอย่างหนึ่งมากกว่า คิดดูสิว่า SMS อันเดียวก็ได้เงินเข้ามาแล้ว” 
        
       
       รุ่นพี่ในวงการอย่าง วิริยาภา จันทร์สุวงศ์ หรือ นุ้ย เดอะพีชแบนด์ มองเรื่องการโหวตว่าเป็นตัววัดอนาคตของผู้เข้าประกวดได้ดีวิธีหนึ่ง ถ้าประชาชนชอบนักร้องคนนั้นตั้งแต่ตอนประกวดก็ง่ายที่คนจะติดตามผลงานต่อเมื่อออกอัลบั้มจริง แต่ถ้าไม่มีคนโหวตให้ตั้งแต่แรกก็ยากที่จะไปรอด ทั้งยังเสนอว่าถ้าอยากให้ผลการแข่งขันบริสุทธิ์ยุติธรรม เวทีการประกวดควรแยกรางวัลออกเป็นสองประเภทคือ ผู้ชนะจากการโหวตและผู้ชนะจากการยอมรับของคณะกรรมการ และถ้าผู้เข้าประกวดได้ทั้งสองรางวัลควบคู่กัน ย่อมถือได้ว่าคนคนนั้นเป็นสุดยอดศิลปิน 
        
       
       เคพีเอ็นฯ คือรายการแข่งขันที่แบ่งรางวัลออกเป็นสองประเภทแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ถึงแม้รายการจะมีส่วนการตัดสินจากผลโหวตในตำแหน่งป็อปปูลาร์โหวตเช่นเดียวกับเวทีอื่น แต่ผู้จัดยืนยันว่าผลผลิตจากเวทียังเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพแน่นอน “คนที่ได้ที่หนึ่งในเวทีเราไม่ได้มาจากการโหวตแต่มาจากคณะกรรมการ และคนที่ชนะการโหวตก็ไม่ใช่คนที่ได้ที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นเรื่องคุณภาพมั่นใจได้แน่นอน” กรณ์ ณรงค์เดช ยืนยัน
        
       
       ส่วนเวทีโค้กฯ นั้น ถึงแม้คะแนนโหวตจะมีผลต่อการตัดสิน แต่ผลโหวตที่ได้ถูกนำมาคิดแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องนำไปรวมกับคะแนนจากคณะกรรมการอีก 70 เปอร์เซ็นต์ เตย นฑาห์ บุญประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โคคา-โคล่า (ไทยแลนด์) ลิมิตเต็ต จึงมองว่าเวทีโค้กฯ ยังเป็นเวทีที่มอบศิลปินคุณภาพให้สังคมอยู่ “คะแนนจากคณะกรรมการคือความเห็นจากปรมาจารย์ในวงการ แทนคำตอบว่าน้องๆ จะสามารถเป็นศิลปินอยู่แถวหน้าของวงการได้ไหม ตรงนี้แหละที่จะแตกต่างจากผลโหวต เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปให้เขาไม่ได้” 
       
       ดัง-ไม่ดัง สำคัญไฉน?
       ถึงจะเป็นนักล่าฝันปีเดียวกันแต่ก็ไม่มีวันดังเท่ากัน และยิ่งเป็นผู้ประกวดจากต่างเวทีด้วยแล้วความนิยมย่อมแตกต่างกันแน่นอน ทั้งเดอะสตาร์, เอเอฟ, เคพีเอ็นฯ และโค้กฯ ต่างมีรูปแบบเฉพาะของตัวเอง มีงานป้อนให้เด็กในสังกัดต่างกันไป เหล่าคนมีฝันต้องพิจารณาให้ดี และเตรียมใจให้พร้อมกับอนาคตที่ไม่แน่นอน
       ถ้าพูดถึงอาชีพรองรับด้านงานเพลงเมื่อจบรายการประกวดแล้ว ผู้ชนะจากเวทีเดอะสตาร์, เอเอฟ และเคพีเอ็นฯอุ่นใจได้เลยว่าจะได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงและออกอัลบั้มหลังจากการแข่งขันสิ้นสุดไม่นาน หรือแม้แต่ผู้เข้าประกวดไร้อันดับเองก็อาจได้ออกอัลบั้ม หากผู้ผลิตเล็งเห็นว่ามีฐานแฟนคลับมากพอและมีแววดัง ส่วนนักล่าฝันคนอื่นๆ ที่ล่าความฝันจากวงการเพลงไม่สำเร็จก็ไม่ต้องกลัวว่าจะตกงาน เพียงแค่อาจต้องเบนสายงานไปทำอย่างอื่นในวงการแทน อย่างงานพิธีกร ละครทีวี ละครเวที และภาพยนตร์ 
        
       
       วิทย์ พชรพล จั่นเที่ยง เป็นตัวอย่างของความไม่แน่นอนที่เกิดกับศิลปิน ถึงแม้จะชนะเวทีเอเอฟซีซันหนึ่งแต่อัลบั้มแรกในชีวิตกลับขายไม่ได้ สำหรับวิทย์แล้วเขามองว่ารางวัลจากเวทีการประกวดไม่ใช่เครื่องรับประกันความดัง แต่เป็นบันไดไปสู่งานในวงการบันเทิงมากกว่า 
       “มาถึงจุดนี้ได้ผมภูมิใจแล้ว ไม่จำเป็นว่าผมต้องดังอะไรขนาดนั้น ความดังความมีชื่อเสียงมันกินไม่ได้ ถ้าดังแล้วทำตัวไม่ดีก็ไม่มีใครเอา การได้ที่หนึ่งก็ไม่ได้คอนเฟิร์มว่าเราจะดังขนาดไหน เป็นแค่ใบเบิกทางมากกว่า”
       
       เช่นเดียวกับเวทีโค้ก มิวสิค อวอร์ดส์ ที่มองว่าชัยชนะไม่ใช่ที่สุดเสมอไป การประกวดคือการมอบประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วม ถึงแม้จะไม่มีการเซ็นสัญญารับรองว่าจะได้ออกอัลบั้ม แต่การเข้าค่าย ได้ฟังคำคอมเมนต์จากปรมาจารย์ตัวจริงในวงการ ก็ไม่ใช่ประสบการณ์ที่หาจากที่อื่นง่ายๆ นอกจากนี้ผู้ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายทั้งประเภทวงดนตรีและนักร้องเดี่ยว ยังได้ทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกับศิลปินชื่อดังเป็นเวลา 3 เดือนก่อนการตัดสินด้วย 
       นรเทพ มาแสง มือเบสวงเครชเคนโด้ หนึ่งในคณะกรรมการเวทีโค้กฯ มองว่าการประกวดแบบนี้ให้ประโยชน์ด้านคอนเน็กชัน อย่างน้อยน้องๆ ที่เข้าร่วมก็จะได้รู้จักคนในวงการ อีกอย่างถ้าผู้ใหญ่เห็นแววอาจดึงตัวไปร่วมงานด้วยถ้ามีโอกาส ส่วนอาจารย์ปราชญ์ อรุณรังษี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการอีกหนึ่งท่านมองว่าการได้รางวัลอาจไม่ใช่ความต้องการสูงสุดของผู้เข้าประกวด แต่การได้แสดงความสามารถ ได้เข้ามาปล่อยของต่างหากที่วัยรุ่นสมัยนี้ต้องการ “เด็กสมัยนี้คงไม่ได้ใฝ่ฝันว่าชีวิตจะมีความสุขมากเลยที่จะได้เป็นศิลปินในสังกัดอาร์เอสฯ แกรมมี่ อย่างสมัยก่อน โดยเฉพาะวงดนตรีที่เข้ามาประกวด เขาคงมองว่าถ้าได้ทำเพลงของตัวเอง ได้รับการยอมรับ และมีช่องทางให้นำเสนอ มันก็คือความสุขของเขาแล้ว” อาจารย์ปราชญ์ทิ้งท้าย
       
       ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะมีอีกสักกี่เวทีผุดขึ้นมาให้เหล่าคนรักดนตรีได้ไขว่คว้าหาฝัน หรือมีอีกสักกี่รายการทำให้ผู้ชมทางบ้านได้ส่ง SMS สนับสนุนศิลปิน ถ้าตัวนักล่าฝันมีความชัดเจนในตัวเองและเต็มที่กับงานที่ทำ จะมาจากเวทีแบบโหวตหรือแบบไหน คนไทยก็พร้อมยิ้มรับอย่างไม่มีข้อกังขา
       
       รายงานข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์ 
 
Credit: ผุ้จัดการออนไลน์
#นักร้อง #แข่งขัน
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
31 ต.ค. 53 เวลา 05:59 1,606 4 12
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...