ผีมด-ผีเม็ง

 

 ผีมด-ผีเม็ง

   



การฟ้อนผีมด-ผีเม็ง คือ การฟ้อนรำเพื่อเป็นการสังเวย หรือการแก้บนของบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านทางภาคเหนือนับถือกัน แต่ในปัจจุบันได้เลือนหายไปมากแล้ว ยังมีปฏิบัติกันอยู่บ้างในชนบทของล้านนาไทย ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ สันนิษฐานว่า ผีมด เป็นผีประจำตระกูลหรือผีบรรพบุรุษ ซึ่งสันนิฐานว่าเป็นผีที่ทำหน้าที่มด คือดูแลลูกหลานในตระกูลจากการสังเกตพฤติกรรมการละเล่นที่ปรากฏในขบวนการฟ้อนผีมด เช่น การปัดต่อปัดแตน ยิงนก ยิงกระรอก กระแต คล้องช้างคล้องม้า ชนไก่ ทำไร่ทำสวน ทอดแห ฟ้อนดาบ และถ่อเรือถ่อแพ เห็นว่าเป็นพฤติกรรมของชายหรือพ่อบ้านที่พึงกระทำในการดำรงชีวิต จึงเห็นว่า ผีมด น่าจะเป็นผีฝ่ายพ่อหรือการสืบจากฝ่ายบิดา ซึ่งต่างไปจากผีเมง ที่แสดงพฤติกรรมแง่การคลอดบุตรและการปรุงอาหารเป็นกิจกรรมเด่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผีเมง เป็นผีของฝ่ายหญิง และฟ้อนผีมดผีเม็งนี้เป็นการสังเวยบรรพบุรุษ ซึ่งจะจัดอยู่ในวงศาคณาญาติ หรือที่เรียกว่าตระกูลเดียวกัน ในวันครบปี หรือบางครั้งก็ 2 ปี 3 ปี แล้วแต่จะสะดวก แต่บางที่พี่น้องหรือญาติ ๆ กัน เกิดมีการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็จะมีการบนบานสารกล่าว ถ้าหายจากการเจ็บป่วยแล้วก็ทำการแก้บน คือฟ้อนแก้บนนั้นเอง การจัดนั้นทางผู้ที่เป็นเจ้าภาพ ก็จะทำหน้าที่เลี้ยงดูหมู่แขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ส่วนมากเป็นญาติ และเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน เริ่มต้นด้วยการทำปะรำหรือทางภาษาล้านนาเรียกว่า “ผาม” ขึ้นกลางลานบ้านเจ้าภาพก็จะจัดเครื่องสังเวยเป็นต้นว่า หมู ไก่ เหล้า ข้าวต้ม ขนมน้ำอ้อย พาน ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนต่าง ๆ ในปะรำต้องมีราวสำหรับพาด ผ้าโสร่ง ผ้าพันหัว ผ้าพาดบ่า สำหรับใส่ทับในเวลาฟ้อนและการฟ้อนก็จะมีดนตรีประกอบเครื่องดนตรีก็เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองเป็นส่วนมาก เช่น กลอง ระนาด แน ฉิ่ง ฆ้องวง ฯลฯ

เมื่อได้เวลาแล้วก็จะจุดธูปเทียนที่หน้าหอผีซึ่งปลูกไว้ในเวลาบ้านเป็นลักษณะคล้ายศาลเพียงตาปลูกให้เป็นที่อยู่ของผี สตรีที่มีอาวุโสในบ้านนั้นจะนำทำพิธีขอเชิญผีมาเข้าทรงมีการขอให้ผีที่มาเข้าทรงนั้นปกปักรักษาลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข เมื่อผีเข้าทรงแล้วก็จะมีการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน คนทรงก็จะเรียกลูกหลานว่า “เหลนน้อย”และมีการมัดมือสู่ขวัญลูกหลาน พอสมควรแล้วจะมีการฟ้อนผู้หญิงจะนำฟ้อนก่อนโดยเอามือไปเกาะที่ผ้าขาวกลางปะรำที่ผูกไว้โยนตัวไปมาขณะที่ฟ้อนก็จะมีดนตรีประกอบด้วย พวกผู้ชายมักจะมีการฟ้อนดาบสำหรับเครื่องแต่งตัวนั้นมีผ้าโสร่ง ผ้าพันหัว เสื้อแบบมอญ ผ้าพาดบ่า และอื่น ๆ อีกผีมดผีเม็งนั้น มีวิธีการทำที่คล้ายคลึงกันอาจจะต่างกันไปบ้างในรายละเอียดอื่น ๆ เช่น บางตำราบอกว่า ผีเม็งจะมีกระบอกปลาร้า เป็นเครื่องสังเวย ชาวบ้านมักจะพูดกันเล่น ๆ ติดปากว่า “เม็งน้ำฮ้า” หมายถึง พวกมอญชอบปลาร้า และชอบถนอมอาหารด้วยการดองผักต่าง ๆ ไว้กินนาน ๆ การฟ้อนนอกจากจะเป็นพิธีรำลึกถึงพระคุณของปู่ ย่า ตา ยายแล้วยังสร้างความสามัคคีกลมเกลียวขึ้นในกลุ่มที่นับถือผีด้วยกันซึ่งจะต้องปฏิบัติตามจารีตที่วางไว้โดยเคร่งครัด เช่น ไม่ยอมให้แต่งงานในกลุ่มผีเดียวกันเป็นต้นครอบครัวที่นับถือผีมด-ผีเม็งเขาจะสร้างศาลทางทิศตะวันออกของบ้านบางบ้านก็นับถือผีมดบางบ้านก็นับถือผีเม็งความแตกต่างของทั้งสองผีนั้นอยู่ที่สัญลักษณ์ กล่าวคือ ถ้าเป็นพิธีการฟ้อนผีเม็งจะมีกระบอกใส่ปลาร้า สังเวยผีบรรพบุรุษ แต่ถ้าฟ้อนผีมดจะไม่มี ส่วนกำหนดการ และพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ยังเหมือนกันอยู่

ประโยชน์ของการฟ้อนผีมด-ผีเม็ง
1. เป็นการสร้างความสามัคคีพบปะคุ้นเคยกันในหมู่บ้าน
2. เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณอย่างหนึ่งที่รำลึกบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
3. เป็นที่พึ่งทางใจในกรณีที่ป่วยไข้แล้วมีการบนบานศาลกล่าวเอาไว้
เมื่อหายแล้วก็จัดพิธีฟ้อนเป็นการแก้บน
4. เป็นการพักผ่อนหย่อนใจอย่างหนึ่ง เพราะคนสมัยก่อนมีงานประจำทำก็คือการทำไร่ ทำนา ช่วงเดือน 9
(มิถุนายน) เป็นช่วงที่ว่างจากงานพวกนี้จึงพากันจัดพิธีดังกล่าวนี้ขึ้น

เวลาในการจัดฟ้อน
การฟ้อนผีมด-ผีเม็ง จะทำกันระหว่างเดือน 8-9 (พฤษภาคม - มิถุนายน) บางตระกูลก็กำหนดไว้ปีละครั้ง
บางตระกูลก็ 3 ปีครั้ง 
บางตระกูลก็ไม่มีกำหนดแน่นนอนแล้วแต่ความสะดวกบางครั้งก็เป็นการฟ้อนแก้บนในกรณีที่ลูกหลานเจ็บป่วย
แล้วบนบานเอาไว้เมื่อหายก็มีการฟ้อนรำแก้บน

พิธีกรรม
ก่อนที่จะทำพิธีจะต้องมีการเตรียมสถานที่โดยการสร้างประจำ (ทางเหนือเรียกว่า ผาม) ภายในลานบ้าน ในปะรำมีเครื่องเซ่นสังเวยต่าง ๆ เช่น หัวหมู ไก่ต้มสุกทั้งตัว เหล้า ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ขนมข้าวต้มมะพร้าว กล้วยอ้อย ใส่ภาชนะไว้บนร้าน ซึ่งคล้ายกับศาลเพียงตาสูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตร และมีราวผ้าโดยมีผ้าโสร่งใหม่พาดไว้หลายตัวสำหรับผู้ที่จะมาฟ้อนและมีผ้าพาดบ่าเวลาฟ้อนด้วยพร้อมกับมีผ้าโพกหัวสีต่าง ๆ ซึ่งใช้กันทั้งชายและหญิงตรงกลางปะรำจะมีผ้าขาวห้อยเอาไว้ปล่อยให้ยาวลาดพื้นปะรำ ในวันแรกที่จะทำพิธีฟ้อนจะมีหญิงชราที่เป็นหัวหน้าตระกูลนั้นนำลูกหลานเข้าไปทำพิธีสักการะบูชาผีบรรพบุรุษ มีการอธิฐานขอให้คุ้มครองลูกหลานญาติพี่น้องทุกคนให้มีความสุขสบายทำมาหากินสะดวกหลังจากทำพิธีสักการะบูชาบอกกล่าวแก่ผีบรรพบุรุษแล้ว ก็กล่าวอัญเชิญผีหรือเจ้าพ่อไปยังปะรำพิธี ในการทำพิธี อัญเชิญนี้ก็จะมีที่นั่ง (คนทรง) ไปทำพิธีด้วยเพื่ออัญเชิญเจ้าพ่อไปยังปะรำพิธีจากนั้นก็จะมีการอัญเชิญเจ้าพ่อเข้าทรง คนทรงจะมีอาการผิดแปลกไปจากเดิม ท่าทางไม่เหมือนลักษณะคนเดิมเลย และเจ้าพ่อก็จะเอาขวดเหล้าซึ่งเป็นเหล้าสังเวยนั้นยกดื่มจนหน้าแดงกล่ำ แต่ไม่ปรากฏอาการมึนเมา พอได้ที่แล้วก็จะถามกันระหว่างคนทรงกับบรรดาญาติพี่น้องทั้งหลายซึ่งคนทรงมักจะเรียกลูกหลานว่า “ไอ้เหลนน้อย” เมื่อถามไถ่กันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็อัญเชิญเจ้าพ่อออกจากคนทรง หลังจากนั้นก็จะมีการฟ้อนผีมด-ผีเม็ง ซึ่งพวกผู้หญิงหรือพวกญาติพี่น้องที่มีอายุจะเป็นคนฟ้อนนำขึ้นก่อนผู้รำส่วนมากจะเป็นผู้หญิง ผู้ชายไม่ค่อยรำกัน ถ้ารำมักจะรำดาบรำง้าวก่อนที่จะฟ้อนผู้ฟ้อนจะไปหยิบเครื่องแต่งตัวจากราว สวมทับเข้ากับเสื้อผ้าตัวเองโดยไม่ต้องเปลี่ยนแล้วก็เข้าไปเอามือเกาะผ้าขาวที่ห้อยอยู่กลางปะรำพร้อมกับฟุบหน้าลงโยนตัวไป ๆ มา ๆ สักครู่ออกมาฟ้อนตามจังหวะกลองที่จ้างมาบรรเลง กลองดังกล่าวเรียกว่า กลองเต่งทิ้ง มีอุปกรณ์ คือ กลองสองหน้า กลองขัดจังหวะ ระนาด ฆ้องวง ปี่(แน) ฉาบ ฉิ่ง ฆ้องเล็ก ชนิดละอย่าง (กลองชนิดนี้ทางเหนือใช้ตีปลุกใจพวกนักมวยเวลาชกกัน) คนรำก็จะเปลี่ยนกันเข้าออกแต่ละคนจะต้องเป็นคนในตระกูลเท่านั้น ตระกูลอื่นเข้าไปรำไม่ได้ ผิดผี และการรำก็ไม่มีศิลปะหรือมาตรฐานแน่นอนอะไรการฟ้อนผีมด-ผีเม็ง ไม่ใช่การฟ้อนเพื่อเซ่นสังเวยพวกภูตผีปีศาจ แต่เป็นการฟ้อนเซ่นสังเวยผีบรรพบุรุษ ซึ่งอาจจะเป็นผีปู่ ย่า ตา ยาย หรือผีบิดา มารดา ที่ล่วงลับไปแล้วเพราะเขาถือกันว่าเมื่อพวกญาติพี่น้องตายไปแล้วดวงวิญญาณจะมารวมกันอยู่ที่หอผี จึงได้สร้างหอขึ้นไว้ เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรม


ตำนาน

ตำนานผีมดและผีเม็งเป็นผีประจำตระกูลอีกอย่างหนึ่งที่จัดอยู่ในเครือผีบรรพบุรุษหรือผีปู่ย่าซึ่งมักจะพบมีการนับถืออยู่ในเขตชุมชนเมืองเป็นส่วนมากเนื่องจากเป็นผีของคนในเมืองที่สืบเชื้อสายมากจากตระกูลเจ้านายและขุนนาง ดังนั้นพิธีกรรมจะค่อนข้างซับซ้อนตระกูลของผีมดผีเม็งมักสืบเชื้อสายไปได้ไกลและผีปู่ย่าของตระกูลผีมดผีเม็งจะมีชื่อเรียกขานเป็นชื่อเจ้านายอยู่ในตำนาน ซึ่งจะแตกต่างจากผีปู่ย่าโดยทั่วๆไปที่จะไม่มีชื่อเรียกขานเฉพาะตระกูลที่นับถือผีมดผีเม็งในทุกวันนี้มีเหลืออยู่ไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง แต่สำหรับเมืองอื่นๆแทบจะไม่ปรากฏโดยข้อเท็จจริงแล้วผีมดและผีเม็งนั้นเป็นผีประจำตระกูลที่มีความแตกต่างกันทั้งในความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชนและรายละเอียดในพิธีกรรม แต่มักจะถูกเรียกรวมกันว่า ผีมดผีเม็งเนื่องจากพิธีกรรมในการเลี้ยงผีมดผีเม็งนั้นจะจัดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและมีฟ้อนรำ หรือที่เรียกว่าฟ้อนผี เพื่อเป็นการสังเวยผีบรรพบุรุษเหมือนกัน บางครั้งก็จะมีการจัดฟ้อนผีร่วมกัน เรียกว่า ผีมดซอนเม็ง

ดังนั้นพิธีกรรมในการเลี้ยงผีดังกล่าวนี้จึงจัดเป็นประเพณีทีมักเรียกรวมกันไปว่า ประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็งผีมด เรื่องราวของผีมดนั้นไม่อาจระบุได้ว่าเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากชนกลุ่มใดเพราะในพวกไทยยวนทั่วไปจะมีการนับถือผีปู่ย่าแต่มีผู้สังเกตว่ากลุ่มคนที่นับถือผีมดอาจมีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากพวกลัวะก็เป็นได้อย่างไรก็ตามการนับถือผีมดน่าจะตกทอดเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนาหรือไทยยวนมาเป็นเวลานานแล้วความหมายของผีมดนั้นมีผู้ให้คำอธิบายไว้หลายประการ ประการแรกกล่าวว่ามีคำเล่าเป็นนิทานที่อธิบายถึงการเกิดลัทธิผีมดขึ้นเนื่องมากจากความเชื่อในการส่งวิญญาณของผู้สูงอายุไปเสวยสุขเมืองพรหม โดยให้ลูกหลานฆ่ากินเลือดเนื้อเพื่อจะได้เกิดความเป็นมงคลชีวิตซึ่งในการที่จะส่งวิญญาณให้ผู้ใดนั้น จะทำการเสี่ยงทายโดยใช้เนื้อหมูของแต่ละคนวางให้มดกินเพราะเชื่อว่ามดเป็นสัตว์ประเสริฐมีหูทิพย์ ตาทิพย์ จมูกทิพย์ หากมดมาตอมเนื้อหมูของผู้ใดลูกหลานก็จะพร้อมใจกันฆ่าส่งวิญญาณไปสู่พรหม ต่อมาลัทธิบูชาผีมดก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษดังเช่นทุกวันนี้อีกประการหนึ่งอธิบายว่า ผีมด หมายถึงผีของมดที่ชอบอยู่ตามบ้านเรือนคอยเฝ้ารักษาให้บ้านเรือนอยู่เป็นปกติสุขมีความอบอุ่นในเหมือนกับบ้านเมืองที่มีผีเสื้อบ้านยักษ์ผีเสื้อบ้านเมืองคอยปกปักรักษาอยู่ดังนั้นถ้าตระกูลไหนจะมีพิธีการฟ้อนผีมด ชาวบ้านที่อยากได้เงินก็จะนำมดมาขายเป็นรังๆบ้านที่อยู่ใกล้เคียงก็จะซื้อนำมาไว้ในบ้านของตน ประการสุดท้ายเล่าว่าผีมดนั้นเป็นความเชื่อดั้งเดิมของไทย เพราะปรากฏว่ามีอยู่ในกลุ่มชาวไทดำและไทลื้อหลายแห่ง ซึ่งคำว่า มด นั้นในภาษาไทยเดิมหมายความได้ 2 นัย คือต้นตระกูล ดังสำนวนว่า แม่มดแม่หม่อน ซึ่งแปลว่าทวด และในอีกความหมายหนึ่งแปลว่า ผู้รู้ เช่นในสำนวนที่ว่า มดหมอ เป็นต้นการฟ้อนผีนั้นเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณเชื่อกันว่าการฟ้อนผีเป็นการเซ่นดวงวิญญานบรรพบุรุษที่ได้ช่วยปกป้องคุ้มครองรักษาให้ลูกหลานได้อยู่อย่างผาสุข และเป็นการเชิญวิญญาณของบรรพชนให้มาร่วมกิจกรรมเพื่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในกลุ่มคนที่นับถือผีเดียวกันสันนิษฐานว่าการฟ้อนผีนั้นจะได้รับมาจากประเพณีของชาติมอญหรือเม็ง ดังเช่นประเพณีการฟ้อนผีเม็งซึ่งต่อมาชาวล้านนาได้รับมาใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีมดด้วยการเลี้ยงผีมดก็มีวัตถุประสงค์และแบบแผนคล้ายคลึงกับการเลี้ยงผีปู่ย่า แต่มีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไปที่เด่นชัดได้แก่ มีการฟ้อนรำและการละเล่นที่สนุกสนาน ตัวอย่างเช่น การฟ้อนดาบ การฟ้อนเจิง หรือการตบมะผาบซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการการแสดงศิลปะพื้นบ้านล้านนาที่ทรงไปด้วยคุณค่าและแสดงถึงในความสามารถในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวล้านนา

สำหรับเครื่องเซ่นสังเวยมี กระบือชำแหละ 1 ตัว หมู 4 ตัว ไก่ต้ม 16 ตัว ไข่ 32 ฟอง ลาบเมือง 1 หม้อแกงอ่อม 1 หม้อ เนื้อย่าง 5 กก. เทียนพรรษา 1 เล่ม ไส้อั่ว เหล้าแดง เหล้าขาว น้ำเขียว น้ำแดง มะพร้าวสด ข้าวสุก ขนมหวาน กรวยดอกไม้ 1,000 กรวย ข้าวตอกควักใบตอง (คือการนำใบตองมาทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ เพื่อใส่อาหารของทางภาคเหนือ) 250 ชิ้น ขันตั้งหลวงไหว้ผี 1 ขันใส่เครื่อง 1,000 หมายถึง ผ้าขาว-ผ้าแดง 108 คืบหมากสายใหญ่ 1,000 สาย กล้วย 1 เครือ มะพร้าว 1 ทะลาย เทียนเงินเทียนทองอย่างละ 1,000 เล่ม สวยดอก 1,000 ชิ้น หมากพลู บุหรี่ 1,000 ชิ้น ขดลวด 108 ขด ธูปเงิน-ธูปทอง 1,000 เล่ม เหล้าขาว 10 ขวด เหล้าแดง 10 ขวด เบี้ย 10,000 ตัว ข้าวสาร 1 กระบุงใหญ่ ข้าวเปลือก 1 กระบุงใหญ่ ข้าวตอก 1 กระบุงใหญ่ น้ำผึ้ง 10 ขวด ใบไม้มงคล 9 ชนิด อย่างละ 108 ใบ หัวเผือกหัวมันอย่างละ 1 กระบุงใหญ่ อาหารคาวหวาน รวมทั้งมีขันตั้ง 12 ขัน ใส่เครื่อง 12 ซึ่งหมายถึง หมากพลู ธูปเทียนอย่างละ 12 ชิ้น โดยเป็นของเจ้าพ่อตนหลวง เจ้าพญาไฮ เจ้าฝนแสนห่า เจ้าบ่าวใหญ่ เจ้าสาว เจ้าฟ้า เจ้าพญาผาเบี้ย เจ้าแสนหมอน เจ้าอารักษ์ เจ้าหมอนแสน เจ้าสร้อยฟ้าลาวัลย์ เจ้าอ้อนแอ้น สำหรับการละเล่นของผี มีการยิงนก และปั๊ดต่อ ปั๊ดแต๋น (เอาไม้ปัดต่อปัดแตนเอารัง) โดยกำลัง (คนที่ช่วยดูแลการฟ้อนผี) แจกธนู หน้าไม้หรือดาบ โดยทุกอย่างทำอย่างจำลอง ให้ผีต่าง ๆ ในผามมีนกกระดาษพับห้อยไว้ มีข้าวแต๋น (ขนมนางเล็ด) คือข้าวเกรียบสมมุติว่าเป็นตัวต่อหรือผึ้ง ผีทั้งหลายที่ประทับร่างทรงก็จะยิงลูกดอก หรือถือดาบไปฟันที่นก ตัวต่อตัวแตน โดยมีคนเข้าไปคอยเก็บนกหรือตัวต่อตัวแตนที่ผียิง หรือฟันได้, การคล้องช้าง โดยกำลังจะนำรูปสลักรูปช้าง รูปม้า เข้ามาในผามผีจะใช้ผ้าที่คล้องคอประจำตัว ไล่คล้องช้าง ม้าจากกำลัง ผู้ที่อยู่โดยรอบจะคอยส่งเสียงเชียร์ให้ฝ่ายผีปู่ย่าชนะ ในที่สุดฝ่ายกำลังต้องยอมแพ้ อันเป็นสัญลักษณ์ว่าผีปู่ย่าสามารถทำให้เกิดความงอกงามด้านสัตว์ใช้งาน, การชนไก่ เป็นการละเล่นระหว่างผีปู่ย่าในร่างทรงกับกำลัง โดยกำลังจะถือไก่จริง ๆ ส่วนผีปู่ย่าถือไก่ที่ทำด้วยผ้ามัดเป็นปมให้ดูคล้ายหัวไก่ ขณะที่ไก่จริงกับไก่ปลอมชนกันนั้นบรรดาลูกหลานจะเชียร์และโปรยข้าวสาร ดนตรีจะทำเพลงที่เร้าใจ เมื่อชนไก่ได้ซักพักหนึ่ง ไก่ของผีปู่ย่าก็จะชนะ และฟ้อนดาบเป็นการรำเพื่อบูชาครูของผีปู่ย่ากำลังจะ แจก ดาบจำลองหรือดาบจริงเพื่อฟ้อนรำอย่างสวยงามประกอบดนตรีที่เล่นอยู่ เมื่อเสร็จการละเล่น ต่าง ๆ แล้วผีก็จะค่อย ๆ ทยอยกันออกจากร่างทรง ปัจจุบันสังคมหรือวิถีชีวิตของ ผู้คนทางแถบภาคเหนือตอนบนนับได้ว่าเปลี่ยนไปมากจาก อดีตแต่ยังมีหลายประเพณีและหลากหลายวัฒนธรรมที่ยังคงหลง เหลืออยู่ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พยายามอย่างเต็มที่ที่

จะรักษาไว้ให้ลูกหลานหรือคนรุ่นหลังได้ศึกษาตลอดจนเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตซึ่งแน่นอนมันเป็นความเชื่อของกลุ่มชนที่ไม่อาจบังคับให้ใครเชื่อตามได้แต่ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเราที่วางกรอบแนวคิดไว้ล้วนเป็นประโยชน์แทบทั้งสิ้นอย่างน้อยประเพณีนี้ก็ช่วยให้เรามิลืมบรรพบุรุษที่ให้กำเนิดเรามาครับ. 
   

 Tag : ผีมด-ผีเม็ง  
 
Credit: ซาบซ่านด็อดคอม
#การรํา #ความเชื่อ
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
21 ต.ค. 53 เวลา 07:06 3,322 5 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...