เสรีภาพสื่อไทยร่วงอยู่ที่อันดับ 153 จาก 178 ประเทศ เหตุ 2 นักข่าวถูกยิงตายกลางกรุง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
20 ตุลาคม 2553 13:15 น.
ฮิโร มุราโมโต ช่างภาพรอยเตอร์ ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง และทหาร
เอเจนซี - องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับเสรีภาพสื่อในประเทศต่างๆ ประจำปี 2010 ยกฟินแลนด์เป็นอันดับหนึ่ง เอริเทรียรั้งอันดับท้ายสุด ขณะที่ไทยร่วงลงมา 23 อันดับ อยู่ที่ 153 จากทั้งหมด 178 ประเทศ จากเหตุรุนแรงม็อบเสื้อแดงที่ทำให้มีนักข่าวต่างชาติเสียชีวิต 2 ราย
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน หรืออาร์เอสเอฟ ในกรุงปารีส ยกย่อง 6 ประเทศยุโรปเหนือ ได้แก่ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ให้อยู่ในอันดับสูงสุดของการจัดอันดับเสรีภาพสื่อทั้งหมด 178 ประเทศ ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2002 เพื่อเป็นตัวอย่างการให้เกียรติ และปกป้องสื่อจากการใช้อำนาจมิชอบทางตุลาการ
อย่างไรก็ตาม องค์กรสิทธิสื่อดังกล่าวเตือนว่า สหภาพยุโรปยังเสี่ยงที่จะเสียตำแหน่งผู้นำโลกในด้านการเคารพเสรีภาพสื่อ โดยชี้ว่า ขณะที่ 13 ประเทศจาก27 ประเทศสมาชิกอียูอยู่ในท็อป 20 แต่อีก 14 ประเทศกลับติดอันดับต่ำมาก เช่น อิตาลี อยู่ที่ 49 โรมาเนีย ที่ 52 และกรีซ ที่ 70 เป็นต้น
ขณะที่เสรีภาพของสื่อใน 10 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีเหนือ พม่า จีน อิหร่าน รวันดา ซีเรีย เยเมน ซูดาน เติร์กเมนิสถาน และเอริเทรีย ยังคงเลวร้ายอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกลั่นแกล้งสื่อ และปิดกั้นข้อมูลข่าวสารกับประชาชน
ยิ่งไปกว่านั้น อาร์เอสเอฟชี้ว่าความรุนแรงทางการเมืองภายในประเทศนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ฉุดอันดับเสรีภาพสื่อของบางประเทศ โดยเฉพาะไทย ซึ่งตกลงมาถึง 23 อันดับ อยู่ที่ 153 หลังจากมีนักข่าว 2 รายเสียชีวิต และอีก 15 คนได้รบบาดเจ็บ ในการขอคืนพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ส่วนฟิลิปปินส์ก็ร่วงลงมาถึง 34 อันดับ อยู่ที่ 156 หลังเหตุสังหารหมู่นักข่าว 30 คนที่ลงพื้นที่หาเสียงพร้อมนักการเมืองในจังหวัดมากินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งนับเป็นการโจมตีผู้สื่อข่าวที่ร้ายแรงที่สุดในโลก
ด้าน ฌอง ฟรองซัว จูลิอาร์ด เลขาธิการอาร์เอสเอฟชี้ว่า การคุ้มครองเสรีภาพสื่อยังเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และการต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมในประเทศเผด็จการที่ยังแผ่กระจายอยู่ทั่วโลก
เขายังระบุว่า ชะตากรรมของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน นักข่าว และบล็อกเกอร์ต่างๆ ซึ่งกล้าที่จะปกป้องสิทธิในการแสดงออก เป็นสิ่งที่องค์กรกังวลอยู่เสมอมา
ฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลี ซึ่งเสียชีวิตโดยถูกยิงที่หน้าอก